วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

บทความพิเศษ: ประเด็นร่างพรบ.บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 3 : การบริหารกำลังคนภาครัฐ

บทความพิเศษ: ประเด็นร่างพรบ.บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 3 : การบริหารกำลังคนภาครัฐ
สยามรัฐ  ฉบับวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๐

          ทีมวิชาการสมาคมพนักงาน
          เทศบาลแห่งประเทศไทย
          "ปัญหาการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น"เป็นปัญหาที่มีขอบเขตกว้าง ในระยะเวลาที่ผ่านมามีการวิพากษ์ถกประเด็นในเวทีสาธารณะหลายแห่งจะขอสาธยายเท้าความเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านการบริหารงานบุคคลแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด เพื่อทราบขอบข่ายของคำว่า "การบริหารงานบุคคล" ที่จะตราเป็นกฎหมาย ลองมาศึกษาแนวทางระดับชาติ เพื่อทราบทิศทางการจัดการ "กำลังคนภาครัฐ" ในภาพรวม
          จุดเริ่มต้นของการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น
          กฎหมายบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นเริ่มต้นจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 คือ"พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542" มีสาระสำคัญว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
  • (1) "มีอิสระในด้านการบริหารงานบุคคล"ตามความต้องการและความเหมาะสมของท้องถิ่น
  • (2) "มีคณะกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่นของตนเอง" ทำหน้าที่บริหารงานบุคคลสำหรับท้องถิ่นของตนได้โดยตรง และ
  • (3) "มีองค์กรกลาง" ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานกลาง กำหนดมาตรฐานการบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบให้มีทิศทางที่เหมาะสมและเป็นธรรม
          ในทางปฏิบัติกฎหมายบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นก็จะล้อจากกฎหมายหลัก คือ "พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน" ทั้งสิ้น ที่ผ่านมาได้แก่ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ที่ยึดตามแนว พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 และ ฉบับ พ.ศ. 2551 ซึ่งไม่รวมกฎหมายบุคคลของกรุงเทพมหานคร (กทม.) คือ พ.ร.บ.ข้าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และ พ.ร.บ.ข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากร กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2554
          ปัจจุบันถือว่ากฎหมายบริหารงานบุคคลท้องถิ่นล่าช้าไปหลายช่วงตัว เมื่อเทียบกับกฎหมายข้าราชการ กทม. (ฉบับล่าสุด พ.ศ. 2554) และข้าราชการพลเรือน (ฉบับล่าสุด พ.ศ. 2551) เพราะปัจจุบัน"ข้าราชการส่วนท้องถิ่น" หรือที่เรียกตามกฎหมายว่า "พนักงานส่วนท้องถิ่น" (พนักงานเทศบาลหรือพนักงานส่วนตำบล) หรือ "ข้าราชการส่วนจังหวัด"หรือ "พนักงานเมืองพัทยา" ยังคงยึด พ.ร.บ.บุคคลฯฉบับแรก พ.ศ. 2542 รวม 18 ปี ตั้งแต่เมื่อครั้งไม่มีระบบแท่ง นอกจากนี้ปัจจุบันข้าราชการส่วนท้องถิ่นยังไม่มี "คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม" ตามหลักการใหม่แต่อย่างใด
          กระบวนการบริหารงานบุคคลภาครัฐ"การบริหารงานบุคคลภาครัฐ" (Personnel Management) เรียกตามศัพท์ใหม่ว่า "การบริหารงานทรัพยากรบุคคลภาครัฐ" (HRM - Human Re source Management) มีวัตถุประสงค์คล้ายการบริหารแบบเดิม แต่มีจุดมุ่งเน้นที่ต่างกัน วัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อ
  • (1) การสรรหาและคัดเลือกบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานในองค์กร (Re cruitment and Selection)
  • (2) การใช้คนให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Utilization)
  • (3) การธำรงรักษาบุคคลที่มีความสามารถให้อยู่กับองค์การนานๆ(Maintenance) และ
  • (4) การพัฒนาบุคคลให้มีความรู้ความสามารถ (Development)
          ภายใต้หลักการ 5 ประการคือ
  • (1) หลักคุณธรรม (Merit Based หรือ Virtue)
  • (2) หลักกระจายอำนาจ (HR Decentralization)
  • (3) หลักผลงาน(Performance Based)
  • (4) หลักความสมดุลระหว่างคุณภาพชีวิตกับการทำงาน (HRM Flexibility)
  • (5)หลักสมรรถนะ (Competency Based) 
    มี 4 กระบวนการภาพใหญ่บริหารทรัพยากรบุคคล ได้แก่
    • (1) การสรรหาคัดเลือก เพื่อให้ได้คนดีคนเก่งเข้ามาปฏิบัติงานในองค์การ
    • (2) การรักษาคนไว้ในองค์การ เพื่อธำรงรักษาคนดี คนเก่งให้เต็มใจทุ่มเทปฏิบัติงานผลักดันองค์กรให้เจริญก้าวหน้าไปตามเป้าหมาย
    • (3) การใช้ประโยชน์ เพื่อนำศักยภาพของบุคลากรที่มีคุณภาพเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนา และ
    • (4) การอบรม และพัฒนา เป็นการลงทุนด้านทุนมนุษย์ ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ทวีศักยภาพส่งผลให้องค์กรเจริญก้าวหน้า
          ยุทธศาสตร์การจัดกำลังคนภาครัฐใน "ยุทธศาสตร์การจัดกำลังคนภาครัฐ" หรือ"มาตรการบริหารกำลังคนภาครัฐ" แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น แต่ก็เป็นการจัดการบริหารงานบุคลากรภาครัฐเช่นกัน ลองมาศึกษาแนวทางจากระดับชาติเพื่อทราบทิศทางการจัดการบริหารกำลังคนภาครัฐในภาพรวม ในแต่ละห้วงโดย สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วม คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.)
