วันพฤหัสบดีที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2561

อ่านเกมการเมืองท้องถิ่น 8,000 เขต ศึกชิงตัว 'นายหน้าค้าคะแนนเสียง'

อ่านเกมการเมืองท้องถิ่น 8,000 เขต ศึกชิงตัว 'นายหน้าค้าคะแนนเสียง'
ประชาชาติธุรกิจ  ฉบับวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๑

          การเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นอีกหนึ่งสมรภูมิการเลือกตั้งที่จะต้องจับตาในศักราช 2561 เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นฐานของการเมืองระดับชาติ
          พลันที่ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งสัญญาณให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ทุกองคาพยพของ คสช.ก็เด้งรับลูก
          ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง กระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการกฤษฎีกา เร่งหารือแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560
          ทั้งนี้ ตามปฏิทินการเมือง หลังจากกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งเซตจะเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในต้นปี 2561 และจะผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ม.ค.-ก.พ. 2561 ตามการคะเนของ "วิษณุ เครืองาม" รองนายกฯ
          อย่างไรก็ตาม ไฮไลต์ของการแก้กฎหมายทั้ง 6 ฉบับ อยู่ที่การแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น เรื่องคุณสมบัติ "ต้องห้าม" ของผู้สมัคร ซึ่งใช้เกณฑ์เดียวกับการเลือกตั้งใหญ่
          อาทิ บุคคลต้องห้ามใช้สิทธิเลือกตั้ง-อยู่ระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีจะถึงที่สุดหรือไม่-เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการเพราะทุจริต-เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดเพราะร่ำรวยผิดปกติ ฉ้อโกงประชาชน-ผู้ค้า การพนัน ค้ามนุษย์ ฟอกเงิน-เคยทุจริตเลือกตั้ง-ถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง อปท. เพราะมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญา
          หากบุคคลใดที่สมัครรับเลือกตั้งโดยรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จะถูกจำคุก 1-10 ปี และปรับ 2 หมื่นถึง 2 แสนบาท ให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
          ประกอบกับระยะเวลาร่วม 4 ปี ที่ คสช.อยู่ในอำนาจ ได้ "ล้างไพ่" ผู้บริหารท้องถิ่นที่ถูกสันนิษฐานว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับทุจริต และผู้บริหารท้องถิ่นที่ตรวจสอบแล้วว่าทุจริตจริง นับไม่ถ้วน ผ่านคำสั่งหัวหน้า คสช. 10 ฉบับ
          คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2558 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2558 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 1/2559 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 43/2559 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 44/2559 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 50/2559 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 52/2559 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 58/2559 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 35/2560 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 39/2560
          และตั้งแต่ คสช.เข้ายึดกุมอำนาจ ผู้บริหารท้องถิ่นที่ไม่โดนเด้งฟ้าผ่า ก็อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ และไม่มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะติดคำสั่ง คสช.ที่ห้ามไม่ให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จึงมีเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ไร้ผู้นำตัวจริงกว่า 8 พันกว่าแห่ง รวมถึง กทม. และเมืองพัทยา ที่ปกครองท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษ
          ดังนั้น การเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้น จึงถูกโยงเข้ากับการเลือกตั้งใหญ่ และมีการสันนิษฐานว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเป็นการจัดทัพ จัดคน ของ คสช. เพื่อต่อยอดสู่การส่งพรรคทหาร-พรรคนอมินี ชิงชัยในการเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่
          "สิริพรรณ นกสวน สวัสดี" นักรัฐศาสตร์ด้านการปกครอง จากรั้วจุฬาฯ ลงพื้นที่ทุกภาคเพื่อทำวิจัยเรื่องการเลือกตั้ง วิเคราะห์ว่า พรรคใหม่ ๆ คงไม่ส่งเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะเตรียมคนไม่ทัน แต่จะเป็นการประเมินกำลังของโบรกเกอร์ นายหน้าหัวคะแนน ในการเมืองสมัยใหม่ โดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งหน้า คนที่จะมีบทบาทสำคัญมาก อาจจะมากกว่าตัวผู้สมัครก็คือ นายหน้าที่จะเข้าไปเจรจากับประชาชน ดังนั้นการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเป็นการประเมินของรัฐ และ คสช.ว่า นายหน้าคนไหนที่ทำงานมีประสิทธิภาพ และถ้าหากตั้งพรรคและส่งผู้สมัครของพรรคขึ้นมาสามารถใช้นายหน้าหรือโบรกเกอร์คนนั้นได้หรือไม่ หรือถ้าไม่สามารถเอาเข้าเป็นพวกได้ก็จะพยายามหาทางลดบทบาทของ คนกลุ่มนี้
          "เพราะการเลือกตั้งระบบใหม่เป็นการเน้นตัวบุคคล และการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นก็เน้นตัวบุคคล ในระดับนักการเมืองท้องถิ่น ถ้าในพื้นที่นี้ นักการเมืองคนนี้ชนะ แล้วใช้ใครเป็นหัวคะแนน หัวคะแนนคนนั้นจะต้องเอามาไว้เป็นพวก  ไม่ใช่พรรคการเมืองในระดับชาติส่งผู้สมัครลงท้องถิ่น อาจจะยังไม่มีความพร้อมมากขนาดนั้น แต่เป็นการประเมินกำลังนายหน้าค้าคะแนน"
          ขณะที่ "สุรชาติ บำรุงสุข"นักรัฐศาสตร์ด้านความมั่นคง จากรั้วจุฬาฯ เช่นเดียวกัน แต่วิเคราะห์ในมุมความมั่นคง โดยให้จับตาว่า การเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นการ "คุม" ท้องถิ่น ก่อนการเลือกตั้งใหญ่มาถึง
          "เพราะเมื่อการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิด คสช.จะเห็นตัวละครทั้งหมดในท้องถิ่น สำหรับผมมากกว่าจัดทัพ แต่จะเป็นโอกาสที่ทำให้มีการใช้อำนาจควบคุม และคำสั่ง ส่วนหนึ่งจะผ่านคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 51/2560 ที่เพิ่มบทบาทของกองอำนวยการ รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งบทบาทของ กอ.รมน. ได้ดึงเอางานของพลเรือนฝ่ายต่าง ๆ เช่น งานของ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ งานของกระทรวงมหาดไทย ไปไว้ที่ กอ.รมน. จึงทำให้มีบทบาทในต่างจังหวัดมากขึ้น
          "และมีผลกระทบต่อการเลือกตั้ง ท้องถิ่น เพราะ กอ.รมน.ในหลายส่วนไม่ได้ทำงานด้านความมั่นคง แต่องค์กรที่ทำงานการเมืองของฝ่ายทหาร สถานการณ์การเมืองในระดับท้องถิ่น จะมีตัวละครใหญ่ คือ กอ.รมน."

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น