วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

หั่นราคากลางทำจัดซื้อจัดจ้างสะดุด

หั่นราคากลางทำจัดซื้อจัดจ้างสะดุด
โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

          เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง
          หั่นราคากลางทำจัดซื้อจัดจ้างสะดุด
         
          หลังจากรัฐบาลโดยกระทรวง การคลังใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจร (Electronic Government Procurement : e-GP) มาได้ 3 ปี ก็มีข้อมูลออกมาว่าสามารถประหยัด งบประมาณได้ 9 หมื่นล้านบาท  หรือปีละ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งการประมูลจะต่ำกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ประมาณ 17-18%
          สำหรับวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนที่สำคัญ คือ  การประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding (อี-บิดดิ้ง) ซึ่งเป็นการประมูลโครงการก่อสร้างผู้รับเหมา  และวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-market (อี-มาร์เก็ต) ซึ่งใช้กับการ จัดซื้อวัสดุสำนักงาน
          จากข้อมูลของกระทรวง การคลัง พบว่าการประมูลดังกล่าว เฉลี่ยต่ำกว่าราคากลาง 17-18%  บางโครงการต่ำกว่าราคากลางถึง  20-30% ซึ่งถือว่าประหยัดเงินงบประมาณได้มาก แสดงให้เห็นว่า การประมูลโครงการภาครัฐด้วย วิธีอิเล็กทรอนิกส์ช่วยประหยัด เงินงบประมาณของประเทศได้ จำนวนไม่น้อย
          นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังเชื่อว่าการประมูลโครงการภาครัฐด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ช่วยลดปัญหาทุจริต แก้ปัญหาการฮั้วประมูล เพราะแต่ละรายจะไม่ทราบว่ามีใครเข้ามาประมูลได้ ทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณไปใช้ประเทศพัฒนาด้านอื่นได้อีกมาก
          การประหยัดงบประมาณได้ ดังกล่าว ทำให้กระทรวงการคลัง มีแนวคิดที่จะให้มีการปรับลดราคากลางการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะราคากลาง ที่ผ่านมาน่าจะมีการกำหนดสูงเกินกว่าเป็นจริงมาก จนทำให้การประมูลราคาที่แท้จริงทางอิเล็กทรอนิกส์ต่ำกว่า ราคากลางค่อนข้างมาก
          อย่างไรก็ตาม การปรับลดราคากลางไม่ใช่เรื่องง่ายและอาจจะกระทบกับการจัดซื้อจัดจ้างในอนาคตให้ มีปัญหาได้ ซึ่งการคิดราคากลางมีปัจจัย ที่สำคัญคือ ราคาวัตถุดิบ ซึ่งมีจำนวนมากและที่ผ่านมาราคาค่อนข้างผันผวน โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ถือเป็นต้นทุน ที่สำคัญในการคำนวณราคากลาง
          การกำหนดราคาต่ำมากเกินไปสวนทางกับราคาวัตถุดิบของการก่อสร้างที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะกระทบกับการก่อสร้างทำให้ผู้รับเหมาประสบปัญหาขาดทุนไม่เข้าประมูล หรือ ทิ้งงาน ในกรณีที่ได้มีการเซ็นสัญญาจัดซื้อ จัดจ้างไปแล้ว
          นอกจากนี้ การกำหนดราคากลางยังต้องพิจารณาจากสถิติการประมูล ในอดีต แม้ว่าการประมูลการจัดซื้อ จัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ผ่านมาจะประหยัดงบประมาณได้มาก แต่ข้อมูลดังกล่าวก็ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด เพราะโครงการที่มีการประมูลต่ำกว่าราคากลางส่วนใหญ่เป็นโครงการที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ดังนั้นการนำ
          ข้อมูลดังกล่าวมาใช้หั่นราคากลางลดลง อาจจะทำให้การประมูลโครงการลงทุนขนาดใหญ่มีปัญหาสะดุดได้
          แม้แต่ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ก็ออกมายอมรับว่า การปรับราคากลางประมูลต้องไม่ต่ำเกินไป เพราะอาจจะทำให้มีปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างได้ เพราะตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือน ส.ค. 2560 กำหนดไว้ชัดเจนว่า การประมูลจัดซื้อจัดจ้างจะสูงกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ไม่ได้ หากเกินกว่าราคากลางการประมูลก็ต้องทำใหม่ หากการกำหนดราคากลางต่ำจนผู้รับเหมาไม่มีกำไรเลย การประมูลก็จะชะงักไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจ
          ดังนั้น การหั่นราคากลางประมูล เพื่อประหยัดงบประมาณลงไปอีก จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่าย ถึงแม้ว่าทำได้ก็ประหยัดงบประมาณลงได้อีกไม่มาก ที่สำคัญต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้การประมูลชะงักจนต้องเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวได้ดีเกิดการสะดุด