          ยุทธศาสตร์การจัดกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ.2549 - 2551) เพื่อปรับขนาดกำลังคนภาครัฐ ให้มีขนาด และคุณภาพเหมาะสมกับการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลแนวใหม่ การพัฒนาระบบราชการและทิศทางการพัฒนาประเทศ มุ่งเน้นการใช้กำลังคนอย่างคุ้มค่า ประหยัด ได้ประโยชน์สูงสุด เกิดความสมดุลในภาพรวม ปรากฏผลการดำเนินงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์โดยสรุปคือ สามารถปรับขนาดกำลังคนด้วยการลดกำลังข้าราชการฯ ภาครัฐ รวมทั้งสิ้น 151,342 อัตรา
          มาตรการบริหารกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2552-2556) ดังนี้
  • (1) เห็นชอบในหลักการมาตรการบริหารกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2552-2556) เพื่อให้การดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของ คปร. บรรลุเป้าหมายในการบริหารจัดการกำลังคนให้สอดคล้องกับความจำเป็นตามภารกิจในภาครัฐ ครอบคลุมถึงกำลังคนภาครัฐทุกประเภท ได้แก่ ข้าราชการ (ไม่รวมข้าราชการทหาร) พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ และกำลังคนประเภทอื่นๆ ในส่วนราชการสังกัดฝ่ายบริหารที่ใช้งบประมาณงบบุคลากรจากงบประมาณรายจ่ายแผ่นดิน
  • (2) มอบหมายให้ คปร. และองค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลร่วมกับส่วนราชการดำเนินการเพื่อให้มีการนำมาตรการบริหารกำลังคนภาครัฐดังกล่าวไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ในส่วนของการกำหนดให้ส่วนราชการมีความคล่องตัวในการบริหารอัตรากำลัง เห็นชอบเป็นหลักการให้ส่วนราชการมีอัตราว่างได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
  • (3) ให้ คปร.รับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เห็นควรกำหนดเป้าหมายการดำเนินมาตรการให้ชัดเจนและสามารถปฏิบัติได้ และกำหนดแนวทางในการติดตามประเมินผลการดำเนินงานของมาตรการดังกล่าวเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารกำลังคนภาครัฐ
  • (4) การกำหนดการใช้กำลังคนแต่ละประเภทให้เหมาะสมกับภารกิจ โดยให้พนักงานราชการสามารถปฏิบัติงานในภารกิจหลักด้วย
          มาตรการบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐ(พ.ศ. 2557 - 2561) โดยให้สำนักงาน ก.พ. จัดทำแนวปฏิบัติและคู่มือแนวทางการดำเนินการในเรื่องต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรการฯ ดังกล่าว เพื่อให้ส่วนราชการสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการในส่วนของการส่งเสริม สนับสนุนการนำมาตรการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย
  • (1) ยุทธศาสตร์การวางแผนบริหารกำลังคนให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • (2) ยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนและสร้างความพร้อมเชิงกลยุทธ์
  • (3) ยุทธศาสตร์การดึงดูดและรักษากำลังคนที่มีคุณภาพในภาครัฐ เพื่อเป็นกลไกในการบริหารและพัฒนากำลังคนของภาครัฐให้สามารถขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
          ปัญหาอุปสรรคการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การจัดกำลังคนภาครัฐ
          สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนรวบรวมปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการไว้ดังนี้
  • (1)นโยบายในการถ่ายโอนภารกิจด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานและภารกิจด้านการบริการสาธารณสุขยังไม่ชัดเจน และยังไม่มีผลเป็นรูปธรรม
  • (2) ส่วนราชการยังไม่มีการวางแผนทรัพยากรบุคคลเชิงกลยุทธ์ และไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิเคราะห์ปัญหากำลังคน
  • (3) ส่วนราชการหลายแห่งยังไม่มีระบบข้อมูลกำลังคนที่สมบูรณ์ทันสมัยทำให้ภาคราชการขาดข้อมูลประกอบการพิจารณาปรับเปลี่ยนระบบการบริหารทรัพยากรบุคคล ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีสารสนเทศ และทิศทางการพัฒนาประเทศ
