สยามรัฐ ฉบับวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๐ |
ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย ด้วยตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่ม พ.ศ.2553 กำหนดให้อปท. สามารถจัดการศึกษาได้ทุกระดับ ตั้งแต่ ปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษาได้ ทั้งนี้ ตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการในท้องถิ่น ตลอดทั้งสามารถระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษาดังกล่าวได้ โดยจะจัดเองทั้งหมดหรือมีส่วนร่วมก็ได้ สาเหตุแห่งการปฏิรูปการศึกษาสองทศวรรษ จับความการปฏิรูปการศึกษาในสมัยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่กระแสอ่อนล้าไปหลังปี 2521 และเพิ่งมาเริ่มเกิดกระแสอีกครั้งหนึ่งในช่วงการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษา ฉบับที่ 8 ประมาณปี 2536-37 ที่มีผลต่อการร่างรัฐธรรมนูญปีพ.ศ. 2540 ตามมาตรา 43, มาตรา 81 ในการกำหนดให้รัฐจัดการศึกษาพื้นฐาน 12 ปีโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และการกำหนดให้มีกฎหมายการศึกษาและแนวทางการจัดการศึกษา ฉะนั้น การปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ถือว่าเริ่มจากรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมีการตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติขึ้นมาเป็นครั้งแรกในปี 2542 รวมทั้งเกิดกฎหมายประกอบขึ้นมาอีกหลายฉบับ โดยมีความมุ่งหวังว่าการศึกษาของไทยจะได้รับการปฏิรูปในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นโครงการสร้างการบริหาร การกระจายอำนาจตลอดไปจนถึงสาระที่สำคัญที่สุดของกระบวนการปฏิรูป อันได้แก่การปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งนี้ เพื่อเตรียมสังคมไทยเข้าสู่โลกยุคใหม่ โดยมุ่งสร้างทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง และทุนทางปัญญา ที่จะนำประเทศให้อยู่รอดในสังคมใหม่ที่มีความรู้เป็นปัจจัยหลักของทั้งระบบเศรษฐกิจ และสังคม ต่อมาเข้าสู่การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2552-2561) มุ่งเน้นให้คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ โดยมีการรับฟังความคิดเห็นและสรุปแนวทางการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 ทำการจัดเวทีระดมความคิดเห็นในภูมิภาคต่างๆ เพื่อกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ความสำคัญกับเงินและมนุษย์ เป็นที่มาของการปฏิรูปการศึกษา 4.0 เป็นที่ยอมรับกันว่าศักยภาพของมนุษย์ในสังคมนั้นจะบอกถึงสถานภาพความมั่นคงของสังคมนั้น ศักยภาพของมนุษย์อยู่ที่การทำงานของสมอง ประเทศใดให้ความ สำคัญในการพัฒนาสมองของคนหรือการคิดของคนในประเทศนั้นจะได้รับการพัฒนาช่วงระยะเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับการเรียนรู้ของมนุษย์คือ แรกเกิดถึง 7 ปี หากส่งเสริมภายหลังจากวัยนี้แล้วถือได้ว่าสายเสียแล้ว เพราะการพัฒนาสมองของมนุษย์ในช่วงวัยนี้สามารถพัฒนาไปถึง 70% ควรจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก ให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น เรียนรู้อย่างมีความสุข จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ดูแลด้านสุขนิสัยและโภชนาการเหมาะสม