วันศุกร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2560

คำ ผกา: สวน เทศบาล และการเลือกตั้ง

คำ ผกา: สวน เทศบาล และการเลือกตั้ง
มติชนสุดสัปดาห์  ฉบับวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๐

          คุณพระคุณเจ้า! เชื่อไหมว่า ศุกร์นี้ฉันจะไม่ด่าใคร ไม่ว่าใคร ไม่เสียดสีเหน็บแนม   ใคร ไม่ก่นด่าสังคมไทยว่าไม่ดีอย่างงั้นอย่างงี้ เพราะไปเจอเรื่องดีๆ มา
          ถึงวันนี้คงไม่มีใครไม่รู้ว่าบ้านของฉันอยู่ "สันคะยอม" อำเภอสันทราย เชียงใหม่ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เวลาโทรศัพท์คุยกับแม่ มักจะได้ยินเรื่องราวในทำนองว่า
          "ตอนเช้าออกไปเดินออกกำลังกายที่สนามกีฬา"
          สนามกีฬาที่ว่านี้ ชาวบ้านเรียกว่า สนามกีฬาเทศบาล
          และเทศบาลนี้คือเทศบาลตำบลสันทรายหลวง
          พอพูดถึงเทศบาล หรือ อบต. มันมักจะตามมาด้วยภาพพจน์สำเร็จรูปของนักการเมืองท้องถิ่นที่เป็นนักเลงบ้าง เจ้าพ่อบ้าง มาเฟียบ้าง เป็นลูกน้อง ฐานเสียงให้นักการเมืองระดับชาติบ้าง
          และแน่นอนมาพร้อมกับภาพพจน์เรื่องการคอร์รัปชั่น การโกง การกินหัวคิวงานก่อสร้าง
          หนักกว่านั้น ในสายตาของคนในเมือง มักมองว่านักการเมืองท้องถิ่นและคน "ท้องถิ่น" ย่อมมีรสนิยมแบบท้องถิ่นๆ แบบภูธรๆ
          เรามักจินตนาการถึงรูปปั้น ประติมากรรม ตลกๆ ในต่างจังวัด ที่คนกรุงชอบนำมาล้อเลียน จินตนาการถึงการใช้สีสันอันฉูดฉาดบาดตา
          ตัวฉันเองก็ด้วย ไปต่างจังหวัดทีไร เราก็มักต้องมีเรื่องขัดหูขัดตากับการออกแบบ การก่อสร้างแลนด์มาร์กของจังหวัดแบบไม่ถูกจริต ถูกรสนิยมของเรา
          เมื่อแม่ของฉันบอกว่าไปเดินออกกำลังกายที่สนามกีฬาเทศบาล ฉันก็เฉยๆ ไม่ได้รู้สึกว่าอยากเห็นสนามกีฬา
          วาดภาพเห็นเป็นสนามฟุตบอล มีลู่วิ่ง ลู่เดินรอบสนาม และมีเครื่องออกกำลังกาย ติดตั้งอยู่ทั่วไป
          ทั้งนี้ก็ยังนึกชมเทศบาลว่า เออ เข้าใจสร้างพื้นที่ให้คนแก่ คนวัยเกษียณ ได้มีกิจกรรมหย่อนใจ
          เพราะคนเหล่านี้ ถ้าต้องอยู่บ้าน ไม่ได้เจอเพื่อนฝูง คงเฉา เหงา และเครียด
          อย่างน้อยการมีสนามกีฬา จะสวย ไม่สวย ก็มีพื้นที่สาธารณะให้คนได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน การเดิน การออกกำลังกายอาจะใช่ประโยชน์หลักด้วยซ้ำ
          แต่การมีพื้นที่ให้คนได้พบกัน คุยกัน เล่าเรื่องนู้นเรื่องนี้ แชร์ปัญหา แชร์ความทุกข์ ความสุข ย่อมดีต่อสุขภาพจิตของคนในชุมชน โดยเฉพาะคนสูงวัยทั้งหลาย
          จนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่าน ที่ฉันคิดว่าน่าลองไปเดินที่ "สนามกีฬา" กับแม่สักเช้า แทนการไปโยคะ
          ลานหน้า "สนามกีฬา" เป็นแพตเทิร์นของสถานที่ราชการค่อนข้างมาก คือเป็นลานจอดรถกว้าง โล่ง มีป้ายที่ดูเป็นราชการแบบไทยๆ ที่ไม่ "แอพพีล" ต่อคนรุ่นใหม่เอาเสียเลย
          แต่ฉันก็คิดว่า อย่างน้อยข้างในคงไม่แย่
          พอเดินเข้าในเขต "สนามกีฬา" เท่านั้น - แม่เจ้า!!!!! ถึงกับต้องกรี๊ด - เฮ้ยยยยย "แม่คะ นี่เขาไม่เรียกสนามกีฬาค่า เขาเรียก 'สวนสาธารณะ' เรียกให้เก๋ขึ้นอีกเขาเรียกว่า Park"
          ฉันแทบไม่เชื่อสายตาตัวเองว่า นี่คือสวนสาธารณะที่เป็นผลงานเป็นฝีมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ดินที่เทศบาลจัดมาทำสวนสาธารณะและสนามกีฬานั้นมีต้นไม้ป่าเบญจพรรณตกค้างอยู่ติดมากับที่ เช่น ต้นงิ้ว ต้นมะเดื่อ ต้นไม้เหล่านี้สูงใหญ่ราวกับต้นไม้ป่า และยังคร่อมแม่น้ำคือน้ำ "แม่โจ้" ที่ไหลผ่านหลายหมู่บ้านในอำเภอสันทราย มีระบบเหมืองฝายอันเดิมอยู่ตลอดลำน้ำ
          ในสมัยก่อน เหมืองฝายเหล่านี้มีไว้เพื่อการเกษตร แต่ปัจจุบัน พื้นที่ทางการเกษตรน้อยลงเรื่อยๆ และ อ.สันทราย กลายเป็นเขตชานเมือง ที่ทั้งคอมมิวนิตี้มอลล์ และดิสเคาน์สโตร์ หมู่บ้านจัดสรร โรงเรียน มหาวิทยาลัย
          กล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า มันไม่เหลือความเป็นชนบทอีกต่อไปแล้ว แต่ได้กลายเป็นเขตเมือง หรือถูก urbanized ไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
          ชะตากรรมของลำเหมือง ฝาย และแม่น้ำ ถ้าไม่ถูกถม ก็ตื้นเขินจากการก่อสร้างบ้านเรือนที่ขยายออกไปอย่างไม่ถูกต้องตามหลักการผังเมืองและการออกแบบ หรือไม่ก็ถูกถมเป็นถนนแล้วฝังท่อไว้ข้างใต้แทน
          น้ำแม่โจ้ในหลายๆ ช่วงก็หนีไม่พ้นชะตากรรมนี้ ยิ่งลำเหมืองเล็กๆ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง
          แต่อย่างน้อยที่สุด น้ำแม่โจ้ในส่วนที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของสวนสาธารณะของเทศบาลสันทราย มันถูกทำให้กลายเป็นภูมิทัศน์ของสวน และทำได้สวยอย่างเป็นธรรมชาติ
          คือไม่ได้สวยมากจนขาดใจ (จะเอาสวยขนาดนั้นคงต้องจ้างนักออกแบบสวนระดับท็อปไฟว์ของโลก)
          และเมื่อเดินไปในสวนเขียวขจี เราจึงได้ยินเสียงน้ำไหลลงมาตามฝายเดิมของลำน้ำ และแม่น้ำก็ได้รับการดูแลให้สวย สะอาด อันเป็นภาพที่เราไม่ค่อยจะได้เห็น และไม่คุ้นกับการเห็นแม่น้ำลำคลองในเมืองไทยถูกยกระดับให้ดูดีและดูแพงขนาดนี้
