วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เลือกตั้งท้องถิ่น ยังติดปม กม. กกต.โชว์หลายจุดที่ต้องแก้ไข


เลือกตั้งท้องถิ่น ยังติดปม กม. กกต.โชว์หลายจุดที่ต้องแก้ไข
บางกอกทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

          นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวว่า ที่ประชุมกกต.เมื่อวันที่ 13 พ.ย. มีมติ ให้รักษาการเลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ตอบหนังสือสอบถามของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยที่สอบถามเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.ป. พรรคการเมืองในการรับสมาชิกพรรค การเก็บเงินหรือการประชุมและรายงานทะเบียนให้ กกต. ทราบ โดยได้มีการตอบเป็นเอกสารทางการกลับไปยัง 2 พรรคแล้ว และจะประกาศผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต. และอยากให้ พรรคการมืองต่าง ๆ แล้วเข้าไปอ่านเพื่อศึกษาคำตอบเหล่านำไปปฏิบัติและไม่ถามซ้ำกันอีก ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนาที่ยื่นหนังสือถามมาจะมอบเลขาธิการ กกต. ตอบภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด
          "คำตอบที่ กกต. ให้เลขาฯ กกต. ตอบจะเป็นคำตอบสุดท้าย ซึ่งดีแล้วที่พรรคการเมืองสงสัยอะไรก็ถามมา เพราะ กกต. มีหน้าที่ตอบและไม่เคยรำคาญที่จะตอบ รวมทั้งไม่คิดจะเป็นผูดมัดกกต. หากมีการร้องการปฏิบัติของพรรคในอนาคต แต่การตอบปากเปล่าอาจพลาดได้ จึงให้มีเอกสารเป็นคำตอบและเผยแพร่ในเว็บไซต์ ถ้าทำตามคำตอบ กกต. แล้วเป็นผลเสีย พรรคการเมือง มีสิทธิ์มาต่อว่า กกต. ได้ เพราะถือเป็นความรับผิดชอบ"นายสมชัย กล่าว
          ส่วนการออกระเบียบและประกาศกกต. ที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง นายสมชัย กล่าวว่า ที่ประชุมกกต.ยังไม่ได้หารือ แต่เชื่อว่าทันกรอบเวลา 60 วัน เพราะยังเหลือ 2 สัปดาห์
          นายสมชัย ยังกล่าวถึงกรณีส่วนที่นายกรัฐมนตรีระบุเหตุผลที่ยังไม่ปลดล็อคพรรคการเมืองเพราะยังไม่มีเลขาธิการ กกต. ที่จะเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง จึงทำให้การดำเนินการล่าช้า ว่า แม้ปัจจุบันจะเป็นรักษาการเลขาธิการ กกต. แต่บุคคลดังกล่าวก็เป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองตัวจริง จึงไม่ต้องกังวล โดยที่ประชุม กกต.ให้สำนักงานเร่งรัดเรื่องการประกาศเปิดรับสมัครให้ได้ภายในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ และให้ เปิดรับสมัครตลอดทั้งเดือน โดยกระบวนการคัดเลือก ก็ดำเนินไป แต่ในขั้นตอนสุดท้ายของการเลือกใครจะ เป็นเลขาฯ กกต. กกต. ชุดนี้ไม่ประสงค์จะเป็นผู้เลือก จะรอชุดใหม่ลงมติเลือกเอง เพราะตามมารยาท ถ้าชุดนี้เลือกอาจไม่เหมาะสม แต่ถ้ารอกกต. ใหม่มา รับสมัครตั้งแต่ขั้นต้นอาจล่าช้า
          นายสมชัย กล่าวว่า ที่ประชุม กกต. พูดคุยถึงการที่รัฐบาลจะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนว่า เห็นควรที่สำนักงาน กกต. จะส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็ว และแม้นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) จะระบุว่า กกต. มีอำนาจจัดเลือกตั้งท้องถิ่นแล้วก็ตาม แต่ควรที่ กกต. จะยื่นตีความเพื่อให้เกิดความชัดเจน ซึ่งขณะนี้คำร้องที่ปรึกษากฎหมายของ กกต. ได้ตรวจสอบความเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะเข้าที่ประชุม กกต. ในครั้งหน้าก่อนส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดไม่น่าจะเกิน 2 สัปดาห์นี้
          ทั้งนี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานรัฐบาลจะจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก่อนเลือกตั้ง ส.ส. ว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ เพราะจะต้องปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น รวมทั้งกฎหมายการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 6 ฉบับให้เสร็จเรียบร้อยก่อน จึงจะสามารถดำเนินการจัดการเลือกตั้งได้ เนื่องจากมีหลายเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตามรัฐธรรมนูญ อาทิเรื่องคุณสมบัติ ที่แม้จะไม่ได้กำหนดไว้ชัดในรัฐธรรมนูญ แต่จะต้องล้อตามคุณสมบัติของผู้สมัครส.ส.
