วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เดลินิวส์: เจตนารมณ์เลือกตั้งท้องถิ่น

เดลินิวส์: เจตนารมณ์เลือกตั้งท้องถิ่น
เดลินิวส์ (กรอบบ่าย)  ฉบับวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

          เป็นการส่งสัญญาณคลุมเครือไม่แน่ชัดเกี่ยวกับห้วงเวลาจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งไม่เกิดขึ้นภายในเวลา 1-2 เดือนข้างหน้านี้ แต่เชื่อได้ว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นต้องเกิดก่อนการเลือกตั้งระดับชาติ แม้นักการเมืองมองว่าท้องถิ่นกับระดับชาติไม่เกี่ยวกัน แต่นั่นเพราะพรรคการเมืองนั้นมิได้ให้ความสำคัญหรือแทบไม่มี "คนของตัวเอง" ตรงกันข้ามบางพรรคมีความเชื่อมโยงทั้งผู้บริหารและทีมงาน ฉะนั้นการเลือกตั้งท้องถิ่นจึงเป็นตัวชี้วัดแนวโน้มการเมือง ความขัดแย้ง และการซื้อสิทธิขายเสียงได้เป็นอย่างดี
          ที่ผ่านมาสภาปฏิรูปแห่งชาติและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ได้ศึกษา เสนอปรับปรุงกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่ดูเหมือน "คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ" มองคนละมุมเห็นคนละด้าน โดยเฉพาะข้อเสนอยุบรวม อปท. ควรยึดเจตนารมณ์ของคนท้องถิ่น และหลักเกณฑ์ทางภูมิศาสตร์มากกว่าระบบความคิดแบบพิมพ์เขียวที่สุ่มเสี่ยงต่อความขัดแย้งและความแตกแยก เพราะการยุบรวมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ควรมีกระบวนการและขั้นตอนมากกว่าการออกกฎหมายหรือใช้คำสั่งตามมาตรา 44 โดยทำอย่างไร จึงส่งเสริม สนับสนุนให้ อปท.ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาล ทำหน้าที่บริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะในลักษณะพี่และน้อง เกื้อกูลช่วยเหลือกัน มิใช่แย่งชิง กีดกั้น ขัดขา
          น่าสนใจ กรณีปรับเปลี่ยนข้าราชการส่วนท้องถิ่นเช่น ปลัด จะเห็นว่า อปท.หลายแห่งอยู่แบบลากยาว บางคนนานถึง 20 ปี เราไม่ปฏิเสธว่าความต่อเนื่องเป็นปัจจัยหนึ่งของความสำเร็จในการพัฒนา แต่โอกาสหาประสบการณ์ในพื้นที่ใหม่ เปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้นอย่าง "มืออาชีพ" เพื่อความก้าวหน้าก็มีความสำคัญ จึงควรมีหลักเกณฑ์พิจารณาที่จับต้องได้ เป็นรูปธรรม และยืดหยุ่น ในการปรับเปลี่ยนหรือไม่ เช่น กำหนดวาระ 4 ปี หรือมากกว่า พร้อมกำหนดเงื่อนไขสร้างความยอมรับให้เกิดขึ้น จริงอยู่อาจเป็นได้ที่ประจวบเหมาะ "มือใหม่" ทั้งปลัดและผู้บริหาร อปท. หากเป็นเช่นนี้ถือเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้
          จากนี้คงต้องจับตาการปรับปรุงกฎหมาย อปท.ที่กระทรวงมหาดไทยกำลังยกร่างว่ามีทิศทาง สาระสำคัญและการตรวจสอบอย่างไร ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาบังคับใช้ คาดหวังว่าจะบรรลุเป้าหมายการปฏิรูปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มิใช่สร้างความขัดแย้งแตกแยกให้หยั่งรากฝังลึกลงท้องถิ่นมากขึ้นอีก และต้องไม่ลืมด้วยว่ารัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัด "ให้มีการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น