วันอังคารที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2560

คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น: การสร้างภาพลักษณ์องค์กรท้องถิ่นโปร่งใส

คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น: การสร้างภาพลักษณ์องค์กรท้องถิ่นโปร่งใส

สยามรัฐ  ฉบับวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๐

          ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
          ผมมีประเด็นที่เชิญชวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ให้ร่วมกันสร้างภาพลักษณ์องค์กรท้องถิ่น (อปท.) ที่มีความโปร่งใส ซึ่งถือว่า เป็นการสร้างภาพลักษณ์ อปท.ในทางที่ดี และเกิดประโยชน์ต่อองค์กรท้องถิ่น โดยเสนอให้ อปท.ดำเนินการจัดการตนเองตามข้อเสนอ ดังนี้
          1. เสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกัน "สร้างภาพลักษณ์การเป็นเจ้าบ้านที่ดี" โดยการวางแนวทาง หรือมาตรการการปฏิบัติงานของบุคลากรที่เป็นพนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ในการส่งเสริมจิตสำนึกในการให้บริการประชาชนในฐานะผู้รับบริการ เพื่อให้บริการประชาชนให้เป็นไปตามที่คาดหวัง เช่นปรับปรุงและพัฒนาความกระตือรือร้นในการทำงาน การทำงานให้ตรงเวลา ความเต็มใจในการให้บริการ มีความยิ้มแย้มแจ่มใส และมีความเป็นธรรมในการให้บริการโดยไม่เลือกปฏิบัติซึ่งอาจกระทำโดยการจัดฝึกอบรม หรือการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับแนวทางการให้บริการแก่ประชาชน หรือการฝึกอบรมการให้บริการในการเป็นเจ้าบ้านที่ดี หรือการพัฒนาระบบการทำงานแบบ one stop service ทั้งนี้เพราะประชาชนเรียกร้องให้ ระบุระยะเวลาในการติดต่องานแต่ละเรื่องแต่ละงานให้ชัดเจน นอกจากนี้อาจให้รางวัลจูงใจแก่บุคลากร เจ้าหน้าที่ที่ให้บริการประชาชนอย่างทุ่มเท และมีประสิทธิภาพ
          2. เสนอให้ อปท. พัฒนาบุคลากร เจ้าหน้าที่ พนักงานท้องถิ่น "ยึดมั่นในคุณธรรมและความโปร่งใส" โดยการจัดให้มีการฝึกอบรมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของ อปท. ตลอดจนการวางแนวทางการป้องกันการทุจริตใน อปท. ของตนเอง โดยเฉพาะร่วมกันประกาศเจตนารมณ์เป็น "องค์กรโปร่งใส"
          นอกจากนี้ การให้ อปท.จัดให้มีการฝึกอบรมให้กับประชาชนอีกส่วนหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารงานของ อปท. เกี่ยวกับคุณธรรมและความโปร่งใส ซึ่งเชิญชวนภาคประชาชน กลุ่มองค์กรชุมชน ร่วมประกาศเป็นองค์กรโปร่งใสร่วมกัน นับว่าเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นที่จะให้ อปท.แสดงจุดยืน ด้านความโปร่งใสให้ชัดเจน
          3.เสนอให้ อปท. เป็น "องค์กรระบบเปิด" (Open System)เพื่อวางแนวทางในการบริหารงานของ อปท. ให้มีความโปร่งใสโดยเสนอให้ อปท. จัดให้มีช่องทางการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่างๆใน อปท. ให้ประชาชนทราบ เช่น ข้อมูลงบประมาณ รายรับ-รายจ่าย ข้อมูลการดำเนินโครงการ และกิจกรรมต่างๆ ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น
          นอกจากนี้ เสนอให้ อปท. รายงานผลการดำเนินงานด้านต่างๆ ของ อปท. ในรอบปีให้ประชาชนทราบ
          4.การดำเนินการบริหารบุคลากรของ อปท. โปร่งใส โดยเสนอให้ อปท. พิจารณาลดเจ้าหน้าที่และบุคลากร ตามความเหมาะสมให้สอดคล้องกับภารกิจของงาน ทั้งนี้เพราะ อปท. ถูกเรียกร้องว่า มีเจ้าหน้าที่มากเกินความจำเป็น
