วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ปิดปฏิบัติการ'เสือเงียบ' กวาดเรียบ'พลังงานทดแทน' เสก'ขยะ'ให้เป็น'ทุน'ระดมกระสุนหนุนเลือกตั้ง??

เปิดปฏิบัติการ'เสือเงียบ' กวาดเรียบ'พลังงานทดแทน' เสก'ขยะ'ให้เป็น'ทุน'ระดมกระสุนหนุนเลือกตั้ง??
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 องศา ฉบับวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๑

          ผลพวงจากแรงเขย่าแผน "พลังงานทดแทน" ของ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยัง ไม่จบลงง่ายๆ แต่ท่ามกลางความสับสนอลหม่านฝุ่นตลบกันทั่วทั้งวงการ "ไอ้เสือคลองหลอด" ก็ดอดจับปลาตอนน้ำขุ่น สร้างหลักประกันให้ "โครงการพลังงานทดแทนทั้งจากขยะและชีวมวล" ใต้ร่มธง "พี่รอง" ให้สามารถไปต่อได้แบบ หายห่วง
          นี่สิถึงจะเรียกว่าเป็นการสร้างผลงานให้เกิดเป็นรูปธรรม สมดังคำโฆษณาที่ว่าโครงการการจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของ "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)" ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย มูลค่าร่วมแสนล้าน เป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เอาจริงเอาจังอย่างถึงที่สุด
          โปรดอย่าลืมว่าในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ปลุกปั้นวาระแห่งชาติว่าด้วยการจัดการขยะและของเสียอันตราย จนเกิดเป็น "แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศไทย (พ.ศ.2559-2564)" ที่มีหลักใหญ่ใจความสำคัญอยู่ที่การรวมศูนย์อำนาจในการจัดการขยะมาไว้ในมือ "มหาดไทย" แบบเบ็ดเสร็จเพื่อแปรรูปผลิตพลังงานหรือสร้างโรงไฟฟ้าโดยใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง
          โดยสเต็ปแรก มท.1 - พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้เสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. 2558 ตั้งงบปีละ 3,000 ล้านบาท เพื่อร่วมลงทุนกับเอกชนบริหารจัดการขยะนำร่อง ก่อนที่จะบูรณาการงบและแผนจัดการขยะของสองกระทรวงคือ มหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเวลาต่อมา จนกระทั่งมีการวางงบประมาณก้อนใหญ่ตามแผนแม่บทดังกล่าวเป็นตัวเลขมหาศาลถึง 178,600 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณ ของรัฐ 94,600 ล้านบาท และการลงทุนจากเอกชนอีก 84,000 ล้านบาท
          ตามแผนแม่บทจัดการขยะหรือเนื้อแท้คือแผนรวมศูนย์กำจัดขยะเพื่อแปรรูปผลิตพลังงานหรือโรงไฟฟ้าของมหาดไทยนั้น พล.อ.อนุพงษ์ ได้กล่าวภายหลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2558 ชัดเจนว่า ".... ขณะนี้ได้ทำพื้นที่กำจัดขยะไว้แล้วทั่วประเทศ 141 แห่ง โดยพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพราะมีขยะพอเพียงทำให้โรงไฟฟ้ามี 44 แห่ง ...."