  • (4) ระบบการตรวจสอบการใช้กำลังคนยังไม่มีประสิทธิภาพทำให้ไม่สามารถตรวจสอบใช้กำลังคนตามเงื่อนไขของตำแหน่งและมีกำลังคนขาดหรือเกินในส่วนใดบ้าง
  • (5) กำลังคนยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ทำให้ไม่อาจรองรับการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องตามบทบาทภารกิจ
  • (6) ข้าราชการยังทำงานไม่เต็มศักยภาพ โดยส่วนหนึ่งขาดแรงจูงใจในการทำงาน ทั้งแรงจูงใจที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม
  • (7) ส่วนราชการยังไม่มีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เนื่องจากขาดงบประมาณ สนับสนุน และกำลังคนรุ่นเก่ายังไม่ได้รับการพัฒนาให้สามารถใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยได้อย่างคล่องตัว
  • (8) ค่าตอบแทนภาครัฐไม่สอดคล้องกับอัตราตลาด แรงงาน ทำให้ไม่อาจจูงใจคนเก่งคนดีเข้าสู่ระบบราชการ
  • (9) ส่วนราชการต้องการอิสระในการบริหารอัตรากำลัง แต่ยังติดขัดด้วย กฎ ระเบียบ รวมทั้งหน่วยงานกลางจะต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งให้ส่วนราชการมีความพร้อม และสร้างระบบรองรับการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย
  • (10) กำลังคนในส่วนราชการยังไม่สมดุลกันระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า และระหว่างระดับปฏิบัติกับระดับสั่งการจากผลการดำเนินงานตามแผนการบริหารทรัพยากรบุคคลเชิงยุทธศาสตร์ในระดับชาติที่ผ่านมา จะเห็นว่าอุปสรรคบางประการยังส่งผลให้มีช่องว่างในการสรรหา และแต่งตั้งโยกย้ายซึ่งเป็นโอกาสให้เกิดความไม่เป็นธรรม ไม่เป็นไปตามหลักการที่กำหนด อาจกล่าวได้ว่าความพร้อมของบุคลากรในส่วนราชการยัง ไม่สมดุลกับการกระจายอำนาจ ในการบริหารทรัพยากรบุคคล และยังไม่มีระบบตรวจสอบที่เหมาะสม เพื่อลดการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย
          ร่างกฎหมายบุคคลท้องถิ่นยังอยู่ไม่ไปถึงไหนดูยุทธศาสตร์การจัดกำลังพลภาครัฐข้างต้นแล้ว อาจนำมาเปรียบกับการจัดกำลังพลภาครัฐส่วนท้องถิ่นได้ยาก เพราะเป็นการบริหารจัดการในบริบทที่ต่างกัน กล่าวคือ ต่างกันระหว่าง "การบริหารราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค" กับ "ราชการส่วนท้องถิ่น" ซึ่งราชการบริหารส่วนท้องถิ่นมีปัญหาที่หนักอกมากกว่าหลายเท่า เพราะ ณ ปัจจุบันนี้ ร่างพ.ร.บ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น และร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองท้องถิ่นยังค้างอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย ของกระทรวงมหาดไทย (มท.) คณะที่1 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2560 สรุปว่าปัญหาเก่าๆเดิมๆ ที่สะสมมานานแต่เริ่มใช้ พ.ร.บ.ฯ พ.ศ. 2542-ปัจจุบัน 2560 รวม 18 ปี ยังคงอยู่ครบถ้วน ว่ากันว่าคนที่เข้ามาแก้ไขปัญหากลับมีแต่คนที่เคยทำงานในราชการส่วนกลาง หรือส่วนภูมิภาค ที่ขาดประสบการณ์จริงจากราชการส่วนท้องถิ่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มาก่อน หลายสิบปีที่ผ่านมาปัญหาของท้องถิ่นวนเวียนอยู่ที่ กฎหมาย ระเบียบปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติภารกิจหน้าที่จริงๆ ของเทศบาล อบต. หรือ อบจ. ด้วยบทบัญญัติในข้อกฎหมาย หลายประการไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในความรู้สึกแปลกแยก "ต่างพวก" คือ ข้าราชการส่วนกลาง โดยเฉพาะกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ยังถือตนว่าไม่เกี่ยวข้องหรือเป็นพวกเดียวกับ "ข้าราชการส่วนท้องถิ่น" การโยกย้าย เลื่อนระดับ แต่งตั้งฯ ในระหว่างข้าราชการส่วนท้องถิ่นกับส่วนกลาง สถ. ไม่สามารถกระทำให้ ฉะนั้น ความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกันไม่เกิด ความใส่ใจในการแก้ไขปัญหาจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้
          ฉะนั้น จึงมีเสียงคัดค้านร่างกฎหมายท้องถิ่นฯ จากผู้มีส่วนได้เสีย เพราะไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจังแถมขาดตัวแทนคนท้องถิ่นร่วมเป็นกรรมการเข้าทำนอง "คนร่างไม่ได้ใช้ คนที่ใช้ไม่ได้ร่าง"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น