วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2559

คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น: การรับมือกับกระบวนการ'การกลายเป็นเมือง'

คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น: การรับมือกับกระบวนการ'การกลายเป็นเมือง' 
สยามรัฐ  ฉบับวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๙

          รศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
          ผม เข้าใจว่าพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อาณาเขตของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)นับวัน จะยิ่งขยายตัวกลายเป็นเมืองมากขึ้นๆ ทุกขณะ และมีความสลับซับซ้อนแตกต่างกันไปตามขนาดของพื้นที่ความหลากหลายของประชากร การขยายตัวของโครงสร้างพื้นที่ และโครงสร้างทางเศรษฐกิจของเขตพื้นที่นั้นๆ ดังนั้นกระบวนการกลายเป็นเมืองในเขตพื้นที่ของ อปท. ย่อมส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงด้านกายภาพและระบบนิเวศวิทยา ตลอดจนการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงาน การลดลงของพื้นที่สีเขียวเป็นต้น
          ปรากฏการณ์ ของกระบวนการกลายเป็นเมืองที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องหาแนวทางการรับมือ กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นและผลกระทบที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของ พื้นที่ รูปแบบการจัดที่อยู่อาศัย ระบบสาธารณูปโภค การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โครงสร้างประชากร ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ย่อมจะต้องทำให้ อปท.ต้องวางยุทธศาสตร์และแผนในการพัฒนาอย่างรู้เท่าทัน และคาดการณ์ในอนาคตได้
          ผมจึงเห็นว่า การวางยุทธศาสตร์การพัฒนาของ อปท.จะต้องเตรียมรับมือกับกระบวนการการกลายเป็นเมืองในเขตพื้นที่ของตนเอง ไว้อย่างเป็นระบบและมีฐานข้อมูล รวมทั้งนโยบาย แผนการพัฒนาที่มีต่อประชาชนในเขตพื้นที่จะต้องคำนึงถึงสิ่งที่ต้องจัดการ เพื่อทำให้อปท.มีแนวทางในการพัฒนาด้านต่างๆซึ่งในที่นี้จะขอเสนอไว้ดังต่อไป นี้
          ประการที่ 1 การวางยุทธศาสตร์และแผนด้านการรองรับกับปัญหาด้านสุขภาพอนามัย โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายของประชากรและความหนาแน่นของประชากรที่จะเกิดขึ้น ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ และก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสถานการณ์การให้บริการ การส่งเสริมสุขภาพอนามัยของประชาชน และการรองรับปัญหาสุขภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องบริหารจัดการให้มีสถานบริการรองรับการส่งเสริม สุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะในเขตเทศบาลตำบลและเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ในการส่งเสริมสุขภาพและแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชนอย่างเพียงพอและมีคุณภาพ รวมทั้งการป้องกันโรคบางชนิดที่อาจเกิดขึ้นได้ในเขตพื้นที่
          ประการ ที่ 2 ด้านชีวิตครอบครัวของประชาชนในเขตพื้นที่ ทั้งนี้เพราะการขยายตัวไปสู่ความเป็นเมืองย่อมส่งผลต่อโครงสร้างการเปลี่ยน แปลงจากสังคมชนบทกลายเป็นสังคมเมือง ทำให้ครอบครัวจำเป็นต้องใช้เวลาในการประกอบอาชีพมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก การจัดภูมิทัศน์เมืองและชุมชนที่อยู่อาศัยที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไป ความสัมพันธ์ ในระบบเครือญาติและในระบบครัวเรือนอาจจะลดลง ที่สำคัญ อปท.ต้องวางแผนการจัดการโครงสร้างด้านประชากรที่จะต้องตอบโจทย์ในการแก้ ปัญหา ทั้งการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของครอบครัวและการส่งเสริมแต่ละกลุ่มประชากร โดยเฉพาะประชากรที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
          ประการ ที่ 3 การเตรียมการด้านสภาพแวดล้อมและการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไป การขยายตัวของชุมชนที่กลายเป็นเมืองนั้น ย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นกับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่จะต้องเปลี่ยนไป ทั้งในแง่ของพื้นที่สีเขียว พื้นที่เพาะปลูก การใช้ทรัพยากร การเพิ่มพูนของขยะและของเสีย สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นภาระให้ อปท.ต้องวางแผนการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นดังกล่าว นั่นก็คือ การวางยุทธศาสตร์ในการจัดการพื้นที่แบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดZoning พื้นที่ การกำหนดพื้นที่สีเขียวการวางแผนการจัดการขยะ และปัญหามลพิษ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตในพื้นที่ของประชาชน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากมีการบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพ
          ประการ ที่ 4 การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน ชีวิตการทำงาน กระบวนการการกลายเป็นเมืองเป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงโครง สร้างพื้นฐานทางด้านสังคม เศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ชีวิตการทำงานส่วนหนึ่งต้องเปลี่ยนแปลงไป เป็นต้นว่า การเปลี่ยนแปลงจากอาชีพเกษตรมาเป็นอาชีพการค้า การทำธุรกิจ และการให้บริการ ทางเลือกในอาชีพจึงมีความหลากหลายมากขึ้นทั้งนี้เพราะการหลีกเลี่ยงไม่ได้ กับการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน เพราะประโยชน์จากการใช้ที่ดินก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของการเป็นเมืองการ เป็นเจ้าของพื้นที่เกษตรก็อาจจะถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นพื้นที่ด้าน อื่นๆ เช่นการเป็นหมู่บ้านจัดสรร การเป็นเขตพื้นที่ย่านธุรกิจการค้า การกลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม และย่อมทำให้ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมอาจมีทางเลือกในการประกอบอาชีพด้าน อื่นๆ ตามมา
          องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องกลับมาคิดและทบทวนใน เรื่องของการจัดการผังเมืองและการจัดโซนนิ่ง(Zoning) ของเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของท่าน ทั้งในเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน การวางโครงสร้างพื้นฐานการแบ่งพื้นที่เกษตร พื้นที่สวนสาธารณะพื้นที่สีเขียว พื้นที่ย่านธุรกิจการค้า พื้นที่บริการสาธารณะต่างๆ ซึ่ง อปท.จะต้องมียุทธศาสตร์ที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถในเชิงการบริหารมากขึ้น
          ดัง นั้น การบริหารเมืองในเขตพื้นที่ของ อปท.จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่อปท.จะต้องมีความรู้ความเข้าใจ หรือมีองค์ความรู้ในการพัฒนาเมือง กระบวนการการกลายเป็นเมือง ความรู้ในการกำหนดทิศทางโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่สำคัญจะต้องมีวิสัยทัศน์ในการออกแบบเมืองเพื่อจะเป็นส่วนช่วยแบ่งเบาภาระ ให้ปัญหาของกระบวนการการกลายเป็นเมืองลดน้อยลง และป้องกันความเสี่ยง
          ผม จึงเห็นว่า อนาคตของผู้บริหารท้องถิ่นทั้งในระดับเทศบาลตำบลและอบต. จำเป็นจะต้องมีวิสัยทัศน์ในการออกแบบเมือง การกำหนดเมืองในอนาคตในพื้นที่ของตนเองว่าจะเป็นอย่างไร โดยส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมให้ประชาชนและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการ กำหนดทิศทางเมืองและพื้นที่ในอนาคตของตนเองกำหนดอนาคตความเป็นอยู่ให้อยู่ดี มีสุขร่วมกัน จะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และวางหลักการบริหารเมืองที่มีธรรมาภิบาล โดยเฉพาะการใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การออกแบบเมืองเป็นเรื่องของทุกคนในเขต อปท.ของท่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น