“บิ๊กป็อก” ลั่นมีเลือกตั้งท้องถิ่นแน่นอน ยัน มท.จัดได้
ผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่:
“อนุพงษ์” แจง กมธ.พัฒนาการเมือง สภาฯ ปมเลือกตั้งท้องถิ่น ยันมีแน่นอน มหาดไทยจัดเลือกตั้งได้ รับ ครม.ให้ข่าวรายคนทำสับสน ด้านประธาน กมธ.เล็งเรียก “วิษณุ” แจงเพิ่ม
วันนี้ (17 มิ.ย.) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล เป็นประธาน ได้หารือประเด็นการตรวจสอบเเละติดตามการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยได้เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าชี้เเจง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ชี้เเจงเเทน
โดย พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวยอมรับว่า การให้ข่าวการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นของทางคณะรัฐมนตรี เป็นความเห็นแต่ละบุคคล ก่อให้เกิดความสับสน เเม้กระทั่งกรรมาธิการนำไปวิพากษ์วิจารณ์โดยที่ไม่รู้ความพร้อมมีอะไรบ้าง การจะเตรียมการเลือกตั้งนั้น กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีการทำกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น และดำเนินการทำระเบียบสำหรับการเลือกตั้ง ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย การเลือกตั้งในปีใด ต้องใช้จำนวนราษฎรก่อนปีหน้านั้น โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยเเล้ว ในเรื่องของกรมส่งเสริมการปกครอง ทางกระทรวงได้ใช้กลไกในการแจ้งการทำงบประมาณ โดยดำเนินการทำข้อบัญญัติเเละเทศบัญญัติ ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ปี 2562 ส่วนกรมการปกครองได้มีการเตรียมประชากร เเบ่งเขตเลือกตั้ง
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนเรื่องงบประมาณที่ตั้งไว้ กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศว่า พร้อมจะใช้งบก้อนใด โดยแจ้งไปยัง อปท. 7,852 แห่ง รวมกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ซึ่งในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ทั้งกรมการปกครอง เเละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยืนยันว่า สามารถจัดการเลือกตั้งได้
“ท่านพอใจหรือยัง ผมยืนยันว่า มีการเลือกตั้งเเน่นอน โดยเมื่อ กกต.ทราบว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น จะต้องมีการแบ่งเขตเลือกตั้ง เเละประกาศในราชกิจจานุเบกษา เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะรับทราบ เเละหารือกันระหว่างรัฐบาลเเละคณะรัฐมนตรี ถ้ายิ่งพูดด้วยความไม่รู้ก็ยิ่งสับสน เเละเมื่อในกฎหมายระบุว่า ต้องให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ก็ต้องให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เเละต้องหารือกับคณะรัฐมนตรีอีกที โดยผมจะเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ถึงการเตรียมความพร้อมของคณะรัฐมนตรี ความพร้อมของกรอบเวลา ในการจัดการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น” พลเอก อนุพงษ์ กล่าว
ด้าน นายวุฒินันท์ บุญชู ส.ส.สมุทรปราการ พรรคก้าวไกล ในนามผู้สังเกตการณ์ กล่าวว่า เมื่อปี 2558 อปท.ได้หมดวาระลงพร้อมกัน เเต่ในขณะนั้นรัฐบาล คสช.ไม่ได้อนุญาตให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ออกระเบียบวาระมาเพื่อกำหนดให้มีผู้ดำรงตำเเหน่ง ตามปกติเเล้วจะต้องอยู่ในวาระ 4 ปี เเต่ในสมัย คสช. ได้อนุญาตให้สามารถอยู่ในวาระได้ถึง 6 ปี จนถึงปี 2565 ที่อ้างอิงจากหลักฐาน โดยตนตั้งสังเกตว่า ตัวเลขมันขัดเเย้งในการดำเนินเเนวทางชัดเจน ที่มันเป็นไปได้ จึงฝากไปยัง พล.อ.อนุพงษ์ ผ่านไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อขอความชัดเจน
ขณะที่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า การตัดสินใจทุกอย่างเกิดขึ้นอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ และหากคณะรัฐมนตรียังไม่สามารถตกลงในเรื่องกรอบแนวทางของการจัดการเลือกตั้งไม่ได้ ประชาชนต้องโดนละเมิดสิทธิจากการเพิกเฉยของรัฐบาลอย่างนั้นหรือ โดย กมธ.จะติดตามความคืบหน้าเรื่องการกำหนดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด โดยสัปดาห์หน้าทาง กมธ.จะเชิญ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการนายกรัฐมนตรีร่วมหารือในประเด็นการกำหนดวาระการเลือกตั้งท้องถิ่นต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น