          ประธาน กรธ. กล่าวว่า ร่างแก้ไขกฎหมายเหล่านี้ คณะกรรมการพัฒนากฎหมายเคยยกร่างมาควบคู่กับตอนยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว และเคยส่งให้กระทรวง มหาดไทย แต่เงียบหายไป ดังนั้นจะส่งไปให้รัฐบาลดู อีกครั้ง ทั้งนี้รัฐบาลจะต้องเป็นผู้กำหนดเรื่องของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หากเห็นว่าอยากให้เลือกเร็ว ก็ต้องเร่งแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ซึ่งสามารถดำเนินการได้ภายใน 1 เดือน หากต้องการเลือกผู้ว่า กทม. ปีหน้า ก็เชื่อว่าทันเวลา
          นายมีชัย ยังกล่าวถึงกรณีที่มีการเสนอให้กรธ.เป็นคนให้คำตอบในคำถาม 6 ข้อของนายกรัฐมนตรี ว่า จะมา ถามกรธ. คงไม่ได้ เพราะเป็นคำถามเรื่องความรู้สึกและการแสดงความเห็นของประชาชน ไม่ใช่ข้อกฎหมาย กรธ. จึงไม่สามารถตอบได้
          อย่างไรก็ตาม นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ได้มีการให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2560 มีจำนวนสมาชิกและผู้บริหารที่ครบวาระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวม 8,410 แห่ง แยกเป็น ปี 2557 ครบวาระ 689 แห่ง ปี 2558 940 แห่ง ปี 2559 3,217 แห่ง และปี 2560 3,564 แห่ง จากจำนวนจริงมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งประเทศ 7,853 แห่ง บางแห่งการครบวาระของสภาและผู้บริหารไม่พร้อมกันจึงนับเป็น 2 แห่ง ทำให้จำนวนรวมเกินกว่าจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 224 (1) ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่และอำนาจ ในการ "จัด" หรือ "ดำเนินการให้มีการจัดการเลือกตั้ง" ทั้งเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. สภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น และการออกเสียงประชามติ
          นายสมชัย กล่าวว่า พ.ร.ป. ว่าด้วย กกต. มาตรา 27 วรรคสอง ระบุให้ กกต.มีอำนาจดำเนินการให้ "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" หรือ "หน่วยงานของรัฐ" เป็น ผู้รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้งภายใต้การควบคุมดูแลของ กกต. ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งเป็นประเด็นที่ กกต.เห็นว่ากฎหมายลูกขัดกับรัฐธรรมนูญ และมีปัญหาในเรื่องอำนาจหน้าที่ เพราะตัดประเด็นที่ให้ กกต.จัดเองได้ทิ้งไป และ กกต. กำลังจะนำประเด็นดังกล่าว สู่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
          "กรณีนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรธ. บอกว่า การ เลือกตั้งท้องถิ่น แม้ไม่มี กกต. จังหวัด แต่ กกต. สามารถใช้กลไกผู้ตรวจการเลือกตั้งมาทำหน้าที่สนับสนุนได้ เป็น การอธิบายที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เพราะใน พ.ร.ป. ว่าด้วย กกต. มาตรา 28 ระบุว่าในการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. แต่ละครั้ง ให้ กกต. จัดให้มีผู้ตรวจการการเลือกตั้งปฏิบัติหน้าที่ระหว่างเวลาที่เลือกตั้ง หากจะให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งในการเลือกตั้งท้องถิ่น ต้องออกกฎหมายรองรับ ไม่เช่นนั้นไม่สามารถตั้งงบประมาณดำเนินการได้" นายสมชัย กล่าว
          นายสมชัย กล่าวว่า ในบรรดาการเลือกตั้งทุกประเภทที่ กกต. รับผิดชอบ การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นการเลือกตั้ง ที่มีจำนวนเรื่องร้องเรียนสูงสุด มีอัตราการซื้อเสียง สูงสุด รูปแบบการซื้อเสียงและทุจริตการเลือกตั้งมีความหลากหลายและพลิกแพลงสูงสุด และแข่งขันกันใน พื้นที่ค่อนข้างรุนแรง การกำกับให้เกิดการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรมไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย และจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่
          "หากจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งใหญ่ อาจเป็นภาระของกกต.ชุดใหม่ ที่ต้องจมตัวลงไปในคดีความและข้อร้องเรียนต่างๆ จำนวนมาก และอาจกระทบต่อประสิทธิภาพการจัดการสรรหา ส.ว. และ การเลือกตั้ง ส.ส. ที่เป็นคิวถัดไป" นายสมชัย กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น