เด็กจึงจะพัฒนาศักยภาพสมองของเขาได้อย่างเต็มความสามารถ สมองของเด็กเรียนรู้มากกว่าสมองของผู้ใหญ่เป็นพันๆเท่า เด็กเรียนรู้ทุกอย่างที่เข้ามาปะทะ สิ่งที่เข้ามาปะทะล้วนเป็นข้อมูลเข้าไปกระตุ้นสมองเด็กทำให้เซลล์ต่างๆเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อต่างๆอย่างมากมายซึ่งจะทำให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น สมองจะทำหน้าที่นี้ไปจนถึงอายุ 10 ปีจากนั้นสมองจะเริ่มขจัดข้อมูลที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันทิ้งไปเพื่อให้ส่วนที่เหลือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ฉะนั้น การศึกษาปฐมวัยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งก็คือ การจัดการศึกษาในช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-ป.3) และช่วงชั้นที่ 2 (ป.4-ป.6) ซึ่งมีช่วงอายุระหว่าง 7-12 ปี แต่อย่างไรก็ตาม การจัดการศึกษาในช่วงชั้นที่ 3 (ม.1-ม.3) และ ช่วงชั้นที่ 4 (ม.4-ม.6) ซึ่งมีช่วงอายุวัยรุ่นระหว่าง 13-18 ปี เป็นการศึกษาต่อเนื่องมาที่ความสำคัญเช่นกัน เพราะเป็นช่วงสุดท้ายก่อนที่เด็กจะเข้าสู่การเรียนมหาวิทยาลัย หรือเข้าสู่ตลาดแรงงาน สรุปทบทวนการศึกษาไทย 1.0, 2.0, 3.0 และ 4.0 การศึกษาไทย 1.0 เป็นยุคการศึกษาเพื่อสร้างนักปกครอง เป็นการศึกษาสำหรับชนชั้นสูงในสังคม โดยมีการจัดการศึกษาอย่างไม่เป็นทางการให้กับบุตรหลานชนชั้นปกครอง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นนักปกครองในรุ่นต่อไป การศึกษาในยุคนี้ไม่เป็นที่แพร่หลาย มีการจัดการศึกษาเฉพาะกลุ่มเท่านั้น รูปแบบการจัดการศึกษาเป็นแบบบอกความรู้จากผู้สอน ถ้าผู้สอนไม่มีอะไรจะสอนแล้ว ถือว่าสำเร็จการศึกษา การศึกษาไทย 2.0 เป็นยุคแห่งการจัดการศึกษาที่เปิดกว้างขึ้น เหตุจากการจัดการศึกษาในยุค 1.0 นั้น ไม่สามารถผลิตกำลังคนได้ทันต่อความต้องการในการบริหารราชการบ้านเมือง ทำให้ชนชั้นปกครองต้องแก้ปัญหาด้วยการจัดให้มีการศึกษาสำหรับลูกหลานขุนนางชั้นสูง เพื่อผลิตกำลังคนป้อนเข้าสู่ระบบราชการ ที่นับวันจะขยายขอบเขตงานเพิ่มมากขึ้น ตามความเจริญและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในยุคนั้น รูปแบบการจัดการศึกษาเริ่มมีระบบโรงเรียน แต่ยังเป็นการเรียนแบบบอกความรู้จากผู้สอนอยู่เช่นเดิม การศึกษาไทย 3.0 ในยุคนี้เป็นยุคที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่พึ่งพาอุตสาหกรรมเบาในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นเหตุให้การศึกษายุคนี้ เป็นการจัดการศึกษาเพื่อผลิตกำลังคนป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมเกิดการทำซ้ำบัณฑิตอย่างมโหฬาร เป็นเหตุให้เกิดความตกต่ำของบัณฑิตในทุกระดับทุกสถาบันการผลิต โดยรูปแบบการจัดการเรียนรู้นั้น เป็นแบบทางการเหมือนสายพานการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ลักษณะพิเศษการศึกษา 4.0 การศึกษาไทย 4.0 การศึกษายุคนี้ การเข้าถึงเนื้อหาความรู้มีลักษณะเปิด (Open Education Resource) เข้าถึงได้ง่าย การแสวงหาความรู้จึงทำได้เร็ว เด็ก เยาวชนยุคใหม่ มีลักษณะเป็นชนพื้นเมืองดิจิทัล Digital native การเรียนการสอนแบบเก่าในห้องเรียน ที่ท่องบ่นเนื้อหา ตามแผนการสอน ตามกรอบหลักสูตร หรือทำโจทย์ทำข้อสอบแบบเดิมจึงไม่เหมาะกับการศึกษายุคใหม่ นอกจากนี้ การศึกษายุคใหม่(Next Generation Education) ต้องเน้นแสวงหา เรียนรู้ได้เอง อย่างท้าทาย สร้างสรรค์ความรู้ใหม่ ต่อยอดความรู้เดิม คิดและประยุกต์ใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์ได้เหมาะกับตนเอง สังคมตามสถานการณ์ ดังนั้น การศึกษาควรเป็นการศึกษาเพื่อการสร้างนวัตกรรม เป็นการศึกษาเพื่อปวงชน เป็นการศึกษาเพื่อสังคม ที่คนที่ได้รับการศึกษานั้นต้องหันมาช่วยเหลือสังคมอย่างจริงจัง และกว้างขวาง โดยที่ไม่ใช่การศึกษาเพื่อวัตถุประสงค์ใด วัตถุประสงค์หนึ่งดังเช่นที่ผ่านมา และการจัดการศึกษาต้องบูรณาการทั้งศาสตร์ ศิลป์ ชีวิต และเทคโนโลยีเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนเพื่อสร้างคนที่สังคมต้องการได้ในทุกมิติ และมีรูปแบบการจัดการศึกษาที่หลากหลายสอดคล้องและตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียน โดยครูอาจจะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป หรือถ้าจำเป็นต้องมีก็ต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทไปอย่างมาก เรียกว่า"โมเดลการจัดการศึกษาท้องถิ่น" จะเปลี่ยนไป เหมือนการฟังเพลง เมื่อก่อนต้องซื้อเทป ซีดี หรือผู้เรียนต้องจ่ายค่าเล่าเรียน แต่การศึกษาแบบใหม่ การเข้าถึงบริการกิจกรรมการเรียนรู้บนไซเบอร์ จะเหมือนการฟังเพลงบนยูทูบโดยไม่ต้องจ่ายเงินซื้อเทปซีดี เพียงการเข้าถึงบนคลาวด์ในโลกไซเบอร์ สรุปว่าการจัดการศึกษา 4.0 เป็นการเรียนการสอนที่สอนให้ผู้เรียนสามารถนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่งบนโลกนี้ มาบูรณาการเชิงสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมต่างๆ มาตอบสนองความต้องการของคนสังคม แต่ในความเป็นจริงการเรียนการสอนในยุคปัจจุบันแตกต่างกับจุดมุ่งหมายของ การจัดการศึกษา 4.0 อย่างสิ้นเชิง เช่น เราไม่เคยสอนให้เด็กได้คิดเองทำเอง ส่วนใหญ่สอนให้เด็กทำโจทย์แบบเดิมๆ เด็กส่วนใหญ่ใช้เวลาในโลกออนไลน์ไปกับ การเล่นเกม การแชต เล่นFacebook Line Instagram เป็นการใช้เทคโนโลยีโดยไม่ค่อยสร้างสรรค์ การเรียนการสอนในยุค 4.0 ต้องปล่อยให้เด็กได้ใช้เทคโนโลยี ในการเรียนรู้ด้วยตนเองปล่อยให้เด็กกล้าคิดและกล้าที่จะทำผิด แต่ทั้งหมดก็ยังคงต้องอยู่ในกรอบที่สังคมต้องการหรือยอมรับได้ ไม่ใช่ว่าเก่งจริง คิดอะไรใหม่ๆ ได้เสมอ โดยมีความมุ่งหวังว่าเราต้องช่วยกันปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนในโรงเรียน จากระบบการท่องจำและบรรยายโดยการที่ไม่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง มาเป็นระบบที่สอนให้ผู้เรียนได้หัดคิด หัดทำ สามารถที่จะโต้ตอบด้วยเหตุผลได้ แต่ก็ยังคงต้องมีกรอบให้เข้าใจถึงการอยู่ร่วมในสังคมด้วย ผู้เรียนจะได้มีโอกาสสร้างนวัตกรรมแข่งขันกับชาติอื่นๆได้ |
เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ฅนเทศบาล
เมนูหลัก
ข่าวท้องถิ่น
ระเบียบบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานการบริหารงานบุคคลพนักงานส่วนท้องถิ่น
วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2560
บทความพิเศษ: การจัดการศึกษาท้องถิ่น ตอนที่ 2: การปฏิรูปการศึกษา 4.0
บทความพิเศษ: การจัดการศึกษาท้องถิ่น ตอนที่ 2: การปฏิรูปการศึกษา 4.0
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น