วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

งานถูกต้องตามสัญญาแต่ไม่ถูกหลักวิชาช่าง ใครรับผิดชอบ

คดีหมายเลขดำที่ อ. ๒๑๐-๒๑๑/๒๕๔๗
คดีหมายเลขแดงที่  อ. ๓๓๔-๓๓๕/๒๕๕๒
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลปกครองสูงสุด
วันที่     ๓       เดือน ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๒

คดีหมายเลขดำที่    อ. ๒๑๐/๒๕๔๗
คดีหมายเลขแดงที่  อ. ๓๓๔/๒๕๕๒
                         บริษัท ลีดเดอร์ เน็ตเวิร์ค จำกัด                                    ผู้ฟ้องคดี

ระหว่าง

                         เทศบาลตำบลบ้านนาปรือ  ที่ ๑
                         นายชาญณรงค์ หรือพรณรงค์ วงษ์พาสกลาง  ที่ ๒          ผู้ถูกฟ้องคดี


                           
เรื่อง  คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง (อุทธรณ์คำพิพากษา)

คดีหมายเลขดำที่   อ. ๒๑๑/๒๕๔๗
 คดีหมายเลขแดงที่ อ. ๓๓๕/๒๕๕๒


                         เทศบาลตำบลบ้านนาปรือ                                                  ผู้ฟ้องคดี

ระหว่าง

                        บริษัท ลีดเดอร์ เน็ตเวิร์ค จำกัด ที่ ๑
                        บริษัทธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่ ๒                   ผู้ถูกฟ้องคดี

เรื่อง  คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง (อุทธรณ์คำพิพากษา)

        ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ ๕/๒๕๔๖  หมายเลขแดงที่ ๓๘/๒๕๔๗ และคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๐/๒๕๔๖ หมายเลขแดงที่ ๓๙/๒๕๔๗ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองระยอง)บริษัท ลีดเดอร์ เน็ตเวิร์ค จำกัด ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องเทศบาลตำบลบ้านนาปรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และนายชาญณรงค์  หรือพรณรงค์  วงษ์พาสกลาง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ต่อศาลปกครองชั้นต้นเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕/๒๕๔๖ โดยศาลได้แสวงหาข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว และคดีอยู่ระหว่างที่ตุลาการเจ้าของสำนวนจัดทำบันทึกสรุปสำนวน ปรากฏว่าเทศบาลตำบลบ้านนาปรือ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องบริษัท ลีดเดอร์ เน็ตเวิร์ค จำกัด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และบริษัทธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)  ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ต่อศาลปกครองชั้นต้นเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๖ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๐ /๒๕๔๖ และมีคำร้องขอรวมการพิจารณาคดีเข้ากับคดีหมายเลขดำที่ ๕/๒๕๔๖  ซึ่งศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า คดีหมายเลขดำที่ ๕/๒๕๔๖ ศาลได้แสวงหาข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว การนำคดีไปรวมการพิจารณากับคดีหมายเลขดำที่ ๕/๒๕๔๖ จะไม่เป็นการสะดวกแก่การพิจารณา ยกคำร้อง ต่อมาคดีหมายเลขดำที่ ๕/๒๕๔๖ อยู่ในระหว่างจัดทำบันทึกของตุลาการเจ้าของสำนวน ศาลปกครองชั้นต้นเห็นว่าคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๐/๒๕๔๖ มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะพิจารณาพิพากษาได้แล้ว จึงให้งดเว้นไม่ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงในชั้นทำคำคัดค้านคำให้การและคำให้การเพิ่มเติมและเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ยื่นคำให้การแล้วโดยมีข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับข้อเท็จจริงในคดีหมายเลขดำที่ ๕/๒๕๔๖  จึงมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกัน โดยให้คดีหมายเลขดำที่ ๕/๒๕๔๖ เป็นสำนวนคดีหลัก และเพื่อความสะดวกแก่การพิจารณาจึงให้เรียกคู่กรณีแต่ละฝ่ายโดยถือตามสำนวนคดีหลัก และสำหรับบริษัทธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๐ /๒๕๔๖  ให้เรียกว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลัง  สำนวนคดีแรก (คดีหมายเลขดำที่ ๕/๒๕๔๖ หมายเลขแดงที่ ๓๘/๒๕๔๗) ผู้ฟ้องคดีฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องว่า  ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ทำสัญญาจ้างผู้ฟ้องคดีตามสัญญาจ้างเลขที่ ๖/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๔ ให้ก่อสร้างวางท่อระบายน้ำสายหน้าวัดเนินบาก หมู่ที่ ๕ ตำบลเนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน ๑๓๓ ท่อน พร้อมบ่อพักฝาตะแกรงเหล็กจำนวน ๑๓ บ่อ ถนนรางวีกว้าง ๐.๖๐ เมตร หนา ๐.๒๐ เมตร ระยะทาง ๑๓๙ เมตร ตามแบบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พร้อมป้ายโครงการฯ ติดตั้ง ณ สถานที่ก่อสร้างจำนวน ๑ ป้าย เป็นจำนวนเงิน ๑๗๐,๐๐๐ บาท โดยเริ่มทำงานที่รับจ้างในวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๔ และต้องทำงานให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการก่อสร้าง และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตรวจรับงานก่อสร้างและเบิกค่าก่อสร้างให้แก่ผู้ฟ้องคดี เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑  มีหนังสือ ที่ ปจ ๖๑๓๐๑/๑๙๕ ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๔ ถึงผู้ฟ้องคดีแจ้งว่าได้ตรวจสอบงานที่จ้างแล้วปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการก่อสร้างบ่อพักน้ำโดยที่น้ำในรางวีไม่สามารถไหลลงสู่บ่อพักน้ำได้ จึงให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขบ่อพักน้ำในรางวีให้ไหลลงสู่บ่อพักโดยด่วน แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าตนได้ดำเนินการก่อสร้างตามแบบแปลนที่กำหนดในสัญญาแล้ว การที่น้ำในถนนรางวีไม่สามารถไหลลงสู่บ่อพักได้ มิใช่ความผิดของผู้ฟ้องคดี และหากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีเจตนาสุจริตควรจะแจ้งหรือมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขภายในช่วงระยะเวลาตามแผนงานการก่อสร้าง หรือในช่วงระยะเวลาที่ผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการก่อสร้างในส่วนนั้นๆ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กลับปล่อยให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ จึงมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขงานก่อสร้างดังกล่าว โดยมิได้ระบุอย่างชัดแจ้งว่าจะให้ดำเนินการแก้ไขโดยวิธีใด ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ถึงผู้ฟ้องคดียืนยันให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขบ่อพักน้ำเพื่อให้น้ำในถนนรางวีสามารถไหลลงสู่บ่อพักน้ำ ถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีเจตนาทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย เนื่องจากงานก่อสร้างดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ หากผู้ฟ้องคดีไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา ผู้ฟ้องคดีจะต้องเสียค่าปรับในอัตราวันละ ๔๒๕ บาท ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ส่งมอบงานและมีหนังสือลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ยืนยันกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ว่า การที่น้ำในถนนรางวีไม่สามารถไหลลงสู่บ่อพักมิใช่เกิดจากการก่อสร้างที่ผิดแบบแปลนหรือผิดสัญญาจ้างแต่ประการใด ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้ เว้นแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะกำหนดค่าจ้างในงานก่อสร้างที่เพิ่มเติมให้แก่ผู้ฟ้องคดี และผู้ฟ้องคดีขอใช้สิทธิดำเนินการตามสัญญา ข้อ ๒๑ ว่าด้วยกรณีพิพาทและอนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดกรณีพิพาทที่เกิดขึ้น รวมทั้งใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งและหรือดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้าง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกเฉย ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถร้องขอต่อศาลแพ่งตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นชี้ขาดกรณีพิพาทได้ จากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ อ้างว่า คณะกรรมการตรวจการจ้างตรวจสอบพบข้อบกพร่องที่ผู้ฟ้องคดีต้องดำเนินการแก้ไขเนื่องจากน้ำในถนนรางวีไม่ระบายสู่บ่อพักน้ำ โดยบ่อพักน้ำไม่เป็นไปตามรูปแบบรายละเอียดที่กำหนดไว้ ซึ่งสัญญาจ้างได้สิ้นสุดลงในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แต่ผู้ฟ้องคดีทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ดังนั้น ระหว่างที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มิได้บอกเลิกสัญญาจ้าง ผู้ฟ้องคดีต้องชำระค่าปรับตามสัญญาในอัตราวันละ ๔๒๕ บาท นับจากวันที่กำหนดแล้วเสร็จจนถึงวันที่
ทำงานเสร็จจริง ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ถึงผู้ฟ้องคดีขอให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ เพื่อให้คณะกรรมการตรวจการจ้างไปตรวจงานในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าตนได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จตามสัญญาแล้ว จึงไม่จำต้องขอขยายระยะเวลาในการก่อสร้างอีก จากนั้นผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ ทวงถามไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชำระหนี้ค่าจ้างที่ยังไม่ได้ชำระภายใน ๗ วัน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกเฉย ในที่สุดผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้มีคำสั่งลงวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๔๖ ให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างให้ถูกต้องตามสัญญาและวัตถุประสงค์ของโครงการตามมติคณะกรรมการตรวจการจ้างและส่งมอบงานจ้างให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พร้อมทั้งให้ชำระค่าปรับ ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่ง
ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการก่อสร้างตรงตามแบบแปลนและสัญญาจ้างทุกประการ แต่เหตุที่เกิดขึ้นเนื่องจากแบบแปลนนั้นผิดพลาด ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งลงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ บอกเลิกสัญญาจ้างและริบเงินประกันสัญญาจำนวน ๘,๕๐๐ บาท พร้อมทั้งเรียกค่าปรับเพิ่มจำนวน ๒๓๑,๖๒๕ บาท โดยแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีนำเงินมาชำระภายใน ๓๐ วัน หากไม่ชำระภายในกำหนด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะดำเนินคดีตามกฎหมายและจะเสนอให้จังหวัดปราจีนบุรีสั่งและแจ้งเวียนให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ทิ้งงานของทางราชการ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล
    ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกถอนคำสั่งปรับเงินตามสัญญาจ้าง เพิกถอนคำสั่งบอกเลิกสัญญาจ้างและคำสั่งริบเงินประกันสัญญา ห้ามผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เสนอชื่อผู้ฟ้องคดีให้จังหวัดปราจีนบุรีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาสั่งและแจ้งเวียนให้เป็นผู้ทิ้งงานของทางราชการ และขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความอย่างสูงแทนผู้ฟ้องคดี รวมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ค่าจ้างทำของตามสัญญาเป็นเงิน ๑๗๐,๐๐๐ บาท และค่าขาดประโยชน์จากการนำเงินค่าจ้างไปใช้ในกิจการงานของผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีขาดเงินทุนหมุนเวียนในกิจการงาน ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองสามารถคาดเห็นได้ เป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๔๗๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีจากต้นเงินจำนวน ๔๗๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่า
