วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

มหาดไทย : อุปสรรคใหญ่ในการกระจายอำนาจ

มหาดไทย : อุปสรรคใหญ่ในการกระจายอำนาจ
ไทยโพสต์  ฉบับวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

          ถวิล ไพรสณฑ์
          หลายวันมาแล้วที่มีข่าวอ้างว่ามีการหารือร่วมกันหลายหน่วยงาน โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวเรือใหญ่ ผลออกมาว่า
          - ให้ยกเลิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยให้รวมกับเทศบาลเมืองยกเป็น "เทศบาลจังหวัด" และให้สมาชิกมาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งในสัดส่วนเท่าๆ กัน
          - ยกเลิก อบต.ให้คงเหลือรูปแบบเดียว คือ เทศบาลจังหวัด เทศบาลอำเภอ และเทศบาลตำบล
          ทั้งนี้ เหตุผลที่ยุบ อบจ. ก็อ้างว่า ไม่มีพื้นที่ และทำงานซ้ำซ้อนกับเทศบาล เป็นต้น
          ที่ จริงแนวความคิดให้ยุบ อบจ.นั้น เป็นแนวความคิดที่มีมาช้านานของข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สังกัดกรมการปกครองและสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง ก็คือ ข้าราชการฝ่ายปกครองนั่นเอง รวมทั้งสมาคมนักปกครองที่มีแถลงการณ์ออกข่าวผ่านหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 3 สิงหาคม 2558 และ 1 กันยายน 2558 ความตอนหนึ่งว่า "สมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทยได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2527 วัตถุประสงค์เพื่อการรวมตัวกันของนักปกครองที่คัดค้านกระแสทางด้านปฏิรูปการ เมืองที่จะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด"
          ผมเชื่อว่า เหตุผลที่กระทรวงมหาดไทยต้องการให้ยุบ อบจ. ไม่ใช่เพราะงานซ้ำซ้อนกัน หรือ อบจ.ไม่มีพื้นที่หรอก เพราะมีงานหลายประเภทที่เทศบาล และ อบต.ไม่อาจทำได้ เช่น การก่อสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่าง อปท. การจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา หรือระดับมหาวิทยาลัยในอนาคต การส่งเสริมอาชีพ การดูแลรักษาป่าและลุ่มน้ำลำคลอง การจัดรถเมล์ขนส่งภายในจังหวัด การจัดตั้งสหกรณ์ การป้องกันสาธารณภัยที่เกินกำลังของเทศบาล การวางแผนพัฒนาจังหวัดที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาของชาติ การสนับสนุนเทศบาลและ อบต. การจัดตั้งโรงพยาบาล เป็นต้น ซึ่งรวมความแล้ว งานของ อบจ.ไม่จำเป็นต้องเน้นแต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่ง อปท.อื่นได้พัฒนามามากพอสมควร จนความเจริญได้กระจายไปทั่วประเทศ
          กระทรวง มหาดไทยกลัวมากที่สุดก็คือ กลัวว่าถ้ายังคงให้มี อบจ.อยู่ และ อบจ.ทำงานเป็นที่พอใจของประชาชน กระแสเรียกร้องให้ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค โดยให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีอยู่มากแล้วก็จะมีสูงมากขึ้น เรื่อยๆ
          นั่นก็หมายถึงว่า จังหวัดที่เป็นราชการส่วนท้องถิ่นก็จะทำหน้าที่ในงานที่ราชการส่วนกลางหรือ งานของราชการส่วนภูมิภาคแทนด้วย เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย
          ดัง ตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการปกครองแบบรัฐสภา มีพระมหากษัตริย์ (มหาจักรพรรดิ) เป็นประมุข แต่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2493 ทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศพัฒนาในระดับต้นของโลกในช่วงเวลาไม่นานนัก
          ประเทศ ญี่ปุ่นมี 47 จังหวัด โดยระดับบน ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทุก 4 ปี และระดับพื้นที่มีเทศบาลอีกประมาณ 3,000 เทศบาล
