3โจทย์ใหญ่'เมืองอัจฉริยะ' น่าอยู่-ประสิทธิภาพ-ยั่งยืน |
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๐ |
ชนิตา ภระมรทัต ล่าสุด โครงการ Smart City Innovation Hubs เปิดตัวเมืองต้นแบบเมืองอัจฉริยะแล้ว ได้แก่ "บางแสน" จ.ชลบุรี และ "หาดใหญ่" จ.สงขลา เหตุผลหลักๆ มาจากความเหมาะสมเนื่องจากมีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ภายในพื้นที่ และตั้งเป้าว่าหากประสบผลสำเร็จจะขยายโมเดลแบบเดียวกันนี้ไปทั่วประเทศไทย รวมถึงไปไกลระดับภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการ "Innovation Hubs" เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดความร่วมมือของสถาบันการศึกษาในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งมีทั้งหมด30 มหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสร้างเศรษฐกิจฐานรากนวัตกรรมของประเทศตามนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยการส่งเสริมและกระตุ้นให้นำงานวิจัยและพัฒนาด้านเมืองอัจฉริยะออกมาเป็นผู้ประกอบการใหม่ทางด้านเมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะทำงานใกล้ชิดกับ Smart City Innovation Hubs ตามภูมิภาคต่างๆ ในการคัดสรรนวัตกรรมด้านเมืองอัจฉริยะ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการใหม่มีความเข้มแข็ง และเพิ่มอัตราความประสบความสำเร็จในธุรกิจ โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2560-2564 และมีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นผู้ดำเนินโครงการ "ดร.อักฤทธิ์ สังข์เพ็ชร" ผู้จัดการ โครงการ Smart City Startup Development กล่าวว่า ขึ้นชื่อว่า "นวัตกรรม" คงหนีไม่พ้นต้องขับเคลื่อนด้วยภาคการศึกษา ทั้งต้องอาศัยการทำงานร่วมกับคนพื้นที่ การพัฒนาโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะ ในปีนี้จะมุ่งเน้นใน 6 มิติ ได้แก่ 1.โมบิลิตี้ หมายถึง การขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้าย ทั้งคนและสิ่งของ 2.สมาร์ทลีฟวิ่ง ความเป็นอยู่ ผู้คน 3.เอ็นไวรอลเมนท์หรือ สิ่งแวดล้อม ในเมือง 4.อีโคโนมี มุ่งพัฒนาสภาพเศรษฐกิจ 5.ยูทิลิตี้ ว่าด้วยการบริหารจัดการสาธารณูปโภค ในเมือง และ 6.สมาร์ทซิตี้ คลาวด์แพลตฟอร์ม เพื่อให้นักพัฒนาสามารถแชร์ข้อมูล และบูรณาการงานที่ทำได้ง่าย "สำหรับคุณลักษณะงานที่เราต้องการโฟกัส มีอยู่ 3 ด้าน ซึ่งถือเป็นคอนเซปต์ของโครงการ ก็คือ 1.ความเป็นเมืองที่น่าอยู่ 2.มีความสามารถในบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และคนก็ทำงานอย่างมีผลิตภาพ และ 3.มีความยั่งยืน หมายถึง โซลูชั่นหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่คิดค้นขึ้น มามันต้องตอบโจทย์ต่อไปได้ในอนาคต ทั้งยังเอาไปใช้ได้จริงในทุกๆ พื้นที่" อย่างไรก็ดี เมืองอัจฉริยะจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบ ที่สำคัญ ก็คือ ดีมานด์และซัพพลาย ตลอดจน ความเป็นไปได้ทางธุรกิจ "ต้องอาศัยการลงพื้นที่เพื่อไปค้นหาถึงดีมานด์ หรือโจทย์ที่มีอยู่ของแต่ละพื้นที่ จากนั้นก็เอามาแมตท์กับผลงานวิจัย และโซลูชั่นของแต่ละมหาวิทยาลัยที่ได้คิดค้น ขึ้นมาว่าสอดคล้องกันหรือไม่ จากนั้นก็ต้องให้ทางภาคธุรกิจดูต่อว่า มันมีความเป็นไปได้ แค่ไหนในเชิงพานิชย์ ต้องเอาทั้ง 3 เรื่องมา ประกบกัน ถ้าครบทั้งหมด ก็จะมีความเป็นไปได้และเกิดความยั่งยืน" ถามถึงเคพีไอ ดร.อักฤทธิ์ บอกว่า จะมีอยู่ 2-3 เรื่อง ว่าด้วยความอยู่รอดของ ผู้ประกอบการจากโครงการนี้ ยังมีเรื่องของการใช้งาน เสียงตอบรับของคน ในพื้นที่ที่ชี้ชัดว่าพวกเขาแฮบปี้เพราะ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้สตาร์ทอัพ ที่เกิดขึ้นมาก็ต้องอยู่ต่อได้ในระยะยาว ทั้งได้ขยายความว่า สตาร์ทอัพถือเป็นหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญของโครงการ เนื่องจากจะทำหน้าที่บิวด์บิสิเนสโมเดล หาทางตอบโจทย์ให้ได้กับทั้งเมืองและความเป็นไปได้ในเชิงการค้า ในหมายเหตุที่ว่าสตาร์ทอัพสามารถนำเอาดีฟเทคโนโลยีจากทุกมหาวิทยาลัย ต่างมาใช้ได้แบบฟรีๆ นอกจากนี้ทีมที่ผ่านการคัดเลือกยังจะได้รับเงินทุนตั้งต้นจาก โครงการฯ จำนวน 3 ล้านบาทอีกด้วย พร้อมทั้งอธิบายถึงโรดแมพที่วางไว้คร่าวๆ ว่า ใน ปีแรกจะเป็นรวบรวมข้อมูล และโซลูชั่นต่างๆ ถัดจากนั้นจะวางแผนลงลึก ถึงแต่ละด้าน เพื่อหาแนวทางว่า หากจะทำด้านสุขภาพให้ดีที่สุดต้องทำอย่างไร