วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2559

ติวเข้มอปท.ใช้งบ'พัฒนาท่องเที่ยว'


ติวเข้มอปท.ใช้งบ'พัฒนาท่องเที่ยว'
กรุงเทพธุรกิจ  ฉบับวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๙

          ปลัดท่องเที่ยวฯ ติวเข้มองค์กรปกครองท้องถิ่นใช้งบส่งเสริมท่องเที่ยว หวังกระจายความหนาแน่น หนุนพัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืน
          นาย พงษ์ภาณุ เศวตรุณทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลอนุมัติงบประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาท ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำมาใช้จ่ายการลงทุนพัฒนาท้องถิ่น โดยมีการพัฒนาด้านท่องเที่ยว เป็นหนึ่งในโครงการเป้าหมายหลักนั้น ในวันที่ 7 เม.ย.นี้ กระทรวงฯ เตรียมเรียกประชุมหน่วยงานในสังกัดอปท. ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาลทั่วประเทศกว่า 7,500 หน่วย ส่งตัวแทนเข้าร่วมรับฟังนโยบายการขับเคลื่อนประชารัฐเพื่อการท่องเที่ยว
          การ อนุมัติงบประมาณดังกล่าว เป็นไปตามข้อเรียกร้องของภาคการท่องเที่ยวที่สะท้อนความเห็นให้รัฐบาลก่อน หน้านี้ว่า การพัฒนาหรือทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในระดับท้องถิ่น ยังคงมีอุปสรรคอยู่มาก เพราะติดขัดในข้อกฎหมายที่ อปท.ไม่สามารถใช้จ่ายงบประมาณกับโครงการด้านท่องเที่ยวได้ เพราะซ้ำซ้อนกับภารกิจของหน่วยงานอื่น
          "คำสั่งดังกล่าวถือเป็น การปลดล็อคให้นำ งบประมาณมาใช้ได้ โดยเฉพาะการปฏิรูปการท่องเที่ยวในท้องถิ่นจะได้นำงบมาปรับปรุงโครงสร้างพื้น ฐานด้านท่องเที่ยวให้สมดุลกับปริมาณนักท่องเที่ยว ที่ปัจจุบันเข้ามามากกว่า 29 ล้านคน และน่าจะเติบโตขึ้นจากการจัดอันดับเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่น่าท่องเที่ยวที่สุดในโลก"
          สำหรับแนวทางในการนำงบ ประมาณไปใช้ ของ อปท. เน้นให้เกิดความยั่งยืน โดยวาง 3 หลักการ ได้แก่ การจัดทำโครงการต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจน ใช้อย่างรวดเร็ว และต้องตรวจสอบการใช้งบประมาณได้
          ส่วนประเด็นที่งบประมาณของ ท้องถิ่นที่ได้รับมานั้นไม่ได้อยู่ในขอบเขตที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะเข้าไปมีอำนาจกำกับดูแล แต่เมื่อท้องถิ่นรับทราบกรอบงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรแล้ว กระทรวงฯ จะสามารถเข้าไปมีบทบาทมอบหมายให้สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาแต่ละจังหวัด รวม 76 แห่งทั่วประเทศ ให้ความรู้หรือแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่นให้มีความเหมาะสมใน แต่ละพื้นที่ แบ่งภารกิจหลัก อาทิ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ที่ทรุดโทรม การพัฒนาสาธารณูปโภคในแหล่งท่องเที่ยว เช่น พัฒนาถนน ป้ายบอกทาง ห้องน้ำสาธารณะ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีความสนใจแปลกใหม่ อาทิ การประดับไฟในแหล่งท่องเที่ยวยามค่ำคืนเพื่อสร้างจุดสนใจ
          ขณะ ที่การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ประเมินว่าด้วยงบประมาณระดับ อปท. คงไม่ สามารถดำเนินการได้โดยลำพังอาจต้องขับเคลื่อน ด้วยหน่วยงานระดับจังหวัดขึ้นไป พร้อมใช้โครงสร้างที่เอื้อให้ระดมเม็ดเงินได้มากขึ้น เช่น เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) โดยโครงการประเภทมนุษย์สร้างขึ้น (แมนเมด) ยังน่าสนใจสำหรับการพัฒนาท่องเที่ยว ของไทย อาทิ กระเช้าโมบายสวรรค์ เตรียมก่อสร้างที่ จ.ภูเก็ต ด้วยความสูงที่สุดในโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น