รายงานพิเศษ: ย้อนรอยมติครม.สั่งฟันขรก.มั่วใช้รถหลวงเหตุใด?? ต้องถึงขั้น "ไล่ออก ปลดออก" |
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 องศา ฉบับวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๒ |
ใหม่ โคราช ช่วงต้นปีใหม่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยกข้อสังเกตกรณี "ข้าราชการบางหน่วยงานนำรถยนต์ส่วนกลาง ไปใช้เสมือนเป็นรถประจำตำแหน่ง ให้ถือว่ามีความผิดวินัยร้ายแรง" แจ้งครม. ต่อมามี มติ ครม. (8 ม.ค.62) ให้กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และสำนักงาน ก.พ.ร. นำข้อสังเกตการใช้รถยนต์ส่วนกลาง เวียนไปยังรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรมหาชนด้วย หลังจากที่ข้อสังเกตนี้ไม่ได้บังคับใช้กับหน่วยงานข้างต้น กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ หัวหน้า คสช.ย้ำว่า "จะต้องถูกลงโทษสถานหนัก คือไล่ออก ปลดออก" ซึ่งได้กำชับไปแล้ว และขอเตือนทุกส่วนราชการ เรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร ย้อนกลับไปตั้งแต่ ก.ย.59 ที่ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนว่าข้าราชการบางหน่วยงาน ซึ่งมิได้ดำรงตำแหน่งที่ราชการจัดหารถประจำตำแหน่งให้ ได้นำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้ เสมือนเป็นรถประจำตำแหน่ง แถมเบิกจ่าย ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงจากทางราชการ ต่อมา ป.ป.ช. มีข้อสังเกต เมื่อ 19 ก.ย.59 มายังสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รักษาการตามระเบียบสำนัก นายกรัฐมนตรีว่าด้วยรถราชการ พ.ศ. 2523 (ระเบียบตั้งแต่ สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) และที่แก้ไขเพิ่มเติม เช่น ฉบับที่ 2 ปี 2530 ฉบับที่ 3 ปี 2535 ฉบับที่ 4 ปี 2538 ฉบับที่ 5 ปี 2541 และฉบับที่ 6 ปี 2545 ให้กำกับดูแล ควบคุม และตรวจสอบ กรณีทั้งหมดทั้งมวลนี้ "ข้าราชการผู้ใดที่มิได้ดำรงตำแหน่งที่มีรถประจำตำแหน่ง จะนำรถส่วนกลางไปใช้ เสมือนเป็น รถประจำตำแหน่งมิได้" และข้าราชการผู้ใดกระทำการดังกล่าว "ให้ถือว่ามีความผิดวินัยร้ายแรง" ด้วย ขณะที่ สำนักนายกรัฐมนตรี มีหนังสือแจ้งข้อสังเกต กลับไปยัง สำนักงาน ป.ป.ช. ว่า ได้แจ้งเวียนซักซ้อมความ เข้าใจแนวทางปฏิบัติ พบว่าตามระเบียบ ปี 2523 อาจเปิดช่อง ให้มีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้รถราชการ และการเก็บรักษารถราชการ โดยได้แจ้งเวียนไปยัง ส่วนราชการต่างๆ ที่อยู่ในบังคับระเบียบฯ ทราบ และถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแล้ว อย่างไรก็ตาม กรณีของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรถราชการ พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ใช้บังคับ แก่ส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรม สำนักงาน หรือ หน่วยงานอื่นใดของรัฐ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หรือใน ต่างประเทศ แต่ไม่ควบคุมรวมถึงรัฐวิสาหกิจ หน่วยงาน ตามกฎหมาย ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น หรือ หน่วยงานอื่น ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติให้มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับ เกี่ยวกับรถราชการกำหนดขึ้นใช้บังคับเองเป็นการเฉพาะ ในคราวนั้น "นางพัชราภรณ์ อินทรียงค์" ปลัดสำนัก นายกรัฐมนตรี (ปลัดฯ คนปัจจุบัน) ที่ขณะนั้น ยังดำรงตำแหน่ง รองปลัด สปน.