วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

งานถูกต้องตามสัญญาแต่ไม่ถูกหลักวิชาช่าง ใครรับผิดชอบ

คดีหมายเลขดำที่ อ. ๒๑๐-๒๑๑/๒๕๔๗
คดีหมายเลขแดงที่  อ. ๓๓๔-๓๓๕/๒๕๕๒
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลปกครองสูงสุด
วันที่     ๓       เดือน ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๒

คดีหมายเลขดำที่    อ. ๒๑๐/๒๕๔๗
คดีหมายเลขแดงที่  อ. ๓๓๔/๒๕๕๒
                         บริษัท ลีดเดอร์ เน็ตเวิร์ค จำกัด                                    ผู้ฟ้องคดี

ระหว่าง

                         เทศบาลตำบลบ้านนาปรือ  ที่ ๑
                         นายชาญณรงค์ หรือพรณรงค์ วงษ์พาสกลาง  ที่ ๒          ผู้ถูกฟ้องคดี


                           
เรื่อง  คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง (อุทธรณ์คำพิพากษา)

คดีหมายเลขดำที่   อ. ๒๑๑/๒๕๔๗
 คดีหมายเลขแดงที่ อ. ๓๓๕/๒๕๕๒


                         เทศบาลตำบลบ้านนาปรือ                                                  ผู้ฟ้องคดี

ระหว่าง

                        บริษัท ลีดเดอร์ เน็ตเวิร์ค จำกัด ที่ ๑
                        บริษัทธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่ ๒                   ผู้ถูกฟ้องคดี

เรื่อง  คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง (อุทธรณ์คำพิพากษา)

        ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ ๕/๒๕๔๖  หมายเลขแดงที่ ๓๘/๒๕๔๗ และคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๐/๒๕๔๖ หมายเลขแดงที่ ๓๙/๒๕๔๗ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองระยอง)บริษัท ลีดเดอร์ เน็ตเวิร์ค จำกัด ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องเทศบาลตำบลบ้านนาปรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และนายชาญณรงค์  หรือพรณรงค์  วงษ์พาสกลาง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ต่อศาลปกครองชั้นต้นเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕/๒๕๔๖ โดยศาลได้แสวงหาข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว และคดีอยู่ระหว่างที่ตุลาการเจ้าของสำนวนจัดทำบันทึกสรุปสำนวน ปรากฏว่าเทศบาลตำบลบ้านนาปรือ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องบริษัท ลีดเดอร์ เน็ตเวิร์ค จำกัด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และบริษัทธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)  ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ต่อศาลปกครองชั้นต้นเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๖ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๐ /๒๕๔๖ และมีคำร้องขอรวมการพิจารณาคดีเข้ากับคดีหมายเลขดำที่ ๕/๒๕๔๖  ซึ่งศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า คดีหมายเลขดำที่ ๕/๒๕๔๖ ศาลได้แสวงหาข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว การนำคดีไปรวมการพิจารณากับคดีหมายเลขดำที่ ๕/๒๕๔๖ จะไม่เป็นการสะดวกแก่การพิจารณา ยกคำร้อง ต่อมาคดีหมายเลขดำที่ ๕/๒๕๔๖ อยู่ในระหว่างจัดทำบันทึกของตุลาการเจ้าของสำนวน ศาลปกครองชั้นต้นเห็นว่าคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๐/๒๕๔๖ มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะพิจารณาพิพากษาได้แล้ว จึงให้งดเว้นไม่ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงในชั้นทำคำคัดค้านคำให้การและคำให้การเพิ่มเติมและเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ยื่นคำให้การแล้วโดยมีข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับข้อเท็จจริงในคดีหมายเลขดำที่ ๕/๒๕๔๖  จึงมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกัน โดยให้คดีหมายเลขดำที่ ๕/๒๕๔๖ เป็นสำนวนคดีหลัก และเพื่อความสะดวกแก่การพิจารณาจึงให้เรียกคู่กรณีแต่ละฝ่ายโดยถือตามสำนวนคดีหลัก และสำหรับบริษัทธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๐ /๒๕๔๖  ให้เรียกว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลัง  สำนวนคดีแรก (คดีหมายเลขดำที่ ๕/๒๕๔๖ หมายเลขแดงที่ ๓๘/๒๕๔๗) ผู้ฟ้องคดีฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องว่า  ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ทำสัญญาจ้างผู้ฟ้องคดีตามสัญญาจ้างเลขที่ ๖/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๔ ให้ก่อสร้างวางท่อระบายน้ำสายหน้าวัดเนินบาก หมู่ที่ ๕ ตำบลเนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน ๑๓๓ ท่อน พร้อมบ่อพักฝาตะแกรงเหล็กจำนวน ๑๓ บ่อ ถนนรางวีกว้าง ๐.๖๐ เมตร หนา ๐.๒๐ เมตร ระยะทาง ๑๓๙ เมตร ตามแบบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พร้อมป้ายโครงการฯ ติดตั้ง ณ สถานที่ก่อสร้างจำนวน ๑ ป้าย เป็นจำนวนเงิน ๑๗๐,๐๐๐ บาท โดยเริ่มทำงานที่รับจ้างในวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๔ และต้องทำงานให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการก่อสร้าง และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตรวจรับงานก่อสร้างและเบิกค่าก่อสร้างให้แก่ผู้ฟ้องคดี เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑  มีหนังสือ ที่ ปจ ๖๑๓๐๑/๑๙๕ ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๔ ถึงผู้ฟ้องคดีแจ้งว่าได้ตรวจสอบงานที่จ้างแล้วปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการก่อสร้างบ่อพักน้ำโดยที่น้ำในรางวีไม่สามารถไหลลงสู่บ่อพักน้ำได้ จึงให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขบ่อพักน้ำในรางวีให้ไหลลงสู่บ่อพักโดยด่วน แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าตนได้ดำเนินการก่อสร้างตามแบบแปลนที่กำหนดในสัญญาแล้ว การที่น้ำในถนนรางวีไม่สามารถไหลลงสู่บ่อพักได้ มิใช่ความผิดของผู้ฟ้องคดี และหากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีเจตนาสุจริตควรจะแจ้งหรือมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขภายในช่วงระยะเวลาตามแผนงานการก่อสร้าง หรือในช่วงระยะเวลาที่ผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการก่อสร้างในส่วนนั้นๆ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กลับปล่อยให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ จึงมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขงานก่อสร้างดังกล่าว โดยมิได้ระบุอย่างชัดแจ้งว่าจะให้ดำเนินการแก้ไขโดยวิธีใด ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ถึงผู้ฟ้องคดียืนยันให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขบ่อพักน้ำเพื่อให้น้ำในถนนรางวีสามารถไหลลงสู่บ่อพักน้ำ ถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีเจตนาทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย เนื่องจากงานก่อสร้างดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ หากผู้ฟ้องคดีไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา ผู้ฟ้องคดีจะต้องเสียค่าปรับในอัตราวันละ ๔๒๕ บาท ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ส่งมอบงานและมีหนังสือลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ยืนยันกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ว่า การที่น้ำในถนนรางวีไม่สามารถไหลลงสู่บ่อพักมิใช่เกิดจากการก่อสร้างที่ผิดแบบแปลนหรือผิดสัญญาจ้างแต่ประการใด ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้ เว้นแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะกำหนดค่าจ้างในงานก่อสร้างที่เพิ่มเติมให้แก่ผู้ฟ้องคดี และผู้ฟ้องคดีขอใช้สิทธิดำเนินการตามสัญญา ข้อ ๒๑ ว่าด้วยกรณีพิพาทและอนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดกรณีพิพาทที่เกิดขึ้น รวมทั้งใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งและหรือดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้าง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกเฉย ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถร้องขอต่อศาลแพ่งตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นชี้ขาดกรณีพิพาทได้ จากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ อ้างว่า คณะกรรมการตรวจการจ้างตรวจสอบพบข้อบกพร่องที่ผู้ฟ้องคดีต้องดำเนินการแก้ไขเนื่องจากน้ำในถนนรางวีไม่ระบายสู่บ่อพักน้ำ โดยบ่อพักน้ำไม่เป็นไปตามรูปแบบรายละเอียดที่กำหนดไว้ ซึ่งสัญญาจ้างได้สิ้นสุดลงในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แต่ผู้ฟ้องคดีทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ดังนั้น ระหว่างที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มิได้บอกเลิกสัญญาจ้าง ผู้ฟ้องคดีต้องชำระค่าปรับตามสัญญาในอัตราวันละ ๔๒๕ บาท นับจากวันที่กำหนดแล้วเสร็จจนถึงวันที่
ทำงานเสร็จจริง ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ถึงผู้ฟ้องคดีขอให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ เพื่อให้คณะกรรมการตรวจการจ้างไปตรวจงานในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าตนได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จตามสัญญาแล้ว จึงไม่จำต้องขอขยายระยะเวลาในการก่อสร้างอีก จากนั้นผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ ทวงถามไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชำระหนี้ค่าจ้างที่ยังไม่ได้ชำระภายใน ๗ วัน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกเฉย ในที่สุดผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้มีคำสั่งลงวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๔๖ ให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างให้ถูกต้องตามสัญญาและวัตถุประสงค์ของโครงการตามมติคณะกรรมการตรวจการจ้างและส่งมอบงานจ้างให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พร้อมทั้งให้ชำระค่าปรับ ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่ง
ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการก่อสร้างตรงตามแบบแปลนและสัญญาจ้างทุกประการ แต่เหตุที่เกิดขึ้นเนื่องจากแบบแปลนนั้นผิดพลาด ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งลงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ บอกเลิกสัญญาจ้างและริบเงินประกันสัญญาจำนวน ๘,๕๐๐ บาท พร้อมทั้งเรียกค่าปรับเพิ่มจำนวน ๒๓๑,๖๒๕ บาท โดยแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีนำเงินมาชำระภายใน ๓๐ วัน หากไม่ชำระภายในกำหนด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะดำเนินคดีตามกฎหมายและจะเสนอให้จังหวัดปราจีนบุรีสั่งและแจ้งเวียนให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ทิ้งงานของทางราชการ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล
    ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกถอนคำสั่งปรับเงินตามสัญญาจ้าง เพิกถอนคำสั่งบอกเลิกสัญญาจ้างและคำสั่งริบเงินประกันสัญญา ห้ามผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เสนอชื่อผู้ฟ้องคดีให้จังหวัดปราจีนบุรีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาสั่งและแจ้งเวียนให้เป็นผู้ทิ้งงานของทางราชการ และขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความอย่างสูงแทนผู้ฟ้องคดี รวมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ค่าจ้างทำของตามสัญญาเป็นเงิน ๑๗๐,๐๐๐ บาท และค่าขาดประโยชน์จากการนำเงินค่าจ้างไปใช้ในกิจการงานของผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีขาดเงินทุนหมุนเวียนในกิจการงาน ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองสามารถคาดเห็นได้ เป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๔๗๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีจากต้นเงินจำนวน ๔๗๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่า
จะชำระเสร็จแก่ผู้ฟ้องคดี
        ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การโดยบรรยายข้อเท็จจริงทั้งหมด ปฏิเสธแต่เพียงว่า ตนเองได้ดำเนินการบอกเลิกสัญญาจ้างเลขที่ ๖/๒๕๔๔ ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่กำหนดไว้ รวมทั้งถูกต้องตามสัญญาจ้าง ข้อ ๗ ก. ข้อ ๗ ข. ข้อ ๑๗ และข้อ ๑๘ ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๓๕
        ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ยื่นคำให้การ
        ผู้ฟ้องคดีคัดค้านคำให้การว่า  คำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีเคลือบคลุมเพราะเป็นเพียงการบรรยายข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยไม่มีรายละเอียดหรือเหตุผลที่ชัดแจ้งว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่กำหนดไว้ รวมทั้งถูกต้องตามสัญญาจ้างอย่างไร ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าแบบแปลนท่อระบายน้ำเป็นการคำนวณที่ผิดพลาด ทำให้น้ำไม่สามารถระบายลงสู่บ่อพักน้ำได้ มิได้เกิดจากความผิดของผู้ฟ้องคดี ประกอบกับผู้ฟ้องคดีได้แจ้งให้ผู้ควบคุมงานของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองทราบถึงความบกพร่องของแบบแปลน พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขเพื่อให้งานก่อสร้างสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ แสดงให้เห็นว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทำตามหน้าที่เยี่ยงผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่องานของตนอย่างเต็มที่ตามหน้าที่อันพึงกระทำโดยครบถ้วนแล้ว เมื่อผู้ฟ้องคดีดำเนินการก่อสร้างถูกต้องตรงตามแบบแปลนและเงื่อนไขในสัญญาจ้างทุกประการ ส่วนที่นอกเหนือจากสัญญาจ้างจึงไม่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ฟ้องคดี หากจะให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขในส่วนดังกล่าว ถือว่าเป็นงานที่นอกเหนือจากสัญญา
        ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การเพิ่มเติมว่า  ผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายผิดสัญญา ทำงานก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแบบแปลนและรายละเอียดแนบท้ายสัญญาจ้างเป็นเหตุให้น้ำในถนนรางวีไม่สามารถไหลลงสู่บ่อพักน้ำได้ตามวัตถุประสงค์ของสัญญาจ้าง ซึ่งแบบแปลนและรายละเอียดแนบท้ายสัญญาจ้างเลขที่ ๖/๒๕๔๔ นั้น เป็นแบบแปลนที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและได้มาตรฐานทางวิศวกรรม หากผู้ฟ้องคดีทำการก่อสร้างตามรูปแบบแปลนและรายละเอียดแนบท้ายสัญญาจ้างดังกล่าวแล้ว น้ำในถนนรางวีก็สามารถไหลลงสู่บ่อพักน้ำได้ตามวัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างวางท่อระบายน้ำ โดยการก่อสร้างปากขอบบ่อพักน้ำ
จะต้องบากเซาะร่องรูปตัววีเพื่อรับร่องรางวีของถนนรางวี และการบากเซาะร่องรูปตัววีดังกล่าว ถือเป็นเนื้องานตามสัญญาจ้าง มิใช่เป็นงานเพิ่มเติมนอกเหนือสัญญาจ้าง หากแต่ผู้ฟ้องคดีดำเนินการก่อสร้างบ่อพักน้ำโดยไม่บากปากขอบบ่อพักน้ำให้เป็นรูปตัววีเชื่อมต่อกับถนนรางวี ทั้งผู้ฟ้องคดีก็ทราบดีว่างานก่อสร้างไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างวางท่อระบายน้ำ ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้บรรยายไว้ในคำคัดค้านคำให้การ ย่อมฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายผิดสัญญา โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้บอกกล่าวให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขงานก่อสร้างให้ถูกต้องตามสัญญาจ้างแล้วหลายครั้ง แต่ผู้ฟ้องคดียังคงยืนยันปฏิเสธไม่แก้ไขงานก่อสร้างดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญา พร้อมกับใช้สิทธิริบเงินประกันสัญญาเป็นเงินจำนวน ๘,๕๐๐ บาท และสงวนสิทธิเรียกร้องเงินค่าปรับตามสัญญาที่ผู้ฟ้องคดียังค้างชำระอีกจำนวน ๒๓๑,๖๒๕ บาท ผู้ฟ้องคดีจึงไม่อาจฟ้องเรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองรับผิดตามสัญญาจ้างเป็นคดีนี้อีก ประกอบกับผู้ฟ้องคดีได้ให้สัญญาไว้ในแบบท่อระบายน้ำพร้อมถนนรางวีด้วยว่า “การดำเนินงานหากมีปัญหาให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการตรวจการจ้าง” หากเห็นว่ามีปัญหาในการดำเนินการก่อสร้าง ผู้ฟ้องคดี
ในฐานะผู้รับจ้างจักต้องรับฟังคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจการจ้างและหรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะผู้ว่าจ้างตามสัญญา หรือผู้ควบคุมงานของผู้ว่าจ้าง แต่ผู้ฟ้องคดีหาได้ฟังคำแนะนำหรือคำสั่งของผู้ควบคุมงานของผู้ว่าจ้างหรือของคณะกรรมการตรวจการจ้าง หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายใด ๆ ต่อผู้ฟ้องคดี และในระหว่างดำเนินงานก่อสร้างตามสัญญาจ้าง ผู้ฟ้องคดีไม่เคยทักท้วงหรือรายงานว่าแบบแปลนตามสัญญาจ้างบกพร่องหรือผิดพลาดหรือมีปัญหาในการดำเนินงานก่อสร้างแต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อผู้ควบคุมงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตรวจพบความบกพร่องของงานจ้างในระหว่างที่ผู้ฟ้องคดีกำลังดำเนินงานก่อสร้างบ่อพักน้ำเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๔ พบว่าคนงานของผู้ฟ้องคดีไม่ได้บากปากขอบบ่อพักน้ำ จึงได้แนะนำให้ทำการแก้ไข และได้บันทึกไว้ในรายงานการควบคุมการก่อสร้างประจำวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๔ ต่อมาวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๔ ยังคงตรวจพบว่าไม่ได้มีการแก้ไขแต่อย่างใด จึงบันทึกไว้ในรายงานควบคุมการก่อสร้างประจำวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๔ แล้วรายงานให้ประธานกรรมการตรวจการจ้างทราบตามบันทึกข้อความลงวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๔ จากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีหนังสือถึงผู้ฟ้องคดีแจ้งว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ตรวจสอบแล้วผลปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการก่อสร้างบ่อพักน้ำโดยที่น้ำในถนนรางวีไม่สามารถไหลลงสู่บ่อพักน้ำได้ จึงให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขบ่อพักน้ำเพื่อให้น้ำไหลลงสู่บ่อพักโดยด่วน ตามหนังสือ ที่ ปจ ๖๑๓๐๑/๑๙๕ ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งว่าได้ดำเนินการก่อสร้างถูกต้องตามรูปแบบในสัญญาจ้าง หากจะให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไข ผู้ฟ้องคดีถือว่าเป็นงานพิเศษหรืองานเพิ่มเติมที่ผู้ว่าจ้างจะต้องกำหนดอัตราจ้างเพิ่มขึ้น จากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือแจ้งยืนยันว่างานก่อสร้างดังกล่าวเป็นงานที่ผู้รับจ้างต้องดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาจ้าง ซึ่งถือเป็นวัตถุประสงค์ของโครงการก่อสร้างวางท่อระบายน้ำ มิใช่เป็นงานพิเศษหรืองานเพิ่มเติม แต่ผู้ฟ้องคดีกลับมีหนังสือส่งมอบงานก่อสร้างให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และแจ้งยืนยันไม่ยินยอมทำการแก้ไขงานก่อสร้าง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงได้มีหนังสือ ที่ ปจ ๖๑๓๐๑/๒๐๔ ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แจ้งผลการตรวจการจ้างของคณะกรรมการตรวจการจ้างให้ผู้รับจ้างแก้ไข
งานก่อสร้าง และมีหนังสือ ที่ ปจ ๖๑๓๐๑/๒๑๓ ลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แจ้งกำหนดระยะเวลาให้ผู้รับจ้างทำการแก้ไขงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ อีกครั้งหนึ่ง แต่ผู้ฟ้องคดียังคงปฏิเสธไม่ยินยอมแก้ไขงานก่อสร้างให้ถูกต้อง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีหนังสือ ที่ ปจ ๖๑๓๐๑/๒๔ ลงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ บอกเลิกสัญญาจ้างกับผู้ฟ้องคดี พร้อมกับแจ้งริบเงินประกันสัญญาและสงวนสิทธิเรียกร้องเงินค่าปรับและค่าเสียหาย ทั้งนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คณะกรรมการตรวจการจ้างและผู้ควบคุมงานก่อสร้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มิได้มีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดีให้ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด เหตุแห่งข้อพิพาทและความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งปวงในคดีนี้เป็นความผิดของผู้ฟ้องคดีเองทั้งสิ้น ประกอบกับแบบแปลนและรายละเอียดแนบท้ายสัญญาจ้างได้กำหนดรูปแบบของงานก่อสร้างไว้เพียงรูปแบบเดียว โดยวิธีบากปากขอบบ่อพักน้ำเป็นรูปตัววีเชื่อมต่อกับรางวีของถนนรางวีเพื่อให้น้ำในถนนรางวีไหลลงสู่บ่อพักทางขอบบ่อพักน้ำได้ ซึ่งผู้ฟ้องคดีย่อมทราบถึงวิธีการแก้ไขงานก่อสร้างดังกล่าวได้ดี การที่ผู้ฟ้องคดีปฏิเสธไม่ยินยอมทำการแก้ไขงานก่อสร้างตลอดมา ย่อมฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้าง และเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้บอกเลิกสัญญากับผู้ฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ โดยก่อนบอกเลิกสัญญา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้แจ้งข้อเรียกร้องไปยังผู้ฟ้องคดี เมื่อครบกำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาให้ผู้ฟ้องคดีชำระค่าปรับด้วยนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงต้องรับผิดชำระค่าปรับนับถัดจากวันครบกำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาถึงวันบอกเลิกสัญญา (วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ถึงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖) เป็นเวลา ๕๖๕ วัน ในอัตราค่าปรับวันละ ๔๒๕ บาท รวมเป็นเงินค่าปรับจำนวน ๒๔๐,๑๒๕ บาท ตามสัญญา ข้อ ๑๗ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้บอกเลิกสัญญาพร้อมกับขอริบหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาเป็นเงินจำนวน ๘,๕๐๐ บาท และสงวนสิทธิเรียกร้องค่าปรับในส่วนที่เกินหลักประกันจำนวน ๒๓๑,๖๒๕ บาท โดยให้ผู้ฟ้องคดีนำเงินไปชำระให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญา นอกจากนี้ ผู้ฟ้องคดียังต้องรับผิดในค่าเสียหายที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จักต้องดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ถูกต้องตามสัญญาจ้าง ข้อ ๑๘ เป็นเงินจำนวน ๑,๒๖๓ บาท รวมเป็นค่าเสียหายที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีสิทธิหักเอาจากเงินค่าจ้างตามสัญญา ข้อ ๑๙ เป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน ๒๓๒,๘๘๘ บาท ซึ่งเกินกว่าราคาค่าจ้างตามสัญญา สำหรับเงินชดเชยค่าเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับจากการขาดประโยชน์จากการนำเงินค่าจ้างไปใช้ในกิจการงานของผู้ฟ้องคดีนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้จากผู้ถูกฟ้องคดี
         สำนวนคดีหลัง (คดีหมายเลขดำที่ ๑๔๐/๒๕๔๖ หมายเลขแดงที่ ๓๙/๒๕๔๗)ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า  ผู้ฟ้องคดีได้ทำสัญญาจ้างกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำงานวางท่อระบายน้ำ สายหน้าวัดเนินบาก หมู่ที่ ๕ ตำบลเนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน ๑๓๓ ท่อน พร้อมบ่อพักฝาตะแกรงเหล็กจำนวน ๑๓ บ่อ ตามแบบของผู้ฟ้องคดี พร้อมป้ายโครงการฯ จำนวน ๑ ป้าย ณ เทศบาลตำบลบ้านนาปรือ ตำบลเนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรีเป็นเงินจำนวน ๑๗๐,๐๐๐ บาท โดยกำหนดงานที่จ้างแล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ตามสัญญาจ้างเลขที่ ๖/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๔ โดยสัญญา ข้อ ๗ ข. กำหนดว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ สัญญาจะทำงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ถ้าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาหรือทำผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด หรือเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการตรวจการจ้างหรือควบคุมงานซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาได้ และมีสิทธิจ้างผู้รับจ้างรายใหม่เข้าทำงานของผู้ฟ้องคดีให้ลุล่วงไปได้ และการที่ผู้ฟ้องคดีไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญานั้น ไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พ้นจากความรับผิดตามสัญญาโดยมีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันมอบไว้ต่อผู้ฟ้องคดี ยินยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชำระเงินให้ตามสิทธิเรียกร้องของผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน ๘,๕๐๐ บาท ในกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ ในระหว่างสัญญาจ้าง ผู้ควบคุมงานของผู้ฟ้องคดีตรวจพบว่า
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดำเนินการก่อสร้างบ่อพักน้ำโดยที่น้ำในถนนรางวีไม่สามารถไหลลงสู่บ่อพักน้ำได้ ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการงานก่อสร้างวางท่อระบายน้ำและรูปแบบแนบท้ายสัญญาจ้าง ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๔ แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แก้ไขบ่อพักน้ำในถนนรางวีให้น้ำไหลลงสู่บ่อพักน้ำได้โดยด่วนและได้มีหนังสือลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แจ้งเตือนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้ดำเนินการแก้ไขบ่อพักน้ำเพื่อให้น้ำในถนนรางวีสามารถไหลลงสู่บ่อพักน้ำได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าว ครั้นเมื่อครบกำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาจ้างเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีได้แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทราบว่า คณะกรรมการตรวจการจ้างตรวจพบข้อบกพร่องของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คือ น้ำในถนนรางวีไม่ไหลลงสู่บ่อพักน้ำและบ่อพักน้ำไม่เป็นไปตามรูปแบบที่กำหนดไว้ จึงขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว พร้อมกับแจ้งสงวนสิทธิว่า สัญญาจ้างได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยังทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญาจ้าง ดังนั้น ในระหว่างที่ผู้ฟ้องคดียังมิได้บอกเลิกสัญญา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะต้องชำระค่าปรับตามสัญญาที่กำหนดไว้ในอัตราวันละ ๔๒๕ บาท นับถัดจากวันที่กำหนดแล้วเสร็จถึงวันที่ทำงานเสร็จจริง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทราบคำบอกกล่าวแล้วเพิกเฉยไม่ดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้าง แต่ได้มีหนังสือลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ส่งมอบงานโดยแจ้งว่าได้ดำเนินงานก่อสร้างวางท่อระบายน้ำเสร็จเรียบร้อยตามสัญญาแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวให้ถูกต้อง โดยขอให้ดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ เพื่อให้คณะกรรมการตรวจการจ้างเข้าตรวจในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยังคงเพิกเฉยไม่ดำเนินการแก้ไข ถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผิดสัญญา ต่อมาวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และขอริบเงินประกันสัญญาจำนวน ๘,๕๐๐ บาท พร้อมกับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชำระค่าปรับตามสัญญาในอัตราวันละ ๔๒๕ บาท นับถัดจากวันครบกำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาถึงวันบอกเลิกสัญญาเป็นเวลา ๕๖๕ วัน คิดเป็นเงิน
ทั้งสิ้นจำนวน ๒๔๐,๑๒๕ บาท รวมทั้งค่าเสียหายในการดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างให้เสร็จสมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์และรูปแบบแนบท้ายสัญญาจ้าง คิดเป็นค่าวัสดุก่อสร้างและค่าแรงงานเป็นเงิน ๑,๒๖๓ บาท รวมเงินค่าปรับและค่าเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน ๒๔๑,๓๘๘ บาท กับดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันบอกเลิกสัญญาจนถึงวันฟ้อง เป็นเงินจำนวน ๑๓,๖๘๙.๖๗ บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้นจำนวน ๒๕๕,๐๗๗.๖๗ บาท และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ต้องร่วมรับผิดกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามสัญญาค้ำประกันเป็นเงินจำนวน ๘,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่ผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองทราบแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ให้แก่ผู้ฟ้องคดี ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชำระหนี้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน ๒๕๕,๐๗๗.๖๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี
ของต้นเงินจำนวน ๒๔๑,๓๘๘ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่ผู้ฟ้องคดี ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ร่วมรับผิดกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชำระหนี้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน ๘,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่ผู้ฟ้องคดี กับให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แทนผู้ฟ้องคดี
        ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องขอรวมการพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๐/๒๕๔๖ กับคดีหมายเลขดำที่ ๕/๒๕๔๖ ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า คดีหมายเลขดำที่ ๕/๒๕๔๖ ศาลได้แสวงหาข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว การนำคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๐/๒๕๔๖ ไปรวมพิจารณากับคดีหมายเลขดำที่ ๕/๒๕๔๖ จะไม่เป็นการสะดวกแก่การพิจารณา
จึงยกคำร้อง
        ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า  หนังสือมอบอำนาจของผู้ฟ้องคดีมิได้ปิดอากรแสตมป์ จึงไม่อาจใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องหรือดำเนินคดีได้ ผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ และคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีขาดอายุความตามกฎหมายแล้วตามมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เนื่องจากสัญญาได้กำหนดให้ชำระเงินค่าจ้างเมื่อปฏิบัติงานเสร็จสิ้นตามสัญญาภายในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยถูกต้องตรงตามแบบแปลนที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างทุกประการ และได้ส่งมอบงานการก่อสร้างต่อผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ฟ้องคดีกลับไม่ตรวจรับงานและไม่เบิกจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑  ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิเรียกร้องเงินค่าปรับตามสัญญาจ้างตั้งแต่วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ซึ่งเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๖ จึงเป็นการฟ้องคดีเมื่อพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ต่อมาวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้แก้ไขบ่อพักน้ำในถนนรางวีให้ไหลลงสู่บ่อพักน้ำได้โดยด่วน ซึ่งในการก่อสร้างนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ดำเนินการก่อสร้างตามแบบแปลนที่กำหนดในสัญญา การที่น้ำในรางวีไม่สามารถไหลลงสู่บ่อพักได้นั้น มิใช่เกิดจากการก่อสร้างที่ผิดแบบแปลนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อีกทั้งตามหนังสือที่ผู้ฟ้องคดีมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดำเนินการแก้ไขก็มิได้ระบุโดยชัดแจ้งว่าจะให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดำเนินการแก้ไขโดยวิธีใด จากนั้นวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยืนยันให้ดำเนินการแก้ไขบ่อพักน้ำ จึงถือได้ว่ามีเจตนาทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงได้มีหนังสือส่งมอบงานการก่อสร้างเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีตรวจรับงาน และเบิกจ่ายเงินค่าก่อสร้างให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ขอใช้สิทธิดำเนินการตามสัญญา ข้อ ๒๑
ว่าด้วยกรณีพิพาทและอนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดกรณีพิพาทที่เกิดขึ้น แต่ผู้ฟ้องคดียังคงเพิกเฉย ต่อมาวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ เพื่อให้คณะกรรมการตรวจการจ้างไปตรวจงานในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงได้นำเรื่องดังกล่าวฟ้องร้องนายชาญณรงค์ หรือพรณรงค์ วงษ์พาสกลาง  นายกเทศมนตรีตำบลบ้านนาปรือ กับพวกรวม ๕ คน ต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรีเป็นคดีอาญา ซึ่งคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จากนั้นในวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ ผู้ฟ้องคดีได้มีคำสั่งเทศบาลตำบลบ้านนาปรือ ที่ ๒๓/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ บอกเลิกสัญญาจ้างพร้อมกับริบเงินประกันสัญญาจำนวน ๘,๕๐๐ บาท และเรียกเงินค่าปรับเพิ่มจำนวน ๒๓๑,๖๒๕ บาท โดยให้นำเงินมาชำระภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง หากไม่นำเงินมาชำระภายในกำหนด ผู้ฟ้องคดีจะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป และจะได้เสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้จังหวัดปราจีนบุรีเพื่อพิจารณาสั่งและแจ้งเวียนให้เป็นผู้ทิ้งงานของทางราชการ
        ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า  เมื่อปัญหายังไม่มีข้อยุติว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นผู้ผิดสัญญาจ้างหรือไม่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงยังไม่ต้องชำระหนี้ที่ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันยังไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผิดนัด ผู้ฟ้องคดียังไม่มีสิทธิเรียกให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้ และผู้ฟ้องคดียังไม่มีสิทธิเริ่มคิดดอกเบี้ยจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ สัญญาค้ำประกันดังกล่าวมิใช่ค้ำประกันอย่างไม่จำกัดตามมาตรา ๖๘๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่จำกัดความรับผิดในต้นเงิน ดอกเบี้ย ค่าเสียหายต่างๆ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ต้องรับผิดทั้งสิ้นรวมกันแล้วต้องไม่เกิน ๘,๕๐๐ บาท  ดังนั้น หากได้ความยุติว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผิดสัญญา ความรับผิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทั้งสิ้นต้องไม่เกินจำนวน ๘,๕๐๐ บาท
        ศาลปกครองชั้นต้นเห็นว่า สำนวนคดีหลังมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะพิจารณาพิพากษาได้แล้ว จึงให้งดเว้นไม่ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงในชั้นทำคำคัดค้านคำให้การและคำให้การเพิ่มเติม และเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ยื่นคำให้การโดยมีข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับข้อเท็จจริงในสำนวนคดีแรก จึงมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกัน โดยให้สำนวนคดีหมายเลขดำที่ ๕/๒๕๔๖ เป็นสำนวนคดีหลัก เพื่อความสะดวกแก่การพิจารณา จึงให้เรียกคู่กรณีแต่ละฝ่ายโดยถือตามสำนวนคดีหลัก (คดีหมายเลขดำที่ ๕/๒๕๔๖) สำหรับบริษัทธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๐/๒๕๔๖ ให้เรียกว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลัง
        ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า  กำหนดเวลาฟ้องคดีนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ขอส่งมอบงานก่อสร้างซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ตรวจรับงานก่อสร้างและมิได้บอกเลิกสัญญา เมื่อมิได้มีการบอกเลิกสัญญา จึงยังถือไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี เพราะคดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องโดยอ้างเหตุว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ บอกเลิกสัญญาและเรียกค่าปรับโดยไม่ชอบ การรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีจึงต้องนับแต่มีการบอกเลิกสัญญา เมื่อคำนวณระยะเวลาตั้งแต่วันบอกเลิกสัญญา คือ วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ ถึงวันฟ้อง คือ วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ยังอยู่ภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี จึงเป็นการฟ้องคดีภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ฟ้องเรียกเงินค่าปรับและค่าเสียหายกับเงินค้ำประกันสัญญาจากผู้ฟ้องคดี เมื่อผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ขอส่งมอบงานก่อสร้าง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ตรวจรับงานก่อสร้างและยังมิได้บอกเลิกสัญญา ต่อมาวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องค่าเสียหายตามสัญญา ดังนั้น เมื่อยังมิได้มีการบอกเลิกสัญญาและยังไม่ทราบจำนวนค่าปรับและค่าเสียหายที่แน่นอน จึงต้องเริ่มนับกำหนดเวลาฟ้องคดีตั้งแต่วันบอกเลิกสัญญา คือ วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๖ ยังอยู่ภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี จึงเป็นการฟ้องคดีภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สำหรับในประเด็นที่ว่าผู้ฟ้องคดีต้องชำระค่าปรับ ค่าเสียหาย พร้อมทั้งดอกเบี้ยกับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองหรือไม่ เพียงใดนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้เมื่อแบบรูปและรายการละเอียดไม่ชัดเจนว่าจะต้องบากปากบ่อหรือไม่ ผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่ต้องหาข้อยุติว่าผู้ฟ้องคดีสมควรแก้ไขอย่างใดเพื่อให้น้ำในถนนรางวีไหลลงสู่บ่อพักน้ำตามวัตถุประสงค์ของโครงการก่อสร้าง ซึ่งหากผู้ฟ้องคดีประสงค์ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ระบุให้แน่ชัดว่าต้องการให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขโดยวิธีใด ผู้ฟ้องคดีก็ควรทำหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ระบุวิธีดำเนินการแก้ไขเพื่อผู้ฟ้องคดีจะได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มิใช่ปฏิเสธที่จะไม่แก้ไขโดยอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องกำหนดอัตราจ้างในงานก่อสร้างเพิ่มเติมรวมทั้งการขยายระยะเวลากันใหม่ การที่ผู้ฟ้องคดีไม่ทำการแก้ไขบ่อพักน้ำเพื่อให้น้ำในถนนรางวีไหลลงสู่บ่อพักน้ำ จึงเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาจ้าง ผู้ฟ้องคดีต้องชำระค่าปรับให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือ ที่ ปจ ๖๑๓๐๑/๒๐๔ ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แจ้งปรับผู้ฟ้องคดี แต่ยังมิได้บอกเลิกสัญญา จนวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงได้บอกเลิกสัญญา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีสิทธิเรียกร้องค่าปรับตั้งแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญา คือ ตั้งแต่วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ถึงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาในอัตราค่าปรับวันละ ๔๒๕ บาท จำนวน ๕๖๕ วัน คิดเป็นค่าปรับจำนวน ๒๔๐,๑๒๕ บาท กับค่าเสียหายในการดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างเป็นค่าวัสดุก่อสร้างและค่าแรงงานจำนวน ๑,๒๖๓ บาท ในกรณีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชอบที่จะพิจารณาดำเนินการบอกเลิกสัญญามิให้จำนวนเงินค่าปรับที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องชำระเกินร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้างตามข้อ ๑๓๑ ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๓๕ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กลับไม่ดำเนินการบอกเลิกสัญญาและจัดให้มีผู้รับจ้างรายใหม่ดำเนินการแก้ไขงาน จนกระทั่งวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ จึงบอกเลิกสัญญา ซึ่งหน่วยงานทางปกครองไม่ควรแสวงหาประโยชน์จากข้อได้เปรียบของสัญญาทางปกครอง อันจะทำให้เอกชนซึ่งเป็นคู่สัญญาได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายเกินสมควร ศาลปกครองชั้นต้นเห็นสมควรให้ผู้ฟ้องคดีชำระค่าปรับเพียงร้อยละสิบของค่าจ้างตามสัญญาเป็นเงินค่าปรับ ๑๗,๐๐๐ บาท และเมื่อมีการบอกเลิกสัญญา คู่สัญญาย่อมกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ใช้ประโยชน์จากงานก่อสร้าง
ของผู้ฟ้องคดีในส่วนที่มิได้มีข้อบกพร่อง จึงต้องใช้เงินตามควรแห่งค่างานส่วนนั้นให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามมาตรา ๓๙๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กล่าวในคำฟ้องในคดีหลังว่า ค่าเสียหายในการดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างเพื่อให้น้ำจากร่องรางวีไหลลงสู่บ่อพักน้ำ เป็นค่าวัสดุก่อสร้างและค่าแรงงานเป็นเงินจำนวน ๑,๒๖๓ บาท ซึ่งผู้ฟ้องคดีมิได้ให้การโต้แย้งในจำนวนเงินค่าดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างดังกล่าวว่าไม่ถูกต้องหรือสูงกว่าที่ควรแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีจึงต้องชำระค่าเสียหายในการดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างจำนวน ๑,๒๖๓ บาท ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหน้าที่ต้องชำระค่าจ้างจำนวน ๑๗๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยหักค่าเสียหายในการดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างจำนวน ๑,๒๖๓ บาท และค่าปรับจำนวน ๑๗,๐๐๐ บาท ออกจากจำนวนเงินค่าจ้าง คงเหลือเงินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องชำระเป็นเงินจำนวน ๑๕๑,๗๓๗ บาท เมื่อไม่มีข้อความกำหนดไว้ในสัญญาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องตรวจรับมอบงานจ้างให้แล้วเสร็จและชำระเงินค่าจ้างให้แก่ผู้ฟ้องคดีภายในระยะเวลาเท่าใด จึงต้องเป็นไปตามมาตรา ๖๐๒ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือ ต้องให้สินจ้าง
เมื่อรับมอบการที่ทำ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงต้องชำระค่าจ้างให้แก่ผู้ฟ้องคดีในวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ส่วนกรณีค่าเสียหายจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งผู้ฟ้องคดีขอเรียกร้องเป็นค่าเสียหายจากการขาดผลประโยชน์ นั้น ไม่เป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒๒ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่อาจเรียกเงินค่าเสียหายจากการนำเงินค่าจ้างตามสัญญาไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบการค้าได้ คงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องชำระเงินจำนวน ๑๕๑,๗๓๗ บาท คือ วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ถึงวันชำระเสร็จ ซึ่งเมื่อคำนวณถึงวันฟ้องวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ คิดเป็นเวลา ๑ ปี ๖ เดือน ๒๗ วัน (๕๗๒ วัน) เป็นเงินค่าดอกเบี้ยจำนวน ๑๗,๘๓๔ บาท เมื่อรวมกับต้นเงินจำนวน ๑๕๑,๗๓๗ บาท แล้วเป็นเงินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องชำระให้แก่ผู้ฟ้องคดีจำนวน ๑๖๙,๕๗๑ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวน ๑๕๑,๗๓๗ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง คือวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ จนถึงวันชำระเสร็จ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับความเสียหายเป็นเงินที่ต้องใช้ในการดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างจำนวน ๑,๒๖๓ บาท ซึ่งศาลได้วินิจฉัยโดยให้หักค่าเสียหายดังกล่าวออกจากจำนวนเงินค่าจ้างที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะได้รับแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ย่อมไม่อาจได้รับชดใช้ค่าเสียหายเกินกว่าความเสียหายจริงที่ได้รับ คือ เงินจำนวน ๑,๒๖๓ บาท ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลังจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินประกันสัญญาจำนวน ๘,๕๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อีกทั้งคดีนี้ผู้ฟ้องคดียังไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลสั่งห้ามผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เสนอชื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ทิ้งงานของทางราชการ
         ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้เงินจำนวน ๑๖๙,๕๗๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวน ๑๕๑,๗๓๗ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง คือ วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ จนถึงวันชำระเสร็จให้แก่ผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ ให้ชำระให้เสร็จสิ้นภายใน ๓๐ วัน นับแต่คดีถึงที่สุด คืนค่าธรรมเนียมศาลตามส่วนของการชนะคดีให้แก่ผู้ฟ้องคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลัง
        ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อุทธรณ์ว่า  ตามสัญญาจ้างกำหนดให้ชำระค่าจ้างเมื่อปฏิบัติงานแล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ โดยผู้ฟ้องคดีได้ส่งมอบงานเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เห็นว่า การจัดทำการงานที่จ้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญาจึงไม่จ่ายค่าจ้างให้ ดังนั้น ข้อโต้แย้งจึงเริ่มมีขึ้นตั้งแต่วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ และผู้ฟ้องคดีมีสิทธิเรียกเอาค่าจ้างนับแต่วันดังกล่าวด้วย จึงถือว่าผู้ฟ้องคดีรู้เหตุแห่งการฟ้องคดีในวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ เมื่อผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ จึงเป็นการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีตามมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และคดีนี้ก็มิได้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นใดที่ศาลสมควรจะรับคดีไว้พิจารณาได้ ดังนั้น การที่ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาและมีคำพิพากษา จึงยังคลาดเคลื่อนต่อเหตุผลและหลักกฎหมาย จึงขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นในประเด็นนี้ เป็นไม่รับคำฟ้อง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เห็นว่าเงินค่าปรับจำนวน ๑๗,๐๐๐ บาท ที่ศาลปกครองชั้นต้นกำหนดให้นั้นน้อยเกินสมควร เนื่องจากการจงใจไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างเป็นเหตุให้การบริการสาธารณะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ น้ำในถนนรางวีไม่สามารถไหลลงสู่บ่อพักน้ำได้โดยสิ้นเชิง ซึ่งควรกำหนดค่าปรับให้เต็มตามที่ตกลงไว้ในสัญญาจ้างข้อ ๑๗ เป็นจำนวนเงินวันละ ๔๒๕ บาท นับถัดจากวันที่กำหนดแล้วเสร็จตามสัญญา (วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔) จนถึงวันบอกเลิกสัญญา (วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖) เป็นจำนวน ๕๖๕ วัน คิดเป็นเงินค่าปรับจำนวน ๒๔๐,๑๒๕ บาท กับค่าเสียหายในการดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างเป็นเงินจำนวน ๑,๒๖๓ บาท รวมเป็นเงินค่าปรับและค่าเสียหายจำนวน ๒๔๑,๓๘๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันบอกเลิกสัญญาจนถึงวันฟ้อง (วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๖) คิดเป็นเงินดอกเบี้ยจำนวน ๑๓,๖๘๙.๖๗ บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้นจำนวน ๒๕๕,๐๗๗.๖๗ บาท และคดีนี้ต้องถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รับมอบการที่ทำในวันบอกเลิกสัญญาจ้าง คือ วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ มิใช่วันที่ผู้ฟ้องคดีแจ้งส่งมอบงาน หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะต้องชำระดอกเบี้ยของเงินค่าจ้างจำนวน ๑๕๑,๗๓๗ บาท ก็ควรเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ ซึ่งเป็นวันบอกเลิกสัญญา แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เห็นว่าตนเองไม่จำต้องชำระเงินค่าจ้างจำนวน ๑๕๑,๗๓๗ บาท และดอกเบี้ยผิดนัดจำนวน ๑๗,๘๓๔ บาท รวมเป็นเงิน ๑๖๙,๐๗๗.๖๗ บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด เนื่องจากผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่ต้องชำระค่าปรับตามสัญญาจ้างและค่าเสียหายให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเงินจำนวน ๒๕๕,๐๗๗.๖๗ บาท ซึ่งเมื่อหักค่าจ้างก่อสร้างตามสัญญาออกแล้วยังคงมีหนี้เงินที่ผู้ฟ้องคดีต้องชำระให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อีกเป็นเงินจำนวน ๘๕,๐๗๗.๖๗ บาท โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลังต้องร่วมรับผิดกับผู้ฟ้องคดีตามสัญญาค้ำประกันเป็นเงินจำนวน
๘,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น โดยมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี และพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีชำระค่าเสียหายเป็นเงิน ๒๕๕,๐๗๗.๖๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน ๒๔๑,๓๘๘ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลังร่วมรับผิดกับผู้ฟ้องคดีชำระค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน ๘,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และพิพากษายกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒
        ผู้ฟ้องคดีไม่ทำคำแก้อุทธรณ์
        ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลังแก้อุทธรณ์ว่า  หนังสือค้ำประกันกำหนดว่า “ข้าพเจ้าผูกพันตน...ในการชำระเงินจำนวน ๘,๕๐๐ บาท ในกรณีที่ผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ แก่ผู้ว่าจ้าง” หมายความว่า หนี้ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลังผูกพันตนเข้าค้ำประกัน คือ หนี้ค่าเสียหายที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับจากผู้ฟ้องคดี และเมื่อศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยให้หักค่าเสียหายในการดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างออกจากจำนวนเงินค่าจ้างแล้ว จึงไม่เหลือค่าเสียหายอีกต่อไป ดังนั้น หนี้ประธานที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลังค้ำประกันจึงหมดไป ไม่จำต้องรับผิดชำระเงินที่ค้ำประกันให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น
        ศาลปกครองสูงสุดออกนั่งพิจารณาคดี โดยได้รับฟังสรุปข้อเท็จจริงของตุลาการเจ้าของสำนวน และคำชี้แจงด้วยวาจาประกอบคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดี
        ศาลปกครองสูงสุดได้ตรวจพิจารณาเอกสารทั้งหมดในสำนวนคดี กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องประกอบแล้ว
        ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า  ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ทำสัญญาจ้างผู้ฟ้องคดีวางท่อระบายน้ำ สายหน้าวัดเนินบาก หมู่ที่ ๕ ตำบลเนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี  จังหวัดปราจีนบุรี พร้อมบ่อพักฝาตะแกรงเหล็ก ตามแบบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พร้อมป้ายโครงการฯ ติดตั้ง ณ สถานที่ก่อสร้าง ตามสัญญาที่ ๖/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีได้นำหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลังจำนวนเงิน ๘,๕๐๐ บาท มอบให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา โดยตกลงค่าจ้างจำนวน ๑๗๐,๐๐๐ บาท เริ่มทำงานวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๔ กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ หากผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนดและผู้ว่าจ้างยังไม่ได้บอกเลิกสัญญา ผู้รับจ้างจะต้องชำระค่าปรับให้แก่ผู้ว่าจ้างเป็นจำนวนเงินวันละ ๔๒๕ บาท ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือ ที่ ปจ ๖๑๓๐๑/๑๙๕ ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๔ แจ้งไปยังผู้ฟ้องคดีว่าน้ำในรางวีไม่สามารถไหลลงสู่บ่อพักน้ำได้ ให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขโดยด่วน และผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ว่า ผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการก่อสร้างตามรูปแบบในสัญญาจ้างทุกประการ การที่น้ำในรางวีไม่สามารถไหลลงสู่บ่อพักน้ำได้ มิใช่เกิดจากการดำเนินการก่อสร้างที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากสัญญาจ้าง หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ประสงค์ให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไข ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องกำหนดอัตราจ้างงานก่อสร้างในส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นรวมทั้งขยายระยะเวลาทำงานใหม่ จากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือ ที่ ปจ ๖๑๓๐๑/๑๙๙ ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขบ่อพักน้ำเพื่อให้น้ำในถนนรางวีไหลลงสู่บ่อพักน้ำตามวัตถุประสงค์ของโครงการก่อสร้างวางท่อระบายน้ำและการดำเนินการแก้ไขนั้นไม่เป็นงานพิเศษหรือเพิ่มเติมตามข้อ ๑๖ ของสัญญาจ้าง จึงให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขบ่อพักน้ำดังกล่าว หลังจากนั้น ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ขอส่งมอบงานก่อสร้าง และมีหนังสือลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ยืนยันว่าตนได้ดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาและแบบแปลนทุกประการและจะไม่แก้ไขงานก่อสร้าง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือ ที่ ปจ ๖๑๓๐๑/๒๐๔ ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แจ้งผู้ฟ้องคดีว่า คณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจสอบงานจ้างตามโครงการแล้วพบข้อบกพร่อง คือ น้ำในถนนรางวีไม่ระบายลงสู่บ่อพักน้ำ ทำให้มีน้ำที่ไหลคงค้างอยู่ในถนนรางวี ซึ่งบ่อพักไม่เป็นไปตามรูปแบบที่กำหนดไว้ และให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวพร้อมกับแจ้งสงวนสิทธิการปรับผู้ฟ้องคดีตามสัญญา นับจากวันที่กำหนดแล้วเสร็จจนถึงวันทำงานแล้วเสร็จ กับมีหนังสือ ที่ ปจ ๖๑๓๐๑/๒๑๓  ลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขงานเพื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ เพื่อให้คณะกรรมการตรวจการจ้างตรวจงานในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ซึ่งผู้ฟ้องคดีไม่ดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้าง แต่ได้ยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ คณะกรรมการตรวจการจ้างและผู้ควบคุมงานเป็นคดีอาญา ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หมิ่นประมาท เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๗๖๕/๒๕๔๔ ของศาลจังหวัดปราจีนบุรี ศาลพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๕ คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้บอกเลิกสัญญาจ้างและริบเงินประกันสัญญาจำนวน ๘,๕๐๐ บาท แต่เนื่องจากวงเงินค่าปรับตามสัญญานับถึงวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน ๒๔๐,๑๒๕ บาท ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเรียกเงินค่าปรับส่วนที่เกินวงเงินค้ำประกันเป็นเงิน ๒๓๑,๖๒๕ บาท โดยให้ผู้ฟ้องคดีชำระภายใน ๓๐ วัน หากไม่ชำระผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะดำเนินคดีตามกฎหมาย และจะเสนอให้จังหวัดปราจีนบุรีสั่งและแจ้งเวียนให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ทิ้งงานของทางราชการ ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องคดีนี้ต่อศาล
        ระหว่างการพิจารณาสำนวนคดีแรก เทศบาลตำบลบ้านนาปรือ ได้ยื่นฟ้องบริษัท ลีดเดอร์ เน็ตเวิร์ค จำกัด เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และบริษัทธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้ชำระหนี้ค่าปรับนับแต่วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ถึงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ เป็นเวลา ๕๖๕ วัน เป็นเงินค่าปรับ ๒๔๐,๑๒๕ บาท ค่าเสียหายในการดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างเป็นเงิน ๑,๒๖๓ บาท รวมเป็นเงินค่าปรับและค่าเสียหาย ๒๔๑,๓๘๘ บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันบอกเลิกสัญญาจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๑๓,๖๘๙.๖๗ บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้น ๒๕๕,๐๗๗.๖๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๒๔๑,๓๘๘ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลังร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน ๘,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
        คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รวม ๓ ประเด็น ดังนี้
        ประเด็นที่หนึ่ง  ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีหรือไม่
        ประเด็นที่สอง  ผู้ฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าปรับ ค่าเสียหาย พร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองหรือไม่  
        ประเด็นที่สาม  ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลัง ต้องชำระเงินประกันสัญญาจำนวน ๘,๕๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ หรือไม่ เพียงใด
        ในประเด็นที่หนึ่งที่ว่า ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีหรือไม่ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อุทธรณ์ว่า ข้อโต้แย้งตามสัญญาพิพาทเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ซึ่งเป็นวันส่งมอบงานก่อสร้างและผู้ฟ้องคดีมีสิทธิเรียกเอาค่าจ้างนับแต่วันดังกล่าว จึงถือว่าผู้ฟ้องคดีรู้เหตุแห่งการฟ้องคดีในวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ จึงเป็นการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีตามมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และคดีนี้ก็มิได้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นใดที่ศาลสมควรจะรับคดีไว้พิจารณาได้ เห็นว่า สัญญาจ้างผู้ฟ้องคดีวางท่อระบายน้ำพร้อมบ่อพักฝาตะแกรงเหล็ก เลขที่ ๖/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๔ ระหว่างผู้ฟ้องคดี กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ตามสัญญาจ้างได้กำหนดให้ผู้ฟ้องคดีต้องทำงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ซึ่งผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แจ้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ขอส่งมอบงานก่อสร้าง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ไปตรวจรับงานก่อสร้างแต่ได้มีหนังสือ ที่ ปจ ๖๑๓๐๑/๒๐๔ ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แจ้งผู้ฟ้องคดีว่า ในระหว่างที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มิได้บอกเลิกสัญญาจ้าง ผู้ฟ้องคดีจะต้องชำระค่าปรับตามสัญญา จากนั้นในวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้บอกเลิกสัญญาจ้าง ริบเงินประกันสัญญาและเรียกค่าปรับส่วนที่เกินวงเงินค้ำประกัน กรณีต้องถือว่าผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ในวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ อันเป็นวันบอกเลิกสัญญา การที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ซึ่งอยู่ภายในระยะห้าปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและ
วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๑ จึงเป็นการยื่นฟ้องภายในกำหนดเวลาการฟ้องคดี อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น
        ในประเด็นที่สองที่ว่า ผู้ฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าปรับ ค่าเสียหาย พร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองหรือไม่ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อุทธรณ์ว่า เงินค่าปรับจำนวน ๑๗,๐๐๐ บาท ที่ศาลปกครองชั้นต้นกำหนดให้นั้นน้อยเกินสมควร ซึ่งควรกำหนดค่าปรับให้เต็มตามที่ตกลงไว้ในสัญญาจ้าง ข้อ ๑๗ คิดเป็นเงินค่าปรับ ๒๔๐,๑๒๕ บาท กับค่าเสียหายในการดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างเป็นเงินจำนวน ๑,๒๖๓ บาท รวมเป็นเงินค่าปรับและค่าเสียหายจำนวน ๒๔๑,๓๘๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันบอกเลิกสัญญาจนถึงวันฟ้อง คิดเป็นเงินดอกเบี้ยจำนวน ๑๓,๖๘๙.๖๗ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน ๒๕๕,๐๗๗.๖๗ บาท และคดีนี้ต้องถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รับมอบงานในวันบอกเลิกสัญญาจ้าง คือ วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่จำต้องชำระเงินค่าจ้างจำนวน ๑๕๑,๗๓๗ บาท และดอกเบี้ยผิดนัดจำนวน ๑๗,๘๓๔ บาท รวมเป็นเงินจำนวน ๑๖๙,๐๗๗.๖๗ บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด เนื่องจากผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่ต้องชำระค่าปรับตามสัญญาจ้างและค่าเสียหายให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเงิน จำนวน ๒๕๕,๐๗๗.๖๗ บาท ซึ่งเมื่อหักค่าจ้างก่อสร้างตามสัญญาออกแล้วยังคงมีหนี้เงินที่ผู้ฟ้องคดีต้องชำระให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อีกเป็นเงินจำนวน ๘๕,๐๗๗.๖๗ บาท จึงมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาว่า ผู้ฟ้องคดีผิดสัญญาหรือไม่ เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ทำสัญญาจ้าง
ผู้ฟ้องคดีตามสัญญาเลขที่ ๖/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๔ เพื่อวางท่อระบายน้ำสายหน้าวัดเนินบากพร้อมบ่อพักฝาตะแกรงเหล็ก ตามแบบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในราคาค่าจ้างจำนวน ๑๗๐,๐๐๐ บาท กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ โดยข้อ ๑๔ ของสัญญาดังกล่าว กำหนดว่า แบบรูปและรายการละเอียดคลาดเคลื่อน ผู้รับจ้างจะต้องรับรองว่าได้ตรวจสอบและทำความเข้าใจในแบบรูปรายการละเอียดโดยถี่ถ้วนแล้ว หากปรากฏว่าแบบรูปและรายการละเอียดนั้นผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนไปจากหลักการทางวิศวกรรมหรือทางเทคนิค ผู้รับจ้างตกลงที่จะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจการจ้างหรือผู้ควบคุมงานหรือบริษัทที่ปรึกษาที่ว่าจ้างแต่งตั้งเพื่อให้งานแล้วเสร็จสมบูรณ์ โดยจะคิดค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่มขึ้นจากผู้ว่าจ้างไม่ได้ และข้อ ๑๕ ของสัญญาฉบับเดียวกัน กำหนดว่า การควบคุมงานโดยผู้ว่าจ้าง ผู้รับจ้างตกลงว่ากรรมการตรวจการจ้าง ผู้ควบคุมงาน หรือบริษัทที่ปรึกษาที่ผู้ว่าจ้างแต่งตั้งมีอำนาจที่จะตรวจสอบและควบคุมงานเพื่อให้เป็นไปตามเอกสารสัญญาและมีอำนาจที่จะสั่งให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม หรือตัดทอนซึ่งงานตามสัญญานี้ หากผู้รับจ้างขัดขืนไม่ปฏิบัติตาม กรรมการตรวจการจ้าง
ผู้ควบคุมงาน หรือบริษัทที่ปรึกษามีอำนาจที่จะสั่งหยุดกิจการนั้นชั่วคราวได้ ประกอบกับข้อ ๑๗ ของสัญญาฉบับดังกล่าว มีข้อกำหนดเกี่ยวกับค่าปรับไว้ว่า หากผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา และผู้ว่าจ้างยังไม่ได้บอกเลิกสัญญา ผู้รับจ้างจะต้องชำระค่าปรับให้แก่ผู้ว่าจ้างเป็นจำนวนเงินวันละ ๔๒๕ บาท และภายหลังการทำสัญญาแล้ว ผู้ควบคุมงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตรวจพบข้อบกพร่องของงานก่อสร้าง จึงได้บันทึกการควบคุมงานว่าได้แนะนำกับช่างของผู้ฟ้องคดีให้เข้าใจ และรับปากด้วยวาจาจะปฏิบัติตามนั้น ซึ่งผู้ฟ้องคดีไม่ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำ ผู้ควบคุมงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงทำหนังสือรายงานประธานกรรมการตรวจการจ้าง ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือ ที่ ปจ ๖๑๓๐๑/๑๙๙ ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แจ้งความเห็นของคณะกรรมการตรวจการจ้างให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างที่ผิดพลาดให้เรียบร้อยถูกต้องตามสัญญา ซึ่งหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ นั้นเป็นการวินิจฉัยให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขบ่อพักน้ำให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสัญญาเพื่อให้น้ำในถนนรางวีไหลลงสู่บ่อพักน้ำ ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้รับจ้างย่อมต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามข้อ ๑๕ ของสัญญาจ้างเลขที่ ๖/๒๕๔๔ เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่ดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้าง โดยมีหนังสือลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ยืนยันไม่แก้ไขงานก่อสร้างดังกล่าวโดยอ้างว่าได้ดำเนินการก่อสร้าง
ตามรูปแบบในสัญญาจ้างแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาและตราบใดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คู่สัญญายังมิได้บอกเลิกสัญญา ผู้ฟ้องคดีต้องชำระค่าปรับวันละ ๔๒๕ บาท นับแต่วันถัดจากวันที่กำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาจนถึงวันที่ทำงานแล้วเสร็จจริงตามข้อ ๑๗ ของสัญญาฉบับเดียวกัน
        ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ผู้ฟ้องคดีจะต้องรับผิดชำระค่าปรับ ค่าเสียหายพร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นจำนวนเท่าใด เห็นว่า ข้อ ๑๗ ของสัญญาเลขที่ ๖/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๔ กำหนดว่า หากผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาและผู้ว่าจ้างยังมิได้บอกเลิกสัญญา ผู้รับจ้างจะต้องชำระค่าปรับแก่ผู้ว่าจ้างเป็นจำนวนเงินวันละ ๔๒๕ บาท นับถัดจากวันที่กำหนดแล้วเสร็จตามสัญญา หรือวันที่ผู้ว่าจ้างได้ขยายให้จนถึงวันที่ทำงานแล้วเสร็จจริง นอกจากนี้ ผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการที่ผู้รับจ้างทำงานล่าช้าเฉพาะส่วนที่เกินกว่าจำนวนค่าปรับได้อีกด้วย และตามข้อ ๑๓๑ ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดว่า ในกรณีที่คู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงได้ และจะต้องมีการปรับตามสัญญาหรือข้อตกลงนั้น หากจำนวนเงินค่าปรับจะเกินร้อยละสิบของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้าง ให้หน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นพิจารณาดำเนินการบอกเลิกสัญญาหรือ
ข้อตกลง เว้นแต่คู่สัญญาจะได้ยินยอมเสียค่าปรับให้แก่หน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ให้หัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นพิจารณาผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาได้เท่าที่จำเป็น เห็นว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายผิดสัญญาดังได้วินิจฉัยมาแล้ว จึงต้องรับผิดชำระค่าปรับแก่ผู้ถูกฟ้องคดี โดยที่ค่าปรับที่ผู้ฟ้องคดีต้องชำระให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในอัตราร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้างตามสัญญาพิพาทคิดเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน ๑๗,๐๐๐ บาท และเมื่อคิดค่าปรับในอัตราวันละ ๔๒๕ บาท นับถัดจากวันครบกำหนดแล้วเสร็จตามสัญญา คือ วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ เป็นต้นไปจนถึงวันบอกเลิกสัญญาในวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ แล้ว ค่าปรับดังกล่าวจะเกินกว่าร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้างเมื่อคิดค่าปรับเป็นเวลา ๕๖๕ วัน อันเป็นเงินจำนวน ๒๔๐,๑๒๕ บาทซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชอบที่จะต้องบอกเลิกสัญญากับผู้ฟ้องคดีก่อนวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีมากไปกว่านี้ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ หาได้บอกเลิกสัญญากับผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใดไม่ อันเป็นการละเลยไม่ปฏิบัติตามข้อ ๑๓๑ ของระเบียบข้างต้นที่มีเจตนารมณ์ในการกำหนดค่าปรับฐานผิดสัญญาจากเอกชนที่เข้าทำสัญญากับทางราชการไว้เพียงไม่เกินร้อยละสิบของวงเงินตามสัญญาเท่านั้น เว้นแต่คู่สัญญาจะยินยอมเสียค่าปรับเกินกว่าเงินจำนวนดังกล่าวโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ หากมีค่าเสียหายอื่นใดนอกเหนือจากค่าปรับดังกล่าวก็เป็นกรณีที่ส่วนราชการคู่สัญญาชอบที่จะเรียกร้องจากคู่สัญญาที่ทำผิดสัญญาโดยอาศัยสิทธิตามกฎหมายหรือตามข้อตกลงในสัญญาประการอื่น ๆ ต่อไป ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีกระทำผิดสัญญาจนจำนวนเงินค่าปรับตามสัญญาเกินกว่าร้อยละสิบของวงเงินตามสัญญาแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่บอกเลิกสัญญาหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้
ผู้ฟ้องคดีแสดงเจตนายืนยันว่ายินยอมชำระค่าปรับต่อไปโดยไม่มีเงื่อนไขไว้เป็นหลักฐานแต่อย่างใด ทั้งที่ระเบียบดังกล่าวซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะที่เป็นส่วนราชการต้องยึดถือปฏิบัติตามข้อ ๖ ของระเบียบเดียวกัน กรณีจึงเป็นความบกพร่องของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เอง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เรียกค่าปรับในส่วนที่เกินร้อยละสิบของวงเงินตามสัญญาโดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นคู่สัญญายินยอมเสียค่าปรับเกินกว่าเงินจำนวนดังกล่าวโดยไม่มีเงื่อนไขแต่อย่างใด เมื่อค่าปรับที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เรียกนั้นเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน  ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากเจตนารมณ์ของระเบียบข้างต้นแล้ว จึงเห็นควรกำหนดค่าปรับให้เป็นเงินจำนวน ๑๗,๐๐๐ บาท อันเป็นจำนวนร้อยละสิบของวงเงินตามสัญญา นอกจากนั้นผู้ฟ้องคดีต้องชำระค่าเสียหายในการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างอีกจำนวน ๑,๒๖๓ บาท ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
        ในประเด็นที่สามที่ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลัง ต้องชำระเงินประกันสัญญาจำนวน ๘,๕๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒หรือไม่ เพียงใด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อุทธรณ์ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลัง ต้องร่วมรับผิดกับผู้ฟ้องคดีตามสัญญาค้ำประกันเป็นเงินจำนวน ๘,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เห็นว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ใช้ประโยชน์จากงานก่อสร้างที่ผู้ฟ้องคดีส่งมอบนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงต้องใช้เงินตามควรแห่งค่างานส่วนนั้นให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นค่าจ้างจำนวน ๑๗๐,๐๐๐ บาท ตามนัยมาตรา ๓๙๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเมื่อหักค่าปรับที่ผู้ฟ้องคดีผิดสัญญากับค่าเสียหายในการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างไว้แล้วเป็นเงินจำนวน ๑๘,๒๖๓ บาท คงเหลือเงินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องชำระจำนวน ๑๕๑,๗๓๗ บาท โดยต้องชำระนับแต่วันมอบงานที่ทำในวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ตามมาตรา ๖๐๒ แห่งประมวลกฎหมายเดียวกัน เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ชำระเงินในวันดังกล่าว จึงต้องเสียดอกเบี้ยอีกร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวน ๑๕๑,๗๓๗ บาท ตามมาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นับแต่วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ถึงวันชำระเสร็จ ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องคดี คือ วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ เป็นเวลา ๕๗๒ วัน คิดเป็นเงินค่าดอกเบี้ยจำนวน ๑๗,๘๓๔ บาท รวมเป็นเงินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องชำระแก่ผู้ฟ้องคดีจำนวน ๑๖๙,๕๗๑ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวน ๑๕๑,๗๓๗ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องคดี คือ วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ จนถึงวันชำระเสร็จ และเมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับความเสียหายในการดำเนินการแก้ไขงานก่อสร้างเป็นเงินจำนวน ๑,๒๖๓ บาท โดยหักค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวออกจากค่าจ้างที่ผู้ฟ้องคดีจะได้รับแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในสำนวนคดีหลังจึงไม่จำต้องรับผิดชำระเงินประกันตามสัญญาจำนวน ๘,๕๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อีก อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น
        พิพากษายืน