          ทั้งนี้ หากพิจารณาการใช้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือน ส.ค. 2560 ก็มีปัญหาทำให้การเบิกจ่ายชะงักไปบางส่วน เพราะ ขั้นตอนที่เข้มงวดทำให้เกิดความโปร่งใสและคุ้มค่าเงินมากที่สุด รวมถึงกฎหมายใหม่ครอบคลุมทุกหน่วยงาน ทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำให้เกิดการระมัดระวังมากขึ้น โดยที่ผ่านมา การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ก็มีปัญหา ทำให้กระทรวงการคลังต้องยกเว้นเป็นกรณีพิเศษสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างโครงการที่ต้องแข่งขันเชิงพาณิชย์ เพื่อไม่ให้การเบิกจ่าย ในภาพรวมเกิดการสะดุด
          หากดูการเบิกจ่ายเดือน ต.ค. 2560 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบ 2561 เบิกจ่ายได้ 4.13 แสนล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2.9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 14.27% สูงกว่าเป้าหมาย 4.95% แบ่งเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 3.81 แสนล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2.24 ล้านล้านบาท
          คิดเป็น 17.04% สูงกว่าเป้าหมาย 6.89% แต่ในส่วนการเบิกจ่ายลงทุน กรณีไม่รวมงบกลางเบิกจ่ายได้ 3.22 หมื่นล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 5.77 แสนล้านบาท คิดเป็น 5.58%  ซึ่งต่ำกว่า เป้าหมาย 0.92%  แสดงให้เห็นว่าการเบิกจ่ายงบลงทุน ยังมีปัญหา
          ยิ่งดูงบประมาณที่กันไว้เบิกเหลื่อมปีเบิกจ่ายได้ 1.44 หมื่นล้านบาท  ของวงเงินงบประมาณ 2.86 แสนล้านบาท คิดเป็น 5.04% ซึ่งถือว่าต่ำ ทั้งที่มีการก่อหนี้แล้วทั้งสิ้น 1.92  แสนล้านบาท คิดเป็น 67.41% ของวงเงินทั้งหมด
          สำหรับการเบิกจ่ายงบลงทุนถือเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดจากการเบิกจ่ายงบลงทุนลงทุนรัฐวิสาหกิจในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 ขยายตัว 31% ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ถึง 3.8-3.9% และอาจจะขยายตัวได้ถึง 4% หากการเบิกจ่ายงบลงทุนและงบเหลื่อมปีได้รวดเร็ว
          นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ  2561 รัฐวิสาหกิจทั้ง 45 แห่ง
          มีงบลงทุนอีก 5 แสนล้านบาท  เพิ่มขึ้นกว่าปีงบประมาณ 2560 ที่มี 3.4 แสนล้านบาท เนื่องจากมีบางรัฐวิสาหกิจมีโครงการลงทุนใน ปี 2561 เป็นจำนวนมาก เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและอีกหลายโครงการขนาดใหญ่  ที่จะเร่งเบิกจ่ายตั้งแต่ต้นปีงบประมาณช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2561 ให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
          ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังยังมีแผนให้รัฐวิสาหกิจที่มีบริษัทลูก กระตุ้นให้เม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น โดยให้บริษัทแม่ขอให้บริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจเร่งลงทุน  ซึ่งเมื่อรวมงบลงทุนทั้งรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทแม่และบริษัทลูกมีงบลงทุนในปี 2561 สูงถึง 7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ 5 แสนล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินส่วนนี้จะเป็นส่วนสำคัญทำให้เศรษฐกิจปีหน้าขยายตัวได้ 4%  ตามที่รัฐบาลต้องให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เต็มศักยภาพที่ 4-5%
          อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่าย งบลงทุนดังกล่าวก็มีปัญหาจากกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างใหม่อยู่ระดับหนึ่งแล้ว หากจะมีปัญหาเพิ่มจากการหั่นราคากลางประมูลเพิ่มเติม จะไม่เป็นผลดีกับการเบิกจ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น การหั่นราคากลางจึงเป็นเรื่องที่อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย เพราะหากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์สามารถป้องกันการฮั้วและการทุจริตได้จริงเต็มประสิทธิภาพ ราคาประมูลก็จะต่ำสมเหตุสมผลตามกลไกตลาดอย่างที่เห็นมาในช่วง 3 ปี ที่ทำให้ประเทศประหยัดเงินไปได้เกือบแสนล้านบาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น