          ในสวนออกแบบทางเดินเลียบคลองในระยะทางที่สามารถเดินและจ๊อกกิ้งได้ไม่เบื่อด้วยการคงสภาพป่า ต้นไม้ธรรมชาติอันกลมกลืนกับการแต่งสวนที่เพิ่มเข้าไปใหม่ ไม่มีอะไรที่เป็นสีสันฉูดฉาดจนเกินกว่าเหตุ
          แต่ก็ไม่ "เนี้ยบ" จนทำให้ "ชาวบ้าน" ที่ไปใช้สวนรู้สึกแปลกแยกจนเหมือนกับว่านี่ไม่ใช่บ้านเรา
          น่าสนใจกว่านั้น เลียบคลองและทางเดินของสวนคือหมู่บ้านจัดสรร ความน่ารักของสวนสาธารณะแห่งนี้คือ ไม่ทำกำแพง หรือรั้วไปปิดกั้นตัวเองกับบ้านเรือนเหล่านั้น
          และหลายบ้านที่บังเอิญหลังบ้านมาติดสวนก็พากันแปลงหลังบ้านเป็นหน้าบ้าน หันหน้าเข้าสวน ได้กำไรวิว และต้นไม้เข้าไปอีก
          บ้านหลังหนึ่งเปิดสวนของตนเองออกมาชนสวนสาธารณะและเปิดร้านกาแฟที่สวย น่ารัก อบอุ่น - อะไรอย่างนี้ ฉันเคยเห็นที่ญี่ปุ่น นั่นคือ พื้นที่สาธารณะกับบ้านส่วนบุคคล ร้านกาแฟดูกลืนๆ เป็นผืนเดียวกัน แต่ไม่ "ละเมิด" กันและกัน
          ทั้งยังเห็นชัดเจนถึง "พรมแดน" ของสองพื้นที่โดยไม่ต้องสร้างกำแพงอัปลักษณ์ไปปิดกั้นเอาไว้ และนี่ทำให้สวนแห่งนี้ยิ่งมีเสน่ห์น่าหลงใหลเข้าไปอีก
          น่ารักกว่านั้นคือ การที่เทศบาลไม่พยายามจะทำสวนให้ "เป๊ะ" เก็บหญ้า ถอนวัชพืช เพื่อให้ได้สวนตามไวยากรณ์สวนแบบ "ประเพณีนิยม" ในสวนสาธารณะแห่งนี้จึงมีต้นกล้วย ต้นกระถิน มีพริกขี้หนูที่ขึ้นเอง ไม่มีใครปลูก งอกงามอยู่ทั่วไปในสวน
          ความสนุกของการมาเดินออกกำลังของ ฉันในวันนั้นคือการแวะเก็บพริกขี้หนูกลับบ้าน
          บางคนก็แวะเก็บยอดกระถินกลับบ้าน
          สารภาพว่าฉันเล็งชะพลูที่ขึ้นเป็นดงใหญ่น่าเด็ดไปทำกับข้าวมาก - เล็งว่า เราจะเก็บกลับบ้านได้ไหม?
          โดยไม่ต้องมีป้ายห้ามเก็บผัก ห้ามเก็บพริก ห้ามเด็ดดอกไม้ สวนสาธารณะแห่งนี้ไม่เคยมีปัญหาว่ามีคนขโมยกล้วยหรือมีคนเด็ดกระถินจนเหี้ยน หรือไปทำอะไรให้ต้นไม้มันอัปลักษณ์หรือสิ้นชีวิต
          การไม่มีข้อห้ามให้เก็บใบไม้ใบหญ้า โดยเฉพาะผักหญ้าที่ขึ้นเอง เช่น กระถิน ตำลึง ทำให้สวนสาธารณะแห่งนี้เป็นสวนที่มี "ความจริง" ชีวิตคนด้วย ไม่ใช่แค่สวยๆ ให้เราไปนั่งดูอย่างเดียว
          ถ้าจำไม่ผิด มีเพียงป้ายห้ามเด็ดกล้วยไม้เท่านั้น
          ความรกเรื้อน้อยๆ ความไม่ลงตัวของสวนที่ไม่ได้จัดวางมาก ความตั้งใจในการเก็บต้นไม้ป่าที่ตกค้างอยู่ในผืนดิน ต้นงิ้วสูงเกือบเสียดทะลุฟ้า และต้นมะเดื่อตะปุ่มตะป่ำออกลูกสีแดงสวยทำให้เราเห็นภาพอดีตกาลของดินแดนแถบนี้