          เตรียมการไว้แล้วเสร็จสรรพ ทั้งแผนแม่บท ทั้งงบประมาณ ทั้งขจัดอุปสรรคปัญหาร้อยแปดพันเก้าจนสิ้น ฉะนี้แล้ว การประกาศทบทวนนโยบายพลังงานทดแทนใหม่ของนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะไปปรับรื้อจุดไหนก็ทำไป แต่ต้องเว้นวรรคไว้สำหรับโครงการของเสือคลองหลอด อย่าให้กระทบกระเทือนทำเสียแผนเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนหรือชีวมวลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถือเป็น "พื้นที่ความมั่นคง" หรือโรงไฟฟ้าขยะตามวาระแห่งชาติ
          ด้วยความชัดเจน ณ จุดนี้ จึงมีความคืบหน้าล่าสุดจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2561 ที่ออกมาเพื่อรองรับ ตามถ้อยแถลงของนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ครม.มีมติอนุมัติให้ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จัดตั้ง/ร่วมทุนบริษัทในเครือ เพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในส่วนของแผนงานผลิตไฟฟ้าชุมชนจากชีวมวล โดยให้บริษัท พีอีเอฯ ลงทุนในสัดส่วน 40% ภาคเอกชนและวิสาหกิจชุมชน ลงทุนในสัดส่วน 60% (วิสาหกิจชุมชนสามารถเข้ามาถือหุ้นได้ไม่เกิน 10%)
          ทั้งนี้ บริษัท พีอีเอฯ จะจัดตั้ง/ร่วมทุนบริษัทในเครือ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท ประชารัฐชีวมวล นราธิวาส จำกัด (จ.นราธิวาส), บริษัท ประชารัฐชีวมวล แม่ลาน จำกัด (จ.ปัตตานี) และ บริษัท ประชารัฐชีวมวล บันนังสตา จำกัด (จ.ยะลา) โดยมีปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าไม่เกิน 15 เมกะวัตต์ วงเงินลงทุนรวมทั้งหมด 1,550 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 20 ปี แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าชีวมวล จ.นราธิวาส กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ และจะขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 6.3 เมกะวัตต์ วงเงินลงทุน 755 ล้านบาท, โรงไฟฟ้าชีวมวล จ.ปัตตานี กำลังการผลิต 3 เมกะวัตต์ ขายไฟฟ้าให้ กฟภ. จำนวน 2.85 เมกะวัตต์ วงเงินลงทุน 410 ล้านบาท และโรงไฟฟ้าชีวมวล จ.ยะลา กำลังการผลิต 3 เมกะวัตต์ ขายไฟฟ้าให้ กฟภ. จำนวน 2.85 เมกะวัตต์ วงเงินลงทุน 390 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในเดือน ก.ค. นี้ และพร้อมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือน พ.ย. 2563
          "ที่ผ่านมาพื้นที่ภาคใต้มีปัญหาเรื่องการผลิตไฟฟ้าภายในพื้นที่ไม่เพียงพอ ต้องใช้ไฟฟ้าจากภาคกลางและซื้อจากมาเลเซีย โครงการนี้ยังเป็นอีกโครงการในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน เพื่อรองรับการจัดตั้งโครงการพาคนกลับบ้านของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และโครงการรองรับมวลชนหมู่บ้านสันติสุข ....
          "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงพลังงาน ดำเนินการเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยให้เกิดความปลอดภัยในชีวิต และเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ ให้มีการร่วมมือกับประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่เพื่อให้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของโครงการนี้ร่วมกัน" นายณัฐพร ให้เหตุผลยืดยาว ทำเอาเอกชนรายอื่นๆ ที่กำแผนผลิตไฟฟ้าทดแทนไว้ในมือแต่เหมือนถือกระดาษเปล่าในเวลานี้ตาร้อนผะผ่าว สุดแสนเสียดายที่ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนธุรกิจกับ พีอีเอ เอ็นคอมฯ
          มติ ครม.ข้างต้นที่ให้รับซื้อไม่เกิน 15 เมกะวัตต์นั้น ถือเป็นการนำร่องกันไปก่อนมีลูกตาม โดยเป้าหมายโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตัวเลขสุดท้ายวางเป้าไว้ที่ 300 เมกะวัตต์ ตามไทม์ไลน์รัฐมนตรีพลังงาน คาดว่าจะสรุปความชัดเจนอีกครั้งในไตรมาส 3 ของปี 2561 นี้
          การล้มกระดานพลังงานทดแทน ปรับรื้อแผนใหม่หมดที่กระทรวงพลังงาน กำลังเทกแอ็กชันอยู่ในเวลานี้ มองอีกมุมหนึ่งจึงคล้ายๆ กับว่านโยบายหยุดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนโดยรวมอย่างน้อยๆ อีก 5 ปี เป็นการ "เคลียร์พื้นที่" ให้กับขาใหญ่ไอ้เสือคลองหลอด เพื่อสร้างหลักประกันอันมั่นคงและมั่งคั่ง ใช่หรือไม่?
