วันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ชี้ช่องใช้เงินฝาก'อปท.' 'กกถ.'แนะต้องแก้กฎเชื่อท้องถิ่นยอมรับฟังสมาพันธ์ปลัดฯยังห่วงพณ.ลั่นบัตรคนจนเจ๋ง

ชี้ช่องใช้เงินฝาก'อปท.' 'กกถ.'แนะต้องแก้กฎเชื่อท้องถิ่นยอมรับฟังสมาพันธ์ปลัดฯยังห่วงพณ.ลั่นบัตรคนจนเจ๋ง
มติชน ฉบับวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๐

          กกถ.แนะช่องปลดล็อกเงินฝาก อปท.กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เตือนบริหารจัดการต้องคิดรูปแบบใหม่
          กกถ.แนะช่องทางใช้เงินฝากอปท.
          กรณีกระทรวงการคลังเตรียมหารือกับกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับการวางแนวทางนำเงินขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ฝากไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำนวน 1 แสนล้านบาท มาใช้ลงทุนพัฒนาท้องถิ่น และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก
          เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม นายวีระศักดิ์ เครือเทพ นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) กล่าวว่า การใช้จ่ายเงินสะสมของ อปท. เนื่องจากรัฐบาลต้องการอัดฉีดเม็ดเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ กระทรวงการคลังต้องสำรวจจำนวนเงินสะสมของ อปท. ว่ามีจำนวนเท่าใด จากที่ผ่านมาประเมินว่ามีมากถึง 3-4 แสนล้านบาท แต่จากการหารือใน กกถ.พบว่าเงินสะสมของ อปท. ที่มีระเบียบของกระทรวงมหาดไทยควบคุมการใช้จ่าย ประกอบด้วย เงินทุนสำรองเงินสะสม เงินส่วนนี้ปกติต้องเก็บไว้และห้ามนำมาใช้จ่าย ยกเว้นมีเหตุที่ อปท.ประสบภาวะวิกฤต มีอยู่กว่า 1 แสนล้านบาทและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากนำมาใช้จ่ายควรจะมีข้อยกเว้น และนำมาใช้เป็นบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากเป็นเงินก้นถุงก้อนสุดท้ายของ อปท.
          ติงอย่าซ้ำรอยบัตรคนจน
          นายวีระศักดิ์กล่าวต่อว่า สำหรับเงินสะสมปกติที่ อปท.เก็บไว้ประมาณ 2 แสนล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง กรณี อปท.มีปัญหาจากรายจ่ายประจำในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณก็สามารถนำมาใช้เป็นเงินสำรองจ่ายได้ แต่ต้องดูความเหมาะสมหลายประการ ซึ่งสามารถจ่ายขาดได้ ส่วนนี้รัฐบาลสามารถนำมากระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 1 แสนล้านบาท หากรัฐบาลต้องการใช้เงินจ่ายขาดสะสมส่วนนี้เชื่อว่าเครือข่ายของ อปท.สามารถรับได้ในหลักการ แต่ต้องมีวิธีคิดในรูปแบบใหม่ ไม่ควรซ้ำรอยโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจน เพราะสุดท้ายคนจนเป็นเพียงทางผ่านของเม็ดเงินที่ไหลเข้ากระเป๋านายทุนประชารัฐ ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างแท้จริง
          "หากกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยจะหารือปลดล็อกเงินท้องถิ่น เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เงื่อนไขที่จะทำให้มีประโยชน์อย่างแท้จริงต้องเอาเงินไปส่งเสริมผู้ประกอบการ กลุ่มอาชีพ สมาคมธุรกิจในพื้นที่ ที่มีทั้งสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม เพื่อให้มีส่วนร่วมในแต่ละจังหวัด โดยไม่เกี่ยวกับเครือข่ายทุนนิยมในส่วนกลางก็น่าจะกระตุ้นได้ และน่าจะดีกว่าการดำเนินการผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท หรือหมู่บ้าน 2.5 แสนบาท เม็ดเงินส่วนใหญ่จะวิ่งเข้ากระเป๋านายทุนผู้รับเหมา เพราะฉะนั้นหากจะกระตุ้นให้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ รัฐบาลไม่ควรใช้วิธีการแบบเดิม" นายวีระศักดิ์กล่าว