นายจรัญ  หัตถกรรม                                              ตุลาการเจ้าของสำนวน
ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด

นายเกษม  คมสัตย์ธรรม
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

นายปรีชา  ชวลิตธำรง
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

นายไพบูลย์  เสียงก้อง
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

นายวรวิทย์  กังศศิเทียม
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด                            ตุลาการผู้แถลงคดี : นายธีรรัฐ  อร่ามทวีทอง

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการชดเชยความเสียหาย แก่ผู้เสียหายจากการบำบัดภยันตรายจากสาธารณภัย


หน้า ๑
เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๘๐ ก ราชกิจจานุเบกษา ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

กฎกระทรวง
กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการชดเชยความเสียหาย
แก่ผู้เสียหายจากการบำบัดภยันตรายจากสาธารณภัย
พ.. ๒๕๕๔

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๔๓ วรรคสอง
แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.. ๒๕๕๐ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติ
บางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑
มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๘ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญ
แห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำ ได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ในกฎกระทรวงนี้

การบำบัดภยันตรายหมายความว่า การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในการป้องกันและ
บรรเทาสาธารณภัย ซึ่งได้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่เพื่อเป็นผลให้สาธารณภัยที่เกิดหรือ
คาดว่าจะเกิดได้รับการแก้ไขให้บรรเทาลงโดยฉับพลัน

                    ผู้เสียหายหมายความว่า ผู้ซึ่งทรัพย์สินของตนได้รับความเสียหายจากการบำบัดภยันตรายจากสาธารณภัยของเจ้าหน้าที่และมิใช่เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการบำบัดภยันตราย จากสาธารณภัยนั้น

                   คณะกรรมการหมายความว่า คณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าชดเชยความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้เสียหาย

                   เจ้าหน้าที่หมายความว่า ผู้บัญชาการ รองผู้บัญชาการ ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ และเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

                   ข้อ ๒ เมื่อเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้เสียหายและมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากการบำบัดภยันตรายของเจ้าหน้าที่ ให้ผู้อำนวยการท้องถิ่นหรือผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครแห่งพื้นที่ที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ รายงานต่อผู้อำนวยการจังหวัดหรือผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครแล้วแต่กรณี ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รู้หรือควรจะได้รู้ถึงความเสียหาย เพื่อให้ผู้อำนวยการจังหวัดหรือผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งโดยไม่ชักช้า เพื่อพิจารณาเสนอความเห็นเกี่ยวกับผู้เสียหายที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยความเสียหายและจำนวนค่าชดเชยความเสียหาย
                  คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งให้มีจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคน โดยให้แต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในจังหวัดหรือในเขตกรุงเทพมหานครที่ทรัพย์สินของผู้เสียหายตั้งอยู่ แล้วแต่กรณีและให้ข้าราชการสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดหรือข้าราชการกรุงเทพมหานครแล้วแต่กรณี เป็นกรรมการและเลขานุการ
                   การรายงานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                   ข้อ ๓ ในกรณีเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้เสียหายต่อเนื่องกันหลายจังหวัด
หรือต่อเนื่องกันระหว่างจังหวัดกับกรุงเทพมหานคร ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการตามข้อ ๒
ร่วมกันแต่งตั้งคณะกรรมการ

                   ข้อ ๔ ในกรณีที่ผู้บัญชาการ รองผู้บัญชาการ ผู้อำนวยการกลาง ผู้อำนวยการจังหวัด
หรือผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการหรือมีส่วนร่วมดำเนินการบำบัดภยันตรายตามข้อ ๒ ให้นายกรัฐมนตรี ผู้บังคับบัญชา หรือผู้กำกับดูแลบุคคลดังกล่าว แล้วแต่กรณี มีอำนาจแต่งตั้ง คณะกรรมการตามข้อ ๒ โดยให้มีองค์ประกอบคณะกรรมการตามที่เห็นสมควร และมิให้นำข้อ ๒ วรรคสอง มาใช้บังคับ

                   ข้อ ๕ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
                   () สำรวจและจัดทำบัญชีรายชื่อผู้เสียหายและทรัพย์สินที่เสียหายไว้เป็นหลักฐานโดยตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานทั้งปวงที่เกี่ยวข้อง รับฟังพยานบุคคล และคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่และผู้เสียหาย หรือพยานผู้เชี่ยวชาญ และตรวจสอบเอกสาร วัตถุ หรือสถานที่
                   () พิจารณาข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ว่าได้ดำเนินการไปตาม
อำนาจหน้าที่ และได้กระทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้เสียหายหรือไม่
                   () กำหนดค่าชดเชยความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้เสียหาย

                   ข้อ ๖ ในการประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ
กรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่แทนมติที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการที่ไม่เห็นด้วยกับมติที่ประชุมอาจทำความเห็นแย้งมติที่ประชุมรวมไว้ในความเห็นของคณะกรรมการได้

                   ข้อ ๗ ให้คณะกรรมการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง หรือนับแต่วันที่ได้รับเรื่องที่ส่งมาตามข้อ ๑๑ วรรคสอง หากไม่อาจดำเนินการได้ทันภายในกำหนดจะต้องรายงานปัญหาและอุปสรรคให้ผู้แต่งตั้งคณะกรรมการทราบ เพื่อพิจารณาอนุมัติขยายระยะเวลาออกไปได้อีกไม่เกินสามสิบวัน

                   ข้อ ๘ ในการพิจารณากำหนดค่าชดเชยความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้เสียหาย
ให้คณะกรรมการคำนึงถึงสภาพของทรัพย์สินนั้น ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด หรือเทียบราคาที่อ้างอิงจากราคากลางที่ทางราชการกำหนดตามที่เป็นอยู่ในวันที่เกิดความเสียหายนั้น
การเสื่อมราคาจากการใช้ตามหลักเกณฑ์การคำนวณค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินที่กระทรวงการคลังกำหนดในการเรียกให้ผู้ทำละเมิดชดใช้ความเสียหายให้แก่ทางราชการ การที่ทางราชการได้บรรเทาหรือแก้ไขความเสียหายไปแล้ว และปัจจัยอื่นที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรม

