วันพฤหัสบดีที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2561

คำสั่ง คสช.จัดแถว'บิ๊กท้องถิ่น'เบรก-ย้าย-ปลด สารพัด

คำสั่ง คสช.จัดแถว'บิ๊กท้องถิ่น'เบรก-ย้าย-ปลด สารพัด 
มติชน  ฉบับวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๑

          คำสั่ง คสช.จัดแถว'บิ๊กท้องถิ่น''เบรก-ย้าย-ปลด'สารพัด
          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก้าวขึ้นสู่อำนาจหลังทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
          และในฐานะหัวหน้า คสช. พล.อ.ประยุทธ์ออกคำสั่งหรือประกาศ คสช.จำนวนมาก
          คำสั่งและประกาศเหล่านั้นส่วนหนึ่งใช้กับ "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" (อปท.) เริ่มจากวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 ออกคำสั่งที่ 85/2557 กำหนดการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว
          ถือเป็นการเบรกการเลือกตั้งท้องถิ่น วันที่ 27 กรกฎาคม 2557 มีประกาศ คสช.ที่ 104/2557 ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของ อปท.
          ต่อมาหลังใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งกับ "ท้องถิ่น"
          คำสั่งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2557 กำหนดการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว โดยให้สมาชิกสภาท้องถิ่นที่หมดวาระว่าด้วยการจัดตั้ง อปท.ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ทำหน้าที่ต่อไป
          หรือกรณีหมดวาระก่อนวันที่ 1 มกราคม 2558 ให้ผู้ที่ต้องการทำหน้าที่เดิมไปรายงานตัวกับผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นที่อยู่ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาบุคคลที่จะมา บริหารงานท้องถิ่น
          ส่วนผู้บริหารท้องถิ่นให้รักษาการต่อไป วันที่ 4 พฤษภาคม 2559 มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2559 เรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นเป็นการชั่วคราวในกรณีที่มีการยุบสภาท้องถิ่น อาศัยอำนาจมาตรา 44 กรณียุบสภาท้องถิ่นยกเว้นกรุงเทพมหานคร ให้คณะกรรมการสรรหาที่คราวนี้มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานคัดเลือกขึ้นมา โดยอ้างว่า กระบวนการให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 85/2557 ที่ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ เป็นประธานกรรมการสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่นไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล
          เพื่อให้เกิดความเป็นกลางและเป็นมาตรฐานเดียวกัน จึงให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยพร้อมกับรองปลัดไปจนถึงอธิบดีกรมต่างๆ เป็นกรรมการดังกล่าว
          ถือเป็นการใช้อำนาจจากส่วนกลางอย่างเข้มข้นทะลวงถึงท้องถิ่นโดยตรง
          นอกจากนั้น วันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 พล.อ.ประยุทธ์ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ ศอตช. ขึ้นมา เป็นไปตามนโยบายที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในการกำหนดส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและป้องกันปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในภาครัฐ
          มีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2558 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2558 เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐถูกตรวจสอบโดย ป.ป.ช. ป.ป.ท.และ สตง. หากพบมีมูลเกี่ยวกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ แม้ไม่อาจสรุปความผิดได้ชัดเจนถึงขั้นชี้มูลความผิด
