วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2559

บทบรรณาธิการ: สนับสนุนให้อำนาจท้องถิ่น

บทบรรณาธิการ: สนับสนุนให้อำนาจท้องถิ่น

กรุงเทพธุรกิจ  ฉบับวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๙

          การ ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วานนี้ (13 ก.ย.) มีมติที่น่าติดตาม คือ "มาตรการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจและสังคมภายในท้องถิ่น" โดยเป็นมาตรการแก้ปัญหาการใช้เงินส่วนท้องถิ่นที่สะสมมานานจากนโยบายการ กระจายอำนาจการเงินการคลังส่วนท้องถิ่น แต่เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าวเพราะยังมี ความไม่ชัดเจนระหว่างอำนาจของท้องถิ่นกับกระทรวงมหาดไทย ทำให้เงินที่รัฐบาลกลางจัดสรรให้ไม่มีการเบิกจ่ายทำให้มียอดสะสมหลายแสนล้าน บาท
          มาตรการที่รัฐบาลออกมาในครั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาเบิกจ่ายการใช้งบประมาณเพื่อพัฒนาท้องถิ่น และเป็นการสร้างแรงจูงใจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ทั่วประเทศนำเงินสะสมมูลค่ารวมหลายแสนล้านบาทมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ แม้ยังให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยในการพิจารณาโครงการเพื่อลดความซ้ำซ้อน เพราะที่ผ่านมารัฐบาลกลางได้ดำเนินนโยบายหลายเรื่องส่งถึงท้องถิ่นโดยตรง เช่นโครงการกองทุนหมู่บ้าน
          อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้กำหนดกรอบการใช้งบประมาณตามมาตรการนี้เกือบ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสะสมของท้องถิ่นทั้งหมด แต่ก็ถือว่าเป็นโครงการนำร่องเพื่อให้ท้องถิ่นได้มีโอกาสเสนอโครงการที่มี ความจำเป็นของตัวเองให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา โดยไม่ใช่โครงการที่กำหนดจากส่วนกลางคือกระทรวงมหาดไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น เพราะเป็นโครงการที่ส่วนราชการต้องการมากกว่าความจำเป็นของท้องถิ่น
          อัน ที่จริง ประเด็นเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามนโยบายการกระจาย อำนาจการเงินการคลังนั้น ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ค้างคามานานและรัฐบาลก่อนหน้านั้นไม่ได้ให้ความสำคัญมาก นัก ดังจะเห็นได้จากยอดเงินสะสมหลายแสนล้านบาทก็สะท้อนให้เห็นว่าการกระจายอำนาจ ยังมีปัญหาอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งนักวิชาการบางคนเห็นว่าปัญหาใหญ่มาจากส่วนราชการที่ไม่ต้องการกระจาย อำนาจให้กับท้องถิ่น โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยที่พยายามหาทางเข้าไปดูแลมาโดยตลอด
          แน่ นอนว่า การกล่าวโทษท้องถิ่นมีปัญหาในเรื่องการบริหารงานและการทุจริตคอร์รัปชัน เพราะหากใส่เงินลงไปในขณะที่ท้องถิ่นยังไม่มีความพร้อม ก็จะสร้างปัญหามากกว่าเป็นผลดีต่อท้องถิ่น แต่เราต้องไม่ลืมว่าการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยง ไม่ได้ตามกระแสโลก เพราะการพัฒนาสมัยใหม่นั้นมีปัญหาค่อนข้างมาก อีกทั้งกลไกรัฐก็มีศักยภาพจำกัดในการเข้าใจปัญหาของท้องถิ่น ซึ่งประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นก็น่าจะเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ และต้องแก้ไขเช่นเดียวกับการเมืองระดับชาติ
          ยิ่งกว่านั้น ปัจจุบันสังคมไทยแทบแยกกันไม่ออกระหว่างสังคมชนบทกับสังคมเมือง การรับรู้และปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนแต่เชื่อมโยงกันไปหมดในระดับประเทศ ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของคนต่างจังหวัดอย่างมากมาย ทั้งด้านความคิดและการดำเนินชีวิต ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือปัญหาและความต้องการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ในขณะที่คนที่อยู่ในท้องถิ่นมีอยู่จำนวนมาก เกินกว่าที่หน่วยงานรัฐจะดูแลอย่างทั่วถึง ดังนั้นการมองว่าคนท้องถิ่นล้าหลังเป็นเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับความจริงที่ เกิดขึ้น
          เราสนับสนุนมาตรการของรัฐบาลในการกระจายอำนาจให้กับ ท้องถิ่นอย่างเต็มที่ โดยไม่อิงแอบกับมหาดไทย เพราะเราเชื่อว่าหากเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นสามารถแสดงศักยภาพของตัวเอง เราจะเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยมากกว่าการอยู่ภายใต้อาณัติของระบบ ราชการ ที่สำคัญที่สุด การกระจายอำนาจสู่ส่วนท้องถิ่น หากประสบความสำเร็จก็ย่อมเป็นคุณูปการอย่างสำคัญของระบอบประชาธิปไตยเอง เพราะประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นต้องเกิดขึ้นจากระดับล่างขึ้นมา หาใช่การชักนำจากส่วนกลาง และที่ผ่านมา เราก็ยังไม่ได้เริ่มต้นอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น