วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

อปท.ห่วงงบ3แสนล.ชี้รัฐบาลส่อ'ถังแตก'

อปท.ห่วงงบ3แสนล.ชี้รัฐบาลส่อ'ถังแตก'
มติชน (กรอบบ่าย)  ฉบับวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

 ท้องถิ่นตั้งข้อสงสัยดึงงบอปท.
          กรณีนาย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งให้กระทรวงมหาดไทยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หารือร่วมกันในการนำเงินงบประมาณของท้องถิ่นที่เก็บสะสมไว้ โดยไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ เนื่องจากติดเงื่อนไขการเบิกจ่ายของงบประมาณในแต่ละปีเก็บสะสมไว้กว่า 3 แสนล้านบาทมาใช้ประโยชน์เน้นไปที่การนำงบประมาณในส่วนนี้มาใช้สร้างสถานที่ ท่องเที่ยวอย่างน้อยตำบลละ 1 แห่ง โดยจะนำมาใช้เพียง 30% เพียงพอกับการสร้างและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนทั่วประเทศ และจะสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนได้ในระยะยาวนั้น
          นายปรีชากร โมลิกา อดีตเลขาธิการหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า มองเหมือนว่ารัฐบาลกำลังถังแตก พยายามดึงเอางบท้องถิ่นมาใช้ ดีกว่าไปหากู้จากที่อื่น อ้างทำโครงการเพื่อการท่องเที่ยวเบิกงบได้ง่าย เป็นเหมือนใบบอกทางให้พวกแสวงหาเริ่มหาทางออกอีกครั้ง ใบบอกทางเสือหิว
          "กระตุ้น โดยใช้เงินในกระเป๋า อปท. หมาย ความว่ารัฐบาลไม่มีเงินทำเอง บีบให้ อปท.ใช้เงิน เป็นการอนุมัติในหลักการให้ อปท.ไว้เลย" นายปรีชากรกล่าว
          ส.จ.หวั่น'เสือหิว'รออยู่
          นาย บุญธรรม รุ่งเรือง นายกเทศมนตรี ตำบลปากน้ำฉวาง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของนายสมคิด แต่อย่าระบุว่าเพื่อท่องเที่ยว หากถนนไม่ดี ทางเปลี่ยว ไฟไม่สว่างแล้วใครจะมา ต้องคิดให้รอบคอบ ต้องหันมามองในท้องที่ก่อนมีที่เที่ยวกันหรือไม่ มีศักยภาพมากแค่ไหน คนนอกมาเที่ยวแล้วปลอดภัยหรือไม่ การใช้งบประมาณต้องคุ้มค่า ไม่อยากให้ผิดวัตถุประสงค์
          นายบุญธรรมกล่าวต่อว่า หากคิดใช้โครงการทำนองนี้ก็ต้องไม่ลืมโครงสร้างพื้นฐานแต่ละพื้นที่ด้วยว่า มีความสมบูรณ์มากน้อยแค่ไหน เหมือนงบตำบลละ 5 ล้านที่ผ่านมา ทำแค่โครงการต่อเติมศาลา ไม่รู้ว่าจะเติมทำไม ทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ไม่ดีกว่าหรือ สู้เอาไป ทำถนนยางพาราไม่ดีกว่าหรือให้ฝุ่นถนน หมดไป อย่าไปเอาจักรเย็บผ้ามาให้คนทำนาเลย ไม่คุ้มกัน
          นางมุกดาวรรณ เลื่องศรีนิล ส.อบจ.นครศรีธรรมราช เขต อ.ฉวาง เปิดเผยว่า ถ้าทำได้ก็ดี บาง อปท.มีศักยภาพพร้อมแต่ขาดงบสนับสนุน ไม่สมควรทำแบบกระจายแต่ละตำบล จะเป็นเงินเบี้ยหัวแตก สมควรทำระดับอำเภอจะง่ายกว่าเห็นภาพชัด พื้นที่ใดไม่มีศักยภาพก็ไม่ต้องทำ ควรให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการคิด ไม่ใช่คิดแทนแล้วมีคนรอหักเงินทอน ไม่อยากให้โครงการตกเป็นเหยื่อของเสือหิว เงินหายากจะต้องใช้อย่างคุ้มค่าและให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน
          ส.ท.ท.แนะสภาท้องถิ่นช่วยกรอง