          ประเทศอังกฤษ มี 2 ระดับเช่นกันคือ ระดับนคร (เทียบเท่าจังหวัด) มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีโดยตรงเกือบจะทุกนครแล้ว โดยระดับพื้นที่ก็มีเทศบาลรวมแล้วทั้งประเทศประมาณ 30,000 เทศบาล (กำลังยุบรวมเทศบาลเหล่านั้นให้เหลือประมาณ 10,000 เทศบาล)
          ผม ยกตัวอย่าง 2 ประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยวและใช้ระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งญี่ปุ่นและอังกฤษ ไม่มีราชการส่วนภูมิภาค โดยงานของราชการส่วนกลางก็เป็นหน้าที่ขององค์กรท้องถิ่น ซึ่งก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
          เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศอังกฤษไม่เคยมีราชการส่วนภูมิภาคมาก่อนเลย ทำไมจึงบริหารงานกันได้
          แต่ เมืองไทยมักจะอ้างว่า ถ้าไม่มีราชการส่วนภูมิภาคแล้ว จะบริหารงานของราชการส่วนกลางไม่ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องจริงแต่อย่างใด เพราะถ้าจัดองค์กรท้องถิ่นให้เหมาะสม มีบุคลากรและการเงินพร้อม อปท.ก็สามารถทำงานได้ และทำได้ดีกว่าส่วนกลางและส่วนภูมิภาคด้วย เพราะมีขั้นตอนการทำงานสั้นกว่า ใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าและจะสิ้นเปลืองงบประมาณน้อยกว่าด้วย
          ปัจจุบัน มีงานของส่วนภูมิภาคและส่วนกลางซ้ำซ้อนกับงานของส่วนท้องถิ่นอยู่มาก ยกตัวอย่างเช่น งานของกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยที่ อปท.ทำอยู่แล้ว และทำได้ดีกว่าด้วย เพราะเป็นองค์กรที่อยู่กับประชาชนโดยตลอด รู้ปัญหาของประชาชนมากกว่า กรมพัฒนาชุมชนจึงควรยุบ เลิกไป นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวที่เห็นชัดเจนว่า มีงานซ้ำซ้อนกัน ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณทั้งด้านบริหารและบุคลากร เพราะฉะนั้นจึงถึงเวลาที่ต้องกระจายอำนาจไปให้ อปท. เพื่อให้ประชาชนบริหารงานของเขาเองได้แล้ว
          แม้แต่ส่วนกลางก็ ยังมีงานซ้ำซ้อนกันอีกมาก แม้แต่ในกระทรวงเดียวกัน เช่น กรมทางหลวงชนบทมีงานซ้ำซ้อนกับกรมทางหลวง ทั้งๆ ที่อยู่กระทรวงเดียวกัน ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินเดือน ค่าตอบแทน และค่าบริหารอื่นๆ มากขึ้น เพราะมีอธิบดี 2 คน รองอธิบดีหลายคน รวมทั้งมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่อีกมาก และยังมีแขวงการทางทั้งของกรมทางและกรมทางหลวงชนบทกระจายอยู่ทั่วประเทศ คำถามก็คือว่า ทั้ง 2 กรมมีภารกิจต้องทำเหมือนกัน ทำไมต้องแยกกันทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ และงานส่วนใหญ่คือการจ้างเอกชนรับเหมาไปทำ
          ที่จริงเคยมีกฎหมาย ปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 ให้ยุบกรมทางหลวงชนบทภายใน 10 ปี แต่ต่อมาในปี พ.ศ.2552 ได้มี พ.ร.บ.ยกเลิกมาตราที่ให้ยุบเลิกกรมทางหลวงชนบท ทำให้กรมทางหลวงชนบทคงมีอยู่ต่อไป จึงน่าจะมีการทบทวนใหม่ รวมทั้งกระทรวงอื่นด้วยที่งานซ้ำซ้อนกันเช่นนี้
          งานของกรมทาง หลวงชนบทควรจะเป็นงานของ อบจ. ซึ่งถ้างบประมาณที่ตั้งไว้ที่กรมทางหลวงชนบทโอนไปให้ อบจ. รวมทั้งเจ้าหน้าที่ด้วย ถ้าทำเช่นนี้ อบจ.ก็สามารถทำงานได้โดยไม่มีปัญหา
          ประเด็น ที่น่าเป็นห่วงมากก็คือ การมีข้าราชการล้นงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค บางหน่วยงานแทบจะไม่มีอะไรทำ หรือถ้ามีก็น้อยมาก
          ถ้าเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ส่วนกลางประมาณ 500,000 กว่าคน แต่เจ้าหน้าที่ของจังหวัดและเทศบาล มีประมาณ 3,000,000 คน
          ประเทศ ไทยเรามีเจ้าหน้าที่ส่วนกลางและภูมิภาคประมาณ 2,000,000 กว่าคน และของ อปท.ที่ต้องบริการประชาชนอย่างใกล้ชิดกลับมีเพียง 500,000 กว่าคนเท่านั้น
