สถ.ผุดยุทธศาสตร์กำจัดขยะอปท. |
มติชน ฉบับวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ |
เมื่อวันที่
21 พฤศจิกายน ทาฃี่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ
อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.)
เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงวิชาการรับฟังความคิดเห็นต่อการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ว่าด้วยการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ครั้งที่ 1 นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า สภาพปัญหาขยะมูลฝอยที่ทวีความรุนแรงขึ้นและเป็นประเด็นวาระเร่งด่วนของประเทศและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหน่วยงานหลักที่มีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 อย่างไรก็ดี จะเห็นว่ามี อปท.ถึงร้อยละ 39 ที่ไม่ได้จัดให้มีบริการเก็บขนขยะเพื่อนำไปกำจัดตามที่ระบุในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้มีปริมาณขยะที่ชุมชนต้องหาวิธีกำจัดเองถึง 5.67 ล้านตัน ในปี พ.ศ.2559 นอกจากนี้ แม้ในพื้นที่ของ อปท.ที่มีการเก็บขนขยะก็ยังมีปัญหาของการกำจัดขยะ ผลการสำรวจสถานที่กำจัดขยะของกรมควบคุมมลพิษในปี พ.ศ.2559 พบว่าทั่วประเทศมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ยังดำเนินการอยู่ทั้งหมด 2,810 แห่ง และสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอย 14 แห่ง โดยในจำนวนนี้มีเพียง 328 แห่ง ที่พอนับได้ว่ามีวิธีการกำจัดแบบถูกต้อง แต่ที่เหลือ 2,468 แห่ง ถูกจัดเป็นสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยแบบไม่ถูกต้อง ได้แก่ การเทกอง การเผากลางแจ้ง หรือการเผาทำลายด้วยเตาเผาขนาดเล็กที่ไม่มีระบบบำบัดมลพิษทางอากาศเนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณ การจัดหาดินฝังกลบ และ/หรือการขาดเจ้าหน้าที่ผู้ดูแล เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามให้มีการแบ่งกลุ่มพื้นที่จัดการที่เราเรียกว่า "คลัสเตอร์" และส่งเสริมการนำขยะไปผลิตเป็นพลังงาน (waste to energy) แต่เมื่อดำเนินการในเรื่องนี้มากขึ้น กลับกลายเป็นว่า อปท.หลายแห่งเข้าใจประเด็นการจัดการขยะคลาดเคลื่อน แทนที่จะมุ่งเน้น "การจัดการขยะ" (waste management) กลับไปเน้น "การแปลงขยะเป็นพลังงาน" (waste to energy) ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีในการกำจัดขยะ แต่เรายังมีรูปแบบการจัดการขยะอีกหลายประเภท เช่น การฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล การผลิตขยะเชื้อเพลิง (RDF) การทำปุ๋ยหมัก การทำไบโอแก๊ส เป็นต้น ซึ่งรูปแบบการจัดการขยะควรเลือกให้เหมาะสมกับขนาดและศักยภาพของพื้นที่ และไม่ว่าจะเลือกรูปแบบไหน สิ่งสำคัญ คือ การส่งเสริมให้ประชาชนและทุกภาคส่วนช่วยกันลดและแยกขยะที่ต้นทาง ซึ่งเป็นการจัดการขยะอย่างยั่งยืนซึ่งอาจจะต้องหามาตรการแกมบังคับและส่งเสริม เพราะหากทำเชิงสมัครใจเพียงอย่างเดียวก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อให้กรมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีกรอบการทำงานที่ชัดเจนและให้มีการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องดำเนินการก่อนหลัง ทั้งนี้ ในการเสนอโครงการต่างๆ อปท.ควรเน้นให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและคำนึงถึงความยั่งยืนของโครงการทั้งในด้านการเงินและการกำกับดูแลโครงการมิให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน |
เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ฅนเทศบาล
เมนูหลัก
ข่าวท้องถิ่น
ระเบียบบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานการบริหารงานบุคคลพนักงานส่วนท้องถิ่น
วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
สถ.ผุดยุทธศาสตร์กำจัดขยะอปท.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น