          เทศบาลชี้ดึงเงินอปท.ทำยาก
          ด้านนายศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันในส่วนเงินสะสมปกติคงเหลืออยู่ไม่มาก เนื่องจากผู้บริหารท้องถิ่นมีความประสงค์จะจ่ายขาดเงินสะสมเป็นทุนอยู่แล้ว หากรัฐบาลต้องการให้ท้องถิ่นใช้เงินก้อนนี้ต้องผ่อนคลายกฎระเบียบการใช้จ่ายเงินสะสมให้คล่องตัวมากขึ้น หรืออาจจะสร้างแรงจูงใจกับท้องถิ่น โดยรัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณท้องถิ่นส่วนหนึ่ง ที่เหลือให้ท้องถิ่นร่วมสนับสนุนในอัตราร้อยละ 50
          "สำหรับการใช้เงินทุนสำรองเงินสะสม หลังจากสภาท้องถิ่นเห็นชอบแล้ว จะต้องขออนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน ทำให้ท้องถิ่นมีงบเหลือพอสมควร แต่ท้องถิ่นจะต้องกันเงินไว้ไม่น้อยกว่า 3 เดือน เพราะเป็นค่าใช้จ่ายประจำเงินทุนสำรองจ่ายค่าเบี้ยยังชีพคนชรา พิการ ผู้ป่วยเอดส์ ก่อนที่รัฐบาลกลางจัดสรรคืนมาให้กับท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม กรณีรัฐบาลจะให้ท้องถิ่นใช้เงินสะสมปกติหรือเงินทุนสำรองเงินสะสม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เชื่อว่าคงเป็นไปได้ยาก เพราะรัฐบาลกลางยังหวงอำนาจและไม่ยอมกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น จึงเป็นไปได้ยากมาก" นายศักดิพงศ์กล่าว
          ย้ำบัตรสวัสดิการมาถูกทาง
          น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า โครงการสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ถือว่ารัฐบาลมาถูกทางแล้วในเรื่องเพิ่มรายได้และลดภาระประชาชน ทั้งนี้ ดูจากการสำรวจราคาสินค้าและบริการในสินค้าจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ในเดือนกันยายน 2560 พบว่า ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ ค่าใช้จ่ายรวมเฉลี่ยเดือนละ 11,554 บาท/ครัวเรือนสมาชิกไม่เกิน 5 คน โดยสัดส่วน 45.12% เป็นการใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ มีการซื้ออาหารเพื่อบริโภคในบ้านมากกว่าซื้ออาหารนอกบ้าน โดยส่วนใหญ่ซื้อข้าวสาร เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ ไข่ ผักและผลไม้ รวมถึงเครื่องปรุงอาหาร ส่วนอีก 54.88% เป็นค่าใช้จ่ายไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ในส่วนนี้ 24.60% เป็นค่าเช่าบ้าน วัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และของใช้ในบ้าน
          น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า เมื่อเทียบกับการสำรวจครัวเรือนกลุ่มชนบทที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยครัวเรือนละ 14,979 บาท/เดือน สัดส่วนใช้จ่ายสำหรับอาหาร อยู่ที่ 42.63% ส่วนใหญ่ยังบริโภคในบ้าน อีก 57.37% ใช้จ่ายหมวดไม่ใช่อาหาร ซึ่งในหมวดนี้คิดเป็น 20.13% ใช้จ่ายกับค่าเช่าบ้าน วัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และของใช้ในบ้าน ขณะที่การสำรวจครัวเรือนโดยรวมทุกรายได้เฉลี่ยใช้จ่ายเดือนละ 20,421 บาท พบว่าสัดส่วน 36.41% ใช้จ่ายเพื่ออาหาร โดยสัดส่วนบริโภคในบ้านและนอกเท่าๆ กัน อีก 63.59% เป็นการใช้จ่ายหมวดไม่ใช่อาหาร และ 22.91% ใช้จ่ายเพื่อเช่าบ้าน วัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และของใช้ในบ้าน
          คุยความเชื่อมั่นผู้บริโภคขยับ