          ตามเหตุผลที่นายณัฐพร อธิบาย ฟังดูเป็นการดำเนินการตามนโยบายที่วางเอาไว้เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในพื้นที่และซื้อใจทั้งประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ก็ฟังดูดี และเป็นเหตุผลคลาสสิกในการดึงงบโครงการต่างๆ ลงพื้นที่ชายแดนใต้มานับไม่ถ้วน ชนิดที่ว่าเงินท่วมโครงการท้นแต่ปัญหาความไม่สงบชายแดนใต้ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงคล้ายมีใครต้องการเลี้ยงไข้ ตามสูตรที่ว่าเมื่อวกกลับมายังเรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวลก็เลยชวนทะแม่งๆ
          เพราะหากมองย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของแผนตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2558 กำหนดเป้าการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไว้เพียง 36 เมกะวัตต์ เท่านั้น แล้วเพิ่มพรวดมาถึง 300 เมกะวัตต์ ได้อย่างไร เบื้องหลังจึงน่าสนใจยิ่งนัก
          แถมยังมีคำยืนยันเป็นมั่นเหมาะจากรัฐมนตรีพลังงาน ซึ่งให้สัมภาษณ์สื่อก่อนนี้ด้วยว่าโรงไฟฟ้าชีวมวล 300 เมกะวัตต์ดังกล่าวจะทำในรูปแบบ "โรงไฟฟ้าประชารัฐ" แน่นอน โดยมีกระทรวงพลังงานและกระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าภาพ รูปแบบการดำเนินงานโรงไฟฟ้า มี 3 ฝ่ายร่วมทำด้วยกัน คือ ภาครัฐ เอกชน และชาวบ้าน และจะกระจายกำลังการผลิตไปในพื้นที่ต่างๆ ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยตั้งเป้าผลิตครบตามเป้าหมาย 300 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับความต้องการใช้ใน 3-5 ปีข้างหน้า
          สืบสาวที่มาที่ไป ตัวเลขจาก 36 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นมาเป็น 300 เมกะวัตต์ ได้ความว่าหลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2558 ในส่วนของชีวมวล ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอใน จ.สงขลา (อ.จะนะ อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย และอ.นาทวี) ที่กำหนดเป้าหมายรับซื้อ 36 เมกะวัตต์ ปรากฏว่า เมื่อปิดรับการยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้า ในช่วงวันที่ 15-30 มิ.ย. 2559 มีผู้ยื่นเสนอขายไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 89 โครงการ ปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขาย 547 เมกะวัตต์ แต่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและข้อเสนอด้านเทคนิค 28 โครงการ รวมปริมาณเสนอขาย 224 เมกะวัตต์
          ประจวบเหมาะเจาะกับข้อมูลกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ที่มอบหมายให้มหาวิทยาลัยศิลปากร ศึกษาศักยภาพเชื้อเพลิงชีวมวลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า มีโอกาสที่จะผลิตได้ถึง 300 เมกะวัตต์ เนื่องจากมีเศษไม้และวัสดุจากธรรมชาติเพียงพอ จึงเป็นที่มาของการปั้นตัวเลข 300 เมกะวัตต์ แบบเนียนๆ ถือโอกาสอุ้มเอาไว้หมดมากกว่าปริมาณการเสนอขายที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและข้อเสนอด้านเทคนิคตอนที่เปิดประมูลเสียอีก
          ตัวเลขที่ตีโป่งขึ้นไปนี้ กระทรวงพลังงาน จะมีการนำเข้าสู่ที่ประชุม กพช. ให้เคาะการขยายเป้าหมายใหม่อีกครั้งในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2561 ตามที่รัฐมนตรีพลังงานเคยให้สัมภาษณ์สื่อเอาไว้