          ปรากฏว่าในคำสั่งที่ 16/2558 มีนายกและรองนายก อบต. 14 ราย นายกเทศมนตรี 3 ราย ถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมปลัดและรองปลัด อปท.อีก 3 ราย โดย 3 รายหลังจะไม่มีค่าประจำตำแหน่งและเบี้ยเดินทาง
          ต่อมาวันที่ 25 มิถุนายน 2558 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2558 เรื่อง "แต่งตั้งและให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่อื่น" เป็นล็อตที่ 2 มีข้าราชการระดับสูงรวม 22 ราย ถูกโยกย้ายโดยไม่ขาดจากอัตราเงินเดือนสังกัดเดิม
          ขณะที่นายกกับรองนายก อปท. และข้าราชการ อปท.รวมทั้ง 49 ราย ถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนข้าราชการ อปท.ถูกย้ายออกนอกพื้นที่
          49 รายดังกล่าว แยกเป็นนายก อบจ. 7 ราย ประกอบด้วย นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม นายก อบจ.สมุทรปราการ นายพรชัย โควสุรัตน์ นายก อบจ.อุบลราชธานี นายยุทธนา ศรีตะบุตร นายก อบจ.หนองคาย นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายก อบจ.ภูเก็ต นายสถิรพร นาคสุข นายก อบจ.ยโสธร นายสมชอบ นิติพจน์ นายก อบจ.นครพนม และนางสุนี สมมี นายก อบจ.ลำปาง ส่วนนายกและรองนายก อบต. 17 ราย ที่มีครบทั้ง 4 ภาค ขณะที่กลุ่มนายกฯ และสมาชิกสภาเทศบาล 18 ราย และปลัด อปท. 7 ราย
          วันที่ 5 มกราคม 2559 คำสั่งมาตรา 44 ดำเนินการ "ล็อต 3" ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 1/2559 ผู้บริหาร อปท.ถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ เป็นนายก อบต. 37 ราย นายกเทศมนตรี 7 ราย โดยเฉพาะนายก อบต.37 ราย อยู่ในพื้นที่ จ.มหาสารคามรวม 32 ราย และจังหวัดอื่นๆ 5 ราย
          เฉพาะนายก อบต.ทั้ง 32 ราย คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของจังหวัดมหาสารคามได้ตรวจสอบแล้วกระทำการทุจริตพฤติกรรมร่วมกันในการทุจริตสอบแข่งขันเพื่อบรรจุแต่งตั้งบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบลประจำปี 2557 นายโชคชัย เดชอมรธัญ ผู้ว่าฯ มหาสารคาม ในขณะนั้น มีคำสั่งให้พ้นจากปฏิบัติหน้าที่ทั้ง 32 ราย และยังถูกจังหวัดดำเนินการทั้งทางแพ่ง อาญาและวินัย
          พล.อ.ประยุทธ์ยังใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 43/2559 ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติมครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2559 เฉพาะ อปท.มีชื่อเอี่ยวรวม 40 ราย แบ่งเป็น นายก อบจ. 3 ราย ประกอบด้วย นางมลัยรัก ทองผา นายก อบจ.มุกดาหาร นายอนุสรณ์ นาคาศัย นายก อบจ.ชัยนาท นายสุนทร รัตนากร นายก อบจ.กำแพงเพชร
          ส่วนนายก อบต.มี 21 ราย นายกเทศมนตรีจำนวน 12 ราย และรองนายกเทศมนตรีอีก 2 ราย
          ที่เหลืออีก 2 รายเป็นที่ปรึกษาและเลขานุการนายกเทศมนตรี ต.บางวัว อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา
          นอกจากนั้นยังมีปลัด อบต. เทศบาลและ ผอ.กองคลัง อปท.รวมอีก 4 รายที่ต้องคำสั่ง
          สำหรับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 44/2559 ซึ่งถือเป็นล็อตที่ 5 อ้างถึงการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 มีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของรัฐใน อปท.บางแห่ง กระทำการซึ่งอาจเป็นความผิดตามกฎหมายว่าเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติดังกล่าว
          คำสั่งนี้ได้ให้นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่ ระงับการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว
          ล็อตที่ 6 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 50/2559 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559 ให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. ระงับการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวโดยยังไม่พ้นตำแหน่ง เช่นเดียวกับนายเปรมศักดิ์ เพียยุระ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น
          สำหรับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นผลสืบเนื่องจากนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินขณะนั้น พบข้อพิรุธการใช้งบประมาณ 39.5 ล้านบาท ประดับไฟแอลอีดี กว่า 5 ล้านดวง หรือโครงการอุโมงค์ไฟ
          ส่วน นพ.เปรมศักดิ์นั้นถูกข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยวผู้สื่อข่าว 5 สำนักตามผลสอบของคณะกรรมการของจังหวัดขอนแก่น
          ล็อตที่ 7 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 52/2559 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2559 มีการเพิ่มรายละเอียดให้ ศอตช.แจ้งเหตุที่ต้องตรวจสอบให้ต้นสังกัดทราบ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เพื่อความเป็นธรรม
          กรณีที่ตรวจสอบไม่พบการกระทำผิด ทางประธาน ศอตช.จะตั้งคณะบุคคล 3-5 คน ตรวจสอบผลการตรวจดังกล่าว
          หากผลตรวจสอบชุดของ ศอตช.ขัดแย้งกับผลตรวจสอบของหน่วยงาน ให้มีการหารือกับผู้บังคับบัญชาแล้วให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามผลหารือ
          ล็อตนี้มีประธานสภาท้องถิ่นที่ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ และมีชื่อของปลัด อบต.ภูน้ำหยด ที่ อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ ขณะนั้น ถูกย้ายออกจากพื้นที่
          ต่อมาวันที่ 18 ตุลาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 65/2559 ให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์พ้นจากผู้ว่าฯกทม. และให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯกทม.ขึ้นเป็นผู้ว่าฯกทม.แทน
          ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 59/2559 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติมครั้งที่ 8 หรือล็อตที่ 8
          มีปลัดจังหวัดหนองคายในขณะนั้น 1 ราย ตามด้วยกลุ่มผู้บริหารและผู้มีตำแหน่งใน อปท. 7 ราย มาจากพื้นที่ จ.มหาสารคาม 6 ราย และ จ.นครศรีธรรมราช 1 ราย ยังมีข้าราชการ อปท. 55 ราย อยู่ในพื้นที่ จ.มหา สารคาม 55 ราย และกรรมการพนักงานส่วนตำบลของ จ.มหาสารคามอีก 7 ราย
          วันที่ 25 กรกฎาคม 2560 มีคำสั่งที่ 35/2560 ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 9 หรือล็อต 9
          ให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหาร อปท. 37 ราย มีนายก อบจ. 4 ราย ประกอบด้วย นายอัครเดช ทองใจสด นายก อบจ.เพชรบูรณ์ นายชาญ พวงเพ็ชร์ นายก อบจ.ปทุมธานี นายชัยมงคล ไชยรบ นายก อบจ.สกลนคร และอีกราย นายธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ นายก อบจ.เลย นอกจากนั้นยังมีชื่อของนายเชาวน์วัศ เสนพงศ์ นายกเทศมนตรีนครศรีธรรมราช ที่เหลือมีทั้งนายกเทศมนตรีและนายก อบต. และยังมีรายชื่อของข้าราชการ อปท.ระดับปลัดเทศบาลและ อบต.ที่ถูกโยกย้ายออกไปจากพื้นที่อีก 24 ราย
          ล่าสุด คำสั่งหัวหน้า คสช.ของปี 2560 ในล็อตที่ 10 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2560 ระงับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกเทศมนตรีและรองนายกเทศมนตรีเมืองบางบัวทอง และย้ายรองปลัดเทศบาลเมืองบางบัวทอง จ.นนทบุรี ออกไป
          นี่คือการใช้คำสั่งของ คสช.ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ยึดอำนาจเมื่อปี 2557 จนถึงต้นปี 2561
          แต่กว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้น ยังไม่ทราบว่า อปท.ทั้งหลายจะต้องเผชิญหน้ากับคำสั่งตามมาตรา 44 อีกกี่ล็อต
          และไม่ทราบว่าแต่ละล็อตจะมี "คนท้องถิ่น" อีกกี่มากน้อยที่ต้องถูกสังเวย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น