          น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า นอกจากนี้ ในการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายน 2560 พบว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งในปัจจุบัน และการคาดการณ์ในอนาคต 3 เดือนข้างหน้า แต่ยังต่ำระดับ 50 อย่างไรก็ตาม ดัชนีได้ขยับขึ้นเป็นเดือนที่ 2 สะท้อนมุมมองต่อการใช้จ่ายประชาชนดีขึ้น โดยข้อเสนอของประชาชน คือ ต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับจังหวัด กระตุ้นใช้จ่ายรากหญ้า เพิ่มรายได้ครัวเรือน แก้หนี้ครัวเรือน และเพิ่มความรู้ในการประกอบอาชีพ "ผลสำรวจสะท้อนว่าครัวเรือนที่มีรายได้น้อยมีความต้องการรายได้เพื่อซื้ออาหารและของใช้ในบ้านสูงกว่าครัวเรือนภาพรวม และมีความเชื่อมั่นต่อการใช้จ่ายระดับหนึ่ง ผลสำรวจจะทำให้รัฐบาลเห็นว่าต้องเพิ่มเติมอะไรในร้านค้าธงฟ้าประชาชรัฐให้ตรงกับความต้องการของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
          ทีดีอาร์ไอติงคัดกรองให้ดี
          ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น.ส. วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยในงานเผยแพร่บทความของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เรื่องถอดบทเรียนนโยบายไฟฟ้าฟรี สู่โครงการประชารัฐสวัสดิการว่า สิทธิการใช้ไฟฟ้าฟรีควรจะมีมาตรการคัดกรองผู้ที่สมควรได้รับสิทธิ เพื่อให้สวัสดิการเข้าถึงประชากรกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด และมีการรั่วไหลน้อยที่สุด ที่ผ่านมาแม้จะมีการกำหนดเกณฑ์ที่รัดกุมเพื่อช่วยลดการรั่วไหล แต่ทำให้จำนวนประชากรที่ตกหล่นจากการได้รับการช่วยเหลือเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
          น.ส.วิชสิณีกล่าวว่า โครงการมาตรการไฟฟ้าฟรีที่ให้สิทธิยกเว้นค่าไฟฟ้าแก่ประชาชนเฉพาะกลุ่ม โดยระบุตัวผู้ได้รับสิทธิจากสถานะความเป็นเจ้าของขนาดมิเตอร์ อาจนำไปสู่ความผิดพลาดคือผู้ที่สมควรได้รับสิทธิแต่ไม่ผ่านการคัดกรอง และผู้ที่ไม่สมควรได้รับสิทธิแต่ผ่านการคัดกรอง นอกจากนี้การรั่วไหลอีกประเภท เกิดจากเกณฑ์การให้สิทธิไฟฟ้าฟรีก่อนเดือนมกราคม 2559 ที่กำหนดเพียงว่าครัวเรือนต้องเป็นเจ้าของมิเตอร์ขนาด 5 (15) แอมแปร์และใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 50 หน่วยต่อเดือนนั้น ซึ่งในทางปฏิบัติอาจจะเป็นไปได้ว่า สถานที่นั้นอาจจะเป็นบ้านหลังที่ 2 ของครอบครัวที่มีฐานะดี
          แนะใช้บิ๊กดาต้าเชื่อมบัตร
          น.ส.วิชสิณีกล่าวว่า เกณฑ์ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่กำหนดให้ผู้ได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรี ต้องไม่เป็นนิติบุคคล และต้องใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน จะช่วยลดภาระเงินอุดหนุนอย่างน้อย 830 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นจึงมองว่าการคัดกรองข้อมูลที่สำคัญ คือควรจะมีการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้าของผู้ลงทะเบียนทั้ง 14.1 ล้านคนอย่างละเอียด เพื่อนำมาเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของรัฐบาลที่มีอยู่ประมาณ 26 ฐานข้อมูล เช่น กรมการปกครอง ธปท. ธนาคารพาณิชย์ กรมสรรพากร ช่วยให้การรั่วไหลข้อมูลน้อยกว่าการใช้เกณฑ์พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว
          "ดังนั้นจึงควรใช้ทั้งเกณฑ์การใช้ไฟฟ้า และข้อมูลรายได้และสินทรัพย์ควบคู่กัน จะทำให้ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้ตรงจุด และใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต โดยใช้ข้อมูลจากการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งคาดว่าจะลดภาระการอุดหนุนการใช้ไฟฟ้าได้ โดยการคำนวณอย่างคร่าวๆ พบว่า หากสิทธิไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยต่อครัวเรือนต่อเดือน ถูกผนวกรวมให้อยู่ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้งหมด ภาระการอุดหนุนในส่วนการใช้ไฟฟ้าจะสูงถึง 4,115-6,900 ล้านบาทต่อปี เมื่อเทียบกับภาระการอุดหนุนการใช้ไฟฟ้าปัจจุบันที่ 3,000 ล้านบาทต่อปี" น.ส.วิชสิณีกล่าว