          ดูท่านโยบายความมั่นคงทางพลังงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คราวนี้จะเอื้อ "ความมั่งคั่ง" ให้แก่ "เสือคลองหลอด" แบบสุดลิ่มทิ่มประตู ส่วนคำร่ำลืออาจจะมีกลิ่นตุๆ "เมกฯละล้าน" เหมือนสมัย "รัฐบาลเลือกตั้ง" หรือเปล่า? ไม่มีใครยืนยัน แต่ที่แน่ๆ ขณะที่เอกชนรายอื่นกำลังช็อกตาตั้งกับนโยบายรื้อใหญ่เบรกหัวทิ่มพลังงานทดแทนอย่างน้อย 5 ปี มีแต่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) บริษัทลูก ของ กฟภ. ใต้สังกัด มท. 1 นั่นแหละที่จะรวยเละ
          ความมั่นคงด้านพลังงานที่นำมาซึ่งความมั่งคั่งไม่เพียงแต่โรงไฟฟ้าชีวมวลเท่านั้น ภายใต้นโยบายแช่แข็งพลังงานทดแทน 5 ปี ยังเว้นที่ให้กับการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการการจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของ อปท.ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย จำนวน 12 โครงการ กำลังผลิต 77.9 เมกะวัตต์ ซึ่งจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2564 อีกด้วย โดยทั้ง 12 โครงการนี้ถือเป็นโครงการนำร่องวัดผลงานโครงการโรงไฟฟ้าขยะของ อปท. ใต้สังกัดมหาดไทยก่อนว่ามีฝีมือมีความสามารถหรือไม่
          ระหว่างนี้ ก็อาจจะมีดีลลับเคลียร์พื้นที่ให้มหาดไทยกินรวบหรือแบ่งสันปันส่วนผลประโยชน์ต่างๆ ให้ลงตัวก่อน หาทุนรอนสำหรับการเลือกตั้ง ใช่หรือไม่? ไม่มีใครกล้ายืนยัน เพียงแต่มีข้อสังเกตว่า ไม่เพียงการเพิ่มเป้าผลิตไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จาก 36 เมกะวัตต์ เป็น 300 เมกะวัตต์ เท่านั้น ในส่วนของไฟฟ้าจากขยะชุมชนของ อปท. ก็มีการเจรจาต้าอวยกันด้วยเช่นกัน
          ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2561 ที่รัฐมนตรีพลังงาน พบปะหารือกับ มท.1 นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ทั้งสองกระทรวงมีข้อตกลงร่วมกันที่จะบริหารจัดการขยะชุมชนโดยมุ่งกำจัดขยะให้ลดลงในขณะที่การผลิตไฟฟ้าจะถือเป็นผลพลอยได้ จึงมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับ กฟภ.ไปพิจารณาพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชนในจุดที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบสายส่งได้ ส่วนของการปรับเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนนั้นจะยังคงไว้ที่จำนวน500 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว หรือ PDP 2015 รวมถึงไม่มีการปรับลดเงินสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าขยะชุมชนในรูปแบบ Feed in Tariff (FiT) ที่ 5.78 บาทต่อหน่วย ในโครงการระยะแรก (Quick Win Projects) ส่วนโครงการต่อไปจะต้องพิจารณา FiT อีกครั้งว่าจะปรับเปลี่ยนหรือไม่
          ต้องไม่ลืมว่าบิ๊กโปรเจกต์โรงไฟฟ้าขยะมูลค่านับแสนล้านที่มหาดไทยตั้งท่าขยับมาเป็นนานสองนาน มีการใช้อำนาจพิลึกพิลั่น ตามคำสั่ง ม. 44 ทะลุทะลวงข้อติดขัดทางกฎหมายที่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตลอดจนเหยียบย่ำ "กฎหมายผังเมือง" ให้แล้วก็ตาม เอาเข้าจริงจนบัดนี้ยังไม่ถึงไหนเพราะพอลงมือทำจริงไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด มองซ้ายมองขวาถ้าขืนปล่อยให้เอกชนซึ่งมีศักยภาพล้นเหลือลงลู่แข่งแบบไม่ดึงขาไว้รอก่อน รับรองว่าโควตาพลังงานทดแทนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP (Alternative Energy Development Plan) คงเสร็จเอกชนหมด