          ประเทศ อังกฤษอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ของส่วนกลางมีน้อยมากคณะกรรมการข้าราชการ พลเรือน (ก.พ.) ที่เป็นผู้อนุมัติอัตรากำลังข้าราชการ เมื่อไหร่จะตื่นตัวมองความจริงเสียทีว่าโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แนวความคิดของ ก.พ.ยังคงเหมือนเดิมเมื่อ 50 ปีที่แล้ว คือการรวมอำนาจ
          ผม เห็น ก.พ.อนุมัติให้เพิ่มข้าราชการอยู่เสมอ และเมื่อเร็วๆ นี้ ก็อนุมัติเพิ่มข้าราชการกระทรวงมหาดไทยอีกเกือบพันคนในสังกัดกรมการปกครอง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
          อนุมัติเพิ่มได้อย่างไร ทั้งๆ ที่งานไม่เพิ่มขึ้น และที่สำคัญคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่ อปท.ได้มีมติมอบภารกิจให้ อปท.มากยิ่งขึ้น ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการให้ทุกส่วนราชการปฏิบัติตามมติดังกล่าว นั่นก็คือลดภารกิจของส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้น้อยลง ก.พ.ได้ติดตามเรื่องนี้บ้างหรือเปล่า
          เพื่อให้ผู้อ่านเห็นข้อ เท็จจริงว่า กระทรวงมหาดไทยไม่มีความต้องการให้มีการกระจายอำนาจแต่อย่างใด ดังตัวอย่างหนึ่งที่ผมจะยกมาอ้างอิงที่เคยเป็นมาในอดีตก็คือ ความเป็นมาขององค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือที่เรียกว่า "อบจ."
          องค์กร อบจ.พัฒนามาจาก "สภาจังหวัด" ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476 โดยกำหนดให้สภาจังหวัดมีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแก่ "กรมการจังหวัด"ต่อมาได้มีการตรา พ.ร.บ.สภาจังหวัด พ.ศ.2481 โดยแยกออกจาก กฎหมายจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476 แต่ก็ยังไม่ได้เป็น "นิติบุคคล" และยังคงมีบทบาทหน้าที่เหมือนเดิม
          ปี พ.ศ.2485 ได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาข้าราชการและความ รับผิดชอบบริหารราชการในจังหวัดแทนกรมการจังหวัด ทำให้สภาจังหวัดจึงเป็นสภาที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดโดยอัตโนมัติ
          พ.ศ.2498 มีความพยายามในการจัดการปกครองท้องถิ่น โดยมีแนวความคิดที่จะปรับปรุงบทบาทของสภาจังหวัดให้มีประสิทธิภาพ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองมากขึ้น จึงได้มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ.2498 กำหนดให้ อบจ.มีฐานะเป็นนิติบุคคลและแยกออกจากจังหวัดที่เป็นราชการส่วนภูมิภาค
          โดยให้ อบจ.ในขณะนั้นดูแลรับผิดชอบพื้นที่ที่อยู่นอกเขตเทศบาลและเขตสุขาภิบาล ทำให้แต่ละหน่วยไม่มีพื้นที่ทับซ้อนกัน
          ส่วน โครงสร้าง อบจ.แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ สภาจังหวัดที่สมาชิกมาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่นิติบัญญัติ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร
          ผู้ว่าราชการ จังหวัดจึงสวมหมวก 2 ใบ คือ เป็น หัวหน้าฝ่ายบริหารของราชการส่วนภูมิภาค และเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดของราชการส่วนท้องถิ่น
          จน กระทั่งได้มีพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 ซึ่งเป็นผลให้ตำบลหลายแห่งยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ทำให้พื้นที่ที่ อบจ.เคยดูแลก็ลดน้อยลง จึงทำให้เกิดกระแสให้มีการปรับปรุง อบจ.ใหม่
          ใน ที่สุด ปี พ.ศ.2540 ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มีพื้นที่ครอบคลุมทั้งจังหวัด ซึ่งเป็นรูปการปกครองแบบ 2 ชั้น คือ อบจ.ชั้นบนและเทศบาล อบต.ชั้นพื้นที่ โดยนายก อบจ.มาจากการเลือกตั้งของสมาชิกสภา อบจ.
