วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ราชการแนวหน้า: ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก (นายก อปท.จ้างเหมาลูกรับงานของ อปท.)

ราชการแนวหน้า: ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก (นายก อปท.จ้างเหมาลูกรับงานของ อปท.)
แนวหน้า  ฉบับวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๓
          1.ใครเป็นพ่อเป็นแม่แล้วมีลูกก็ต้องการให้ลูกของตนมีงานทำเป็นหลักฐานเพื่อ จะได้เลี้ยงตัวเองได้ ไม่ต้องมาเลี้ยงดูกันตลอดไป เพราะว่าเด็กต้องเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ไปข้างหน้า แต่ในระหว่างทางก็ยังต้องคอยดูอยู่เช่นกัน แต่ในบางครั้งอาจจะทำไม่ได้ ถึงจะต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป ครั้งนี้ จะหยิบยกเรื่องต้องห้ามมาฝากกันไว้เป็นอุทาหรณ์หน่อยก็แล้วกัน
          2.ในราชการส่วนท้องถิ่น ก็จะมีผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นตามระเบียบของทางราชการ โดยพิจารณาประกอบกับอัตรากำลังที่มีอยู่อย่างเหมาะสม แต่ในบางครั้งอาจมีงานเพิ่มขึ้นมาจำเป็นต้องจัดหาคนมารับผิดชอบงานดังกล่าว ก็สามารถดำเนินการได้
          3.ประเด็นของเรื่องนี้เกิดขึ้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่ง โดยสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แห่งหนึ่งได้แจ้งให้องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่นทุกแห่งในสังกัดจัดเวรยามรักษา สถานที่ราชการตลอด 24 ชั่วโมง
          4.นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่งเรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดแล้วมีมติว่า ต้องจัดจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจำนวนหนึ่งตำแหน่ง จึงได้ แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกและตรวจรับพัสดุดำเนินการ มีการสืบราคาจ้างเหมาบริการ ปรากฏว่า มีผู้เสนอราคา 3 ราย โดยรายที่ 1 เสนอราคา 6,500 บาท รายที่ 2 เสนอราคา 7,500 บาท และรายที่ 3 เสนอราคา 8,500 บาท คณะกรรมการคัดเลือกและตรวจรับพัสดุ พิจารณาและเสนอว่าควรจ้าง รายที่ 1 ซึ่งเสนอราคาต่ำสุด
          5.กรณีที่เป็นเรื่องเพราะว่านายอำเภอได้มีคำสั่งให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพ้นจากตำแหน่งเพราะว่าได้ตกลงจ้างผู้เสนอราคาต่ำที่สุดซึ่งเป็นบุตรชายของตนเองเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้น อันเป็น ข้อห้ามตามมาตรา 64/2 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์กรบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537
          6.อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ก็นำเรื่องไปฟ้องศาลปกครอง ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งแล้วให้กลับสู่ตำแหน่งพร้อม คืนสิทธิประโยชน์ด้วย ที่สุดศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่า การอนุมัติให้จ้าง บุตรชายของผู้ฟ้องคดี แม้กระบวนการ จัดจ้างเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่กรณีเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์สาธารณะ ถือได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยทางอ้อม และเป็นคู่สัญญาตามมาตรา 64/2 วรรคหนึ่ง (3) คำวินิจฉัยของนายอำเภอ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งเป็นการใช้ดุลพินิจที่มีเหตุผลและชอบด้วยกฎหมาย และ ไม่เป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และส่วนราชการไม่ต้องรับผิดชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนแต่อย่างใด (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ 349/2562)
          7.ความเป็นพ่อเป็นลูกกันชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรม แต่หน้าที่และตำแหน่งเป็นอีกส่วนหนึ่งนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น