          ดูตัวเลขง่ายๆ นับแต่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา โดยมีมาตรการจูงใจในด้านราคารับซื้อและผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ ปรากฏว่า ณ สิ้นเดือนก.พ. 2561 มีโครงการที่มีพันธะผูกพันกับภาครัฐ 7,296 ราย คิดเป็นกำลังผลิตติดตั้ง 9,855 เมกะวัตต์ หากเทียบกับเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี 2015) ปี 2579 จำนวน 16,778 เมกะวัตต์ ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิต ณ เดือน ก.พ. 2561 คิดเป็นสัดส่วน 64.55% ของเป้าหมายเออีดีพียังมีส่วนที่เหลือจาก เป้าหมาย 6,351 เมกะวัตต์
          อาจจะด้วยเหตุฉะนี้อีกกระมังเมื่อรัฐบาลทหาร บริหารประเทศกำลังจะครบปีที่ 4 ย่างเข้าปีที่ 5 ของ คสช. ที่ใกล้เวลาเปลี่ยนผ่านอำนาจหรือใกล้เวลาเลือกตั้งไม่ทราบได้ จึงมี "คนใจร้อน" ไปรบเร้าให้ กระทรวงพลังงาน ออกนโยบายเอื้อกันเองแบบสุดลิ่ม สะทือนถึงกลุ่มทุนพลังงานทดแทนที่แห่กันเข้ามาขุดทองอย่างน้อย 300-400 ร้อยราย มูลค่ารวมกว่า 4-5 แสนล้านบาท ชะงักงันแบบยังไม่รู้ชะตาอนาคต
          การลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนโปรดศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ ฉันใดก็ฉันนั้น ถึงเวลานี้ กลุ่มทุนพลังงานทดแทน สมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ตบเท้าเข้าพบรัฐมนตรีพลังงานมาแล้วหลายรอบก็ยังไม่ได้คำตอบที่เคลียร์คัตชัดเจนว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2561 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงพลังาน ยังให้คำตอบไม่เคลียร์พร้อมซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไม่อั้นนั้นเมื่อไหร่แน่ และค่าไฟฟ้าที่ไม่เป็นภาระของประชาชนนั้นคือเท่าไหร่กันแน่
          ".... ท่านก็ยืนยันไม่ได้ชะลอซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แต่ราคาต้องไม่เป็นภาระประชาชน และได้ระบุว่าราคาขายต่ำกว่า หรือเท่ากับ Grid Parity และต้องเป็นประเภท Firm โดยจะรับซื้อไม่จำกัด แต่จะไม่รวมถึงโรงไฟฟ้าจากขยะ ส่วนราคา 2.44 บาทต่อหน่วยนั้นเป็นราคาเฉลี่ยจากการประมูล SPP Hybrid ครั้งล่าสุด ดังนั้นจึงเห็นว่ารัฐควรจะมีราคากลางออกมาให้ชัดเจน...." ประธาน ส.อ.ท.ตั้งคำถาม
          ความเสี่ยงจากนโยบายที่เปลี่ยนแปลง ทำให้แบงก์งดปล่อยกู้และเรียกคืนหนี้ตามวิสัยของแบงก์ที่มักชักร่มกลับตอนฝนตกหนัก ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานทดแทนก็ปักหัวดำดิ่งลงแบบยังไม่เห็นแนวรับเพราะความชัดเจนยังไม่ปรากฏ โดยในระยะสั้น ส.อ.ท. พบว่า บางบริษัทราคาหุ้นลดลง 50% และในระยะกลางและระยะยาวจะกระทบต่อการลงทุนใหม่ทั้งหมดเนื่องจากสถาบันเริ่มไม่ปล่อยกู้ และนักลงทุนต่างชาติอาจถอนการลงทุนจากไทย ซึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีเม็ดเงินลงทุนของพลังงานทดแทนทั้งระบบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท โดยจะมีการลงทุนใหม่เฉลี่ยปีละ 2.5 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 500 เมกะวัตต์มันรู้ว่า ไผเป็นไผ?  ขณะที่นักลงทุนเอกชนแบกรับความเสี่ยงจากนโยบายรัฐบาลที่พลิกผันชั่วข้ามคืน แต่ ณ นาทีนี้ โควตาการรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวลและขยะในมือเสือเงียบแห่งคลองหลอดที่แน่ๆ ขึ้นไปอยู่ที่ 800 เมกะวัตต์ แบบกินหวานๆ ไม่ต้องกังวลเหมือนเอกชนที่ยังสาละวนไม่รู้จะไปต่อได้อย่างไร ให้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น