          และในปี พ.ศ.2546 ได้มีกฎหมายให้นายก อบจ.เลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทั้งจังหวัด จนกระทั่งถึงยุค คสช.ปัจจุบันที่ให้งดการเลือกตั้งทุกประเภทไว้ก่อน
          ประเด็น ที่ผมต้องการชี้ให้เห็นตรงนี้ก็คือว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2498 ถึงปี พ.ศ.2540 รวมเวลา 42 ปี ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดดำรงตำแหน่งนายก อบจ.ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งมีทั้งเงินเดือน และอาจมีผลประโยชน์จากงานจ้าง การซื้อพัสดุหรืออื่นๆ และที่แปลกประหลาดและทำกันได้ก็คือ ในบางกรณีที่ระเบียบการซื้อ การจ้าง (ในขณะนั้น) กำหนดวงเงินถ้าเกินอำนาจอนุมัติของนายก อบจ. ก็ต้องขออนุมัติผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าฯ จึงลงนามในฐานะผู้เสนอขออนุมัติและเซ็นชื่อเป็นผู้อนุมัติ ท่านผู้อ่านคงมองเห็นภาพว่าเป็นไปได้อย่างไรที่คนคนเดียวทำ 2 ฐานะ การคอร์รัปชันจึงเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะผู้กำกับดูแลกับผู้ปฏิบัติเป็นคนเดียวกัน
          และ ช่วงเวลาถึง 42 ปี ที่กระทรวงมหาดไทย ที่ใช้ระบบนี้โดยไม่ได้มีความคิดที่จะปรับปรุงแก้ไขให้มีการพัฒนา อบจ.ตามการเปลี่ยนแปลงของประเทศและของโลกแต่อย่างใด
          และที่มี การเปลี่ยนแปลงเมื่อปี พ.ศ.2540 ไม่ใช่เพราะมหาดไทยต้นคิดหรอก แต่เพราะมีแรงกดดันจากสมาพันธ์องค์การบริหารส่วนจังหวัดและประชาชนจนกระทรวง มหาดไทยสุดจะต้านไหว
          กรณีสุขาภิบาลก็เช่นเดียวกัน คือ มี พระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ.2495 รูปแบบกำหนดคล้ายๆ อบจ. คือ ถ้าท้องถิ่นใดมีสภาพอันควรยกฐานะเป็นสุขาภิบาล ให้จัดตั้งท้องถิ่นนั้นๆ เป็นสุขาภิบาล โดยมีนายอำเภอเป็นประธานกรรมการสุขาภิบาล ทำหน้าที่บริหาร และมีกรรมการสุขาภิบาลทำหน้าที่นิติบัญญัติ เริ่มต้นใหม่ๆ กรรมการสุขาภิบาลมาจากการแต่งตั้งของนายอำเภอ ต่อมาได้มีการเลือกตั้งผสมผสานกันไป
          นายอำเภอจึงสวมหมวก 2 ใบ ทำนองเดียวกับผู้ว่าราชการจังหวัด
          ต่อ มาเมื่อมีรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 บัญญัติให้ผู้บริหารและสมาชิก อปท.ต้องมาจากการเลือกตั้ง ในปี 2542 จึงได้มีกฎหมายให้เปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาลตำบล และยกเลิก อปท.รูปแบบสุขาภิบาลทั้งหมด
          ซึ่งทำนองเดียวกันกับ อบจ. ที่กระทรวงมหาดไทยได้ดองแช่เข็งเอาไว้ ไม่ได้ปรับปรุงแก้ไขเป็นเวลาถึง 42 ปี และกรณีของสุขาภิบาล ตั้งแต่ปี 2495 ถึงปี 2542 รวมเวลาถึง 47 ปี
          นี่ ถ้ารัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่บัญญัติให้สมาชิกและผู้บริหารของ อปท.ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทั้ง อบจ.และสุขาภิบาลดังกล่าวอาจจะมีอยู่จนกระทั่งบัดนี้ก็ได้ นี่คือธาตุแท้ของคนมหาดไทยที่มีอยู่เกือบทุกคน
          ผมจึงต้องย้ำ ว่า คนมหาดไทย ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นมาแล้วว่า เป็นเวลา 42 ปีที่แช่แข็ง อบจ. โดยไม่ต้องการให้ อบจ.มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา เพราะเกรงกลัวกระแสของประชาชนที่ต้องการให้เปลี่ยนการเลือกตั้งนายก อบจ.มาเป็นเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งจะมีผลกระทบต่อข้าราชการสังกัดกระทรวงนี้อย่างมาก