จะชำระเสร็จแก่ผู้ฟ้องคดี
        ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การโดยบรรยายข้อเท็จจริงทั้งหมด ปฏิเสธแต่เพียงว่า ตนเองได้ดำเนินการบอกเลิกสัญญาจ้างเลขที่ ๖/๒๕๔๔ ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่กำหนดไว้ รวมทั้งถูกต้องตามสัญญาจ้าง ข้อ ๗ ก. ข้อ ๗ ข. ข้อ ๑๗ และข้อ ๑๘ ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๓๕
        ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ยื่นคำให้การ
        ผู้ฟ้องคดีคัดค้านคำให้การว่า  คำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีเคลือบคลุมเพราะเป็นเพียงการบรรยายข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยไม่มีรายละเอียดหรือเหตุผลที่ชัดแจ้งว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่กำหนดไว้ รวมทั้งถูกต้องตามสัญญาจ้างอย่างไร ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าแบบแปลนท่อระบายน้ำเป็นการคำนวณที่ผิดพลาด ทำให้น้ำไม่สามารถระบายลงสู่บ่อพักน้ำได้ มิได้เกิดจากความผิดของผู้ฟ้องคดี ประกอบกับผู้ฟ้องคดีได้แจ้งให้ผู้ควบคุมงานของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองทราบถึงความบกพร่องของแบบแปลน พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขเพื่อให้งานก่อสร้างสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ แสดงให้เห็นว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทำตามหน้าที่เยี่ยงผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่องานของตนอย่างเต็มที่ตามหน้าที่อันพึงกระทำโดยครบถ้วนแล้ว เมื่อผู้ฟ้องคดีดำเนินการก่อสร้างถูกต้องตรงตามแบบแปลนและเงื่อนไขในสัญญาจ้างทุกประการ ส่วนที่นอกเหนือจากสัญญาจ้างจึงไม่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ฟ้องคดี หากจะให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขในส่วนดังกล่าว ถือว่าเป็นงานที่นอกเหนือจากสัญญา
        ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การเพิ่มเติมว่า  ผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายผิดสัญญา ทำงานก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแบบแปลนและรายละเอียดแนบท้ายสัญญาจ้างเป็นเหตุให้น้ำในถนนรางวีไม่สามารถไหลลงสู่บ่อพักน้ำได้ตามวัตถุประสงค์ของสัญญาจ้าง ซึ่งแบบแปลนและรายละเอียดแนบท้ายสัญญาจ้างเลขที่ ๖/๒๕๔๔ นั้น เป็นแบบแปลนที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและได้มาตรฐานทางวิศวกรรม หากผู้ฟ้องคดีทำการก่อสร้างตามรูปแบบแปลนและรายละเอียดแนบท้ายสัญญาจ้างดังกล่าวแล้ว น้ำในถนนรางวีก็สามารถไหลลงสู่บ่อพักน้ำได้ตามวัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างวางท่อระบายน้ำ โดยการก่อสร้างปากขอบบ่อพักน้ำ
จะต้องบากเซาะร่องรูปตัววีเพื่อรับร่องรางวีของถนนรางวี และการบากเซาะร่องรูปตัววีดังกล่าว ถือเป็นเนื้องานตามสัญญาจ้าง มิใช่เป็นงานเพิ่มเติมนอกเหนือสัญญาจ้าง หากแต่ผู้ฟ้องคดีดำเนินการก่อสร้างบ่อพักน้ำโดยไม่บากปากขอบบ่อพักน้ำให้เป็นรูปตัววีเชื่อมต่อกับถนนรางวี ทั้งผู้ฟ้องคดีก็ทราบดีว่างานก่อสร้างไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างวางท่อระบายน้ำ ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้บรรยายไว้ในคำคัดค้านคำให้การ ย่อมฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายผิดสัญญา โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้บอกกล่าวให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขงานก่อสร้างให้ถูกต้องตามสัญญาจ้างแล้วหลายครั้ง แต่ผู้ฟ้องคดียังคงยืนยันปฏิเสธไม่แก้ไขงานก่อสร้างดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญา พร้อมกับใช้สิทธิริบเงินประกันสัญญาเป็นเงินจำนวน ๘,๕๐๐ บาท และสงวนสิทธิเรียกร้องเงินค่าปรับตามสัญญาที่ผู้ฟ้องคดียังค้างชำระอีกจำนวน ๒๓๑,๖๒๕ บาท ผู้ฟ้องคดีจึงไม่อาจฟ้องเรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองรับผิดตามสัญญาจ้างเป็นคดีนี้อีก ประกอบกับผู้ฟ้องคดีได้ให้สัญญาไว้ในแบบท่อระบายน้ำพร้อมถนนรางวีด้วยว่า “การดำเนินงานหากมีปัญหาให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการตรวจการจ้าง” หากเห็นว่ามีปัญหาในการดำเนินการก่อสร้าง ผู้ฟ้องคดี
ในฐานะผู้รับจ้างจักต้องรับฟังคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจการจ้างและหรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะผู้ว่าจ้างตามสัญญา หรือผู้ควบคุมงานของผู้ว่าจ้าง แต่ผู้ฟ้องคดีหาได้ฟังคำแนะนำหรือคำสั่งของผู้ควบคุมงานของผู้ว่าจ้างหรือของคณะกรรมการตรวจการจ้าง หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายใด ๆ ต่อผู้ฟ้องคดี และในระหว่างดำเนินงานก่อสร้างตามสัญญาจ้าง ผู้ฟ้องคดีไม่เคยทักท้วงหรือรายงานว่าแบบแปลนตามสัญญาจ้างบกพร่องหรือผิดพลาดหรือมีปัญหาในการดำเนินงานก่อสร้างแต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อผู้ควบคุมงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตรวจพบความบกพร่องของงานจ้างในระหว่างที่ผู้ฟ้องคดีกำลังดำเนินงานก่อสร้างบ่อพักน้ำเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๔ พบว่าคนงานของผู้ฟ้องคดีไม่ได้บากปากขอบบ่อพักน้ำ จึงได้แนะนำให้ทำการแก้ไข และได้บันทึกไว้ในรายงานการควบคุมการก่อสร้างประจำวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๔ ต่อมาวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๔ ยังคงตรวจพบว่าไม่ได้มีการแก้ไขแต่อย่างใด จึงบันทึกไว้ในรายงานควบคุมการก่อสร้างประจำวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๔ แล้วรายงานให้ประธานกรรมการตรวจการจ้างทราบตามบันทึกข้อความลงวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๔ จากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีหนังสือถึงผู้ฟ้องคดีแจ้งว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ตรวจสอบแล้วผลปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการก่อสร้างบ่อพักน้ำโดยที่น้ำในถนนรางวีไม่สามารถไหลลงสู่บ่อพักน้ำได้ จึงให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขบ่อพักน้ำเพื่อให้น้ำไหลลงสู่บ่อพักโดยด่วน ตามหนังสือ ที่ ปจ ๖๑๓๐๑/๑๙๕ ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งว่าได้ดำเนินการก่อสร้างถูกต้องตามรูปแบบในสัญญาจ้าง หากจะให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไข ผู้ฟ้องคดีถือว่าเป็นงานพิเศษหรืองานเพิ่มเติมที่ผู้ว่าจ้างจะต้องกำหนดอัตราจ้างเพิ่มขึ้น จากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือแจ้งยืนยันว่างานก่อสร้างดังกล่าวเป็นงานที่ผู้รับจ้างต้องดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาจ้าง ซึ่งถือเป็นวัตถุประสงค์ของโครงการก่อสร้างวางท่อระบายน้ำ มิใช่เป็นงานพิเศษหรืองานเพิ่มเติม แต่ผู้ฟ้องคดีกลับมีหนังสือส่งมอบงานก่อสร้างให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และแจ้งยืนยันไม่ยินยอมทำการแก้ไขงานก่อสร้าง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงได้มีหนังสือ ที่ ปจ ๖๑๓๐๑/๒๐๔ ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แจ้งผลการตรวจการจ้างของคณะกรรมการตรวจการจ้างให้ผู้รับจ้างแก้ไข
งานก่อสร้าง และมีหนังสือ ที่ ปจ ๖๑๓๐๑/๒๑๓ ลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แจ้งกำหนดระยะเวลาให้ผู้รับจ้างทำการแก้ไขงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ อีกครั้งหนึ่ง แต่ผู้ฟ้องคดียังคงปฏิเสธไม่ยินยอมแก้ไขงานก่อสร้างให้ถูกต้อง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีหนังสือ ที่ ปจ ๖๑๓๐๑/๒๔ ลงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ บอกเลิกสัญญาจ้างกับผู้ฟ้องคดี พร้อมกับแจ้งริบเงินประกันสัญญาและสงวนสิทธิเรียกร้องเงินค่าปรับและค่าเสียหาย ทั้งนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คณะกรรมการตรวจการจ้างและผู้ควบคุมงานก่อสร้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มิได้มีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดีให้ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด เหตุแห่งข้อพิพาทและความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งปวงในคดีนี้เป็นความผิดของผู้ฟ้องคดีเองทั้งสิ้น ประกอบกับแบบแปลนและรายละเอียดแนบท้ายสัญญาจ้างได้กำหนดรูปแบบของงานก่อสร้างไว้เพียงรูปแบบเดียว โดยวิธีบากปากขอบบ่อพักน้ำเป็นรูปตัววีเชื่อมต่อกับรางวีของถนนรางวีเพื่อให้น้ำในถนนรางวีไหลลงสู่บ่อพักทางขอบบ่อพักน้ำได้ ซึ่งผู้ฟ้องคดีย่อมทราบถึงวิธีการแก้ไขงานก่อสร้างดังกล่าวได้ดี การที่ผู้ฟ้องคดีปฏิเสธไม่ยินยอมทำการแก้ไขงานก่อสร้างตลอดมา ย่อมฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้าง และเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้บอกเลิกสัญญากับผู้ฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ โดยก่อนบอกเลิกสัญญา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้แจ้งข้อเรียกร้องไปยังผู้ฟ้องคดี เมื่อครบกำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาให้ผู้ฟ้องคดีชำระค่าปรับด้วยนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงต้องรับผิดชำระค่าปรับนับถัดจากวันครบกำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาถึงวันบอกเลิกสัญญา (วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ถึงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖) เป็นเวลา ๕๖๕ วัน ในอัตราค่าปรับวันละ ๔๒๕ บาท รวมเป็นเงินค่าปรับจำนวน ๒๔๐,๑๒๕ บาท ตามสัญญา ข้อ ๑๗ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้บอกเลิกสัญญาพร้อมกับขอริบหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาเป็นเงินจำนวน ๘,๕๐๐ บาท และสงวนสิทธิเรียกร้องค่าปรับในส่วนที่เกินหลักประกันจำนวน ๒๓๑,๖๒๕ บาท โดยให้ผู้ฟ้องคดีนำเงินไปชำระให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญา นอกจากนี้ ผู้ฟ้องคดียังต้องรับผิดในค่าเสียหายที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จักต้องดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ถูกต้องตามสัญญาจ้าง ข้อ ๑๘ เป็นเงินจำนวน ๑,๒๖๓ บาท รวมเป็นค่าเสียหายที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีสิทธิหักเอาจากเงินค่าจ้างตามสัญญา ข้อ ๑๙ เป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน ๒๓๒,๘๘๘ บาท ซึ่งเกินกว่าราคาค่าจ้างตามสัญญา สำหรับเงินชดเชยค่าเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับจากการขาดประโยชน์จากการนำเงินค่าจ้างไปใช้ในกิจการงานของผู้ฟ้องคดีนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้จากผู้ถูกฟ้องคดี