                   ข้อ ๙ เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณากำหนดค่าชดเชยความเสียหายแก่ทรัพย์สินของ
ผู้เสียหายเสร็จแล้ว ให้เสนอความเห็นไปยังผู้แต่งตั้งคณะกรรมการ ถ้าผู้แต่งตั้งคณะกรรมการขอให้ทบทวนหรือสอบสวนเพิ่มเติม ให้คณะกรรมการรีบดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเวลาที่ผู้แต่งตั้ง
คณะกรรมการกำหนดความเห็นของคณะกรรมการต้องมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่แจ้งชัด และต้องมีพยานหลักฐานที่สนับสนุนประกอบด้วยความเห็นของคณะกรรมการไม่ผูกมัดผู้แต่งตั้งคณะกรรมการที่จะมีความเห็นเป็นอย่างอื่น

                   ข้อ ๑๐ เมื่อผู้แต่งตั้งคณะกรรมการได้มีความเห็นให้ชดเชยความเสียหายแก่ผู้เสียหายแล้วให้คณะกรรมการประกาศบัญชีรายชื่อผู้เสียหายที่มีสิทธิได้รับการชดเชยความเสียหาย ณ ศาลากลางจังหวัดหรือศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตแห่งพื้นที่ที่ทรัพย์สินของผู้เสียหายตั้งอยู่แล้วแต่กรณี ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีความเห็นของผู้แต่งตั้งคณะกรรมการ

                   ข้อ ๑๑ ผู้เสียหายผู้ใดที่มิได้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อตามข้อ ๑๐ ผู้เสียหายนั้นอาจยื่นคำร้องขอชดเชยความเสียหายต่อผู้อำนวยการท้องถิ่นหรือผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครแห่งพื้นที่ที่ทรัพย์สินของผู้เสียหายตั้งอยู่ได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้ประกาศบัญชีรายชื่อผู้เสียหายตามข้อ ๑๐ ให้ผู้อำนวยการท้องถิ่นหรือผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครออกใบรับคำขอแก่ผู้เสียหายตามวรรคหนึ่งไว้เป็นหลักฐาน แล้วส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการตามข้อ ๒ โดยไม่ชักช้า และให้นำข้อ ๗  มาใช้บังคับโดยอนุโลม
                   คำร้องขอและใบรับคำขอตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                   ข้อ ๑๒ ให้ผู้แต่งตั้งคณะกรรมการแจ้งผลการวินิจฉัยเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายพร้อมกับแจ้งสิทธิการอุทธรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองให้ผู้เสียหายทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับผลการพิจารณาของคณะกรรมการ
                   ผู้เสียหายมีสิทธิอุทธรณ์ผลการวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งโดยยื่นต่อผู้แต่งตั้งคณะกรรมการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการวินิจฉัยดังกล่าว

                   ข้อ ๑๓ การจ่ายค่าชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่หรือกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทรัพย์สินของผู้เสียหายตั้งอยู่ จ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้เสียหายโดยให้ใช้เงินจากงบประมาณรายได้ หรือเงินนอกงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่หรือกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี หากไม่มีหรือมีไม่เพียงพอ ให้ใช้เงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
                   ในการขอรับจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย
เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
                   () กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่ยกเว้นเมืองพัทยา ให้แจ้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ
                   () กรณีกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ให้ขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณโดยตรง

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.. ๒๕๕๔

    ฐานิสร์ เทียนทอง
รัฐมนตรีช่วยว่าการ ฯ ปฏิบัติราชการแทน 
    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๔๓ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.. ๒๕๕๐ บัญญัติให้การปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของผู้บัญชาการ รองผู้บัญชาการ ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการและเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัตินี้ หากเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้ใดซึ่งมิใช่เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการบำบัดภยันตรายจากสาธารณภัยนั้น ให้ทางราชการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้นั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

หนังสือโอนสิทธิการรับเงินของผู้รับเหมาต้องจ่าย

เรื่องย่อ 

ผู้ฟ้องคดีฟ้องเรียกเงินค่าจ้างทำงานจาก อบจ. เนื่องจาก ผู้ฟ้องคดี ได้รับจ้างทำการก่อสร้างอาคารสำนักงานของ อบจ. และต่อมา อบจ.ได้ว่าจ้างผู้รับเหมาอีกรายทำการตกแต่งภายใน และจัดหาเฟอร์นิเจอร์ แต่บริษัทดังกล่าวไม่มีเงินทุนพอ จึงตกลงให้บริษัทของผู้ฟ้องเป็นผู้ออกทุนให้ และทำหนังสือโอนสิทธิการรับเงินให้ผู้ฟ้องคดี ต่อมาบริษัทที่ทำหนังสือโอนสิทธิ์การรับเงิน ได้ทำหนังสือแจ้ง อบจ.ขอยกเลิกการโอนสิทธิ์การรับเงิน และขอรับเงินค่าจ้างเอง ซึ่ง อบจ. ก็จ่ายตามนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องเรียกเงินค้าจ้างพร้อมดอกเบี้ย

ศาลชั้นต้นและศาลปกครองสุงสุด ตัดสิน ให้ อบจ.ต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้กับผู้ฟ้องคดี พร้อมดอกเบี้ย
--------------------------------------------------------------------------------------------------- 
                                              คดีหมายเลขดำที่  อ. ๘๔๕/๒๕๕๑
                                                                             คดีหมายเลขแดงที่  อ. ๔๒๑/๒๕๒ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลปกครองสูงสุด
     วันที่      ๓๐      เดือน ธันวาคม  พุทธศักราช ๒๕๕๒

                                      บริษัท มาร์โบว์ ๓๐๐๐๓ จำกัด (มหาชน)                  ผู้ฟ้องคดี
ระหว่าง

                                          กระทรวงมหาดไทย  ที่ ๑ 

                                         กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  ที่ ๒

                                    จังหวัดยะลา  ที่ ๓
                                    องค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา  ที่ ๔
                                    นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา (นายอาซีส  เบ็ญหาวัน)  ที่ ๕
                                    ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา (นายราชพร  ทีปรัตนะ)  ที่ ๖
                                    หัวหน้าหน่วยการคลังองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา
                                    (นางสาวนฤภร  ศรีสวัสดิ์)  ที่ ๗                           ผู้ถูกฟ้องคดี

                                              
เรื่อง    คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง (อุทธรณ์คำพิพากษา)


        ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ ๖๒/๒๕๔๘ หมายเลขแดงที่ ๑๗๘/๒๕๕๑ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองสงขลา)คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเภทบริษัทจำกัด (มหาชน) ก่อนจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดมหาชน ผู้ฟ้องคดีจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดใช้ชื่อว่า บริษัท พงษ์สินโฮลดิ้ง จำกัด เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ได้ทำสัญญาเลขที่ ๑๗/๒๕๔๕ จ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ทำงานก่อสร้างอาคารสำนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จำนวน ๔ ชั้น ณ บริเวณถนนวงเวียน ๒–๓ ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน ๕๖,๐๓๐,๐๐๐ บาท และเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ได้ทำสัญญาเลขที่ ๙/๒๕๔๗ จ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ตกแต่งภายในอาคารสำนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ พร้อมจัดหาครุภัณฑ์ประจำห้องต่างๆ เป็นเงิน ๑๓,๔๔๗,๙๐๙ บาท แต่เนื่องจากห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ไม่สามารถหาเงินทุนมาดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาได้ จึงเสนอให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้างทั้งสองสัญญา โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ จะโอนสิทธิเรียกร้องการรับชำระหนี้ค่าจ้าง
จากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ให้แก่ผู้ฟ้องคดี ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ จึงทำสัญญา
ฉบับลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๕ โอนสิทธิเรียกร้องในการรับชำระหนี้ค่าจ้างก่อสร้างอาคารจำนวน ๕๖,๐๓๐,๐๐๐ บาท ที่มีอยู่กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่ผู้เดียว
และห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ได้ทำสัญญาฉบับลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๖
โอนสิทธิเรียกร้องในการรับชำระหนี้ค่าจ้างตกแต่งภายในอาคารจำนวน ๑๓,๔๔๗,๙๐๙ บาท
ที่มีอยู่กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่เพียงผู้เดียว หลังจากทำสัญญาโอนสิทธิ
เรียกร้องกันดังกล่าวแล้ว ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ กับผู้ฟ้องคดี ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ทราบ ตามหนังสือฉบับลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๕ และฉบับลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ได้รับทราบเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแล้วมิได้คัดค้านหรือทักท้วง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ได้มีหนังสือตอบรับทราบเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมายังผู้ฟ้องคดีตามหนังสือฉบับลงวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๔๕ และลงวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ กับผู้ฟ้องคดี จึงมีผลผูกพันผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ตามกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ต้องปฏิบัติตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องโดยต้องชำระเงินตามสัญญาจ้างให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่เพียงผู้เดียว หลังจากนั้นห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ได้เข้าทำการก่อสร้างอาคารและตกแต่งภายในอาคารตามสัญญาทั้งสองฉบับ เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จในแต่ละงวด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ได้ชำระเงินค่าจ้างตามสัญญาให้แก่ผู้ฟ้องคดีตลอดมา แต่ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ แจ้งไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ว่าขอยกเลิกสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้ค่าจ้างก่อสร้างอาคารที่มีอยู่กับผู้ฟ้องคดี และขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ชำระหนี้ค่าจ้างก่อสร้างอาคารส่วนที่เหลือให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ หลังจากนั้น ในวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๔๗ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ได้มีคำสั่งอนุมัติให้ชำระเงินตามสัญญาก่อสร้างอาคารตั้งแต่งวดที่ ๑๔ ถึงงวดที่ ๑๖ ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ เป็นเงิน ๑๖,๔๐๗,๕๙๙.๕๕ บาท และห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๗ แจ้งไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ว่าขอยกเลิกสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้ค่าจ้างตกแต่งอาคารที่มีอยู่กับผู้ฟ้องคดี โดยขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ชำระหนี้ค่าจ้างตกแต่งอาคารส่วนที่เหลือให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ หลังจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ได้มีคำสั่งอนุมัติให้ชำระเงินตามสัญญาจ้างตกแต่งอาคารส่วนที่เหลือเป็นเงินจำนวน ๒,๒๔๘,๓๒๖.๐๖ บาท เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๔๗ และเป็นเงินอีกจำนวน ๓,๗๓๐,๒๒๓.๗๓ บาท เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๗ รวมเป็นเงิน ๕,๙๑๗,๐๗๙.๙๖ บาท (ที่ถูก คือ ๕,๙๗๘,๕๔๙.๗๙ บาท) ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๗ และหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ มท ๐๓๑๓.๔/ว ๓๖๓๒ ลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๑ ที่กำหนดหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจ่ายเงินกรณีโอนสิทธิเรียกร้องไว้ว่าในการจ่ายเงินเมื่อมีการโอนสิทธิเรียกร้องนั้นไม่ว่าจ่ายครั้งเดียวหรือจ่ายหลายครั้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจ่ายเงินให้แก่ผู้รับโอนสิทธิโดยตรงเท่านั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ เป็นเจ้าพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมต้องทราบระเบียบและข้อบังคับดังกล่าวดีอยู่แล้ว แต่กลับชำระเงินค่าจ้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ซึ่งไม่มีสิทธิรับเงิน หรือหากกรณีเกิดความสงสัยตามหนังสือแจ้งยกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้องของห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ
ก็สมควรที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือมีหนังสือถึงผู้ฟ้องคดีให้ชี้แจงข้อเท็จจริงก่อนการชำระเงิน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ หาได้กระทำเช่นนั้นไม่ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย โดยไม่ได้รับชำระหนี้ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเป็นเงินจำนวน ๒๒,๓๒๔,๖๗๙.๕๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จนถึงวันฟ้อง ดังนี้ ต้นเงินจำนวน ๑๖,๔๐๗,๕๙๙.๕๕ บาท คำนวณตั้งแต่วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๔๗ จนถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ยจำนวน ๑,๑๙๖,๓๘๗ บาท ต้นเงินจำนวน ๒,๒๔๘,๓๒๖.๐๖ บาท คำนวณตั้งแต่วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๔๗ จนถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ยจำนวน ๑๖๓,๙๔๐ บาท ต้นเงินจำนวน ๓,๗๓๐,๒๒๓.๗๓ บาท คำนวณตั้งแต่วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๗ จนถึงวันฟ้อง เป็นเงินดอกเบี้ยจำนวน ๒๓๓,๑๓๙ บาท รวมเป็นเงินดอกเบี้ยทั้งหมดจำนวน ๑,๕๙๓,๔๖๖ บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหายตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน ๒๓,๙๗๙,๖๑๔ บาท นอกจากนั้น ผู้ฟ้องคดียังได้รับความเสียหายอื่นเพราะเหตุไม่ได้รับชำระหนี้ตามกำหนดเวลาที่ควรจะได้รับ ทำให้ขาดเงินทุนหมุนเวียนในบริษัทของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงต้องกู้ยืมเงินและจำหน่ายทรัพย์สินไปในทางที่เสียประโยชน์ ได้แก่ การขายที่ดินจำนวน ๑๒ ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี และมีราคาประเมินรวม ๔๒ ล้านบาท ไปในราคาเพียง ๑๑ ล้านบาท เนื่องจากผู้ฟ้องคดีต้องการใช้เงินเร่งด่วน ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายเป็นเงิน ๓๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท และผู้ฟ้องคดีต้องกู้ยืมเงินจากบุคคลภายนอก จำนวน ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๗ จนถึงวันฟ้องคดีเป็นเงินทั้งสิ้น ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท รวมค่าเสียหายทั้งหมดเป็นเงิน ๕๗,๙๗๙,๖๑๔ บาท เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายดังกล่าวต่อผู้ฟ้องคดี
ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเจ็ดร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน ๕๗,๙๗๙,๖๑๔ บาท และชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๒๒,๓๘๖,๑๔๙.๓๔ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ฟ้องคดีศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และการแสวงหาข้อเท็จจริงจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เพียงรายเดียว เพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้แล้ว จึงมิได้หมายเรียกให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ทำคำให้การยื่นต่อศาล โดยได้ส่งสำเนาคำฟ้องไปให้เฉพาะผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เพื่อทำคำให้การผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ให้การว่า ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองและศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีบรรยายฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดได้กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่เมื่อพิจารณามูลเหตุแห่งคดีแล้ว กรณีไม่ใช่เรื่องการกระทำละเมิด แต่เป็นเรื่องผิดสัญญา ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ให้แก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ทราบแล้ว  ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จึงต้องชำระค่าจ้างให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้ชำระค่าจ้างบางส่วนให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องเรียกเงินส่วนนั้นและค่าเสียหายอื่นที่อ้างว่าเกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งเป็นการฟ้องฐานผิดสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันเป็นข้อเท็จจริงเดียวกับที่ผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ และนางสาวณฐัญญา น้าวประจุล หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ เป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดสงขลาเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ตามคดีหมายเลขดำที่ ๑๕๖๒/๒๕๔๗ โดยผู้ฟ้องคดีได้ระบุในคำฟ้องดังกล่าวว่าเป็นการฟ้องในข้อหาหรือฐานความผิด “โอนสิทธิเรียกร้อง ผิดสัญญาจ้าง” ซึ่งศาลจังหวัดสงขลาได้ประทับรับฟ้องและจำเลยได้ยื่นคำให้การแล้ว คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดสงขลา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้กับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๕๖๒/๒๕๔๗ ของศาลจังหวัดสงขลาเป็นข้อเท็จจริงเดียวกัน อันเป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง ไม่ใช่สัญญาทางปกครอง  ดังนั้น การที่ศาลจังหวัดสงขลาได้รับฟ้องของผู้ฟ้องคดีในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๕๖๒/๒๕๔๗ นั้น จึงชอบแล้ว ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองอีก นอกจากนั้น ผู้ฟ้องคดีได้อาศัยข้อเท็จจริงเดียวกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟ้องนายราชพร ทีปรัตนะ (ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ในคดีนี้) ที่ ๑ นางสาวนฤภร ศรีสวัสดิ์
(ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ในคดีนี้) ที่ ๒ ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ที่ ๓ และนางสาวณฐัญญา น้าวประจุล ที่ ๔ เป็นจำเลยในคดีอาญา ในข้อหาหรือฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตต่อศาลจังหวัดยะลา ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๒๒๖–๒๒๗/๒๕๔๘ ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการไต่สวนมูลฟ้อง คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๔๐ และมาตรา ๔๖ ผู้ฟ้องคดีจะต้องฟ้องคดีต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่ง ซึ่งก็คือศาลจังหวัดยะลาหรือศาลจังหวัดสงขลาเท่านั้น และในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา  ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง อย่างไรก็ตามหากจะพิจารณาว่าการฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องว่าหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อเอกชนตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างแล้ว ผู้ฟ้องคดีก็ไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพราะกรณีนี้ผู้ฟ้องคดีซึ่งอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ชอบที่จะยื่นคำขอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ให้พิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้ยื่นคำขอดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ดำเนินการตามมาตรา ๔๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒  ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ยอมรับข้อเท็จจริงว่าได้ทำสัญญาจ้างกับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ตามสัญญาเลขที่ ๑๗/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๕ และตามสัญญาเลขที่ ๙/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๖ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้ชำระค่าจ้างตามสัญญาทั้งสองฉบับครบถ้วนแล้ว ตามสำเนาฎีกาเบิกเงิน ใบเสร็จรับเงิน และเอกสารที่เกี่ยวข้องท้ายคำให้การ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ไม่รับรองว่าผู้ฟ้องคดีกับบริษัท พงษ์สินโฮลดิ้ง จำกัด จะเป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่ แต่สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ กับบริษัท พงษ์สินโฮลดิ้ง จำกัด เป็นการแสดงเจตนาลวงและเป็นนิติกรรมอำพรางที่ทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมที่แท้จริงระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ กับบริษัท พงษ์สินโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งก็คือสัญญากิจการร่วมค้าที่ทั้งสองฝ่ายได้ทำสัญญาต่อกัน ตามสัญญาดังกล่าวคู่สัญญามีวัตถุประสงค์ในการร่วมค้า คือ จะร่วมประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง โดยผู้ฟ้องคดีจะรับผิดชอบทำหน้าที่ควบคุมต้นทุน การจัดหาวัสดุอุปกรณ์ สนับสนุนทางด้านการเงิน ส่วนห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ จะรับผิดชอบเป็นผู้ปฏิบัติงานจัดหาช่าง คนงาน เพื่อทำการงานให้แล้วเสร็จตามแผนงาน และคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงแบ่งปันผลกำไรอันเกิดจากการร่วมค้า  ดังนั้น สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ กับบริษัท พงษ์สินโฮลดิ้ง จำกัด จึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย อีกทั้ง ปรากฏข้อเท็จจริงว่าแม้ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ จะได้โอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างให้แก่บริษัท พงษ์สินโฮลดิ้ง จำกัด แล้ว แต่ในการรับเงินค่าจ้างทุกครั้ง ผู้ฟ้องคดีได้มอบอำนาจให้นางวันดี พูลศิริ หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ เป็นผู้รับเงินจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ได้ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ด้วย  ดังนั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้ชำระค่าจ้างตามสัญญาจ้างทั้งสองฉบับครบถ้วนแล้ว ไม่ว่าจะชำระให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ก็ถือว่าได้ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว หนี้ย่อมระงับ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ใดๆ อีก ส่วนการที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าไม่ได้รับเงินค่าจ้างดังกล่าวจากห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ นั้น เป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีต้องไปเรียกร้องเอากับ
ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ตามสัญญาร่วมค้าต่อไป นอกจากนั้น หนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเลขที่ ๙/๒๕๔๗ ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะผู้ลงนามฝ่ายผู้รับโอนไม่มีอำนาจจัดการแทนบริษัทผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงไม่อาจถือเอาประโยชน์แห่งสัญญาเรียกร้องดังกล่าวได้และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ มิได้ให้ความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ กับบริษัท พงษ์สินโฮลดิ้ง จำกัด  ดังนั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้ชำระหนี้ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ครบถ้วนแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ย่อมยกข้อต่อสู้ดังกล่าวต่อสู้ผู้ฟ้องคดีได้ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ไม่ต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดีแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จึงไม่ต้องชำระดอกเบี้ยใดๆ ให้แก่ผู้ฟ้องคดี ส่วนค่าเสียหายอันเกิดจากการขายที่ดินในราคาที่ลดลงเป็นเงิน ๓๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท กับค่าเสียหายจากการกู้ยืมเงินบุคคลภายนอกโดยต้องเสียดอกเบี้ยจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างนั้น ค่าเสียหายดังกล่าวแม้หากจะเกิดขึ้นจริงก็ไม่ได้เกิดจากการกระทำหรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ยื่นคำร้องโต้แย้งเรื่องเขตอำนาจศาลว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้กับข้อเท็จจริงในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๕๖๒/๒๕๔๗ ของศาลจังหวัดสงขลา เป็นข้อเท็จจริงเดียวกัน และเป็นเรื่องผิดสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันเป็นสัญญาทางแพ่ง ไม่ใช่สัญญาทางปกครอง และไม่ใช่กรณีหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อเอกชน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลจังหวัดสงขลา ขอให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ และมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลจังหวัดสงขลาศาลปกครองชั้นต้นจึงรอการพิจารณาไว้เป็นการชั่วคราวและทำความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลส่งไปยังสำนักงานศาลยุติธรรม โดยเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง สำนักงาน
ศาลยุติธรรมได้ส่งความเห็นดังกล่าวไปยังศาลจังหวัดสงขลาเพื่อทำความเห็นเกี่ยวกับ
อำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาด
อำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒  ต่อมา ศาลจังหวัดสงขลาทำความเห็นส่งมายัง
ศาลปกครองชั้นต้น โดยมีความเห็นพ้องกับศาลปกครองช้นต้นว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลปกครองชั้นต้น
จึงดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ต่อไป
        ผู้ฟ้องคดีคัดค้านคำให้การว่า กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ กล่าวอ้างว่าผู้ฟ้องคดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ทำสัญญาในลักษณะเข้าเป็นหุ้นส่วนกิจการร่วมค้าและการทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเป็นการแสดงเจตนาลวงและเป็นนิติกรรมอำพรางนั้น ผู้ฟ้องคดีเคยดำเนินกิจการในลักษณะกิจการร่วมค้ากับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจเพียงโครงการเดียว คือ โครงการที่ทำสัญญากับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล เพื่อรับจ้างก่อสร้างตลาดนัดชายแดนไทย–มาเลเซีย โดยในการทำสัญญาดังกล่าวจะทำในนามของกิจการร่วมค้าพงษ์สินโฮลดิ้ง หาดใหญ่ประมวลกิจ ในฐานะผู้รับจ้าง แต่สัญญาระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ กับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ทั้งสองสัญญาในคดีนี้มิได้มีลักษณะเป็นกิจการร่วมค้า หากแต่เป็นโครงการที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ เป็นผู้รับจ้างในการก่อสร้าง แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ไม่มีทุนเพียงพอที่จะใช้ในการก่อสร้าง จึงขอให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ในการก่อสร้างและตกแต่งอาคาร ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ จึงได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ทั้งสองสัญญา ให้แก่ผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ จ่ายเงินให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ และนางวันดี พูลศิริ จึงเป็นการจ่ายเงินให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิรับเงินตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง มูลหนี้ของผู้ฟ้องคดีจึงหาระงับไปไม่ สำหรับวิธีปฏิบัติในการรับชำระเงินที่ผู้ฟ้องคดีมอบอำนาจให้นางวันดี เป็นผู้รับเงินแทนนั้น ในการรับเงินงวดที่ ๑ ถึงงวดที่ ๑๓ ตามสัญญาจ้างเลขที่ ๑๗/๒๕๔๕ ผู้ฟ้องคดีมอบอำนาจให้นางวันดีเป็นผู้รับเงินแทน แต่การชำระเงินค่าจ้างในงวดที่ ๑๔ ถึงงวดที่ ๑๖ จำนวน ๑๖,๔๐๗,๕๙๙.๕๕ บาท ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จ่ายให้กับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ไปนั้น ผู้ฟ้องคดีไม่ได้มอบอำนาจให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ หรือผู้ใดไปรับเงินแทน และในการรับเงินงวดที่ ๑ ถึงงวดที่ ๗ ตามสัญญาจ้างเลขที่ ๙/๒๕๔๗ ผู้ฟ้องคดีมอบอำนาจให้นางวันดีเป็นผู้รับเงินแทน ส่วนการชำระเงินงวดที่ ๘ ถึงงวดที่ ๑๐ จำนวน ๕,๙๑๗,๐๗๙.๙๖ บาท ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จ่ายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ นั้น ผู้ฟ้องคดีไม่ได้มอบอำนาจให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ หรือผู้ใดไปรับเงินแทน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ กลับจ่ายเงินให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ไปโดยฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่กำหนดให้จ่ายเงินแก่ผู้รับโอนสิทธิเท่านั้น โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ได้สมคบกับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ และนางวันดี อ้างข้อความอันเป็นเท็จเพื่อยกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้องของผู้ฟ้องคดีและหลีกเลี่ยงระเบียบแบบแผนของทางราชการในการจ่ายเงินค่าจ้างดังกล่าว โดยการจัดทำหนังสือลงวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ และหนังสือลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๗ ขอยกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้องการรับชำระเงินตามสัญญาจ้างทั้งสองสัญญา และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ อาศัยข้อความในหนังสือดังกล่าวอนุมัติการขอยกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้อง โดยมิได้สอบถามผู้ฟ้องคดีหรือตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของเหตุผลที่กล่าวอ้างในหนังสือดังกล่าวจากผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีได้ร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาเพื่อให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ตามหนังสือลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๗ จังหวัดยะลาโดยท้องถิ่นจังหวัดยะลาจึงได้มีหนังสือ ที่ มท ๐๘๖๑.๔/๐๒๘ ลงวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๘ หารือไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีหนังสือ ที่ มท ๐๘๐๘.๔/๑๗๘๖ ลงวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ตอบข้อหารือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ไม่สามารถยกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้ นอกจากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อสอบสวนเรื่องร้องเรียนของผู้ฟ้องคดี ต่อมา คณะกรรมการงานกฎหมายระเบียบ
และเรื่องราวร้องทุกข์ได้สรุปผลการสอบสวนตามบันทึกลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๗ เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีความบกพร่อง ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายหรือมีเจตนาที่จะทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ควรตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาได้มีหนังสือ ที่ มท ๐๘๖๑.๔/๒๕๒ ลงวันที่ ๒๗ กรกฏาคม ๒๕๔๗ แจ้งผลการสอบสวนดังกล่าวให้ผู้ฟ้องคดีทราบ การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ไม่เป็นไปตามวิธีปฏิบัติในการจ่ายเงินกรณีโอนสิทธิเรียกร้องของกระทรวงการคลังและกรมบัญชีกลาง ผู้ฟ้องคดีจึงได้ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ และนางวันดี เป็นคดีอาญาต่อศาลจังหวัดยะลา ในข้อหาร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ซึ่งศาลจังหวัดยะลามีคำสั่งว่าคดีมีมูลและประทับรับฟ้องไว้พิจารณาแล้ว  ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ให้การว่า การโอนสิทธิเรียกร้องของผู้ฟ้องคดีไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะผู้ฟ้องคดีลงนามโดยไม่มีอำนาจนั้น เห็นว่า ตามมาตรา ๓๐๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดว่า การโอนสิทธิเรียกร้องที่จะพึงชำระต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือท่านว่าไม่สมบูรณ์ ซึ่งตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว หมายความว่า ทั้งผู้โอนและผู้รับโอนจะต้องทำข้อตกลงการโอนสิทธิเรียกร้องกันเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนการลงนามในหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องนั้น ผู้โอนจะต้องลงนามในหนังสือเป็นสำคัญโดยทางฝ่ายผู้รับโอนจะลงนามหรือไม่ก็ได้ สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องย่อมมีผลสมบูรณ์ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๑๓๙/๒๕๓๒ เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องในคดีนี้ได้ทำเป็นหนังสือถูกต้องสมบูรณ์แล้ว จึงมีผลบังคับตามกฎหมาย อีกทั้ง กรรมการของผู้ฟ้องคดีได้ลงนามในสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องทั้งสองฉบับครบถ้วนตามระเบียบแล้ว เพราะเดิมในขณะทำสัญญาเลขที่ ๑๗/๒๕๔๕ นั้น ผู้ฟ้องคดีจดทะเบียนนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ใช้ชื่อว่าบริษัท พงษ์สินโฮลดิ้ง จำกัด ระบุอำนาจกรรมการไว้ว่ากรรมการคนหนึ่งลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัทมีอำนาจทำการแทนบริษัทได้ ต่อมา ผู้ฟ้องคดีได้จดทะเบียนเปลี่ยนฐานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท มาร์โบว์ ๓๐๐๐๓ จำกัด (มหาชน) ดังนั้น บริษัท พงษ์สินโฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท มาร์โบว์ ๓๐๐๐๓ จำกัด (มหาชน) จึงเป็นบุคคลเดียวกัน การลงนามในสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเลขที่ ๙/๒๕๔๗ เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของบริษัทผู้ฟ้องคดีแล้ว สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว
จึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย นอกจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้ให้ความยินยอมเกี่ยวกับการโอนสิทธิเรียกร้องของผู้ฟ้องคดีเป็นหนังสือแจ้งมายังผู้ฟ้องคดีแล้วทั้งสองสัญญา และมิได้คัดค้านการโอนสิทธิ ทั้งยังได้ชำระเงินตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องแก่ผู้ฟ้องคดีตามสัญญาก่อสร้างอาคาร (สัญญาเลขที่ ๑๗/๒๕๔๕) ตั้งแต่งวดที่ ๑ ถึงงวดที่ ๑๓ และตามสัญญาจ้างตกแต่งอาคาร (สัญญาเลขที่ ๙/๒๕๔๗) ตั้งแต่งวดที่ ๑ ถึงงวดที่ ๗ ด้วยดีตลอดมา การโอนสิทธิเรียกร้องของผู้ฟ้องคดีจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย สำหรับข้อโต้แย้งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เกี่ยวกับประเด็นความเสียหายนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับเงินครบถ้วนตามสัญญา ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายจริง เพราะในการดำเนินการก่อสร้างและตกแต่งอาคารกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ทั้งสองสัญญา ผู้ฟ้องคดีจะต้องเป็นผู้จ่ายเงินค่าวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ตกแต่ง ค่าแรงให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ เมื่องานเสร็จในแต่ละงวดผู้ฟ้องคดีจึงจะมีสิทธิได้รับเงินจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ทั้งนี้ ในการหาเงินมาเป็นทุนให้กับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีต้องอาศัยเครดิตของผู้ฟ้องคดีในการกู้เงินจากบุคคลภายนอก รวมถึงการสั่งซื้อสินค้าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆ จากบุคคลภายนอกมาให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ไปดำเนินการก่อสร้างและตกแต่งให้เป็นไปตามสัญญา แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับเงินตามสัญญา จึงไม่สามารถชำระหนี้ได้ ดังนั้น เพื่อไม่ให้ผู้ฟ้องคดีตกเป็นผู้ผิดสัญญาต่อเจ้าหนี้บุคคลภายนอกและถูกดำเนินคดี ผู้ฟ้องคดีจึงต้องนำที่ดินจำนวน ๑๒ ไร่ ซึ่งมีราคา ๔๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ออกขายแก่บุคคลภายนอก ในราคาต่ำเพียง ๑๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อจะได้นำเงินไปชำระหนี้แก่บุคคลภายนอก โดยที่ดินดังกล่าวเป็นของบิดานายพิชัย บุญสม กรรมการและผู้ถือหุ้นของผู้ฟ้องคดี ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีต้องขายที่ดินดังกล่าวไปในราคาต่ำกว่าท้องตลาดจึงเป็นผลโดยตรงมาจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจำนวน ๓๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามฟ้องด้วย
        ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ให้การเพิ่มเติมว่า กรณีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องไม่ใช่นิติกรรมอำพรางนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะผู้ฟ้องคดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ได้ทำหนังสือสัญญากิจการร่วมค้ากันเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕ โดยสัญญาดังกล่าว ข้อ ๔ กำหนดวัตถุประสงค์ว่าจะร่วมกันประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง ข้อ ๕ ได้ตกลงแบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายไว้ชัดเจน ข้อ ๗ กำหนดว่า สัญญาร่วมค้าจะสิ้นสุดลงในกรณีใดบ้าง และข้อ ๘ กำหนดการแบ่งทรัพย์สินเมื่อสัญญาสิ้นสุด ซึ่งเมื่อพิจารณาว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ได้ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ตามสัญญาเลขที่ ๙/๒๕๔๗ ซึ่งเป็นมูลเหตุของคดีนี้เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๖ อันเป็นเวลาภายหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีได้ทำสัญญากิจการร่วมค้ากับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ และสัญญาดังกล่าวยังมีผลบังคับอยู่ และยังไม่ปรากฏว่ามีเหตุที่จะทำให้สัญญาสิ้นสุด ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ แล้ว สิทธิและหน้าที่อันเกิดจากสัญญาจ้างเลขที่ ๙/๒๕๔๗ ดังกล่าวย่อมตกอยู่ใต้บังคับของสัญญากิจการร่วมค้า แม้ว่าในสัญญาเลขที่ ๙/๒๕๔๗ ไม่ได้ระบุว่าได้ทำในนามของกิจการร่วมค้าก็ตาม อีกทั้ง ในสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องข้อ ๗ ยังกำหนดไว้ด้วยว่าการโอนสิทธิเรียกร้องนี้ไม่กระทบกระเทือนต่อการที่บริษัทฯ ใช้สิทธิบังคับให้ผู้โอนสิทธิเรียกร้องปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาเงินกู้ ฯลฯ หรือสัญญาอื่นๆ ที่ผู้โอนสิทธิเรียกร้องให้ไว้ต่อบริษัทฯ ซึ่งคำว่า สัญญาอื่นๆ ย่อมหมายถึง สัญญากิจการร่วมค้าด้วย ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดเจนว่า สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเป็นเพียงเจตนาลวงอันเป็นนิติกรรมอำพราง เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการทางธุรกิจของผู้ฟ้องคดีเท่านั้น มิใช่เป็นนิติกรรมสัญญาตามเจตนาอันแท้จริงของคู่กรณี ดังนั้น สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องจึงเป็นโมฆะ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้ชำระหนี้ไปครบถ้วนแล้ว หนี้จึงระงับ ส่วนสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ย่อมเป็นไปตามสัญญากิจการร่วมค้า ซึ่งผู้ฟ้องคดีจะต้องไปว่ากล่าวเอากับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ต่อไป นอกจากนั้น หากจะพิจารณาถึงความสมบูรณ์ของสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวก็ไม่มีผลตามกฎหมาย เพราะฝ่ายผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้รับโอนมีผู้ลงนามเพียงผู้เดียว คือ นายพิชัย บุญสม ในขณะที่ตามหนังสือรับรองจะต้องลงนามสองคน ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้การโอนสิทธิเรียกร้องต้องทำเป็นหนังสือซึ่งหมายความว่าจะต้องลงนามทั้งสองฝ่าย หากเป็นนิติบุคคลก็จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของนิติบุคคลนั้นๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้ จะเห็นว่า
ผู้ฟ้องคดีมิได้มีแต่เพียงสิทธิเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่ตามสัญญาข้อ ๖ ด้วย ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีลงนามในสัญญาไม่ครบถ้วน จึงไม่ทำให้สัญญาดังกล่าวมีผลบังคับ และที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีความเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ มีความบกพร่องไม่ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายนั้น ก็เป็นเพียงความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และความเห็นดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานการรับฟังข้อเท็จจริงว่า การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ กับผู้ฟ้องคดีมีผลใช้บังคับได้ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้ ความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จึงไม่อาจนำมากล่าวอ้างได้  ส่วนการที่ศาลจังหวัดยะลามีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีอาญาที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ กับพวก เป็นจำเลยนั้น ไม่ได้แสดงว่าจำเลยกระทำความผิด เป็นแต่เพียงศาลรับคดีไว้พิจารณาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีอาญาอย่างไรก็ไม่มีผลผูกพันต่อการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าการพิจารณาคดีปกครองจะต้องถือข้อเท็จจริงตามคดีอาญา
        ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง จึงถือว่าผู้ฟ้องคดีมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองเฉพาะกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ว่าจ้างตามสัญญาจ้างที่พิพาททั้งสองฉบับ ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิฟ้องเฉพาะผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ให้รับผิดตามสัญญาได้เท่านั้น ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ มิได้เป็นคู่สัญญากับผู้ฟ้องคดี ถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาที่พิพาททั้งสองฉบับกับผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ต่อศาลตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
        สำหรับประเด็นที่ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ กระทำผิดสัญญา และต้องชำระหนี้ค่าจ้างกับค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ฟ้องคดีตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ทำสัญญาเลขที่ ๑๗/๒๕๔๕ จ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ก่อสร้างอาคาร เป็นเงิน ๕๖,๐๓๐,๐๐๐ บาท และทำสัญญาเลขที่ ๙/๒๕๔๗ จ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ตกแต่งอาคาร เป็นเงิน ๑๓,๔๔๗,๙๐๙ บาท ฉะนั้น เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ทำการก่อสร้างและตกแต่งอาคารตามสัญญาเสร็จ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จึงมีหนี้ค่าจ้างที่จะต้องชำระให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ และถือเป็นหนี้ที่จะพึงชำระให้แก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง และเมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ได้ทำหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องฉบับลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๕ โอนสิทธิเรียกร้องการรับชำระหนี้ค่าจ้างก่อสร้างอาคารจำนวน ๕๖,๐๓๐,๐๐๐ บาท และทำหนังสือสัญญาฉบับลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ โอนสิทธิเรียกร้องการรับชำระหนี้ค่าจ้างตกแต่งอาคาร จำนวน ๑๓,๔๔๗,๙๐๙ บาท ดังกล่าว ให้แก่ผู้ฟ้องคดี หนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องทั้งสองฉบับจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย และเมื่อผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๕ กับหนังสือลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ บอกกล่าวเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาทั้งสองฉบับไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่งเป็นลูกหนี้ค่าจ้าง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้มีหนังสือ ที่ ยล ๕๑๐๐๔/๑๐๐๐ ลงวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๔๕ กับหนังสือ ที่ ยล ๕๑๐๐๔/๒๗๙๘ ลงวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ แจ้งรับทราบการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไปยังผู้ฟ้องคดีแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมีผลผูกพันให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ต้องชำระหนี้ค่าจ้างก่อสร้างและค่าจ้างตกแต่งอาคารให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จะได้ให้ความยินยอมในการโอนนั้นด้วยหรือไม่ เพราะตามมาตรา ๓๐๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดว่า ให้มีการบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้ให้ความยินยอมในการโอนแต่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ อ้างว่าหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องฉบับลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ ที่โอนหนี้ค่าจ้างตกแต่งอาคาร จำนวน ๑๓,๔๔๗,๙๐๙ บาท ตามสัญญาเลขที่ ๙/๒๕๔๗ ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะผู้ลงนามฝ่ายผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้รับโอนลงนามโดยไม่มีอำนาจนั้น เห็นว่า ตามมาตรา ๓๐๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดแต่เพียงว่าการโอนหนี้อันจะพึงชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ จะไม่สมบูรณ์ โดยกฎหมายมิได้กำหนดว่าหนังสือโอนหนี้หรือสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจะต้องลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอนด้วย ดังนั้น แม้หนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องฉบับลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ จะลงลายมือชื่อผู้โอน คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ เพียงฝ่ายเดียว โดยฝ่ายผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้รับโอนมิได้ลงลายมือชื่อหรือลงลายมือชื่อไม่ครบหรือลงลายมือชื่อโดยบุคคลผู้ไม่มีอำนาจทำการแทนผู้ฟ้องคดี หนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวย่อมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ กรณีนี้จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้  สำหรับกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ อ้างว่า สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างผู้ฟ้องคดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ เป็นการแสดงเจตนาลวงและเป็นนิติกรรมอำพราง เพราะผู้ฟ้องคดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ได้ทำสัญญากิจการร่วมค้าในการรับเหมาก่อสร้างตามสัญญาฉบับลงวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕ อันมีผลให้สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย และเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้ชำระหนี้ค่าจ้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ครบถ้วนแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จึงหลุดพ้นจาก
การชำระหนี้นั้น เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีและห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากกัน แม้ผู้ฟ้องคดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ จะได้ทำสัญญากิจการร่วมค้าตามสัญญาฉบับลงวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕ กันไว้ แต่ตามข้อ ๑ ของสัญญาดังกล่าวระบุว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงทำกิจการร่วมค้าภายใต้ชื่อ “กิจการร่วมค้าพงษ์สินโฮลดิ้ง หาดใหญ่ประมวลกิจ” และตามข้อ ๒ ระบุว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงให้นายพิชัย บุญสม และนางวันดี พูลศิริ เป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกัน และประทับตราสำคัญของทั้งสองฝ่ายในเอกสารต่างๆ ของสัญญาร่วมค้าและเอกสารทั้งปวงที่เกิดขึ้นในการดำเนินกิจการร่วมค้าในกรณีจำเป็นหรือมีเหตุผลอันสมควร คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายอาจมอบอำนาจให้บุคคลใดหรือคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียวเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการแทนกิจการร่วมค้าก็ได้ ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ จะผูกพันกันตามสัญญากิจการร่วมค้าก็เฉพาะกิจการที่กระทำในนามของกิจการร่วมค้าเท่านั้น โดยกิจการหรือสัญญาต่างๆ ที่กระทำกับบุคคลภายนอกจะต้องระบุไว้ด้วยว่ากระทำในนามกิจการร่วมค้าพงษ์สินโฮลดิ้ง หาดใหญ่ประมวลกิจ และนายพิชัยต้องร่วมลงลายมือชื่อ รวมทั้งประทับตราของฝ่ายผู้ฟ้องคดีร่วมในสัญญาด้วย หากกิจการหรือสัญญาใดมิได้ระบุว่ากระทำในนามกิจการร่วมค้า และนายพิชัยไม่ได้ร่วมลงลายมือชื่อ รวมทั้งมิได้ประทับตราของผู้ฟ้องคดีร่วมด้วย หรือมิได้มีการมอบอำนาจให้อีกฝ่ายหนึ่งดำเนินการแทนแล้ว ต้องถือว่ากิจการหรือสัญญาที่ทำขึ้นนั้นกระทำในนามส่วนตัวของห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ เท่านั้น ดังนั้น เมื่อสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารและสัญญาจ้างตกแต่งอาคารที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ทำกับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ มิได้ใช้ชื่อ “กิจการร่วมค้าพงษ์สินโฮลดิ้ง หาดใหญ่ประมวลกิจ” และนายพิชัยไม่ได้ร่วมลงลายมือชื่อ รวมทั้งมิได้ประทับตราสำคัญของฝ่ายผู้ฟ้องคดีในสัญญาดังกล่าว และผู้ฟ้องคดีมิได้มอบอำนาจให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ทำสัญญากับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ในลักษณะกิจการร่วมค้า จึงต้องถือว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ทำสัญญารับจ้างก่อสร้างและตกแต่งอาคารกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ในฐานะส่วนตัวของ
ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ เอง มิใช่กระทำในฐานะกิจการร่วมค้ากับผู้ฟ้องคดี การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ โอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างก่อสร้างและตกแต่งอาคารดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดี จึงมิใช่เป็นการแสดงเจตนาลวง และมิใช่นิติกรรมอำพรางที่ไม่มีผลบังคับตามกฎหมายดังที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ กล่าวอ้าง อีกทั้ง ก่อนที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ จะมีหนังสือแจ้งขอยกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ก็ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้ชำระหนี้ค่าจ้างก่อสร้างและค่าจ้างตกแต่งอาคารตามหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีตลอดมา โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ มิได้โต้แย้งคัดค้าน ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จ่ายค่าจ้างส่วนที่เหลือให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ หรือบุคคลอื่น หลังจากห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ บอกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ แล้ว ย่อมไม่ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ หลุดพ้นจากการชำระหนี้ที่มีต่อผู้ฟ้องคดี ข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ในกรณีนี้จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้เช่นเดียวกัน  เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า หนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างผู้ฟ้องคดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ มีผลสมบูรณ์และผูกพันผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ตามกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จึงมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ค่าจ้างก่อสร้างอาคารและค่าจ้างตกแต่งอาคารให้แก่ผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ไม่ชำระหนี้ค่าจ้างก่อสร้างอาคารส่วนที่เหลือตั้งแต่งวดที่ ๑๔ ถึงงวดที่ ๑๖ เป็นเงินจำนวน ๑๖,๔๐๗,๕๙๙.๕๕ บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี และไม่ชำระหนี้ค่าจ้างตกแต่งอาคารส่วนที่เหลือจำนวน ๕,๙๗๘,๕๔๙.๗๙ บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่ชำระเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ โดยไม่ได้รับความยินยอมหรือรับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องฉบับลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๕ และฉบับลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ไม่หลุดพ้นจากการชำระหนี้ และยังมีหน้าที่ต้องชำระเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าว เป็นเงินรวม ๒๒,๓๘๖,๑๔๙.๓๔ บาท แก่ผู้ฟ้องคดี  ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑๖,๔๐๗,๕๙๙.๕๕ บาท ตั้งแต่วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๔๗ จนถึงวันฟ้อง (วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๔๘) เป็นเงิน ๑,๑๙๖,๓๘๗ บาท ของต้นเงิน ๒,๒๔๘,๓๒๖.๐๖ บาท นับแต่วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๔๗ จนถึงวันฟ้อง (วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๔๘) เป็นเงิน ๑๖๓,๙๔๐ บาท และของต้นเงิน ๓,๗๓๐,๒๒๓.๗๓ บาท ตั้งแต่วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๗ จนถึงวันฟ้อง เป็นเงิน ๒๓๓,๑๙๓ บาท นั้น เห็นว่า เงินค่าจ้างก่อสร้างและค่าตกแต่งอาคารดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดจากสัญญาจ้าง มิใช่หนี้ที่เกิดจากการกระทำละเมิด หนี้ดังกล่าวจึงถึงกำหนดชำระเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้ตรวจ
รับงานที่จ้างจากห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ แล้ว หนี้ดังกล่าวจึงไม่ใช่หนี้ที่กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินที่หากลูกหนี้มิได้ชำระตามกำหนดแล้วจะตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิต้องเตือน ตามมาตรา ๒๐๔ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น หากหนี้ค่าจ้างก่อสร้างและตกแต่งอาคารดังกล่าวถึงกำหนดชำระแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ไม่ชำระให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามสัญญา ผู้ฟ้องคดีต้องแจ้งเตือนไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เพื่อให้ชำระหนี้ภายในเวลากำหนดก่อน หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ไม่ชำระตามกำหนดเวลาที่เตือนไป ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ถึงจะตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา ๒๐๔ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สำหรับคดีนี้หลังจากหนี้ค่าจ้างก่อสร้างและตกแต่งอาคาร จำนวน ๒๒,๓๘๖,๑๔๙.๓๔ บาท ถึงกำหนดชำระแล้วไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือเตือนไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ให้ชำระหนี้ดังกล่าวแก่ผู้ฟ้องคดีภายในเวลาที่กำหนด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จึงยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด และไม่ต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ฟ้องคดีในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่มีการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ จนถึงวันฟ้อง แต่การที่ผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดสงขลาตามคดีหมายเลขดำที่ ๑๕๖๒/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๗ เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ชำระเงินดังกล่าว ถือว่าเป็นการเตือนให้ชำระหนี้แล้ว เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ไม่ชำระ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับตั้งแต่วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ซึ่งเป็นวันฟ้องแพ่งดังกล่าวเป็นต้นไป และต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๗ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ฟ้องคดี ตามมาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย โดยดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน ๒๒,๓๘๖,๑๔๙.๓๔ บาท คิดถึงวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นวันฟ้องคดีนี้ เป็นเวลา ๒๖๐ วัน เป็นเงิน ๑,๑๙๕,๙๗๑.๔๐ บาท ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จึงต้องชำระเงินทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องแก่ผู้ฟ้องคดี รวมเป็นเงิน ๒๓,๕๘๒,๑๒๐.๗๔ บาท  สำหรับกรณีที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ไม่ชำระเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีขาดเงินทุนหมุนเวียนที่จะต้องนำไปใช้จ่ายค่าวัสดุก่อสร้างและค่าใช้จ่ายอื่นๆ จึงต้องนำที่ดิน จำนวน ๑๒ ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองปัตตานีและมีราคาประเมิน ๔๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ออกขายในราคาต่ำเพียง ๑๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายจากการขายที่ดินดังกล่าวเป็นเงิน ๓๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท นั้น เห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าขายที่ดินดังกล่าวไปในราคา
๑๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ทั้งที่ที่ดินมีราคาประเมิน ๔๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท มิใช่ความเสียหายโดยตรงที่เกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ไม่ชำระเงินค่าจ้างแก่ผู้ฟ้องคดีตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินจำนวน ๓๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ดังกล่าว แก่ผู้ฟ้องคดีส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายจากการไปกู้ยืมเงินบุคคลภายนอกจำนวน ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ต้องเสียดอกเบี้ยจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท นั้น เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงต่อศาลว่าได้กู้ยืมเงินจากบุคคลอื่นและเสียดอกเบี้ยดังกล่าวจริง จึงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายจากการต้องเสียดอกเบี้ยเงินกู้จำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จึงไม่ต้องชำระค่าเสียหายจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี
         ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ชำระเงินจำนวน ๒๓,๕๘๒,๑๒๐.๗๔ บาท และชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๒๒,๓๘๖,๑๔๙.๓๔ บาท นับตั้งแต่วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ฟ้องคดี โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ชำระให้เสร็จภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันมีคำพิพากษา กับให้คืนค่าธรรมเนียมศาลแก่ผู้ฟ้องคดีตามส่วนของการชนะคดีเป็นเงิน ๘๑,๓๔๖.๒๕ บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ อุทธรณ์ว่า ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องฉบับลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ ที่โอนหนี้ค่าจ้างตกแต่งอาคารตามสัญญาจ้างเลขที่ ๙/๒๕๔๗ ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ โดยฝ่ายผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้รับโอนมิได้ลงลายมือชื่อหรือลงลายมือชื่อไม่ครบหรือลงลายมือชื่อโดยบุคคลผู้ไม่มีอำนาจทำการแทนผู้ฟ้องคดี หนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวย่อมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เห็นว่า ตามมาตรา ๓๐๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กำหนดให้การโอนสิทธิเรียกร้องต้องทำเป็นหนังสือ ซึ่งตามหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างผู้ฟ้องคดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้รับโอนได้มีการลงนามไม่ถูกต้องตามหนังสือรับรองบริษัทที่กำหนดให้ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการแทนผู้ฟ้องคดีได้ นายพิชัย บุญสม ต้องลงลายมือชื่อร่วมกับนางสาวเพ็ชรงาม สุทธิธรรม หรือนายสมพงษ์ บุญสม รวมเป็นสองคน และประทับตราสำคัญของบริษัท แต่ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีนายพิชัยลงลายมือชื่อร่วมกับนายเตชิต กีรตินิรันดร และประทับตราสำคัญบริษัท อันมีผลให้สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่สมบูรณ์ใช้บังคับไม่ได้ และไม่มีผลผูกพันผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เพราะผู้ฟ้องคดีลงลายมือชื่อไม่ครบตามหนังสือรับรองบริษัท  ส่วนกรณีที่ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างผู้ฟ้องคดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ทั้งสองฉบับ มิใช่เป็นการแสดงเจตนาลวงและเป็นนิติกรรมอำพรางที่ไม่มีผลบังคับตามกฎหมายนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ไม่เห็นพ้องด้วย เพราะเหตุว่า ผู้ฟ้องคดีกับห้างดังกล่าวได้ทำสัญญากิจการร่วมค้าในการรับเหมาก่อสร้างตามสัญญาฉบับลงวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕ โดยใช้ชื่อว่า กิจการร่วมค้าพงษ์สินโฮลดิ้ง หาดใหญ่ประมวลกิจ และได้รับจ้างทำการสร้างตลาดนัดชายแดนไทย–มาเลเซีย กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล โดยได้มอบอำนาจให้นางวันดี พูลศิริ เป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินการเช่นเดียวกับคดีนี้ที่ผู้ดำเนินการทำสัญญาจ้างทั้งสองฉบับดังกล่าวกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ก็คือ นางวันดี ภายหลังจากทำสัญญาจ้างทั้งสองฉบับในคดีนี้แล้วได้มีการโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างตามสัญญาให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ทำการก่อสร้างเสร็จในงวดบางงวดงานตามสัญญาจ้างทั้งสองฉบับดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีได้มอบอำนาจให้นางวันดีเป็นผู้รับมอบอำนาจรับเงินค่าจ้างจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ แสดงให้เห็นถึงเจตนาลวงและเป็นการทำนิติกรรมอำพรางได้อย่างชัดแจ้ง  ดังนั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้ชำระหนี้ตามสัญญาจ้างครบถ้วนแล้ว โดยมีนางวันดีเป็นผู้รับชำระค่าจ้างตามสัญญาจ้างทั้งสองฉบับไปทั้งหมด หนี้จึงเป็นอันระงับไป  ส่วนสิทธิและหนี้ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับห้างดังกล่าวที่นางวันดีเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการย่อมเป็นไปตามสัญญากิจการร่วมค้าที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก  ขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้องผู้ฟ้องคดีแก้อุทธรณ์ว่า ตามมาตรา ๓๐๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดว่า การโอนหนี้อันพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะเจาะจงนั้น
ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือท่านว่าไม่สมบูรณ์ เห็นได้ว่า กฎหมายกำหนดแต่เพียงว่า ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือไม่สมบูรณ์ มิได้กำหนดว่าหนังสือโอนหนี้หรือโอนสิทธิเรียกร้องจะต้องลงลายมือชื่อ
ของผู้โอนกับผู้รับโอนด้วย การโอนจึงจะสมบูรณ์  ดังนั้น แม้หนังสือโอนสิทธิเรียกร้องฉบับลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ จะลงลายมือชื่อโดยที่ฝ่ายผู้รับโอนมิได้ลงลายมือชื่อหรือลงลายมือชื่อไม่ครบหรือลงลายมือชื่อโดยบุคคลผู้ไม่มีอำนาจทำการแทนผู้ฟ้องคดี หนังสือโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวย่อมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีย่อมมีสิทธิตามหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในอันที่จะบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาจ้างให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ ประกอบกับภายหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแล้ว ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ กับผู้ฟ้องคดีให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ได้รับทราบเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องแล้วตามหนังสือลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ได้รับทราบการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว โดยที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ มิได้ทักท้วงการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างผู้ฟ้องคดีกับห้างดังกล่าว อีกทั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ยังได้ชำระเงินค่างวดให้แก่ผู้ฟ้องคดีมาบางส่วน คือ ในงวดที่ ๑ ถึงงวดที่ ๗ เป็นเงินจำนวน ๗,๕๓๐,๘๒๗ บาท แล้ว แต่ในส่วนของการชำระเงินในงวดที่ ๘ ถึงงวดที่ ๑๐ เป็นเงินจำนวน ๕,๙๑๗,๐๗๙ บาท นั้น ผู้ฟ้องคดีมิได้มอบอำนาจให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ หรือบุคคลใดเป็นผู้รับเงินแทนผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด  ส่วนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ อุทธรณ์ว่า สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างผู้ฟ้องคดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ เป็นการแสดงเจตนาลวงและเป็นนิติกรรมอำพรางนั้น ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า เดิมผู้ฟ้องคดีและห้างดังกล่าวได้เคยทำกิจการร่วมค้าตามสัญญาฉบับลงวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
เพียงโครงการเดียว โดยในการทำสัญญากับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูลในครั้งนั้นกระทำในนามของกิจการร่วมค้าพงษ์สินโฮลดิ้งหาดใหญ่ประมวลกิจ แต่ในการทำสัญญาจ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ในคดีนี้เป็นการทำสัญญาระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ กับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ โดยที่ผู้ฟ้องคดีมิได้อยู่ในฐานะที่เป็นคู่สัญญาร่วมด้วย อีกทั้ง ผู้ฟ้องคดีและห้างดังกล่าวก็มีฐานะเป็นบุคคลที่แยกออกจากกัน ผู้ฟ้องคดีกับห้างดังกล่าวจะผูกพันตามสัญญากิจการร่วมค้าเฉพาะกิจการที่กระทำในนามของกิจการร่วมค้าเท่านั้น ทั้งจะต้องระบุไว้ด้วยว่ากระทำในนามกิจการร่วมค้าพงษ์สินโฮลดิ้งหาดใหญ่ประมวลกิจ และนายพิชัยต้องร่วมลงลายมือชื่อประทับตราฝ่ายผู้ฟ้องคดีในสัญญา หากมิได้ระบุว่ากระทำในนามกิจการร่วมค้าและนายพิชัยไม่ได้ร่วมลงลายมือชื่อรวมทั้งมิได้ประทับตราของผู้ฟ้องคดีหรือมิได้มีการมอบอำนาจให้แก่กันแล้ว ต้องถือว่ากิจการหรือสัญญาที่ทำขึ้นนั้นกระทำในนามส่วนตัวของผู้ฟ้องคดีหรือห้างดังกล่าวเท่านั้น  ดังนั้น เมื่อสัญญาจ้างที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ทำกับห้างดังกล่าวมิได้ใช้ชื่อว่า กิจการร่วมค้าพงษ์สินโฮลดิ้งหาดใหญ่ประมวลกิจ และนายพิชัยมิได้ร่วมลงลายมือชื่อด้วยและมิได้มีการประทับตราสำคัญของฝ่ายผู้ฟ้องคดี และผู้ฟ้องคดีไม่ได้มอบอำนาจให้ห้างดังกล่าวเข้าทำสัญญากับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ในลักษณะของกิจการร่วมค้า จึงต้องถือว่าเป็นการทำสัญญารับจ้างในนามส่วนตัวของห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ เท่านั้น การที่ห้างดังกล่าวทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้าง
ตามสัญญาจ้างให้แก่ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ได้เป็นการแสดงเจตนาลวงหรือเป็นการทำนิติกรรมอำพราง ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ไม่อาจรับฟังได้ เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องของผู้ฟ้องคดีมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ชำระเงินค่าจ้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่มีสิทธิรับเงิน จึงเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี ทำให้ไม่ได้รับชำระหนี้ตามหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง  ดังนั้น เมื่อการชำระหนี้ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ มิได้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย หนี้ตามสัญญาจ้างและสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องจึงยังไม่ระงับไป ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จึงมีหน้าที่ตามสัญญาจ้างและหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในการปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีอยู่ ขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น

