วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2561

รายงานพิเศษ: มาแล้ว! ร่างบริหารกทม."ยุบ สข."ชัวร์ ตั้ง"ประชาคมเขต-บอร์ดยุทธศาสตร์"ไขปมเมืองหลวง

รายงานพิเศษ: มาแล้ว! ร่างบริหารกทม."ยุบ สข."ชัวร์ ตั้ง"ประชาคมเขต-บอร์ดยุทธศาสตร์"ไขปมเมืองหลวง 
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 องศา  ฉบับวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๑

          ใหม่ โคราช
          หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งร่างกฎหมายเกี่ยวกับท้องถิ่น โดยเฉพาะ "ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสภาท้องถิ่นและ ผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ..." ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เจ้าภาพในการจัดเลือกตั้ง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (กสถ.) กระทรวงมหาดไทย ฝ่ายสนับสนุนเลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อสัปดาห์ก่อน เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้าน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
          ฉบับที่เหลือยังอยู่ในมือ คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งภายในวันที่ 27 มิ.ย.นี้ ทุกฝ่ายจะต้องส่งความเห็นกลับมา เพื่อเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง ตามความเห็นที่กกต.กำหนดไว้ คือกรอบ 30 วัน คาดว่าจะส่งให้ สนช.พิจารณาได้เดือน ก.ค.นี้ และประกาศใช้ในเดือน ธ.ค. ซึ่ง กกต.ได้เสนอว่าการเลือกตั้งระดับชาติ และการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ควรมีการเว้นระยะห่างกันประมาณ 3 เดือน
          ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน พ.ค.62  โดยมีการเลือกตั้งก่อน 3 ส่วน คือกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนจังหวัด 77 จังหวัด ขณะที่องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาล จะต้องมีกระบวนการ แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ให้เสร็จก่อน
          ขณะที่กฎหมายท้องถิ่นอีก 5 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.จัดตั้งเทศบาล อบต. อบจ. เมืองพัทยา และ กทม. ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ เมื่อพิจารณาครบแล้วก็จะดำเนินการรับฟังความเห็นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งการจะเลือกตั้งท้องถิ่นได้ กฎหมายอีก 5 ฉบับ ต้องเสร็จพร้อมกัน
          เป็นความเห็นของ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดี กสถ. ที่เชื่อว่า "ไม่น่าช้า เพราะฉบับที่ใช้เวลาเยอะและนานที่สุดนั้น เสร็จแล้ว"
          ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวไว้ว่า "ขึ้นอยู่กับกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นได้เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ตอนไหน และใช้เวลาพิจารณานานเท่าไร รวมถึงขั้นตอนทูลเกล้าฯ ซึ่งเมื่อกฎหมายประกาศใช้ ก็จะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายใน 40-60 วัน"
          สำหรับความคืบหน้าของกฎหมายท้องถิ่น ฉบับอื่นๆ สัปดาห์เดียวกันนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ส่ง "ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่...) พ.ศ... กลับมาให้กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อจัดกระบวนการแสดงความ คิดเห็น ตามกรอบระหว่างวันที่ 18 มิ.ย.-13 ก.ค.61
          ร่างที่กฤษฎีกาส่งมายัง กทม. มีอะไรบ้าง ?? ส่วนใหญ่ก็เป็นไปตามคาดที่เคยมีสื่อนำเสนอมาก่อนหน้า เช่น ยกเลิกระเบียบราชการกรุงเทพมหานคร แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528
          ที่สำคัญ คือ เพิ่มหลักเกณฑ์ และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
          รายละเอียดที่มีการปรับแก้ในร่าง พ.ร.บ.ในเรื่องหลัก ประกอบ 1. แก้ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้ทุกหน่วย ทำงานอย่างคล่องตัว 2. เพื่อให้มีการบริการประชาชนให้มากขึ้น 3. เพื่อให้หน่วยงานสามารถดำเนินการได้ด้วยความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล 4. การปรับโครงสร้างการบริหารบางส่วน อาทิ การยกเลิกสมาชิกสภาเขต (สข.) แต่จะเพิ่มให้มีกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่เขต และเพิ่มมีอำนาจหน้าที่ให้ กทม. ทำงานคล่องตัว รวมทั้งเพิ่มโอกาสให้มีภาคเอกชนเข้ามาร่วมทำงานกับ กทม. ได้มากขึ้น และ 5. เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของ กทม. โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อเชื่อมการทำงานร่วมกับกระทรวง ทบวง กรมอื่นๆ ได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น
          ที่ถูกจับตามาตลอด นั้นคือ "ยุบสมาชิกสภาเขต (สข.)" ให้มาเป็น คณะกรรมการประชาคมเขต ตามมาตรา 193/4 (ฉบับปี 2528) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี นับแต่ วันที่ได้รับการแต่งตั้ง โดยกรรมการประชาคมเขต จะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินกว่าสองวาระติดต่อกันไม่ได้
          ตามหมวดที่ 9 "การมีส่วนร่วมของประชาชน" ในมาตรา 123/2 กรุงเทพมหานคร ต้องจัดให้มีกลไกภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครได้ อย่างมีประสิทธิภาพ ในรูปของคณะกรรมการประชาคมเขต มีผู้อำนวยการเขตเป็นประธาน และมีองค์ประกอบจากตัวแทนของประชาชนในด้านต่างๆ จำนวนยี่สิบคน ประกอบด้วย (1) กลุ่มอาชีพ โดยคัดเลือกกันเอง (2) กลุ่มอาสาสมัคร โดยคัดเลือกกันเอง และ (3) กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชน โดยอย่างน้อยต้องมาจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ นักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน โดยผู้อำนวยการเขตคัดเลือกจำนวนสัดส่วนของแต่ละกลุ่ม ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร แต่จำนวนของกลุ่ม (1) และกลุ่ม (2) เมื่อรวมกันแล้ว ให้มีสัดส่วนมากกว่ากลุ่ม (3)