         สำนวนคดีหลัง (คดีหมายเลขดำที่ ๑๔๐/๒๕๔๖ หมายเลขแดงที่ ๓๙/๒๕๔๗)ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า  ผู้ฟ้องคดีได้ทำสัญญาจ้างกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำงานวางท่อระบายน้ำ สายหน้าวัดเนินบาก หมู่ที่ ๕ ตำบลเนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน ๑๓๓ ท่อน พร้อมบ่อพักฝาตะแกรงเหล็กจำนวน ๑๓ บ่อ ตามแบบของผู้ฟ้องคดี พร้อมป้ายโครงการฯ จำนวน ๑ ป้าย ณ เทศบาลตำบลบ้านนาปรือ ตำบลเนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรีเป็นเงินจำนวน ๑๗๐,๐๐๐ บาท โดยกำหนดงานที่จ้างแล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ตามสัญญาจ้างเลขที่ ๖/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๔ โดยสัญญา ข้อ ๗ ข. กำหนดว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ สัญญาจะทำงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ถ้าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาหรือทำผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด หรือเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการตรวจการจ้างหรือควบคุมงานซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาได้ และมีสิทธิจ้างผู้รับจ้างรายใหม่เข้าทำงานของผู้ฟ้องคดีให้ลุล่วงไปได้ และการที่ผู้ฟ้องคดีไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญานั้น ไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พ้นจากความรับผิดตามสัญญาโดยมีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันมอบไว้ต่อผู้ฟ้องคดี ยินยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชำระเงินให้ตามสิทธิเรียกร้องของผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน ๘,๕๐๐ บาท ในกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ ในระหว่างสัญญาจ้าง ผู้ควบคุมงานของผู้ฟ้องคดีตรวจพบว่า
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดำเนินการก่อสร้างบ่อพักน้ำโดยที่น้ำในถนนรางวีไม่สามารถไหลลงสู่บ่อพักน้ำได้ ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการงานก่อสร้างวางท่อระบายน้ำและรูปแบบแนบท้ายสัญญาจ้าง ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๔ แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แก้ไขบ่อพักน้ำในถนนรางวีให้น้ำไหลลงสู่บ่อพักน้ำได้โดยด่วนและได้มีหนังสือลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แจ้งเตือนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้ดำเนินการแก้ไขบ่อพักน้ำเพื่อให้น้ำในถนนรางวีสามารถไหลลงสู่บ่อพักน้ำได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าว ครั้นเมื่อครบกำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาจ้างเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีได้แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทราบว่า คณะกรรมการตรวจการจ้างตรวจพบข้อบกพร่องของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คือ น้ำในถนนรางวีไม่ไหลลงสู่บ่อพักน้ำและบ่อพักน้ำไม่เป็นไปตามรูปแบบที่กำหนดไว้ จึงขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว พร้อมกับแจ้งสงวนสิทธิว่า สัญญาจ้างได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยังทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญาจ้าง ดังนั้น ในระหว่างที่ผู้ฟ้องคดียังมิได้บอกเลิกสัญญา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะต้องชำระค่าปรับตามสัญญาที่กำหนดไว้ในอัตราวันละ ๔๒๕ บาท นับถัดจากวันที่กำหนดแล้วเสร็จถึงวันที่ทำงานเสร็จจริง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทราบคำบอกกล่าวแล้วเพิกเฉยไม่ดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้าง แต่ได้มีหนังสือลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ส่งมอบงานโดยแจ้งว่าได้ดำเนินงานก่อสร้างวางท่อระบายน้ำเสร็จเรียบร้อยตามสัญญาแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวให้ถูกต้อง โดยขอให้ดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ เพื่อให้คณะกรรมการตรวจการจ้างเข้าตรวจในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยังคงเพิกเฉยไม่ดำเนินการแก้ไข ถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผิดสัญญา ต่อมาวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และขอริบเงินประกันสัญญาจำนวน ๘,๕๐๐ บาท พร้อมกับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชำระค่าปรับตามสัญญาในอัตราวันละ ๔๒๕ บาท นับถัดจากวันครบกำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาถึงวันบอกเลิกสัญญาเป็นเวลา ๕๖๕ วัน คิดเป็นเงิน
ทั้งสิ้นจำนวน ๒๔๐,๑๒๕ บาท รวมทั้งค่าเสียหายในการดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างให้เสร็จสมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์และรูปแบบแนบท้ายสัญญาจ้าง คิดเป็นค่าวัสดุก่อสร้างและค่าแรงงานเป็นเงิน ๑,๒๖๓ บาท รวมเงินค่าปรับและค่าเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน ๒๔๑,๓๘๘ บาท กับดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันบอกเลิกสัญญาจนถึงวันฟ้อง เป็นเงินจำนวน ๑๓,๖๘๙.๖๗ บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้นจำนวน ๒๕๕,๐๗๗.๖๗ บาท และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ต้องร่วมรับผิดกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามสัญญาค้ำประกันเป็นเงินจำนวน ๘,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่ผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองทราบแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ให้แก่ผู้ฟ้องคดี ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชำระหนี้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน ๒๕๕,๐๗๗.๖๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี
ของต้นเงินจำนวน ๒๔๑,๓๘๘ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่ผู้ฟ้องคดี ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ร่วมรับผิดกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชำระหนี้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน ๘,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่ผู้ฟ้องคดี กับให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แทนผู้ฟ้องคดี
        ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องขอรวมการพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๐/๒๕๔๖ กับคดีหมายเลขดำที่ ๕/๒๕๔๖ ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า คดีหมายเลขดำที่ ๕/๒๕๔๖ ศาลได้แสวงหาข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว การนำคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๐/๒๕๔๖ ไปรวมพิจารณากับคดีหมายเลขดำที่ ๕/๒๕๔๖ จะไม่เป็นการสะดวกแก่การพิจารณา
จึงยกคำร้อง
        ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า  หนังสือมอบอำนาจของผู้ฟ้องคดีมิได้ปิดอากรแสตมป์ จึงไม่อาจใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องหรือดำเนินคดีได้ ผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ และคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีขาดอายุความตามกฎหมายแล้วตามมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เนื่องจากสัญญาได้กำหนดให้ชำระเงินค่าจ้างเมื่อปฏิบัติงานเสร็จสิ้นตามสัญญาภายในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยถูกต้องตรงตามแบบแปลนที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างทุกประการ และได้ส่งมอบงานการก่อสร้างต่อผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ฟ้องคดีกลับไม่ตรวจรับงานและไม่เบิกจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑  ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิเรียกร้องเงินค่าปรับตามสัญญาจ้างตั้งแต่วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ซึ่งเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๖ จึงเป็นการฟ้องคดีเมื่อพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ต่อมาวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้แก้ไขบ่อพักน้ำในถนนรางวีให้ไหลลงสู่บ่อพักน้ำได้โดยด่วน ซึ่งในการก่อสร้างนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ดำเนินการก่อสร้างตามแบบแปลนที่กำหนดในสัญญา การที่น้ำในรางวีไม่สามารถไหลลงสู่บ่อพักได้นั้น มิใช่เกิดจากการก่อสร้างที่ผิดแบบแปลนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อีกทั้งตามหนังสือที่ผู้ฟ้องคดีมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดำเนินการแก้ไขก็มิได้ระบุโดยชัดแจ้งว่าจะให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดำเนินการแก้ไขโดยวิธีใด จากนั้นวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยืนยันให้ดำเนินการแก้ไขบ่อพักน้ำ จึงถือได้ว่ามีเจตนาทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงได้มีหนังสือส่งมอบงานการก่อสร้างเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีตรวจรับงาน และเบิกจ่ายเงินค่าก่อสร้างให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ขอใช้สิทธิดำเนินการตามสัญญา ข้อ ๒๑
ว่าด้วยกรณีพิพาทและอนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดกรณีพิพาทที่เกิดขึ้น แต่ผู้ฟ้องคดียังคงเพิกเฉย ต่อมาวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ เพื่อให้คณะกรรมการตรวจการจ้างไปตรวจงานในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงได้นำเรื่องดังกล่าวฟ้องร้องนายชาญณรงค์ หรือพรณรงค์ วงษ์พาสกลาง  นายกเทศมนตรีตำบลบ้านนาปรือ กับพวกรวม ๕ คน ต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรีเป็นคดีอาญา ซึ่งคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จากนั้นในวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ ผู้ฟ้องคดีได้มีคำสั่งเทศบาลตำบลบ้านนาปรือ ที่ ๒๓/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ บอกเลิกสัญญาจ้างพร้อมกับริบเงินประกันสัญญาจำนวน ๘,๕๐๐ บาท และเรียกเงินค่าปรับเพิ่มจำนวน ๒๓๑,๖๒๕ บาท โดยให้นำเงินมาชำระภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง หากไม่นำเงินมาชำระภายในกำหนด ผู้ฟ้องคดีจะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป และจะได้เสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้จังหวัดปราจีนบุรีเพื่อพิจารณาสั่งและแจ้งเวียนให้เป็นผู้ทิ้งงานของทางราชการ
        ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า  เมื่อปัญหายังไม่มีข้อยุติว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นผู้ผิดสัญญาจ้างหรือไม่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงยังไม่ต้องชำระหนี้ที่ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันยังไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผิดนัด ผู้ฟ้องคดียังไม่มีสิทธิเรียกให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้ และผู้ฟ้องคดียังไม่มีสิทธิเริ่มคิดดอกเบี้ยจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ สัญญาค้ำประกันดังกล่าวมิใช่ค้ำประกันอย่างไม่จำกัดตามมาตรา ๖๘๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่จำกัดความรับผิดในต้นเงิน ดอกเบี้ย ค่าเสียหายต่างๆ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ต้องรับผิดทั้งสิ้นรวมกันแล้วต้องไม่เกิน ๘,๕๐๐ บาท  ดังนั้น หากได้ความยุติว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผิดสัญญา ความรับผิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทั้งสิ้นต้องไม่เกินจำนวน ๘,๕๐๐ บาท
        ศาลปกครองชั้นต้นเห็นว่า สำนวนคดีหลังมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะพิจารณาพิพากษาได้แล้ว จึงให้งดเว้นไม่ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงในชั้นทำคำคัดค้านคำให้การและคำให้การเพิ่มเติม และเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ยื่นคำให้การโดยมีข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับข้อเท็จจริงในสำนวนคดีแรก จึงมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกัน โดยให้สำนวนคดีหมายเลขดำที่ ๕/๒๕๔๖ เป็นสำนวนคดีหลัก เพื่อความสะดวกแก่การพิจารณา จึงให้เรียกคู่กรณีแต่ละฝ่ายโดยถือตามสำนวนคดีหลัก (คดีหมายเลขดำที่ ๕/๒๕๔๖) สำหรับบริษัทธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๐/๒๕๔๖ ให้เรียกว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลัง
        ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า  กำหนดเวลาฟ้องคดีนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ขอส่งมอบงานก่อสร้างซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ตรวจรับงานก่อสร้างและมิได้บอกเลิกสัญญา เมื่อมิได้มีการบอกเลิกสัญญา จึงยังถือไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี เพราะคดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องโดยอ้างเหตุว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ บอกเลิกสัญญาและเรียกค่าปรับโดยไม่ชอบ การรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีจึงต้องนับแต่มีการบอกเลิกสัญญา เมื่อคำนวณระยะเวลาตั้งแต่วันบอกเลิกสัญญา คือ วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ ถึงวันฟ้อง คือ วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ยังอยู่ภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี จึงเป็นการฟ้องคดีภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ฟ้องเรียกเงินค่าปรับและค่าเสียหายกับเงินค้ำประกันสัญญาจากผู้ฟ้องคดี เมื่อผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ขอส่งมอบงานก่อสร้าง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ตรวจรับงานก่อสร้างและยังมิได้บอกเลิกสัญญา ต่อมาวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องค่าเสียหายตามสัญญา ดังนั้น เมื่อยังมิได้มีการบอกเลิกสัญญาและยังไม่ทราบจำนวนค่าปรับและค่าเสียหายที่แน่นอน จึงต้องเริ่มนับกำหนดเวลาฟ้องคดีตั้งแต่วันบอกเลิกสัญญา คือ วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๖ ยังอยู่ภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี จึงเป็นการฟ้องคดีภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สำหรับในประเด็นที่ว่าผู้ฟ้องคดีต้องชำระค่าปรับ ค่าเสียหาย พร้อมทั้งดอกเบี้ยกับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองหรือไม่ เพียงใดนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้เมื่อแบบรูปและรายการละเอียดไม่ชัดเจนว่าจะต้องบากปากบ่อหรือไม่ ผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่ต้องหาข้อยุติว่าผู้ฟ้องคดีสมควรแก้ไขอย่างใดเพื่อให้น้ำในถนนรางวีไหลลงสู่บ่อพักน้ำตามวัตถุประสงค์ของโครงการก่อสร้าง ซึ่งหากผู้ฟ้องคดีประสงค์ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ระบุให้แน่ชัดว่าต้องการให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขโดยวิธีใด ผู้ฟ้องคดีก็ควรทำหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ระบุวิธีดำเนินการแก้ไขเพื่อผู้ฟ้องคดีจะได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มิใช่ปฏิเสธที่จะไม่แก้ไขโดยอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องกำหนดอัตราจ้างในงานก่อสร้างเพิ่มเติมรวมทั้งการขยายระยะเวลากันใหม่ การที่ผู้ฟ้องคดีไม่ทำการแก้ไขบ่อพักน้ำเพื่อให้น้ำในถนนรางวีไหลลงสู่บ่อพักน้ำ จึงเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาจ้าง ผู้ฟ้องคดีต้องชำระค่าปรับให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือ ที่ ปจ ๖๑๓๐๑/๒๐๔ ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แจ้งปรับผู้ฟ้องคดี แต่ยังมิได้บอกเลิกสัญญา จนวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงได้บอกเลิกสัญญา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีสิทธิเรียกร้องค่าปรับตั้งแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญา คือ ตั้งแต่วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ถึงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาในอัตราค่าปรับวันละ ๔๒๕ บาท จำนวน ๕๖๕ วัน คิดเป็นค่าปรับจำนวน ๒๔๐,๑๒๕ บาท กับค่าเสียหายในการดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างเป็นค่าวัสดุก่อสร้างและค่าแรงงานจำนวน ๑,๒๖๓ บาท ในกรณีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชอบที่จะพิจารณาดำเนินการบอกเลิกสัญญามิให้จำนวนเงินค่าปรับที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องชำระเกินร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้างตามข้อ ๑๓๑ ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๓๕ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กลับไม่ดำเนินการบอกเลิกสัญญาและจัดให้มีผู้รับจ้างรายใหม่ดำเนินการแก้ไขงาน จนกระทั่งวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ จึงบอกเลิกสัญญา ซึ่งหน่วยงานทางปกครองไม่ควรแสวงหาประโยชน์จากข้อได้เปรียบของสัญญาทางปกครอง อันจะทำให้เอกชนซึ่งเป็นคู่สัญญาได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายเกินสมควร ศาลปกครองชั้นต้นเห็นสมควรให้ผู้ฟ้องคดีชำระค่าปรับเพียงร้อยละสิบของค่าจ้างตามสัญญาเป็นเงินค่าปรับ ๑๗,๐๐๐ บาท และเมื่อมีการบอกเลิกสัญญา คู่สัญญาย่อมกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ใช้ประโยชน์จากงานก่อสร้าง
ของผู้ฟ้องคดีในส่วนที่มิได้มีข้อบกพร่อง จึงต้องใช้เงินตามควรแห่งค่างานส่วนนั้นให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามมาตรา ๓๙๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กล่าวในคำฟ้องในคดีหลังว่า ค่าเสียหายในการดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างเพื่อให้น้ำจากร่องรางวีไหลลงสู่บ่อพักน้ำ เป็นค่าวัสดุก่อสร้างและค่าแรงงานเป็นเงินจำนวน ๑,๒๖๓ บาท ซึ่งผู้ฟ้องคดีมิได้ให้การโต้แย้งในจำนวนเงินค่าดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างดังกล่าวว่าไม่ถูกต้องหรือสูงกว่าที่ควรแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีจึงต้องชำระค่าเสียหายในการดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างจำนวน ๑,๒๖๓ บาท ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหน้าที่ต้องชำระค่าจ้างจำนวน ๑๗๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยหักค่าเสียหายในการดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างจำนวน ๑,๒๖๓ บาท และค่าปรับจำนวน ๑๗,๐๐๐ บาท ออกจากจำนวนเงินค่าจ้าง คงเหลือเงินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องชำระเป็นเงินจำนวน ๑๕๑,๗๓๗ บาท เมื่อไม่มีข้อความกำหนดไว้ในสัญญาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องตรวจรับมอบงานจ้างให้แล้วเสร็จและชำระเงินค่าจ้างให้แก่ผู้ฟ้องคดีภายในระยะเวลาเท่าใด จึงต้องเป็นไปตามมาตรา ๖๐๒ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือ ต้องให้สินจ้าง