          ไม่อยากเชื่อเลยว่านี่คือฝีมือ คือผลงานของหน่วยการปกครองท้องถิ่นเล็ก จากนายกเทศมนตรีคนสามัญธรรมดาลูกหลานชาวบ้านที่ไม่ต้องไปเรียนจบเมืองนอกเมืองนาที่ไหน และมันยิ่งตอกย้ำคุณูปการของการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น
          หน่วยบริหารระดับตำบล ระดับเทศบาล กับทีมบริหารที่ชาวบ้านเลือกมา และคนท้องถิ่นรุ่นใหม่ที่อยากเห็นบ้านเมืองของตัวเองมีความสุข มีความเจริญ มีความสวยงาม - มันเท่านั้นสำหรับการพัฒนาเมือง
          ใช่ หลายๆ คนอาจจะบอกว่ามันมี "ท้องถิ่น" หรือเทศบาลอื่นๆ ที่เละตุ้มเป๊ะ ไม่ดีแบบนี้ แต่อย่าลืมว่า ถ้าเรามีการเลือกตั้ง - ถ้าเรามี - ชุดผู้บริหารท้องถิ่นที่ไม่ได้เรื่องจะต้องแพ้การเลือกตั้งไปสักวัน - หลักของมันมีเท่านั้น ที่สำคัญเราต้องเปิดโอกาสให้เขาได้ลองผิดลองถูกกับการบริหารจัดการตนเอง
          ภาษีท้องถิ่นควรถูกใช้ในท้องถิ่น ปรัชญาของมันก็เรียบง่ายเพียงเท่านั้น
          แต่ถ้าคนที่เราเลือกมาทำงานดี อย่างที่มันเกิดกับเทศบาลบ้านของฉัน ชาวบ้านเขาก็เห็นอยู่ตำตาว่ามันดีอย่างไร หรือมันมีอะไรที่ไม่ดี เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ทักท้วงในสเกลของท้องถิ่นที่ฝ่ายบริหารถูกตรวจสอบอย่างใกล้ชิดจากชาวบ้านตลอดเวลา
          ผิดกันลิบลับกับวิธีคิดแบบมหาดไทย ที่คิดสำเร็จรูปมาแล้วจากส่วนกลาง ออกแบบมาแล้วจากส่วนกลาง แต่ไม่มีความเข้าใจในลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นเลย
          บอกตามตรง ฉันไม่กล้าคิดเลยว่า ถ้าสวนสาธารณะของฉันถูกออกแบบมาจากส่วนกลาง หน้าตามันจะออกมายังไง? เขาจะเก็บต้นงิ้ว ต้นมะเดื่อไหม? สีสันการปูพื้น การทำถนน จะออกมาหน้าตายังไง?
          เมื่อสวนสาธารณะของเทศบาลบ้านตัวเองสวยขนาดนี้ ฉันก็โม้กับเพื่อนไปทั่ว ปรากฏว่า เพื่อนในจังหวัดอื่นๆ ก็พากันส่งรูปสวนสาธารณะของเทศบาลบ้านตัวเองมาเกทับกันใหญ่
          สิ่งที่ฉันเพิ่งเรียนรู้คือ องค์กรปกครองท้องถิ่นเขาสร้างสวนสาธารณะดีๆ ให้ท้องถิ่นกันมานานแล้ว และเป็นสิ่งที่คนในท้องที่แฮปปี้มาก สวน ต้นไม้ พื้นที่ออกกำลังกาย ภูมิทัศน์เมืองสวยๆ สร้างสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจแก่คนท้องถิ่น
          นโยบายกระจายอำนาจ เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของชนบท และเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของคนท้องถิ่นได้จริง แต่ในเงื่อนไขที่การเลือกตั้งต้องไม่ถูกแช่แข็ง
          พ้นจากความงามของสวนวันนี้ สิ่งที่ฉันกังวลต่อไปคือ อนาคตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทยนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น