วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2559

สมาพันธ์ปลัดฯหนุนควบรวม คาดลดจำนวน'อปท'กว่า6,000แห่งชี้กำกับดูแลง่าย-ประหยัดค่าใช้จ่าย

สมาพันธ์ปลัดฯหนุนควบรวม คาดลดจำนวน'อปท'กว่า6,000แห่งชี้กำกับดูแลง่าย-ประหยัดค่าใช้จ่าย
มติชน  ฉบับวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๙

          นาย ศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2559 จัดโดยสมาพันธ์ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งประเทศไทยร่วมกับสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน พัทยา ชลบุรี มีข้อสรุปการนำเสนอให้มีการปฏิรูปองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) โดยให้มี อปท.ระดับอำเภอ เรียกว่าเทศบาลอำเภอ เช่นเดียวกันรูปแบบการบริหารท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร และให้ตำบลเป็นเขตเหมือนกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน ขณะนี้มี 878 อำเภอ จะทำให้มี อปท. 878 แห่ง สำหรับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เดิม จะมีการปรับบทบาทให้เป็นฝ่ายสนับสนุน 76 แห่ง และมีเทศบาลนคร 30 แห่งเทศบาลเมือง 178 แห่ง ทำให้มี อปท. รวม 1,162 แห่ง จากเดิมทั่วประเทศ 7,569 แห่ง สำหรับปลัด อบต.เดิม จะเปลี่ยนเป็นผู้อำนวยการ (ผอ.) ตำบล เช่นเดียวกับ ผอ.เขตของกรุงเทพมหานคร
          "หากมีการเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้น บทบาทหน้าที่ บริการสาธารณะ จะมีการพัฒนาร่วมกันในระดับอำเภอ เหมือน อปท.ในยุคปัจจุบันตั้งแต่ภารกิจงานงบประมาณ อำนาจหน้าที่ ซึ่งต้องแบ่งให้ชัดเจน โดยทำงานด้านพัฒนาในพื้นที่ ส่วนฝ่ายปกครองในระบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาค จะรับผิดชอบงานด้านความมั่นคง การกำกับดูแล อปท.ระดับอำเภอ ส่วนผู้บริหาร อปท.ควรมาจากเลือกตั้ง เช่น อาจมีการเลือกตั้งระดับตำบล โดยให้ระดับตำบลเป็นเหมือนสภาเขต มีหน้าที่ให้คำปรึกษา ให้มีตัวแทนระดับตำบลเข้าไปเป็นสมาชิกสภา ส่วนระดับอำเภอ ผู้บริหารจะเลือกตั้งจากประชาชนทั้งอำเภอ หรือให้สมาชิกระดับตำบลเลือกตั้ง ส่วน อบจ. กำหนดให้มีหน้าที่ สนับสนุน ทางวิชาการ จัดสรรงบประมาณ แบ่งให้ อปท.ระดับอำเภอ, ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ จัดทำแผนงานพัฒนาแบบบูรณาการ และส่วนของเทศบาลเมือง หรือเทศบาลนคร ให้มีข้อกำหนดในการพัฒนาเป็นเมืองพิเศษ ขนาดใหญ่ เหมือนกรุงเทพมหานคร" นายศักดิพงศ์กล่าว และว่า
          ข้อดีของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะทำให้ อปท.ลดจำนวนลง ทำให้ง่ายต่อการติดตาม และการกำกับดูแลมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายประจำของบุคลากร ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำ บางตำแหน่งสามารถใช้ร่วมกันได้ เช่น นิติกร งานป้องกันบรรเทาสาธารณภัย และ บุคลากร ทำให้ลดความขัดแย้งในระดับหมู่บ้าน และระดับพื้นที่ เนื่องจากมีการเลือกตั้งครั้งเดียว และอาจใช้วิธีการสรรหาตัวแทนระดับอำเภอ หรือระดับจังหวัดได้ ส่วนข้อเสีย คือ นักการเมืองท้องถิ่นจะเสียผลประโยชน์จากการเลือกตั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น