เมื่อรับมอบการที่ทำ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงต้องชำระค่าจ้างให้แก่ผู้ฟ้องคดีในวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ส่วนกรณีค่าเสียหายจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งผู้ฟ้องคดีขอเรียกร้องเป็นค่าเสียหายจากการขาดผลประโยชน์ นั้น ไม่เป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒๒ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่อาจเรียกเงินค่าเสียหายจากการนำเงินค่าจ้างตามสัญญาไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบการค้าได้ คงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องชำระเงินจำนวน ๑๕๑,๗๓๗ บาท คือ วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ถึงวันชำระเสร็จ ซึ่งเมื่อคำนวณถึงวันฟ้องวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ คิดเป็นเวลา ๑ ปี ๖ เดือน ๒๗ วัน (๕๗๒ วัน) เป็นเงินค่าดอกเบี้ยจำนวน ๑๗,๘๓๔ บาท เมื่อรวมกับต้นเงินจำนวน ๑๕๑,๗๓๗ บาท แล้วเป็นเงินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องชำระให้แก่ผู้ฟ้องคดีจำนวน ๑๖๙,๕๗๑ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวน ๑๕๑,๗๓๗ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง คือวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ จนถึงวันชำระเสร็จ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับความเสียหายเป็นเงินที่ต้องใช้ในการดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างจำนวน ๑,๒๖๓ บาท ซึ่งศาลได้วินิจฉัยโดยให้หักค่าเสียหายดังกล่าวออกจากจำนวนเงินค่าจ้างที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะได้รับแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ย่อมไม่อาจได้รับชดใช้ค่าเสียหายเกินกว่าความเสียหายจริงที่ได้รับ คือ เงินจำนวน ๑,๒๖๓ บาท ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลังจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินประกันสัญญาจำนวน ๘,๕๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อีกทั้งคดีนี้ผู้ฟ้องคดียังไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลสั่งห้ามผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เสนอชื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ทิ้งงานของทางราชการ
         ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้เงินจำนวน ๑๖๙,๕๗๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวน ๑๕๑,๗๓๗ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง คือ วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ จนถึงวันชำระเสร็จให้แก่ผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ ให้ชำระให้เสร็จสิ้นภายใน ๓๐ วัน นับแต่คดีถึงที่สุด คืนค่าธรรมเนียมศาลตามส่วนของการชนะคดีให้แก่ผู้ฟ้องคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลัง
        ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อุทธรณ์ว่า  ตามสัญญาจ้างกำหนดให้ชำระค่าจ้างเมื่อปฏิบัติงานแล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ โดยผู้ฟ้องคดีได้ส่งมอบงานเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เห็นว่า การจัดทำการงานที่จ้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญาจึงไม่จ่ายค่าจ้างให้ ดังนั้น ข้อโต้แย้งจึงเริ่มมีขึ้นตั้งแต่วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ และผู้ฟ้องคดีมีสิทธิเรียกเอาค่าจ้างนับแต่วันดังกล่าวด้วย จึงถือว่าผู้ฟ้องคดีรู้เหตุแห่งการฟ้องคดีในวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ เมื่อผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ จึงเป็นการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีตามมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และคดีนี้ก็มิได้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นใดที่ศาลสมควรจะรับคดีไว้พิจารณาได้ ดังนั้น การที่ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาและมีคำพิพากษา จึงยังคลาดเคลื่อนต่อเหตุผลและหลักกฎหมาย จึงขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นในประเด็นนี้ เป็นไม่รับคำฟ้อง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เห็นว่าเงินค่าปรับจำนวน ๑๗,๐๐๐ บาท ที่ศาลปกครองชั้นต้นกำหนดให้นั้นน้อยเกินสมควร เนื่องจากการจงใจไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างเป็นเหตุให้การบริการสาธารณะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ น้ำในถนนรางวีไม่สามารถไหลลงสู่บ่อพักน้ำได้โดยสิ้นเชิง ซึ่งควรกำหนดค่าปรับให้เต็มตามที่ตกลงไว้ในสัญญาจ้างข้อ ๑๗ เป็นจำนวนเงินวันละ ๔๒๕ บาท นับถัดจากวันที่กำหนดแล้วเสร็จตามสัญญา (วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔) จนถึงวันบอกเลิกสัญญา (วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖) เป็นจำนวน ๕๖๕ วัน คิดเป็นเงินค่าปรับจำนวน ๒๔๐,๑๒๕ บาท กับค่าเสียหายในการดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างเป็นเงินจำนวน ๑,๒๖๓ บาท รวมเป็นเงินค่าปรับและค่าเสียหายจำนวน ๒๔๑,๓๘๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันบอกเลิกสัญญาจนถึงวันฟ้อง (วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๖) คิดเป็นเงินดอกเบี้ยจำนวน ๑๓,๖๘๙.๖๗ บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้นจำนวน ๒๕๕,๐๗๗.๖๗ บาท และคดีนี้ต้องถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รับมอบการที่ทำในวันบอกเลิกสัญญาจ้าง คือ วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ มิใช่วันที่ผู้ฟ้องคดีแจ้งส่งมอบงาน หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะต้องชำระดอกเบี้ยของเงินค่าจ้างจำนวน ๑๕๑,๗๓๗ บาท ก็ควรเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ ซึ่งเป็นวันบอกเลิกสัญญา แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เห็นว่าตนเองไม่จำต้องชำระเงินค่าจ้างจำนวน ๑๕๑,๗๓๗ บาท และดอกเบี้ยผิดนัดจำนวน ๑๗,๘๓๔ บาท รวมเป็นเงิน ๑๖๙,๐๗๗.๖๗ บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด เนื่องจากผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่ต้องชำระค่าปรับตามสัญญาจ้างและค่าเสียหายให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเงินจำนวน ๒๕๕,๐๗๗.๖๗ บาท ซึ่งเมื่อหักค่าจ้างก่อสร้างตามสัญญาออกแล้วยังคงมีหนี้เงินที่ผู้ฟ้องคดีต้องชำระให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อีกเป็นเงินจำนวน ๘๕,๐๗๗.๖๗ บาท โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลังต้องร่วมรับผิดกับผู้ฟ้องคดีตามสัญญาค้ำประกันเป็นเงินจำนวน
๘,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น โดยมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี และพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีชำระค่าเสียหายเป็นเงิน ๒๕๕,๐๗๗.๖๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน ๒๔๑,๓๘๘ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลังร่วมรับผิดกับผู้ฟ้องคดีชำระค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน ๘,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และพิพากษายกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒
        ผู้ฟ้องคดีไม่ทำคำแก้อุทธรณ์
        ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลังแก้อุทธรณ์ว่า  หนังสือค้ำประกันกำหนดว่า “ข้าพเจ้าผูกพันตน...ในการชำระเงินจำนวน ๘,๕๐๐ บาท ในกรณีที่ผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ แก่ผู้ว่าจ้าง” หมายความว่า หนี้ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลังผูกพันตนเข้าค้ำประกัน คือ หนี้ค่าเสียหายที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับจากผู้ฟ้องคดี และเมื่อศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยให้หักค่าเสียหายในการดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างออกจากจำนวนเงินค่าจ้างแล้ว จึงไม่เหลือค่าเสียหายอีกต่อไป ดังนั้น หนี้ประธานที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลังค้ำประกันจึงหมดไป ไม่จำต้องรับผิดชำระเงินที่ค้ำประกันให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น
        ศาลปกครองสูงสุดออกนั่งพิจารณาคดี โดยได้รับฟังสรุปข้อเท็จจริงของตุลาการเจ้าของสำนวน และคำชี้แจงด้วยวาจาประกอบคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดี
        ศาลปกครองสูงสุดได้ตรวจพิจารณาเอกสารทั้งหมดในสำนวนคดี กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องประกอบแล้ว
        ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า  ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ทำสัญญาจ้างผู้ฟ้องคดีวางท่อระบายน้ำ สายหน้าวัดเนินบาก หมู่ที่ ๕ ตำบลเนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี  จังหวัดปราจีนบุรี พร้อมบ่อพักฝาตะแกรงเหล็ก ตามแบบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พร้อมป้ายโครงการฯ ติดตั้ง ณ สถานที่ก่อสร้าง ตามสัญญาที่ ๖/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีได้นำหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลังจำนวนเงิน ๘,๕๐๐ บาท มอบให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา โดยตกลงค่าจ้างจำนวน ๑๗๐,๐๐๐ บาท เริ่มทำงานวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๔ กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ หากผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนดและผู้ว่าจ้างยังไม่ได้บอกเลิกสัญญา ผู้รับจ้างจะต้องชำระค่าปรับให้แก่ผู้ว่าจ้างเป็นจำนวนเงินวันละ ๔๒๕ บาท ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือ ที่ ปจ ๖๑๓๐๑/๑๙๕ ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๔ แจ้งไปยังผู้ฟ้องคดีว่าน้ำในรางวีไม่สามารถไหลลงสู่บ่อพักน้ำได้ ให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขโดยด่วน และผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ว่า ผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการก่อสร้างตามรูปแบบในสัญญาจ้างทุกประการ การที่น้ำในรางวีไม่สามารถไหลลงสู่บ่อพักน้ำได้ มิใช่เกิดจากการดำเนินการก่อสร้างที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากสัญญาจ้าง หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ประสงค์ให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไข ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องกำหนดอัตราจ้างงานก่อสร้างในส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นรวมทั้งขยายระยะเวลาทำงานใหม่ จากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือ ที่ ปจ ๖๑๓๐๑/๑๙๙ ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขบ่อพักน้ำเพื่อให้น้ำในถนนรางวีไหลลงสู่บ่อพักน้ำตามวัตถุประสงค์ของโครงการก่อสร้างวางท่อระบายน้ำและการดำเนินการแก้ไขนั้นไม่เป็นงานพิเศษหรือเพิ่มเติมตามข้อ ๑๖ ของสัญญาจ้าง จึงให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขบ่อพักน้ำดังกล่าว หลังจากนั้น ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ขอส่งมอบงานก่อสร้าง และมีหนังสือลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ยืนยันว่าตนได้ดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาและแบบแปลนทุกประการและจะไม่แก้ไขงานก่อสร้าง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือ ที่ ปจ ๖๑๓๐๑/๒๐๔ ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แจ้งผู้ฟ้องคดีว่า คณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจสอบงานจ้างตามโครงการแล้วพบข้อบกพร่อง คือ น้ำในถนนรางวีไม่ระบายลงสู่บ่อพักน้ำ ทำให้มีน้ำที่ไหลคงค้างอยู่ในถนนรางวี ซึ่งบ่อพักไม่เป็นไปตามรูปแบบที่กำหนดไว้ และให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวพร้อมกับแจ้งสงวนสิทธิการปรับผู้ฟ้องคดีตามสัญญา นับจากวันที่กำหนดแล้วเสร็จจนถึงวันทำงานแล้วเสร็จ กับมีหนังสือ ที่ ปจ ๖๑๓๐๑/๒๑๓  ลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขงานเพื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ เพื่อให้คณะกรรมการตรวจการจ้างตรวจงานในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ซึ่งผู้ฟ้องคดีไม่ดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้าง แต่ได้ยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ คณะกรรมการตรวจการจ้างและผู้ควบคุมงานเป็นคดีอาญา ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หมิ่นประมาท เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๗๖๕/๒๕๔๔ ของศาลจังหวัดปราจีนบุรี ศาลพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๕ คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้บอกเลิกสัญญาจ้างและริบเงินประกันสัญญาจำนวน ๘,๕๐๐ บาท แต่เนื่องจากวงเงินค่าปรับตามสัญญานับถึงวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน ๒๔๐,๑๒๕ บาท ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเรียกเงินค่าปรับส่วนที่เกินวงเงินค้ำประกันเป็นเงิน ๒๓๑,๖๒๕ บาท โดยให้ผู้ฟ้องคดีชำระภายใน ๓๐ วัน หากไม่ชำระผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะดำเนินคดีตามกฎหมาย และจะเสนอให้จังหวัดปราจีนบุรีสั่งและแจ้งเวียนให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ทิ้งงานของทางราชการ ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องคดีนี้ต่อศาล
        ระหว่างการพิจารณาสำนวนคดีแรก เทศบาลตำบลบ้านนาปรือ ได้ยื่นฟ้องบริษัท ลีดเดอร์ เน็ตเวิร์ค จำกัด เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และบริษัทธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้ชำระหนี้ค่าปรับนับแต่วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ถึงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ เป็นเวลา ๕๖๕ วัน เป็นเงินค่าปรับ ๒๔๐,๑๒๕ บาท ค่าเสียหายในการดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างเป็นเงิน ๑,๒๖๓ บาท รวมเป็นเงินค่าปรับและค่าเสียหาย ๒๔๑,๓๘๘ บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันบอกเลิกสัญญาจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๑๓,๖๘๙.๖๗ บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้น ๒๕๕,๐๗๗.๖๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๒๔๑,๓๘๘ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลังร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน ๘,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
        คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รวม ๓ ประเด็น ดังนี้
        ประเด็นที่หนึ่ง  ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีหรือไม่
        ประเด็นที่สอง  ผู้ฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าปรับ ค่าเสียหาย พร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองหรือไม่  
        ประเด็นที่สาม  ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลัง ต้องชำระเงินประกันสัญญาจำนวน ๘,๕๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ หรือไม่ เพียงใด
        ในประเด็นที่หนึ่งที่ว่า ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีหรือไม่ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อุทธรณ์ว่า ข้อโต้แย้งตามสัญญาพิพาทเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ซึ่งเป็นวันส่งมอบงานก่อสร้างและผู้ฟ้องคดีมีสิทธิเรียกเอาค่าจ้างนับแต่วันดังกล่าว จึงถือว่าผู้ฟ้องคดีรู้เหตุแห่งการฟ้องคดีในวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ จึงเป็นการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีตามมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และคดีนี้ก็มิได้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นใดที่ศาลสมควรจะรับคดีไว้พิจารณาได้ เห็นว่า สัญญาจ้างผู้ฟ้องคดีวางท่อระบายน้ำพร้อมบ่อพักฝาตะแกรงเหล็ก เลขที่ ๖/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๔ ระหว่างผู้ฟ้องคดี กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ตามสัญญาจ้างได้กำหนดให้ผู้ฟ้องคดีต้องทำงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ซึ่งผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แจ้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ขอส่งมอบงานก่อสร้าง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ไปตรวจรับงานก่อสร้างแต่ได้มีหนังสือ ที่ ปจ ๖๑๓๐๑/๒๐๔ ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แจ้งผู้ฟ้องคดีว่า ในระหว่างที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มิได้บอกเลิกสัญญาจ้าง ผู้ฟ้องคดีจะต้องชำระค่าปรับตามสัญญา จากนั้นในวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้บอกเลิกสัญญาจ้าง ริบเงินประกันสัญญาและเรียกค่าปรับส่วนที่เกินวงเงินค้ำประกัน กรณีต้องถือว่าผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ในวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ อันเป็นวันบอกเลิกสัญญา การที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ซึ่งอยู่ภายในระยะห้าปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและ
วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๑ จึงเป็นการยื่นฟ้องภายในกำหนดเวลาการฟ้องคดี อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น
        ในประเด็นที่สองที่ว่า ผู้ฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าปรับ ค่าเสียหาย พร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองหรือไม่ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อุทธรณ์ว่า เงินค่าปรับจำนวน ๑๗,๐๐๐ บาท ที่ศาลปกครองชั้นต้นกำหนดให้นั้นน้อยเกินสมควร ซึ่งควรกำหนดค่าปรับให้เต็มตามที่ตกลงไว้ในสัญญาจ้าง ข้อ ๑๗ คิดเป็นเงินค่าปรับ ๒๔๐,๑๒๕ บาท กับค่าเสียหายในการดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างเป็นเงินจำนวน ๑,๒๖๓ บาท รวมเป็นเงินค่าปรับและค่าเสียหายจำนวน ๒๔๑,๓๘๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันบอกเลิกสัญญาจนถึงวันฟ้อง คิดเป็นเงินดอกเบี้ยจำนวน ๑๓,๖๘๙.๖๗ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน ๒๕๕,๐๗๗.๖๗ บาท และคดีนี้ต้องถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รับมอบงานในวันบอกเลิกสัญญาจ้าง คือ วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่จำต้องชำระเงินค่าจ้างจำนวน ๑๕๑,๗๓๗ บาท และดอกเบี้ยผิดนัดจำนวน ๑๗,๘๓๔ บาท รวมเป็นเงินจำนวน ๑๖๙,๐๗๗.๖๗ บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด เนื่องจากผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่ต้องชำระค่าปรับตามสัญญาจ้างและค่าเสียหายให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเงิน จำนวน ๒๕๕,๐๗๗.๖๗ บาท ซึ่งเมื่อหักค่าจ้างก่อสร้างตามสัญญาออกแล้วยังคงมีหนี้เงินที่ผู้ฟ้องคดีต้องชำระให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อีกเป็นเงินจำนวน ๘๕,๐๗๗.๖๗ บาท จึงมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาว่า ผู้ฟ้องคดีผิดสัญญาหรือไม่ เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ทำสัญญาจ้าง
ผู้ฟ้องคดีตามสัญญาเลขที่ ๖/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๔ เพื่อวางท่อระบายน้ำสายหน้าวัดเนินบากพร้อมบ่อพักฝาตะแกรงเหล็ก ตามแบบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในราคาค่าจ้างจำนวน ๑๗๐,๐๐๐ บาท กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ โดยข้อ ๑๔ ของสัญญาดังกล่าว กำหนดว่า แบบรูปและรายการละเอียดคลาดเคลื่อน ผู้รับจ้างจะต้องรับรองว่าได้ตรวจสอบและทำความเข้าใจในแบบรูปรายการละเอียดโดยถี่ถ้วนแล้ว หากปรากฏว่าแบบรูปและรายการละเอียดนั้นผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนไปจากหลักการทางวิศวกรรมหรือทางเทคนิค ผู้รับจ้างตกลงที่จะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจการจ้างหรือผู้ควบคุมงานหรือบริษัทที่ปรึกษาที่ว่าจ้างแต่งตั้งเพื่อให้งานแล้วเสร็จสมบูรณ์ โดยจะคิดค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่มขึ้นจากผู้ว่าจ้างไม่ได้ และข้อ ๑๕ ของสัญญาฉบับเดียวกัน กำหนดว่า การควบคุมงานโดยผู้ว่าจ้าง ผู้รับจ้างตกลงว่ากรรมการตรวจการจ้าง ผู้ควบคุมงาน หรือบริษัทที่ปรึกษาที่ผู้ว่าจ้างแต่งตั้งมีอำนาจที่จะตรวจสอบและควบคุมงานเพื่อให้เป็นไปตามเอกสารสัญญาและมีอำนาจที่จะสั่งให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม หรือตัดทอนซึ่งงานตามสัญญานี้ หากผู้รับจ้างขัดขืนไม่ปฏิบัติตาม กรรมการตรวจการจ้าง
