วันอังคารที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2561

ทดสอบกลไก-กติกาใหม่ กลางปีเลือกตั้งท้องถิ่น

ทดสอบกลไก-กติกาใหม่ กลางปีเลือกตั้งท้องถิ่น
ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๑

          ปี่กลองการเมืองใกล้ดังกระหึ่ม เมื่อไทม์ไลน์การเลือกตั้งท้องถิ่นมีความชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยยอมรับเมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ถึงความคืบหน้าการจัดทำกฎหมายท้องถิ่นว่า กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้เสนอร่างพ.ร.บ.เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้บริหารท้องถิ่นให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว  ซึ่งตามขั้นตอนคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเสนอกฎหมายดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และถ้ากฎหมายนี้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็จะนำไปสู่การเลือกตั้งท้องถิ่นตามลำดับ
          "การเสนอกฎหมายครั้งนี้ ได้ปรับคุณสมบัติของผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นให้มีความเข้มข้นมากกว่าเดิม บางส่วนของคุณสมบัติผู้สมัครจะเทียบเท่ากับส.ส. ยืนยันว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งระดับประเทศ"
          สอดคล้องกับคำยืนยันของ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ที่ระบุว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นถ้ายึดตามโรดแมปน่าจะเกิดขึ้นช่วงเดือน พฤษภาคม มิถุนายน หรือกรกฎาคม นี้ ส่วนวันเวลาที่ชัดเจนต้องรอคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้ประกาศอีกครั้ง  ซึ่งในการเลือกตั้ง สถ.เสนอว่า ควรเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กับกทม.ก่อน จากนั้นจึงเลือกตั้ง เทศบาล, องค์การบริหารส่วนตำบล และ เมืองพัทยา เพื่อให้เกิดความสะดวกในการบริหารจัดการ
          แนวทางการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นดังกล่าวมีความเห็นและข้อเสนอแนะจากหลายฝ่ายทั้งที่เห็นด้วยและคัดค้าน พร้อมเสนอให้เลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อประหยัดงบประมาณท้องถิ่น
          นายตระกูล มีชัย อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นด้วยกับแนวทางของกระทรวงมหาดไทย ที่จะให้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนเลือกตั้ง ทั่วไป แต่ต้องแก้ไขกฎหมายเลือก ตั้งท้องถิ่นก่อน เพื่อให้สอดคล้อง และเป็นไปในรูปแบบเดียวกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง จะเป็นการทด สอบกลไกและกติกาใหม่ และทด สอบบรรยากาศของการหาเสียง
          "การเลือกตั้งอบจ.จะเป็น การหาเสียงที่พรรคการเมืองคง จะส่งตัวแทนลงต่อสู้ แต่ใน กทม. ผมชั่งน้ำหนักว่าอาจจะยังไม่กล้าปล่อย เพราะถ้าผลการเลือกตั้งพลิกตรงกันข้าม ทั้งรัฐบาลและคสช.หงายเก๋งเลย การคอนโทรลสถานการณ์ทางการเมืองก็จะลำบาก การเลือกตั้งใน กทม. พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นเหมือนเดิมไหม อาจไม่แน่ เพราะใน กทม.จะเป็นตัวงัดเหมือนกันว่า ถ้าปล่อยให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ในกทม. หมายความว่าจะเดาอนาคตได้ว่าทิศทางคนเมือง พอใจหรือไม่พอใจรัฐบาล ดังนั้นบรรยากาศการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเป็นตัวชี้ว่า การเลือกตั้งทั่วไปในปลายปี 2561 จะเป็นอย่างไร"
          ขณะที่ นายวีระศักดิ์ เครือเทพ  อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ วิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกันว่า น่าจะเป็นการลองหยั่งเสียงระดับ อบจ.ก่อน เพื่อให้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ แล้วค่อยมาติดตามผลอีกทีว่า จะทำให้เกิดความแน่นอนของการเมืองระดับชาติมากขึ้นอย่างไร พร้อมวิเคราะห์เกมการเลือกตั้งท้องถิ่นว่า รัฐบาลต้องการใช้เป็นเครื่องมือในการเดินเกมทางการเมืองอย่างหนึ่งของการเมืองระดับชาติ ที่คสช.กำหนดยุทธศาสตร์ให้ ชนะการเลือกตั้งให้ได้ ไม่มีเจตนาคืนอำนาจให้ท้องถิ่นโดยตรง
          "การจัดให้เลือกตั้งท้องถิ่นก่อน เป็นเหตุผลหนึ่งที่จะยืดการเลือกตั้งระดับชาติออกไป อาจยืดไปถึงต้นปี หรือปลายปี 2562 ก็ได้ ซึ่งโอกาสที่จะเห็นนักการเมืองหน้าใหม่จะน้อยมาก เพราะโอกาสที่คนใหม่จะเตรียมตัวและเปิดตัวสั้นมาก ทำให้ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งรักษาการมีแต้มต่อมากกว่า เพราะถ้าเป็นหน้าใหม่จะต้องมีการเปิดตัว อย่างน้อย 2-3 ปีให้ชาวบ้านรู้จัก แต่เคลื่อนไหวไม่ได้ แม้จะปลดล็อกก็มีเวลาน้อยแค่ 3-4 เดือน"
          ขณะที่เสียงสะท้อนจากผู้แทนท้องถิ่น อย่าง นายนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งประเทศไทย มองแย้งการจัด เลือกตั้งท้องถิ่นที่ให้เลือก อบจ.และกทม. ก่อนเลือกตั้งเทศบาล, องค์การบริหารส่วนตำบล และ เมืองพัทยาว่า ไม่ทราบเหตุผลที่รัฐบาลจัดเลือกตั้งแบบนี้ พร้อมเสนอแนะว่า ควรจัดให้เลือกตั้งทั้งส่วนท้องถิ่นและเลือกตั้งทั่วไปพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อเป็น การประหยัดงบประมาณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น