          มาตรา 123/3 มีอ่านาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (1) ให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะหรือคำปรึกษา ในการจัดทำแผนงาน งบประมาณ การอนุรักษ์ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีอันดีงาม (2) ให้ความร่วมมือในการดำเนินงาน และการอื่นใดเพื่อการพัฒนา ปรับปรุง และแก้ไขปัญหาเมืองและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่เขต
          มาตรา 193/4 คณะกรรมการประชาคมเขต มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง โดยกรรมการประชาคมเขตจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินกว่าสองวาระติดต่อกันไม่ได้ ในกรณีที่กรรมการประชาคมเขตว่างลงก่อนคราวออกตามวาระ ไม่ต้องดำเนินการจัดให้มีการเลือกใหม่ แต่ให้ผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการประชาคมเขตในบัญชีกลุ่มอาชีพ หรือกลุ่ม อาสาสมัคร สาขา หรือด้านนั้น ในลำดับถัดไปเป็นผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการประชาคมเขตแทน ให้ปลัดกรุงเทพมหานคร มีอำนาจพิจารณาแต่งตั้ง การวินิจฉัย การถอดถอน ตามหลักเกณฑ์ ตามที่ตราในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร คำวินิจฉัยของปลัดกรุงเทพมหานคร ให้เป็นที่สุด
          การตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร กำหนดเรื่องคณะกรรมการประชาคมเขต ตามวรรคสี่ และการจัดให้มีคณะกรรมการประชาคมเขต ตามมาตรา 123/2 ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
          กำหนดสเปก สภากรุงเทพมหานคร หรือ สก. ที่มาจากการเลือกตั้ง มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์ ในวันเลือกตั้ง
          "มาตรา 30 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร อันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้รับเลือกตั้ง ถึงร้อยละเก้าสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดแล้วในวันใด ภายในสิบห้าวันนับแต่วันดังกล่าว ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เรียกประชุมสภากรุงเทพมหานครเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก โดยให้ถือว่า สภากรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่ แต่ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ให้ครบตามจำนวน ตามมาตรา 10 โดยเร็ว ทั้งนี้ ให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครดังกล่าว อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภากรุงเทพมหานครที่เหลืออยู่"
          ที่สำคัญ "ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร" สามารถร่วมถอดถอน สก. ตามกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียง เพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น และถ้าสมาชิกภาพของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครสิ้นสุดลงพร้อมกันทั้งหมด เพราะเหตุดังกล่าวให้ถือว่าเป็นการ "ยุบสภากรุงเทพมหานคร"
          สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร อาจมีผู้ช่วยสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้คนละไม่เกินสองคน
          ในร่างฉบับนี้ ยังมีการกำหนดสเปก "ผู้ว่าฯ กทม." ซึ่งมาจากเลือกตั้งขึ้นโดยวิธีการออกเสียงลงคะแนนโดยตรง และลับ มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี ในวันเลือกตั้ง รวมถึงด้านอื่นๆ ที่ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก
          "มาตรา 123/1 ให้รัฐจัดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ แก้ไขปัญหาเมืองหลวงและปริมณฑล มีนายกรัฐมนตรี เป็น ประธาน รมว.มหาดไทย รัฐมนตรี และหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้อง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการ และปลัดกรุงเทพ มหานคร เป็นกรรมการและเลขานุการ"
          โดยให้มีอำนาจหน้าที่ พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อป้องกัน แก้ไขปัญหาเมืองหลวง และปริมณฑล และแผนปฏิบัติการตามที่กรุงเทพมหานครจัดทำ โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอย่างน้อยในแผนดังกล่าว ต้องแสดงให้เห็นถึงอำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ และกำหนดหน่วยงานหลัก หน่วยงานสนับสนุน การวางระบบ วิธีการ ทรัพยากรการบริหารงาน การบูรณาการในการท่างานร่วมกัน การติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติตามห้วงเวลาที่กำหนด และให้มีอำนาจหน้าที่จัดแบ่งหน้าที่ และกิจกรรมการจัดบริการสาธารณะระหว่าง หน่วยงานของรัฐ กับกรุงเทพมหานคร
          โดยจัดกลไกการถ่ายโอนภารกิจเพื่อให้กรุงเทพมหานคร สามารถเป็นหน่วยงานหลักในการจัดบริการสาธารณะ และกิจกรรมสาธารณะ ในเขตกรุงเทพมหานคร และสามารถประสานการปฏิบัติกับจังหวัดปริมณฑล เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว รวมทั้งให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
          การดำเนินการ ให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาเมืองหลวงและปริมณฑล ตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
          ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่...) พ.ศ.... เผยแพร่ฉบับเต็มในเว็บไซต์ กทม.แล้ว ไปร่วมกันแสดงความเห็นได้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น