ผู้ควบคุมงาน หรือบริษัทที่ปรึกษามีอำนาจที่จะสั่งหยุดกิจการนั้นชั่วคราวได้ ประกอบกับข้อ ๑๗ ของสัญญาฉบับดังกล่าว มีข้อกำหนดเกี่ยวกับค่าปรับไว้ว่า หากผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา และผู้ว่าจ้างยังไม่ได้บอกเลิกสัญญา ผู้รับจ้างจะต้องชำระค่าปรับให้แก่ผู้ว่าจ้างเป็นจำนวนเงินวันละ ๔๒๕ บาท และภายหลังการทำสัญญาแล้ว ผู้ควบคุมงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตรวจพบข้อบกพร่องของงานก่อสร้าง จึงได้บันทึกการควบคุมงานว่าได้แนะนำกับช่างของผู้ฟ้องคดีให้เข้าใจ และรับปากด้วยวาจาจะปฏิบัติตามนั้น ซึ่งผู้ฟ้องคดีไม่ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำ ผู้ควบคุมงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงทำหนังสือรายงานประธานกรรมการตรวจการจ้าง ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือ ที่ ปจ ๖๑๓๐๑/๑๙๙ ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แจ้งความเห็นของคณะกรรมการตรวจการจ้างให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างที่ผิดพลาดให้เรียบร้อยถูกต้องตามสัญญา ซึ่งหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ นั้นเป็นการวินิจฉัยให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขบ่อพักน้ำให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสัญญาเพื่อให้น้ำในถนนรางวีไหลลงสู่บ่อพักน้ำ ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้รับจ้างย่อมต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามข้อ ๑๕ ของสัญญาจ้างเลขที่ ๖/๒๕๔๔ เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่ดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้าง โดยมีหนังสือลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ยืนยันไม่แก้ไขงานก่อสร้างดังกล่าวโดยอ้างว่าได้ดำเนินการก่อสร้าง
ตามรูปแบบในสัญญาจ้างแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาและตราบใดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คู่สัญญายังมิได้บอกเลิกสัญญา ผู้ฟ้องคดีต้องชำระค่าปรับวันละ ๔๒๕ บาท นับแต่วันถัดจากวันที่กำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาจนถึงวันที่ทำงานแล้วเสร็จจริงตามข้อ ๑๗ ของสัญญาฉบับเดียวกัน
        ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ผู้ฟ้องคดีจะต้องรับผิดชำระค่าปรับ ค่าเสียหายพร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นจำนวนเท่าใด เห็นว่า ข้อ ๑๗ ของสัญญาเลขที่ ๖/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๔ กำหนดว่า หากผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาและผู้ว่าจ้างยังมิได้บอกเลิกสัญญา ผู้รับจ้างจะต้องชำระค่าปรับแก่ผู้ว่าจ้างเป็นจำนวนเงินวันละ ๔๒๕ บาท นับถัดจากวันที่กำหนดแล้วเสร็จตามสัญญา หรือวันที่ผู้ว่าจ้างได้ขยายให้จนถึงวันที่ทำงานแล้วเสร็จจริง นอกจากนี้ ผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการที่ผู้รับจ้างทำงานล่าช้าเฉพาะส่วนที่เกินกว่าจำนวนค่าปรับได้อีกด้วย และตามข้อ ๑๓๑ ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดว่า ในกรณีที่คู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงได้ และจะต้องมีการปรับตามสัญญาหรือข้อตกลงนั้น หากจำนวนเงินค่าปรับจะเกินร้อยละสิบของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้าง ให้หน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นพิจารณาดำเนินการบอกเลิกสัญญาหรือ
ข้อตกลง เว้นแต่คู่สัญญาจะได้ยินยอมเสียค่าปรับให้แก่หน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ให้หัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นพิจารณาผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาได้เท่าที่จำเป็น เห็นว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายผิดสัญญาดังได้วินิจฉัยมาแล้ว จึงต้องรับผิดชำระค่าปรับแก่ผู้ถูกฟ้องคดี โดยที่ค่าปรับที่ผู้ฟ้องคดีต้องชำระให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในอัตราร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้างตามสัญญาพิพาทคิดเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน ๑๗,๐๐๐ บาท และเมื่อคิดค่าปรับในอัตราวันละ ๔๒๕ บาท นับถัดจากวันครบกำหนดแล้วเสร็จตามสัญญา คือ วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ เป็นต้นไปจนถึงวันบอกเลิกสัญญาในวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ แล้ว ค่าปรับดังกล่าวจะเกินกว่าร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้างเมื่อคิดค่าปรับเป็นเวลา ๕๖๕ วัน อันเป็นเงินจำนวน ๒๔๐,๑๒๕ บาทซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชอบที่จะต้องบอกเลิกสัญญากับผู้ฟ้องคดีก่อนวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีมากไปกว่านี้ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ หาได้บอกเลิกสัญญากับผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใดไม่ อันเป็นการละเลยไม่ปฏิบัติตามข้อ ๑๓๑ ของระเบียบข้างต้นที่มีเจตนารมณ์ในการกำหนดค่าปรับฐานผิดสัญญาจากเอกชนที่เข้าทำสัญญากับทางราชการไว้เพียงไม่เกินร้อยละสิบของวงเงินตามสัญญาเท่านั้น เว้นแต่คู่สัญญาจะยินยอมเสียค่าปรับเกินกว่าเงินจำนวนดังกล่าวโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ หากมีค่าเสียหายอื่นใดนอกเหนือจากค่าปรับดังกล่าวก็เป็นกรณีที่ส่วนราชการคู่สัญญาชอบที่จะเรียกร้องจากคู่สัญญาที่ทำผิดสัญญาโดยอาศัยสิทธิตามกฎหมายหรือตามข้อตกลงในสัญญาประการอื่น ๆ ต่อไป ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีกระทำผิดสัญญาจนจำนวนเงินค่าปรับตามสัญญาเกินกว่าร้อยละสิบของวงเงินตามสัญญาแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่บอกเลิกสัญญาหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้
ผู้ฟ้องคดีแสดงเจตนายืนยันว่ายินยอมชำระค่าปรับต่อไปโดยไม่มีเงื่อนไขไว้เป็นหลักฐานแต่อย่างใด ทั้งที่ระเบียบดังกล่าวซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะที่เป็นส่วนราชการต้องยึดถือปฏิบัติตามข้อ ๖ ของระเบียบเดียวกัน กรณีจึงเป็นความบกพร่องของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เอง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เรียกค่าปรับในส่วนที่เกินร้อยละสิบของวงเงินตามสัญญาโดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นคู่สัญญายินยอมเสียค่าปรับเกินกว่าเงินจำนวนดังกล่าวโดยไม่มีเงื่อนไขแต่อย่างใด เมื่อค่าปรับที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เรียกนั้นเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน  ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากเจตนารมณ์ของระเบียบข้างต้นแล้ว จึงเห็นควรกำหนดค่าปรับให้เป็นเงินจำนวน ๑๗,๐๐๐ บาท อันเป็นจำนวนร้อยละสิบของวงเงินตามสัญญา นอกจากนั้นผู้ฟ้องคดีต้องชำระค่าเสียหายในการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างอีกจำนวน ๑,๒๖๓ บาท ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
        ในประเด็นที่สามที่ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลัง ต้องชำระเงินประกันสัญญาจำนวน ๘,๕๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒หรือไม่ เพียงใด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อุทธรณ์ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลัง ต้องร่วมรับผิดกับผู้ฟ้องคดีตามสัญญาค้ำประกันเป็นเงินจำนวน ๘,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เห็นว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ใช้ประโยชน์จากงานก่อสร้างที่ผู้ฟ้องคดีส่งมอบนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงต้องใช้เงินตามควรแห่งค่างานส่วนนั้นให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นค่าจ้างจำนวน ๑๗๐,๐๐๐ บาท ตามนัยมาตรา ๓๙๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเมื่อหักค่าปรับที่ผู้ฟ้องคดีผิดสัญญากับค่าเสียหายในการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างไว้แล้วเป็นเงินจำนวน ๑๘,๒๖๓ บาท คงเหลือเงินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องชำระจำนวน ๑๕๑,๗๓๗ บาท โดยต้องชำระนับแต่วันมอบงานที่ทำในวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ตามมาตรา ๖๐๒ แห่งประมวลกฎหมายเดียวกัน เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ชำระเงินในวันดังกล่าว จึงต้องเสียดอกเบี้ยอีกร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวน ๑๕๑,๗๓๗ บาท ตามมาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นับแต่วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ถึงวันชำระเสร็จ ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องคดี คือ วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ เป็นเวลา ๕๗๒ วัน คิดเป็นเงินค่าดอกเบี้ยจำนวน ๑๗,๘๓๔ บาท รวมเป็นเงินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องชำระแก่ผู้ฟ้องคดีจำนวน ๑๖๙,๕๗๑ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวน ๑๕๑,๗๓๗ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องคดี คือ วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ จนถึงวันชำระเสร็จ และเมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับความเสียหายในการดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างเป็นเงินจำนวน ๑,๒๖๓ บาท โดยหักค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวออกจากค่าจ้างที่ผู้ฟ้องคดีจะได้รับแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลังจึงไม่จำต้องรับผิดชำระเงินประกันตามสัญญาจำนวน ๘,๕๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อีก อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น
        พิพากษายืน

นายจรัญ  หัตถกรรม                                              ตุลาการเจ้าของสำนวน
ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด

นายเกษม  คมสัตย์ธรรม
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

นายปรีชา  ชวลิตธำรง
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

นายไพบูลย์  เสียงก้อง
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

นายวรวิทย์  กังศศิเทียม
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด                            ตุลาการผู้แถลงคดี : นายธีรรัฐ  อร่ามทวีทอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น