          ในส่วนการรับสมัครพนักงาน อปท. เสนอให้วางแนวทางให้เกิดความโปร่งใส โดยการสร้างกลไกที่แสดงถึงความโปร่งใสเช่น กลไกการแต่งตั้งคณะกรรมการ ที่ให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อป้องกันระบบอุปถัมภ์ หรือการครหาว่าแต่งตั้งพวกพ้องเข้าทำงานในตำแหน่งต่างๆ
          5.เสนอให้ อปท. จัดทำแผนการป้องกันการทุจริต ทั้งนี้เพราะผลการวิจัยพบว่า ส่วนใหญ่ อปท.ไม่ได้จัดทำแผนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จึงเสนอให้มีการจัดทำแผนการป้องกันการทุจริตดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมในการดำเนินงานตลอดจนหาวิธีการนำแผนไปสู่การปฏิบัติ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยเชิญองค์กร ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนป้องกันการทุจริต ดังกล่าว
          6.การสร้างต้นแบบ "ความซื่อสัตย์สุจริต" โดยการบริหารงานของ อปท. เสนอให้มีการยกย่องชมเชย หรือ "ยกย่องบุคลากรที่ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต" มีความโปร่งใส มีความรับผิดชอบ มีคุณธรรมจริยธรรม เป็นที่ประจักษ์ ซึ่งรางวัลอาจให้เป็นรูปแบบต่างๆ ตามความเหมาะสม และอาจจะขยายการให้รางวัลหรือเกียรติบัตรแก่องค์กรภาคประชาสังคมที่คอยสอดส่องดูแลการป้องกันการทุจริต ใน อปท. รวมไปถึงการให้รางวัลที่เกี่ยวข้องกับปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และผู้ที่มีจิตอาสาสมัครในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการช่วยส่งเสริมคุณธรรมและความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในองค์กรท้องถิ่น
          7.การส่งเสริมให้ "อปท. ต้องประเมินตนเอง" หรือให้หน่วยงานภายนอกเข้ามาประเมิน โดยเฉพาะการสมัครเข้าประกวดรางวัลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ "ความโปร่งใส" ของหน่วยงานต่างๆที่เชิญชวน อปท. สมัครเข้าร่วมโครงการ เป็นต้นว่า รางวัลพระปกเกล้าเกี่ยวกับความเป็นเลิศด้านความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าจัดขึ้นในทุกๆปี นอกจากนี้ก็มีรางวัลการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance) ของสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งรางวัลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
          ทั้งนี้ เพื่อเป็นการทำงานให้ อปท. รู้จักการประเมินตนเองว่า มีจุดแข็ง จุดอ่อน อะไรบ้าง จะได้ช่วยทำให้เกิดความตื่นตัว กระตือรือร้น และทำให้มีการพัฒนาตนเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ
          การสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ถือเป็นความหวังของประชาชน กลุ่ม องค์กรต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ส่วนราชการ ที่มุ่งหวังให้ อปท. บริหารจัดการองค์กรท้องถิ่นตนเองให้มีระบบคุณธรรม และความโปร่งใสโดยเฉพาะการทำให้ประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง สามารถที่จะตรวจสอบได้
          ข้อเสนอในการทำให้ อปท. มีความโปร่งใสที่กล่าวมา ผู้เขียนได้ผสมผสานจากข้อเสนอแนะของประชาชนในท้องถิ่นกับการได้นำผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของ อปท. มาเสนอให้ อปท.นำไปทบทวน ปรับปรุงและพัฒนาในส่วนที่เป็นจุดอ่อน เพื่อจะช่วยกันส่งเสริมและทำให้ อปท. เป็นองค์กรท้องถิ่นโปร่งใส ซึ่งเป็นการช่วยกันสร้างภาพลักษณ์ที่ดีๆ ให้เกิดขึ้นในองค์กรท้องถิ่นต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น