          ดังกรณีที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่พยายามสร้างกระแสให้ยุบ อบจ. แล้วให้มีเทศบาลจังหวัด เทศบาลอำเภอ และเทศบาลตำบล
          การ เสนอแนวความคิดอย่างนี้ไม่ใช่เพิ่งมีในยุค คสช. แต่กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการอย่างเป็นกระบวนมานานแล้วว่า ต้องยุบ อบจ. โดยนอกจากทำเองแล้ว ยังสนับสนุนให้บรรดาเทศบาล (ซึ่งมิใช่ทุกเทศบาล) เป็นผู้ปลุกกระแสด้วย เพราะเทศบาลส่วนหนึ่งเห็นว่าการมี อบจ. ทำให้รายได้ส่วนหนึ่ง เช่น ค่าธรรมเนียมล้อเลื่อน หรือเงินอุดหนุนทั่วไป เป็นต้น ต้องตกเป็นของ อบจ. ซึ่งเมื่อไม่มี อบจ. เงินเหล่านี้ก็ตกเป็นรายได้ของเทศบาล กลุ่มเทศบาลจำนวนนั้นจึงให้การสนับสนุนด้วย
          ความเห็นที่ให้มี เทศบาลจังหวัด เทศบาลอำเภอ และเทศบาลตำบล จึงเป็นความเห็นที่มีนัย ต้องการกำจัดไม่ให้ อปท. เจริญเติบโตในภาพรวมแต่ให้เป็นองค์กรเล็กๆ ที่ไม่มีกำลังวังชาพอที่จะรับงานบริการประชาชนได้อย่างเข้มแข็ง เพื่อจะได้ใช้สาเหตุนี้อ้างว่า จำเป็นต้องกำกับ ดูแล และต้องมีหน่วยงานภูมิภาคต่อไป
          ผมอยากจะเขียนตรงนี้ว่า มหาดไทยต้องตื่นตัวยอมรับโลกของความเป็นจริงในอนาคต ซึ่งไม่อาจฝืนหรือต่อต้านการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน ที่จะปกครองตนเอง รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการปกครองและการบริหารอีกต่อไปได้
          อย่า ลืมว่าประเทศไทยเราไม่ใช่เป็นของข้าราชการมหาดไทย หรือของข้าราชการอื่นใดที่จะทำอะไรตามความพอใจ แต่เป็นของคนไทยทุกคน ประชาชนจึงต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เรื่องที่มีผลโดยตรงกับเขา อย่างกรณีนี้ด้วย
          ถ้ามีการทำประชามติสอบถามความต้องการของ ประชาชนในแต่ละจังหวัดว่า ต้องการจะให้มีเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดหรือไม่ ผมมั่นใจว่าทุกจังหวัดจะมีผลออกมาเหมือนกันคือ ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างแน่นอนกระทรวงมหาดไทยจะยอมให้ทำ เช่นนั้นหรือไม่
          คอยดูกันต่อไปเถอะครับอีกไม่ถึง 10 ปี จังหวัดต่างๆ จะต้องมีผู้นำที่ประชาชนเขาเลือกของเขาเอง ไม่ใช่ใครก็ได้ที่ถูกส่งไปจากที่อื่น โดยไม่ใช่คนที่ประชาชนเจ้าของพื้นที่เลือกตั้ง
          "ไม่มีใครรัก จังหวัดนั้นเท่ากับคนจังหวัดนั้นๆ ไม่มีใครรู้ปัญหาของจังหวัดนั้นเท่ากับคนจังหวัดนั้นๆ ไม่มีใครเข้าถึงและใกล้ชิดคนในจังหวัดนั้นเท่ากับคนในจังหวัดนั้นๆ
          และ ที่สำคัญที่สุดก็คือ ประชาชนสามารถตรวจสอบคนที่เขาเลือกตั้งด้วยตัวของเขาเองได้ง่ายกว่าคนที่ถูก ส่งไปจากส่วนกลางที่มีความเป็นเจ้าขุนมูลนายติดตัวเพราะระบบราชการ
          เพราะ ฉะนั้น ในการบริหารพื้นที่จึงจำเป็นต้องใช้คนในพื้นที่จึงจะมีความเหมาะสมและสอด คล้องกับความเป็นจริงมากกว่าใช้คนจากที่อื่น ซึ่งเปรียบเสมือนผู้มาอาศัยอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น