          ขอ'ซักเคอร์เบิร์ก'แก้ละเมิดสิทธิ์
          กรณีกระแสข่าวนายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก จะเดินทางมาไทยและมีกำหนดเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 30 ตุลาคม
          แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์(พณ.)เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลและเสนอขอความร่วมมือด้านทรัพย์สินทรัพย์ทางปัญญาต่อนายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เพื่อร่วมมือลดการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากขณะนี้มีเจ้าของลิขสิทธิ์ร้องเรียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่า ถูกละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์โดยการถ่ายถอดสดและขายสินค้าบนเฟซบุ๊ก
          "จำนวนร้องเรียนและขอให้ทางการเข้าตรวจสอบดำเนินการเอาผิดกับผู้ละเมิดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ที่ได้มีการส่งให้กรมสรรพากรตรวจสอบเอาผิดผู้ละเมิดที่เป็นทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในทางแพ่งและอาญา จำนวน 187 ราย และในจำนวนนี้เป็นการละเมิดบนเฟซบุ๊ก โดยมีการเอาผิดตามกฎหมายสรรพากรแล้ว 22 ราย กำลังตรวจสอบอีก 165 ราย โดยกระทรวงพาณิชย์ก็จัดเตรียมข้อมูลดังกล่าวเพื่อให้เฟซบุ๊กกับไทย เพิ่มความร่วมมือในการดูแลและลดการละเมิดบนเฟซบุ๊ก" แหล่งข่าวกล่าว
          ซีอีโอเฟซบุ๊กไร้แผนเดินทางมาไทย
          แหล่งข่าวจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ในการประชุมผู้บริหารในสังกัดกระทรวงดีอีเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม เดิมมีกำหนดจะหารือเรื่องการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของนายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก ที่กำหนดจะเข้าพบปะพูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีด้วยนั้น ปรากฏว่าในการประชุมผู้บริหารครั้งนี้ไม่มีหัวข้อดังกล่าวในการประชุมแต่อย่างใด โดยนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี ได้ชี้แจงในที่ประชุมว่ากระทรวงดีอีไม่ใช่เจ้าภาพในการเชิญนายมาร์กให้เดินทางมาเข้าพบนายกฯในครั้งนี้ ดังนั้นกระทรวงดีอีจะยังไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจนกว่าจะมีคำสั่งจากทางรัฐบาลมา รวมถึงจะไม่มีการแถลงข่าวในประเด็นดังกล่าวตามที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้แต่อย่างใด
          นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า จากกรณีที่นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก มีกำหนดเดินทางมาประเทศไทย เบื้องต้นทาง กสทช.ไม่มีประเด็นฝากไปหารือ หรือขอเข้าพบด้วยแต่อย่างใด เนื่องจากเห็นว่าการหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรีที่ถือเป็นเบอร์ 1 ของประเทศ ถือว่าเพียงพอแล้ว
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเดินทางมาไทยของนายซักเคอร์เบิร์กดังกล่าว  ทางโฆษกของเฟซบุ๊กชี้แจงเรื่องนี้สั้นๆ ว่า "ในช่วงนี้ผู้นำระดับสูงของเฟซบุ๊กยังไม่มีแผนที่จะเดินทางมายังประเทศไทย"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น