        ศาลปกครองสูงสุดออกนั่งพิจารณาคดี โดยได้รับฟังสรุปข้อเท็จจริงของตุลาการเจ้าของสำนวน และคำชี้แจงด้วยวาจาประกอบคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีศาลปกครองสูงสุดได้ตรวจพิจารณาเอกสารทั้งหมดในสำนวนคดี กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องประกอบแล้ว
        ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เดิมผู้ฟ้องคดีได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๐ โดยใช้ชื่อว่าบริษัท พงษ์สินโฮลดิ้ง จำกัด ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๖ ได้จดทะเบียนแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดและเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท มาร์โบว์ ๓๐๐๐๓ จำกัด (มหาชน) สำหรับคดีนี้ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้ทำสัญญาเลขที่ ๑๗/๒๕๔๕ จ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ทำงานก่อสร้างอาคารสำนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จำนวน ๔ ชั้น ณ บริเวณถนนวงเวียน ๒-๓ ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน ๕๖,๐๓๐,๐๐๐ บาท และเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้ทำสัญญาเลขที่ ๙/๒๕๔๗ จ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ทำงานตกแต่งภายในอาคารดังกล่าวพร้อมจัดหาครุภัณฑ์ประจำห้องต่างๆ เป็นเงิน ๑๓,๔๔๗,๙๐๙ บาท หลังจากทำสัญญาแต่ละฉบับดังกล่าวแล้ว ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ได้ทำสัญญาฉบับลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๕ โอนสิทธิเรียกร้องในการรับชำระหนี้ค่าจ้างก่อสร้างอาคารจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จำนวน ๕๖,๐๓๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี และทำสัญญาฉบับลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ โอนสิทธิเรียกร้องในการรับชำระหนี้ค่าจ้างตกแต่งอาคารจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จำนวน ๑๓,๔๔๗,๙๐๙ บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี หลังจากทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องกันดังกล่าวแล้ว ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๕ และลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ กับผู้ฟ้องคดีตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ทราบ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้ทราบเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแล้ว และได้มีหนังสือที่ ยล ๕๑๐๐๔/๑๐๐๐ ลงวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๔๕ และหนังสือ ที่ ยล ๕๑๐๐๔/๒๗๙๘ ลงวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ แจ้งผู้ฟ้องคดีว่าได้รับทราบการโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินดังกล่าวแล้ว หลังจากนั้น ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ได้ดำเนินการก่อสร้างและตกแต่งอาคารตามสัญญาทั้งสองฉบับ เมื่อดำเนินการเสร็จในแต่ละงวด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้ชำระเงินค่าจ้างตามสัญญาให้แก่ผู้ฟ้องคดีตลอดมา แต่ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ แจ้งไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ว่าขอยกเลิกสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้ค่าจ้างก่อสร้างอาคารตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องฉบับลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ที่มีอยู่กับผู้ฟ้องคดี โดยขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ชำระหนี้ค่าจ้างก่อสร้างอาคารส่วนที่เหลือให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ หลังจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้ชำระเงินค่าจ้างก่อสร้างอาคารตั้งแต่งวดที่ ๑๔ ถึงงวดที่ ๑๖ ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๗ เป็นเงินรวม ๑๖,๔๐๗,๕๙๙.๕๕ บาท นอกจากนั้น ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๗ แจ้ง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ว่าขอยกเลิกสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้ค่าจ้างตกแต่งอาคารตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องฉบับลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ ที่มีอยู่กับผู้ฟ้องคดี โดยขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ชำระหนี้ค่าจ้างตกแต่งอาคารส่วนที่เหลือให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ หลังจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้ชำระหนี้ค่าจ้างตกแต่งอาคารส่วนที่เหลือให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๔๗ เป็นเงิน ๒,๒๔๘,๓๒๖.๐๖ บาท และเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๗ เป็นเงิน ๓,๗๓๐,๒๒๓.๗๓ บาท รวมเป็นเงิน ๕,๙๗๘,๕๔๙.๗๙ บาท ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๗ ร้องเรียนไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้มีหนังสือ ที่ มท ๐๘๖๑.๔/๒๕๒ ลงวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๔๗ แจ้งผู้ฟ้องคดีว่า
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ มีความบกพร่องไม่ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย กรณีเบิกจ่ายค่าจ้างก่อสร้างกับค่าจ้างตกแต่งอาคารให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ฟ้องคดี จึงได้แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงินแล้ว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเจ็ดทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จะต้องรับผิดชำระเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เพียงใด ในการวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวคดีมีปัญหาที่ต้องพิจารณาตามอุทธรณ์ประการแรกว่า สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ ที่ทำขึ้นระหว่างผู้ฟ้องคดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ เป็นสัญญาที่มีผลสมบูรณ์หรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แบบพิธีการโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่ง
โดยเฉพาะเจาะจงตามมาตรา ๓๐๖ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่ง การโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้ หรือบุคคลภายนอกได้ แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๐๖ บัญญัติแต่เพียงว่า การโอนสิทธิเรียกร้องต้องทำเป็นหนังสือจึงจะสมบูรณ์ และการโอนนั้นจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้ยินยอมด้วยในการโอนนั้นโดยได้ทำคำบอกกล่าวหรือความยินยอมเป็นหนังสือ มิได้บัญญัติว่าหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องนั้นจะต้องลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน  ดังนั้น การโอนสิทธิเรียกร้องที่ได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนฝ่ายเดียวจึงเป็นการสมบูรณ์หาจำต้องลงลายมือชื่อผู้รับโอนด้วยไม่  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินเป็นหนังสือลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ โอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างทำงานตกแต่งภายในอาคารสำนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ สัญญาเลขที่ ๙/๒๕๔๗ แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นจำนวนเงิน ๑๓,๔๔๗,๙๐๙ บาท โดยมีนางวันดี พูลศิริ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ เป็นผู้ลงลายมือชื่อและประทับตราของห้างในฐานะผู้โอน ฝ่ายผู้ฟ้องคดีมีนายพิชัย บุญสม ซึ่งเป็นกรรมการมีอำนาจลงลายมือชื่อแทนผู้ฟ้องคดี เป็นผู้ลงลายมือชื่อร่วมกับนายเตชิต กีรตินิรันดร และประทับตราของผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้รับโอน และผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันเดียวกันแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ เพื่อทราบและขอให้มีหนังสือยืนยันรับทราบการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว ซึ่งต่อมาวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ได้มีหนังสือถึงผู้ฟ้องคดีแจ้งว่าได้รับทราบการโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินดังกล่าว และหลังจากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ก็ได้ชำระเงินตามสัญญาบางส่วนให้แก่ผู้ฟ้องคดีแล้วนั้น  เห็นว่า เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างผู้ฟ้องคดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อนางวันดี หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างดังกล่าวในฐานะผู้โอนโดยถูกต้องแล้ว  ดังนั้น การโอนสิทธิเรียกร้องตามหนังสือสัญญาลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ ให้แก่ผู้ฟ้องคดีจึงมีผลสมบูรณ์และมีผลผูกพันห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และผู้ฟ้องคดี ตามมาตรา ๓๐๖ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แล้ว กรณีไม่จำต้องพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้รับโอนจะลงลายมือชื่อครบถ้วนถูกต้องตามหนังสือรับรอง
การจดทะเบียนบริษัทหรือไม่ และเมื่อสิทธิเรียกร้องของห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ในการรับเงินค่าจ้างจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ตกเป็นของผู้ฟ้องคดีตั้งแต่นั้นแล้ว ห้างดังกล่าวย่อมหมดสิทธิที่จะรับเงินค่าจ้างดังกล่าวอีกต่อไป ทั้งภายหลังจากนั้นห้างดังกล่าวหามีสิทธิที่จะเพิกถอนการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้ไม่  ดังนั้น หนังสือขอยกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้อง ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๗ ที่ห้างดังกล่าวแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จ่ายเงินค่าจ้างในนามห้างดังกล่าวโดยมิได้รับความยินยอมจากผู้ฟ้องคดีนั้นจึงหามีผลแต่อย่างใดไม่ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ อุทธรณ์ว่า หนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวผู้ฟ้องคดีลงลายมือชื่อไม่ครบตามหนังสือรับรองบริษัททำให้สัญญาดังกล่าวไม่สมบูรณ์และไม่มีผลผูกพันผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ นั้น จึงฟังไม่ขึ้น คดีมีปัญหาที่ต้องพิจารณาประการต่อไปว่า สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างผู้ฟ้องคดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ทั้งสองฉบับ เป็นการแสดงเจตนาลวงและเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่ และหนี้ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวระงับไปแล้วหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์หลายประการรวมทั้งการประกอบธุรกิจรับจ้างก่อสร้าง ซึ่งในการประกอบธุรกิจหรือกิจการเช่นว่านี้ ผู้ฟ้องคดีย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการโดยเลือกรูปแบบการกระทำนิติกรรมสัญญากับบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นได้ตามความประสงค์ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และถึงแม้ผู้ฟ้องคดีได้ทำสัญญากิจการร่วมค้ากับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ไว้ก็ตาม แต่ก็ไม่มีกฎหมายหรือข้อกำหนดของสัญญาข้อใดที่ห้ามผู้ฟ้องคดีประกอบธุรกิจหรือกระทำนิติกรรมอื่นในนามของผู้ฟ้องคดีเอง เพราะเหตุว่าสัญญากิจการร่วมค้าเป็นเพียงข้อตกลงในการร่วมกันดำเนินกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งของคู่สัญญาตามที่ตกลงกันเท่านั้น มิได้ส่งผลทำให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายสิ้นสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบกิจการทางธุรกิจหรือการทำนิติกรรมอื่นใด
ในนามของตนเองต่างหากจากกิจการร่วมค้าแต่อย่างใด อีกทั้ง การที่ผู้ฟ้องคดีได้ทำสัญญากิจการร่วมค้ากับห้างดังกล่าวโดยเปิดเผยดังปรากฏหลักฐานเป็นสัญญาจัดตั้งกิจการร่วมค้า
ลงวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕ โดยมีการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต่อสรรพากร
พื้นที่สาขาหาดใหญ่ในนามของกิจการร่วมค้าดังกล่าว ทั้งยังได้เข้าทำสัญญากับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล ตามสัญญาเลขที่ ๒/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๖ ในนามของ
กิจการร่วมค้าเช่นกัน  ดังนั้น หากผู้ฟ้องคดีประสงค์จะใช้รูปแบบของกิจการร่วมค้าดังกล่าว
ในการเข้าทำสัญญากับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ก็สามารถกระทำได้โดยเปิดเผย จึงไม่มีเหตุผลใด
ที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องใช้การทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเพื่ออำพรางกิจการร่วมค้าดังกล่าว
เมื่อสัญญาจ้างทั้งสองฉบับที่ทำขึ้นระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ กับห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ตามสัญญาเลขที่ ๑๗/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๕ และสัญญาเลขที่ ๙/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๖ ห้างดังกล่าวในฐานะผู้รับจ้างได้กระทำในนามของห้างเอง
มิใช่กระทำในฐานะกิจการร่วมค้ากับผู้ฟ้องคดี การที่ห้างดังกล่าวได้ตกลงโอนสิทธิเรียกร้อง
เงินค่าจ้างตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวให้กับผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่เป็นการแสดงเจตนาลวง
และมิใช่เป็นนิติกรรมอำพรางดังที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ อ้างมาในคำอุทธรณ์ อุทธรณ์ของ
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔  ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น  นอกจากนี้ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ อุทธรณ์ว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้ชำระหนี้ตามสัญญาจ้างครบถ้วนแล้วโดยมีนางวันดีเป็นผู้รับชำระค่าจ้างตามสัญญาจ้าง
ทั้งสองฉบับไปทั้งหมดหนี้จึงเป็นอันระงับไปนั้น เห็นว่า เมื่อสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างตามสัญญาทั้งสองฉบับจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ของห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ ตกเป็นของผู้ฟ้องคดีแล้ว ผู้ฟ้องคดีย่อมมีสิทธิที่จะมอบอำนาจให้บุคคลอื่นรับเงินค่าจ้างแทนได้ และหากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้จ่ายเงินให้แก่บุคคลที่ผู้ฟ้องคดีมอบอำนาจให้รับเงินย่อมเป็นการชำระเงินค่าจ้างให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยชอบแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้มอบอำนาจให้นางวันดีรับเงินค่าจ้างแทนผู้ฟ้องคดีโดยมิได้มอบอำนาจให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีเฉพาะค่าจ้างบางส่วนเท่านั้น โดยค่าจ้างบางส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จ่ายให้แก่ห้างดังกล่าวซึ่งมิใช่ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดี  ดังนั้น จึงไม่อาจถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีครบถ้วนแล้ว หนี้ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงหาระงับไปไม่ ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ตามคำอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงฟังไม่ขึ้นเช่นกันเมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่า การโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่ประมวลกิจ กับผู้ฟ้องคดี ได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในการโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา ๓๐๖ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยได้มีการทำหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง รวมทั้งได้บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้รับทราบการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย และผู้ฟ้องคดีสามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้ ทั้งยังมีผลทำให้สิทธิที่ห้างดังกล่าวมีอยู่เดิมทั้งหมดตกไปเป็นของผู้ฟ้องคดีด้วย  ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องทั้งหมด การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ชำระเงินค่าจ้างบางส่วนให้แก่ห้างดังกล่าวจึงเป็นการกระทำผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ชำระเงินจำนวน ๒๓,๕๘๒,๑๒๐.๗๔ บาท และชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๒๒,๓๘๖,๑๔๙.๓๔ บาท นับตั้งแต่วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ฟ้องคดี โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ชำระให้เสร็จภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันมีคำพิพากษา กับให้คืนค่าธรรมเนียมศาลแก่ผู้ฟ้องคดีตามส่วนของการชนะคดีเป็นเงิน ๘๑,๓๔๖.๒๕ บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ถึงผู้ถูกฟ้องที่ ๗ นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ทุกข้อฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

นายจรัญ  หัตถกรรม                              ตุลาการเจ้าของสำนวน
ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด

นายเกษม  คมสัตย์ธรรม
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

นายปรีชา  ชวลิตธำรง
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

นายไพบูลย์  เสียงก้อง
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

นายวรวิทย์  กังศศิเทียม
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

                           ตุลาการผู้แถลงคดี : นายธีรรัฐ  อร่ามทวีทอง