          นาย ศุภสัณห์ หนูสวัสดิ์ กรรมการบริหารสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) เปิดเผยว่า นโยบายของนายสมคิด เพื่อใช้งบท้องถิ่นกระตุ้นเศรษฐกิจและขอให้มีการแก้ไขระเบียบเพื่อนำเงิน สะสม 30% ของ อปท.ทั่วประเทศกว่า 3 แสนล้านบาทใช้สนับสนุนการท่องเที่ยว เป็นการนำเม็ดเงินออกสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น ที่สำคัญการใช้จ่ายงบจะต้องปลอดจากการทุจริต ซึ่งในอนาคตการใช้เงินสะสมจะต้องมีการพิจารณาผ่านความเห็นชอบจากสภาท้องถิ่น จึงสามารถนำไปใช้จ่ายได้ทุกโครงการ ตามแผนพัฒนาของแต่ละ อปท. ซึ่งเดิมใช้งบสะสมได้เฉพาะเหตุฉุกเฉินที่จำเป็นเท่านั้น
          นาย ทวีศักดิ์ ศรีทองกิติกูล ประธานมูลนิธิปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ประเทศไทย กล่าวว่า ก่อนที่จะปลดล็อกในการใช้เงินสะสมกว่า 3 แสนล้านบาท ทั้ง คสช. รัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย ควรพิจารณาเร่งรัดให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ รักษาการตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 หลังหมดวาระตั้งแต่ต้นปี 2558 เพื่อจะเข้ามาตัดสินใจในการใช้จ่ายงบประมาณจากเงินสะสมซึ่งมีความเหมาะ สมมากกว่าการตัดสินใจของผู้บริหารและสมาชิกที่รักษาการในตำแหน่งโดยไม่มี กำหนดเงื่อนไขเวลาในการทำหน้าที่
          นายก'ดอนแก้ว'บอกชัก30%สูงเกิน
          นาย นพดล ณ เชียงใหม่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ดอนแก้ว อ.แม่ริม ในฐานะนายกสมาคม อบต.จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เห็นด้วยกับนายสมคิดที่ต้องแก้ระเบียบกระทรวงมหาดไทย หรือให้กรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น (สถ.) ทำระเบียบรองรับโดยเฉพาะ รวมทั้งให้กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา แก้พระราชบัญญัติส่งเสริมท่องเที่ยวให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วม และใช้งบประมาณ ท้องถิ่นได้ พร้อมสนับสนุนกิจกรรมท่องเที่ยวท้องถิ่นทุกรูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับ ระเบียบกระทรวงมหาดไทย และ สถ. เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ขัดแย้ง หรือสร้างปัญหา ภายหลัง
          "ปัญหาท้องถิ่นคือ การตรวจสอบการใช้งบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไม่ว่าเป็น งานวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตชุมชน ถ้าไม่มีระเบียบรองรับ ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ถ้าทำไปแล้วก็ถูกเรียกเงินคืนย้อนหลัง เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมท่องเที่ยวท้องถิ่น เพื่อสร้างงาน อาชีพ รายได้สู่ชุมชนหากมีแก้ระเบียบ หรือมีกฎหมายรองรับชัดเจน ท้องถิ่นสามารถทำได้ทันทีเพราะมีแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวระดับตำบลอยู่แล้ว โดยเฉพาะแผนพัฒนาระยะ 3 ปี ปี 2560-2563 ส่วนการใช้งบสะสม 30% พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวนั้นเห็นว่าสูงเกินไป อาจกระทบพัฒนาด้านอื่น อาทิ สาธารณูปโภค การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ดังนั้นควรให้ ท้องถิ่นพิจารณาใช้งบตามรายได้ ความจำเป็น เหมาะสม และศักยภาพแต่ละท้องถิ่นเอง ดีกว่า" นายนพดลกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น