หน้า ๑
เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๘๐ ก ราชกิจจานุเบกษา ๑๑ พฤศจิกายน
๒๕๕๔
กฎกระทรวง
กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการชดเชยความเสียหาย
แก่ผู้เสียหายจากการบำบัดภยันตรายจากสาธารณภัย
พ.ศ.
๒๕๕๔
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๔๓ วรรคสอง
แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
พ.ศ. ๒๕๕๐ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติ
บางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล
ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑
มาตรา
๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๘ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญ
แห่งราชอาณาจักรไทย
บัญญัติให้กระทำ ได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้
ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ในกฎกระทรวงนี้
“การบำบัดภยันตราย”
หมายความว่า การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในการป้องกันและ
บรรเทาสาธารณภัย
ซึ่งได้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่เพื่อเป็นผลให้สาธารณภัยที่เกิดหรือ
คาดว่าจะเกิดได้รับการแก้ไขให้บรรเทาลงโดยฉับพลัน
“ผู้เสียหาย” หมายความว่า ผู้ซึ่งทรัพย์สินของตนได้รับความเสียหายจากการบำบัดภยันตรายจากสาธารณภัยของเจ้าหน้าที่และมิใช่เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการบำบัดภยันตราย
จากสาธารณภัยนั้น
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าชดเชยความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้เสียหาย
“เจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้บัญชาการ รองผู้บัญชาการ
ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ และเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ข้อ
๒ เมื่อเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้เสียหายและมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากการบำบัดภยันตรายของเจ้าหน้าที่
ให้ผู้อำนวยการท้องถิ่นหรือผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครแห่งพื้นที่ที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่
รายงานต่อผู้อำนวยการจังหวัดหรือผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครแล้วแต่กรณี
ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รู้หรือควรจะได้รู้ถึงความเสียหาย เพื่อให้ผู้อำนวยการจังหวัดหรือผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งโดยไม่ชักช้า
เพื่อพิจารณาเสนอความเห็นเกี่ยวกับผู้เสียหายที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยความเสียหายและจำนวนค่าชดเชยความเสียหาย
คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งให้มีจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคน
โดยให้แต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในจังหวัดหรือในเขตกรุงเทพมหานครที่ทรัพย์สินของผู้เสียหายตั้งอยู่
แล้วแต่กรณีและให้ข้าราชการสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดหรือข้าราชการกรุงเทพมหานครแล้วแต่กรณี
เป็นกรรมการและเลขานุการ
การรายงานตามวรรคหนึ่ง
ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ
๓ ในกรณีเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้เสียหายต่อเนื่องกันหลายจังหวัด
หรือต่อเนื่องกันระหว่างจังหวัดกับกรุงเทพมหานคร
ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการตามข้อ ๒
ร่วมกันแต่งตั้งคณะกรรมการ
ข้อ
๔ ในกรณีที่ผู้บัญชาการ รองผู้บัญชาการ ผู้อำนวยการกลาง ผู้อำนวยการจังหวัด
หรือผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการหรือมีส่วนร่วมดำเนินการบำบัดภยันตรายตามข้อ
๒ ให้นายกรัฐมนตรี
ผู้บังคับบัญชา หรือผู้กำกับดูแลบุคคลดังกล่าว แล้วแต่กรณี มีอำนาจแต่งตั้ง คณะกรรมการตามข้อ
๒ โดยให้มีองค์ประกอบคณะกรรมการตามที่เห็นสมควร และมิให้นำข้อ ๒ วรรคสอง
มาใช้บังคับ
ข้อ
๕ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) สำรวจและจัดทำบัญชีรายชื่อผู้เสียหายและทรัพย์สินที่เสียหายไว้เป็นหลักฐานโดยตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานทั้งปวงที่เกี่ยวข้อง
รับฟังพยานบุคคล และคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่และผู้เสียหาย หรือพยานผู้เชี่ยวชาญ และตรวจสอบเอกสาร
วัตถุ หรือสถานที่
(๒) พิจารณาข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ว่าได้ดำเนินการไปตาม
อำนาจหน้าที่
และได้กระทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้เสียหายหรือไม่
(๓) กำหนดค่าชดเชยความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้เสียหาย
ข้อ
๖ ในการประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ
กรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่แทนมติที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก
กรรมการที่ไม่เห็นด้วยกับมติที่ประชุมอาจทำความเห็นแย้งมติที่ประชุมรวมไว้ในความเห็นของคณะกรรมการได้
ข้อ
๗ ให้คณะกรรมการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง
หรือนับแต่วันที่ได้รับเรื่องที่ส่งมาตามข้อ ๑๑ วรรคสอง หากไม่อาจดำเนินการได้ทันภายในกำหนดจะต้องรายงานปัญหาและอุปสรรคให้ผู้แต่งตั้งคณะกรรมการทราบ
