วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

คมชัดลึก: อย่าเป็นมาเฟียเสียเอง

คมชัดลึก: อย่าเป็นมาเฟียเสียเอง
คม ชัด ลึก  ฉบับวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๑

          เรื่องราวป้าทุบรถ ที่ดูเหมือนกำลังจะจบลงด้วยความปราชัยแบบเสียหายยับเยินของกรุงเทพมหานคร(กทม.) หน่วยงานท้องถิ่นในฐานะผู้ถูกร้อง ในคดีปกครองที่ป้าผู้พักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ย่านสวนหลวง เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง กรณี กทม.ในฐานะหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ รวมทั้งละเมิด จากการปล่อยปละละเลยให้ก่อสร้างอาคารและตลาด 5 แห่งโดยผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้พื้นที่ซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยกลายเป็นที่จอดรถ และผิดวัตถุประสงค์ของหมู่บ้านซึ่งจดทะเบียนเป็นหมู่บ้านจัดสรร ก่อให้เกิดมลพิษทางเสียงและความเดือดร้อนรำคาญ โดยศาลมีคำพิพากษาให้ กทม.รื้อถอนตลาดทั้ง 5 แห่ง และชดใช้เงินรวมดอกเบี้ยจำนวน 1,473,600 บาท ให้แก่ผู้ร้อง
          คดีป้าทุบรถ เป็นข่าวใหญ่ ที่สังคมให้ความสนใจ เพราะเป็นภาพสะท้อนการต่อสู้ระหว่างประชาชนกับหน่วยงานรัฐ ซึ่งยังมีผลประโยชน์จากการจัดตลาดนัดเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งออกมา และหากกทม.เองไม่อุทธรณ์ใดๆ ก็ถือว่าคดีเป็นที่สิ้นสุด ซึ่งต้องจดจารึกไว้ว่า คดีนี้เป็นคดีตัวอย่าง หรืออีกหนึ่งบทเรียนสำคัญ สำหรับองค์กรปกครองท้องถิ่น ทั้งในเรื่องการดูแลเอาใจใส่ความเป็นอยู่ของสมาชิกในสังคม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต เช่น สาธารณูปโภคต่างๆ อย่างถนนหนทาง ไฟส่องสว่าง ไปจนถึงการอนุมัติงานการต่างๆ ที่อาจจะไปกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งคงมีไม่มากนักหรืออาจเป็นไปไม่ได้เลยที่ประชาชนคนเดินดินทั่วไปจะลุกขึ้นมาต่อกรกับอำนาจรัฐ โดยเฉพาะต้องว่าจ้างทนาย พากันไปขึ้นโรงขึ้นศาล
          จะว่าไปแล้ว สถานภาพทางด้านเศรษฐกิจและวุฒิภาวะของ คุณป้า ก็นับเป็นข้อได้เปรียบอย่างหนึ่ง ที่พวกเธอสามารถต่อสู้กับอำนาจรัฐได้ แต่ในความเป็นจริงของสังคมโดยเฉพาะชุมชนต่างๆ  ที่ขึ้นกับการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกมากมายหลายแห่ง ที่มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง บางท้องที่ ผู้บริหารเองถูกเรียกว่าเป็น "มาเฟีย" เสียด้วยซ้ำ เพราะอาศัยอิทธิพลทั้งทางการเมืองและการเงินคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของสุจริตชน  ที่ต้องการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเหมือนกับคนทั่วไป เบียดบังที่สาธารณะมายังประโยชน์ตนและพวกพ้อง อย่างเช่น  การจัดตลาดนัดโดยไม่คำนึงถึงว่าจะสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ผู้พักอาศัยในละแวกนั้นหรือไม่ ทั้งๆ ที่สถานที่ที่ถูกใช้ไปนั้นเป็นของส่วนรวม
          คดีป้าทุบรถ และอีกหลายๆ กรณีที่ดำเนินไปในทำนองเดียวกัน น่าจะเป็นบทเรียนให้แก่ผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นได้ใช้หลัก ธรรมาภิบาลในการบริหารอย่างระมัดระวังและสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ส่วนรวม ที่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้บริหารเหล่านั้นมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นตัวแทนของประชาชน จึงควรจะต้องเอาใจใส่ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกทุกคนในสังคม รวมไปถึงการเปิดรับฟังความคิดเห็นของพวกเขา อย่างเช่น การทำประชาคมในหลายๆ กรณี เพื่อให้โครงการหรือแผนงานสนองตอบต่อวิถีชีวิตของชุมชนอย่างแท้จริง เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะถือว่าได้ว่า การกระจายอำนาจให้องค์กรท้องถิ่นประสบความสำเร็จตามหลักของระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น