ได้ลงนามใน "สรุปรายงานผลดำเนินงานการ เร่งรัดติดตามหน่วยงานของรัฐที่เกิดกรณีเงินขาดบัญชี หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด" ประจำปี งบประมาณ 2560 ได้หยิบยกมาเผยแพร่ คือ "การใช้รถยนต์ส่วนกลางเป็นพาหนะไป-กลับ ระหว่างบ้านพักกับที่ทำงานได้หรือไม่" โดยตัวอย่างว่า "ข้าราชการหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งได้นำรถยนต์ส่วนกลาง ซึ่งเป็นรถที่มีไว้เพื่อกิจการอันเป็นส่วนรวมของ หน่วยงานไปใช้ในลักษณะรถประจำตำแหน่ง" โดยข้าราชการหน่วยงานของรัฐ จะโทรศัพท์สั่งการพนักงานขับรถโดยตรง และให้พนักงานขับรถ เป็นผู้เก็บกุญแจรถไว้ และยังให้พนักงานขับรถนำรถยนต์ดังกล่าวไป รับ-ส่ง ตนเองระหว่างบ้านพักกับหน่วยงานในช่วงเช้า และเย็นด้วย โดยไม่มีการจัดทำเอกสารควบคุมการใช้รถตามระเบียบทางราชการทำให้ไม่สามารถ ตรวจสอบได้ว่า ใช้รถเพื่องานราชการหรือไม่ หรือเมื่อเสร็จสิ้นการใช้งานในแต่ละวันได้นำรถมาเก็บรักษาที่โรงเก็บรถภายในหน่วยงานหรือไม่ กรณีนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ชี้มูลว่า เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรถราชการ พ.ศ.2523 กระทำการทุจริตและใช้อำนาจหน้าที่มิโดยชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงิน หรือทรัพย์สินของทางราชการ โดยอาศัยโอกาสที่ตนมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอนุญาตใช้รถยนต์ส่วนกลาง แต่กลับนำรถยนต์ไปใช้ในลักษณะที่เป็น รถประจำส่วนตัว การใช้รถยนต์ไป-กลับ ที่พักเป็นประจำส่วนตัว แม้จะมีระยะทางสั้นๆ หรือใช้รถยนต์ไปในสถานที่อื่นๆ เช่น ไปรับประทานอาหารกลางวันหรือไปทำธุระส่วนตัว ก็ถือว่าเป็นการใช้รถยนต์ ที่ไม่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ และเป็นการกระทำ การทุจริต ซึ่งจะต้องถูกดำเนินการทางอาญาและทางวินัย นอกจากคนใช้รถยนต์จะมีความผิดแล้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัสดุ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน และผู้อนุมัติเบิกจ่ายค่าน้ำมัน ก็จะถูกดำเนินการทางวินัยด้วย รวมทั้งเรียกเงินค่าน้ำมันทั้งหมด คืนราชการ ดังนั้น การใช้รถยนต์ส่วนกลาง ต้องดำเนินการตาม หลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนดไว้ ไม่ควรใช้ในลักษณะที่เป็น การส่วนตัว และหากมีความจำเป็นที่จะใช้นอกเหนือจากภารกิจที่ได้รับมอบหมายนั้น ก็ควรจะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายในภายหน้า เป็นเรื่องล่อแหลมที่มีการกระทำกันแทบทุกหน่วยงาน ด้วยความเคยชินโดยคิดกันเองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ต่อมาที่ประชุมใหญ่ "คณะกรรมการ ป.ป.ช." 28 ส.ค.61 พิจารณาว่า กรณีระเบียบสำนักนายกฯ ปี 2534 นั้น มีความ หลากหลาย และมีรายละเอียดแตกต่างกัน ประกอบกับ เมื่อศึกษาเปรียบเทียบระหว่างระเบียบ ปี 2523 และที่แกัไขเพิ่มเติม กับระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการใช้และรักษารถยนต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 พบว่า ระเบียบฯ กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีเนื้อหาที่คล้ายคลึงกัน "ยกเว้นการกำหนดบทลงโทษ" ซึ่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า "ผู้ใดกระทำการโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่อ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบนี้ หรือกระทำการโดยมีเจตนาทุจริต หรือปราศจากอำนาจ หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนที่ใช้บังคับอยู่ ในขณะนั้น หรือตามกฎหมายเฉพาะของส่วนราชการนั้น" ขณะที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ ไม่มีการบัญญัติบทลงโทษไว้แต่อย่างใด เรื่องนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 แจ้งข้อสังเกตของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับ การใช้รถส่วนกลางเสมือนรถประจำตำแหน่งไปยัง ครม. เพื่อให้ครม.สั่งการให้รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์การมหาชน ปฏิบัติตามข้อสังเกตนี้โดยเคร่งครัด ประเด็นนี้ "สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา" ให้ข้อสังเกตไว้ว่า กรณีที่หากเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใด นำรถส่วนกลางไปใช้เสมือน เป็นรถประจำตำแหน่งให้ถือว่ามีความผิดวินัยร้ายแรงนั้น "สมควรให้เป็นดุลพินิจของหน่วยงานแต่ละแห่ง ในการพิจารณาปรับปรุงระเบียบว่าด้วยการใช้รถยนต์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน โดยให้คำนึงถึงความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยของหน่วยงานนั้นด้วย" จริงๆ แล้ว ประเด็นการใช้รถราชการเสมือนรถประจำตำแหน่ง ใน อปท. ผู้บริหารระดับสูงของ อปท. หลายราย เคยถูกสอบสวนมาแล้ว ร้ายแรงที่สุด คือ ถูก รมว.มหาดไทยมีคำสั่งปลดออกจากตำแหน่ง ป.ป.ช.ระบุในเว็บไซต์ ว่ากรณีผู้บริหาร อปท. นั้นอยู่ในระหว่าง "ไต่สวนข้อเท็จจริง" จำนวนมาก ทั้งกรณีใช้รถยนต์เก๋ง (จอดทิ้งไว้ที่บ้านพัก) รถบรรทุกขนาดใหญ่ (นำไปขนดินส่วนตัว) รถขนน้ำ รถจักรยานยนต์ (นำไปให้คนในครอบครัวใช้) รวม ไปถึงเครื่องจักรกลทางการเกษตร มีการเบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงพนักงานขับรถยนต์ เบิกค่าเบี้ยเลี้ยงของตนเอง โดยมิชอบ ที่สังเกตทุกกรณี มีการ "เบิกค่าซ่อมแซม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง" พ่วงไปด้วย แถมบางแห่ง รถที่นำไปใช้เกิดอุบัติเหตุ และปกปิดความผิด ทำให้เกิดความเสียหายกับทางราชการ มีหลายคดี ที่ถูกกล่าวหามากว่า 10 ปี แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่ปรากฏข้อมูลชัดเจนว่าถูกชี้มูลกระทำความผิดเรื่องเหล่านี้จริงตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ? แต่น่าจะมีแค่คดีเดียวที่มีการพิจารณาและตัดสินใน ชั้นศาล และล่าสุดคาดว่า กำลังอยู่ในขั้นยื่นอุทธรณ์ ฎีกา ก็คือ คดีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 6 พิพากษา กรณีอดีต ผอ.สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ย้ายไป จ.พิจิตร มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 โดยพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 ลงโทษจำคุก 5 ปี เป็นที่น่าสังเกตว่า กรณีที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัด. |
เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ฅนเทศบาล
เมนูหลัก
ข่าวท้องถิ่น
ระเบียบบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานการบริหารงานบุคคลพนักงานส่วนท้องถิ่น
วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2562
รายงานพิเศษ: ย้อนรอยมติครม.สั่งฟันขรก.มั่วใช้รถหลวงเหตุใด?? ต้องถึงขั้น "ไล่ออก ปลดออก"
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น