หรือหากจะทำด้านความเป็นอยู่ให้ดีที่สุดต้องทำอย่างไร ในปีที่สามจะว่าด้วยเรื่องบูรณาการโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ โดยให้ผู้มีส่วนได้เสีย ได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล ในปีที่สี่ จะถึงเวลาขยายโครงการไปทั่วประเทศไทย และในปีสุดท้าย ก็มองไปถึงการตอบโจทย์ประเทศในภูมิภาคระดับอาเซียน ซึ่งส่วนใหญ่ มีปัญหาที่คล้ายคลึงกับไทยเรา "ยอมรับว่าความท้าทายมีหลายเรื่อง ทั้งความต่อเนื่องในการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายหรืองบประมาณ และมีเรื่องของการประสานงานของหลายๆ ภาคส่วน รวมถึงภาคมหาวิทยาลัยเอง ว่าจะทำอย่างไรให้อาจารย์หลุดจากชั้นเรียนและพร้อมจะกระโดดลงไปทำโจทย์จริงๆ กับคนในพื้นที่" "ณรงค์ชัย คุณปลื้ม" นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี กล่าวถึง สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้สนใจแนวคิดเมืองอัจฉริยะว่า เริ่มที่ตัวเขาเองซึ่งถือเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ควรจะนำเอาความรู้ ศักยภาพที่มีมาช่วยพัฒนาบ้านเกิดให้เป็นเมืองที่น่าอยู่มากขึ้น "ในบทบาทที่มีอยู่ หน้าที่ของผมก็คือการลงพื้นที่เพื่อไปดูว่ามีปัญหาอะไรที่เกิดขึ้น ก็ได้พบว่ามีคนสูงวัยอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมากถึง 15% แน่นอนพวกเขามีความเสี่ยงทั้งเรื่องของสุขภาพและในการใช้ชีวิต ทำให้แทนที่เราจะมุ่งเป็นเมืองอัจฉริยะเพื่อตอบโจทย์ การท่องเที่ยว ผมจึงตัดสินใจมามุ่งเรื่องของผู้สูงวัยเป็นอันดับแรก" ปัญหาผู้สูงวัยอาจดูเหมือนไม่ใหญ่ไม่โต แต่เขามองว่าเป็นพื้นฐานสำคัญ ถ้าตรงนี้ อ่อนแอก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมแบบโดมิโน ( domino effect) โดยเทศบาลเมืองแสนสุขเองได้ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบูรพาที่อยู่ในพื้นที่ ทดลองทำโครงการแสนสุข สมาร์ท ซิตี้ นำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อดูแลคุณภาพชีวิต ให้ผู้สูงวัย และได้นำร่องไปเมื่อเดือนมกราคม ปีที่ผ่านมาเป็นจำนวน 30 ครัวเรือน และตั้งเป้าจะดูแลให้ครอบคลุม150 ครัวเรือนภายในระยะเวลา 3 ปี ณรงค์ชัยบอกว่าโครงการนี้เป็นเฟสแรกและถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จพร้อมมุ่งจะเดินหน้าพัฒนา อย่างต่อเนื่อง ในเวลาเดียวกันเขาก็มองถึงเมืองอัจฉริยะในมิติอื่นๆ ด้วย จากนี้เทศบาลเมืองแสนสุขจะมีโครงการอื่นๆ เพิ่มขึ้นอาทิ สมาร์ท ซีเคียวริตี้ การทำให้เมืองมีความปลอดภัยมากขึ้น และสมาร์ท ทัวริซึ่ม ที่ตอบโจทย์เรื่องของการท่องเที่ยว ที่ดียิ่งขึ้น ก็เพื่อทำให้บางแสนขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่แสนสุขสำหรับทุกคน ทั้งคนอาศัยอยู่ในพื้นที่และสำหรับนักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง ด้าน "ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต" ที่ปรึกษาเทศบาลนครหาดใหญ่ (ตัวแทนของ "ดร.ไพร พัฒโน" นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่) กล่าวว่า หาดใหญ่เป็นเมืองศูนย์กลางด้านการค้าและธุรกิจของภาคใต้ ซึ่งมีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และเป็นประตูผ่านไปยังประเทศเพื่อนบ้าน คือ มาเลเซีย และสิงคโปร์ เทศบาลนครหาดใหญ่ได้วางแผนและวางโครงสร้างเพื่อการปรับเปลี่ยนเมืองให้ดีขึ้น ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง โดยยึดหลักให้หาดใหญ่เป็นศูนย์กลางทางการค้า และพัฒนาให้เป็นเมืองอัจฉริยะมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะอาศัยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยภายในสังกัด ทปอ. และในทุกกิจกรรมที่ดำเนินการในพื้นที่หาดใหญ่ จะมีการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจในทุกด้าน รวมทั้งขยายผลการทำงานสู่พื้นที่ภาคีเครือข่ายที่อื่นๆ ต่อไปด้วย "ความท้าทายมีหลายเรื่อง รวมถึงจะทำให้อาจารย์หลุดจากชั้นเรียน กระโดดลงไปทำโจทย์จริงๆกับคนในพื้นที่' |
เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ฅนเทศบาล
เมนูหลัก
ข่าวท้องถิ่น
ระเบียบบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานการบริหารงานบุคคลพนักงานส่วนท้องถิ่น
วันจันทร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2560
3โจทย์ใหญ่'เมืองอัจฉริยะ' น่าอยู่-ประสิทธิภาพ-ยั่งยืน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น