เพื่อพิจารณาอนุมัติขยายระยะเวลาออกไปได้อีกไม่เกินสามสิบวัน
ข้อ
๘ ในการพิจารณากำหนดค่าชดเชยความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้เสียหาย
ให้คณะกรรมการคำนึงถึงสภาพของทรัพย์สินนั้น
ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด หรือเทียบราคาที่อ้างอิงจากราคากลางที่ทางราชการกำหนดตามที่เป็นอยู่ในวันที่เกิดความเสียหายนั้น
การเสื่อมราคาจากการใช้ตามหลักเกณฑ์การคำนวณค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินที่กระทรวงการคลังกำหนดในการเรียกให้ผู้ทำละเมิดชดใช้ความเสียหายให้แก่ทางราชการ
การที่ทางราชการได้บรรเทาหรือแก้ไขความเสียหายไปแล้ว
และปัจจัยอื่นที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรม
ข้อ
๙ เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณากำหนดค่าชดเชยความเสียหายแก่ทรัพย์สินของ
ผู้เสียหายเสร็จแล้ว
ให้เสนอความเห็นไปยังผู้แต่งตั้งคณะกรรมการ ถ้าผู้แต่งตั้งคณะกรรมการขอให้ทบทวนหรือสอบสวนเพิ่มเติม
ให้คณะกรรมการรีบดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเวลาที่ผู้แต่งตั้ง
คณะกรรมการกำหนดความเห็นของคณะกรรมการต้องมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่แจ้งชัด
และต้องมีพยานหลักฐานที่สนับสนุนประกอบด้วยความเห็นของคณะกรรมการไม่ผูกมัดผู้แต่งตั้งคณะกรรมการที่จะมีความเห็นเป็นอย่างอื่น
ข้อ
๑๐ เมื่อผู้แต่งตั้งคณะกรรมการได้มีความเห็นให้ชดเชยความเสียหายแก่ผู้เสียหายแล้วให้คณะกรรมการประกาศบัญชีรายชื่อผู้เสียหายที่มีสิทธิได้รับการชดเชยความเสียหาย
ณ ศาลากลางจังหวัดหรือศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตแห่งพื้นที่ที่ทรัพย์สินของผู้เสียหายตั้งอยู่แล้วแต่กรณี
ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีความเห็นของผู้แต่งตั้งคณะกรรมการ
ข้อ
๑๑ ผู้เสียหายผู้ใดที่มิได้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อตามข้อ ๑๐ ผู้เสียหายนั้นอาจยื่นคำร้องขอชดเชยความเสียหายต่อผู้อำนวยการท้องถิ่นหรือผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครแห่งพื้นที่ที่ทรัพย์สินของผู้เสียหายตั้งอยู่ได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้ประกาศบัญชีรายชื่อผู้เสียหายตามข้อ
๑๐ ให้ผู้อำนวยการท้องถิ่นหรือผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครออกใบรับคำขอแก่ผู้เสียหายตามวรรคหนึ่งไว้เป็นหลักฐาน
แล้วส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการตามข้อ ๒ โดยไม่ชักช้า และให้นำข้อ ๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
คำร้องขอและใบรับคำขอตามวรรคหนึ่ง
ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ
๑๒ ให้ผู้แต่งตั้งคณะกรรมการแจ้งผลการวินิจฉัยเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายพร้อมกับแจ้งสิทธิการอุทธรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองให้ผู้เสียหายทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับผลการพิจารณาของคณะกรรมการ
ผู้เสียหายมีสิทธิอุทธรณ์ผลการวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งโดยยื่นต่อผู้แต่งตั้งคณะกรรมการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการวินิจฉัยดังกล่าว
ข้อ
๑๓ การจ่ายค่าชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่หรือกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทรัพย์สินของผู้เสียหายตั้งอยู่
จ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้เสียหายโดยให้ใช้เงินจากงบประมาณรายได้
หรือเงินนอกงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่หรือกรุงเทพมหานคร
แล้วแต่กรณี หากไม่มีหรือมีไม่เพียงพอ ให้ใช้เงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบกลาง
รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
ในการขอรับจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี
งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย
เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตามวรรคหนึ่ง
ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่ยกเว้นเมืองพัทยา
ให้แจ้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ
(๒) กรณีกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ให้ขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณโดยตรง
ให้ไว้ ณ วันที่
๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔
ฐานิสร์ เทียนทอง
รัฐมนตรีช่วยว่าการ ฯ ปฏิบัติราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
หมายเหตุ
:- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๔๓ วรรคสอง
แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัติให้การปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของผู้บัญชาการ
รองผู้บัญชาการ ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการและเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัตินี้
หากเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้ใดซึ่งมิใช่เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการบำบัดภยันตรายจากสาธารณภัยนั้น
ให้ทางราชการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้นั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น