สายตรงท้องถิ่น: การพัฒนาองค์กรท้องถิ่นจาก ITA ท้องถิ่น |
สยามรัฐ ฉบับวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๑ |
ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม ผมเห็นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นหน่วยงานที่นับว่าทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดหน่วยงานหนึ่ง เสียงของประชาชนในพื้นที่ย่อมเป็นสิ่งที่ช่วยสะท้อนการทำงานของท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ดังนั้นข้อเสนอจาก "โครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดร้อยเอ็ด ประจำปีงบประมาณ 2560 (ITA) กรณี จังหวัดร้อยเอ็ดประจำปี 2560" มีข้อเสนอแนะหรือความคิดเห็นที่มาจากประชาชนด้วย ซึ่งจากการเก็บข้อมูลและประมวลผลจากข้อเสนอของประชาชนต่อการบริหารงานของผู้บริหาร และการทำงานของ อปท. สามารถสรุปเป็นประเด็นต่างๆ ได้ ดังนี้ (1) ประเด็นความโปร่งใสในการบริหารงาน ประชาชนในท้องถิ่นหลายแห่งต่างมีความเห็นในลักษณะที่ไม่มั่นใจต่อการบริหารงานของอปท.ว่า มีความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด การดำเนินการในหลายๆ เรื่องเป็นสิ่งที่ประชาชนอาจไม่มีความรู้ความเข้าใจว่าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการนั้น มีความถูกต้องหรือไม่ ในบางกรณีอาจมีข้อครหาให้ได้ยินถึงความโปร่งใสในการบริหารโครงการต่างๆ หรือยังอาจมีข่าวการเรียกรับผลประโยชน์ของกลุ่มผู้บริหารจากกลุ่มผู้รับเหมาอีกด้วย (2) ประเด็นการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลความต้องการของประชาชน ในบาง อปท. ประชาชนยังต้องการให้ผู้บริหารหรือบุคลากรของอปท. ลงพื้นที่เพื่อพบปะกับประชาชนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เห็นถึงสภาพปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ของตนเอง เพื่อจะได้นำเอาความต้องการเหล่านั้นไปจัดทำเป็นแผนพัฒนาของท้องถิ่นต่อไป (3) ประเด็นการประชาสัมพันธ์และการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ของ อปท. ประชาชนเป็นจำนวนมากที่ตอบแบบสอบถาม มักให้ข้อมูลที่มีลักษณะเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า อปท. ยังคงขาดการประชาสัมพันธ์และสื่อสารกับประชาชนในท้องถิ่นค่อนข้างน้อย ทำให้ประชาชนส่วนมากไม่ทราบว่า อปท. มีแผนการที่จะดำเนินการในเรื่องอะไร หรือมีโครงการใดที่ดำเนินการอยู่บ้าง ซึ่งการขาดการสื่อสารที่ดีกับประชาชนนั้น มีความสัมพันธ์กับความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินงานของ อปท. ด้วย (4) ประเด็นความมุ่งมั่นตั้งใจในการให้บริการแก่ประชาชน และมีการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม สิ่งที่ประชาชนในท้องถิ่นมีความคาดหวังอย่างมากต่อการปฏิบัติงานของ อปท. ก็คือความคาดหวังให้บุคลากรของ อปท. ทั้งที่เป็นผู้บริหาร หรือฝ่ายข้าราชการประจำก็ตาม มีความตั้งใจและเต็มใจในการให้บริการแก่ประชาชน ทั้งนี้ประชาชนคาดหวังให้บุคลากรของ อปท.ตั้งใจปฏิบัติงานให้ตรงตามเวลาราชการ มีความยิ้มแย้มแจ่มใส และเต็มใจในการให้บริการประชาชนอย่างเป็นมิตรนอกจากความคาดหวังให้บุคลากรของ อปท. มีความตั้งใจในการปฏิบัติงานแล้ว ประชาชนยังคาดหวังที่จะเห็นการปฏิบัติตนที่เหมาะสมและเป็นแบบอย่างที่ดีโดยในบาง อปท. ประชาชนให้ความเห็นในเชิงตำหนิต่อพฤติกรรมของบุคลากรของ อปท.เช่น การดื่มเหล้าในสถานที่ทำงาน เป็นต้น (5) ประเด็นการกระจายโครงการพัฒนาในพื้นที่ ความคิดเห็นของประชาชนในการปฏิบัติงานของท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน อปท.ระดับบน อย่าง อบจ.นั้น ประชาชนคาดหวังการพิจารณาและการดำเนินการโครงการพัฒนาของอปท.ในพื้นที่ต่างๆ ของ อปท.อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ไม่ใช่มีลักษณะเป็นการดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์กับเฉพาะบางพื้นที่ที่เป็นฐานคะแนนของตนเองเท่านั้น เพราะลักษณะการดำเนินโครงการแบบดังกล่าวจะยิ่งเป็นการสร้างความรู้สึกที่แตกแยกในหมู่ประชาชน จากข้อมูลที่ทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนได้แสดงความคิดเห็นมานั้น ผมเห็นว่า มีข้อเสนอเพื่อการแก้ไขซึ่งในบางปัญหาอาจจำเป็นต้องอาศัยการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องจึงจะสามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้อย่างจริงจัง แต่ในบางข้อปัญหา การแก้ไขทัศนคติในเชิงลบเหล่านั้นอาจทำได้โดยอาศัยการปรับปรุงรูปแบบและกระบวนการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านั้น ซึ่งแนวทางการปรับปรุงการบริหารขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นเพื่อลดทัศนคติเชิงลบที่มีต่อองค์กรและผู้บริหารของ อปท. อาจกล่าวสรุป ได้ดังนี้ 1.การพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารและช่องทางในการเผยแพร่ จากการที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยยังคงมีทัศนคติที่ว่า อปท.ยังไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของท้องถิ่นให้แก่ประชาชนนั้น ดังนั้นแล้ว ย่อมมีความจำเป็นที่ต้องส่งเสริมให้อปท. ได้มีการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นให้ไปถึงประชาชนให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้แม้ว่าการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของอปท. อาจเป็นตัวชี้วัดในการประเมินการทำงานของ อปท.ตามปกติอยู่แล้วก็ตาม แต่เมื่อความเห็นของประชาชนออกมาเช่นนี้ นั่นย่อมหมายความว่าในทางปฏิบัติประชาชนยังเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น อปท. จึงจำเป็นต้องทบทวนถึงช่องทางที่ยังอาจมีความเหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่น เช่น ยังอาจจำเป็นต้องใช้ช่องทางพื้นฐานแบบเดิมๆ อย่างเสียงตามสายหรือการจัดเทศบาล หรือ อบต. เคลื่อนที่ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้บริหารหรือบุคลากรของอปท. ได้พบปะและพูดคุบกับประชาชนให้มากยิ่งขึ้น หรือออาจต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ๆ เช่น สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ หากว่าประชาชนสามารถเข้าถึงได้ เป็นต้น 2.การให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการบริหาร ตรวจสอบ และประเมินผลการทำงานของท้องถิ่น แม้ว่าโดยกฎหมาย ระเบียบ รวมถึงแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องจะได้มีการกำหนดให้ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับ อปท. ในการบริหารงานอยู่แล้วก็ตาม แต่เพื่อให้การบริหารงานของท้องถิ่นมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น อปท.จึงอาจจำเป็นต้องดึงเครือข่ายภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น โดยในการดึงเอาเครือข่ายภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมนั้น อาจจำเป็นต้องทำมากกว่าที่กฎหมายหรือระเบียบที่กำหนดไว้เป็นภาคบังคับส่วนในกรณีของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่ระเบียบ หรือกฎหมาย ได้บังคับไว้อยู่แล้ว กระบวนการการมีส่วนร่วมก็ควรต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่ใช่เป็นการดำเนินการแต่เพียงเฉพาะรูปแบบหรือในทางเอกสารเท่านั้น เช่น กระบวนการทำแผนพัฒนาท้องถิ่น ความเห็นของประชาชนก็ควรต้องมีการนำมาเป็นหลักสำคัญในการจัดทำแผนอย่างจริงจัง 3.การปรับปรุงระบบการบริหารงานบุคคลของ อปท. จากการที่บุคลากรที่ปฏิบัติงานอยู่ใน อปท. มองว่าในบางองค์กร บุคลากรที่ปฏิบัติงานใน อปท. ยังอาจมีจำนวนที่น้อยจนเกินไปนั้น คณะกรรมการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับจังหวัดจำเป็นต้องให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว โดยต้องพิจารณาถึงจำนวนของบุคลากรในแต่ละตำแหน่งในแต่ละองค์กรให้มีความเหมาะสมกับความจำเป็นของแต่ละ อปท. มากยิ่งขึ้น สำหรับในกระบวนการให้คุณให้โทษแก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานในท้องถิ่นที่อาจยังไม่เป็นธรรมนั้น ก็อาจมีความจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานขอบุคลากรที่มีความเป็นระบบและมีความชัดเจน ลดการใช้ดุลพินิจส่วนบุคคลในการประเมินลงให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้ผลการประเมินนั้นเป็นที่ยอมรับมากขึ้น 4.การอบรมและพัฒนาบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากประชาชนมีทัศนคติว่าบุคลากรของท้องถิ่นจำนวนหนึ่งยังขาดจิตสำนึกในการให้บริการที่ดีแก่ประชาชนดังนั้น อปท. อาจจำเป็นต้องมีการจัดการฝึกอบรม เพื่อปลูกฝังและพัฒนาจิตสำนึกในการให้บริการที่ดีต่อประชาชน โดยการฝึกอบรมนี้ควรจัดให้มีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และให้เป็นลักษณะของภาคบังคับที่บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องผ่านหลักสูตรการฝึกอบรม การฝึกอบรมที่จัดขึ้นยังอาจรวมไปถึงการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ และทักษะบางอย่างที่มีความจำเป็นต่อการปฏิบัติงานบุคลากรของ อปท. ด้วย ทั้งนี้การฝึกอบรมดังกล่าวอาจเป็นการจัดหลักสูตรร่วมกันระหว่าง อปท.ภายในจังหวัด ก็จะช่วยในการประหยัดค่าใช้จ่ายของ อปท. ได้ด้วยทางหนึ่ง ในการให้ความรู้และการอบรมบุคลากรของท้องถิ่นในที่นี้ ผมเห็นว่า มิใช่หมายถึงแต่เพียงบุคลากรฝ่ายประจำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังอาจหมายรวมถึงการอบรมผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย โดยผู้บริหารของ อปท. เองก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการศึกษาอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้เครื่องมือ ตลอดจนทักษะด้านการบริหารใหม่ๆเพื่อให้ผู้บริหารเหล่านั้นเป็นผู้บริหารที่มีศักยภาพและมีความทันสมัยพร้อมที่จะบริหารงานท้องถิ่นภายใต้สถานการณ์ที่นับวันจะยิ่งมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น |
เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ฅนเทศบาล
เมนูหลัก
ข่าวท้องถิ่น
ระเบียบบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานการบริหารงานบุคคลพนักงานส่วนท้องถิ่น
วันอังคารที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2561
สายตรงท้องถิ่น: การพัฒนาองค์กรท้องถิ่นจาก ITA ท้องถิ่น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น