วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

แก้กม.6ฉบับรับปลดล็อกท้องถิ่น
ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

          ทำเนียบรัฐบาล * ใกล้ปลดล็อกเลือกตั้งท้องถิ่น "วิษณุ" ถกแก้กฎหมาย 6 ฉบับ เผยกฤษฎีกายกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เตรียมเชิญเทศบาล, อบต., อบจ. มาหารือคุณสม บัติกับลักษณะต้องห้าม เพราะ รธน.ใหม่จริงจังกับเรื่องนี้
          นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมน ตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา หลังการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย, กรรมการร่างรัฐ ธรรมนูญ (กรธ.), สำนักงานกฤษฎีกา, สำนัก เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ถึงการเตรียมความพร้อมในการแก้ไขกฎหมายเพื่อเตรียมจัด การเลือกตั้งท้องถิ่นว่า เนื่องจากการจะให้ จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในเร็วๆ นี้ไม่สามารถทำได้ เพราะจะขัดกับรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมาย รวมทั้งหมด 6 ฉบับ
          ประกอบด้วย พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมา ชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545, พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 (อบต.), พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจัง หวัด พ.ศ.2540 (อบจ.), พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496, พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ.2528 และ พ.ร.บ.บริหารราชการเมือง พัทยา พ.ศ.2542 ซึ่งทั้ง 6 ฉบับนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายกร่างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
          เขากล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น โดยกระทรวงมหาดไทยกำลังดำเนินการ จากนั้นจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป เมื่อกฎหมายทั้ง 6 ฉบับบังคับใช้แล้ว จึงจะรู้ว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทใด จากนั้นจึงจะมีการปลดล็อกต่อไป คิดว่าการดำเนินการจะใช้ เวลาไม่นาน และจะได้มีการเชิญเทศ บาล, อบต., อบจ. มาหารือถึงคุณสมบัติกับลักษณะต้องห้าม
          นายวิษณุกล่าวอีกว่า สำหรับกฎหมาย อบต., อบจ., เทศบาล, กทม. และเมืองพัทยานั้น จะเป็นการแก้ไขที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ เช่น การให้ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น จะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้จริงจังกับเรื่องดังกล่าว จึงต้องแก้กฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกัน โดยการแก้ไขกฎหมายทั้งหมดจะไม่เสร็จภายในปีนี้ เพราะเหลือเวลาอีกแค่ 1 เดือนก็สิ้นปี ซึ่งช่วงเวลาที่เหลือนี้จะใช้ในการรับฟังความคิดเห็น
          ผู้สื่อข่าวถามว่า หากกฎหมายผ่าน ครม.และเข้า สนช.แล้ว ทาง คสช.จะพิจารณาปลดล็อกเพื่อให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ทาง คสช.จะเป็นผู้พิจารณาว่าให้เลือกตั้งประเภทใด และเลือกตั้งเมื่อใด  โดยการประชุมวันนี้เราไม่ได้หารือกันเรื่องโครงสร้าง ซึ่งถือเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องใช้เวทีอื่น
          รองนายกฯ กล่าวต่อไปว่า แต่ยังมีประเด็นปัญหา ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตไว้ 3 ประเด็น โดยเราได้นำมาพิจารณาด้วย คือ 1.การเลือกตั้ง ท้องถิ่นต้องดูให้แน่ชัดว่าโครงสร้างท้องถิ่นเป็นอย่างไร หากมีการเลือกตั้งแล้ว และหากว่ามีการปรับโครงสร้างใหม่ออกมาจะทำอย่างไร ซึ่งตนคิดว่าโครงสร้าง อบต.น่าจะเกิดผลกระทบ ดังนั้นการเลือกตั้ง อบต.คงยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ส่วนท้องถิ่นอื่นๆ น่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดอยู่
          2.สมาชิกและผู้บริหารท้องถิ่นหลายๆ คนมีชนักติดหลัง เพราะมาตรา 44 ในเรื่องนี้ตนเห็นว่าถ้าใครผิดก็ต้องลงโทษ ถ้าไม่ผิดก็ควรจะคืนตำแหน่งเขาไป ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการสำรวจรายชื่อว่าใครมีความผิด หรือติดเรื่องอะไรบ้าง หรือที่ยังคืนตำแหน่งไม่ได้ เพราะอะไร แล้วจะชี้แจงให้รับทราบอีกที 3.หากมีการเลือกตั้งท้องถิ่นจริง พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครลงได้หรือ ไม่ ระหว่างที่ยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง ในประเด็นนี้จะมีการหารืออีกที ว่าจะปลดล็อกให้หรือไม่อย่างไร เพราะยังมีเวลาพอสมควร
          "เรารู้ปัญหาของแต่ละเรื่อง ถ้าเลือกตั้งแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้น รวมทั้งงบประมาณและภาระของ กกต. ด้วย จากกรณีที่ กกต.สงสัยในมาตรา 27 ของ พ.ร.บ.กกต. โดยทาง กรธ.ได้ชี้แจงให้ทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าไม่มีอะไรเกิดขัดแย้งกับกฎหมาย และไม่มีอะไรควรสงสัย เพราะตามรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า ให้ กกต. มีหน้าที่จัดและดำเนินการให้มีการเลือกตั้ง ประเด็นนี้ก็แล้วแต่ กกต.จะมอบหมาย สำหรับมาตรา 27 นั้น ซึ่ง กกต.อาจจะมอบหมายให้ อปท.หรือหน่วยงานใดเป็นผู้จัดการเลือกตั้งก็ได้ ย้ำว่าไม่ได้จำกัดอำนาจ กกต. อย่างไรเสีย กกต.ก็เป็นผู้จัดการเลือกว่าใครจะจัดการเลือกตั้ง หรือจัดเองก็ได้"
          นายวิษณุกล่าวด้วยว่า ในรัฐ ธรรมนูญยังได้เขียนอีกว่า หากมีการทุจริตแจกใบเหลืองใบแดง ถ้าเป็นการเลือกตั้งระดับชาติ ให้ กกต.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องศาลฎีกา ถ้าเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นก็ให้ กกต.ฟ้องต่อศาลอุทธรณ์ ซึ่งตอนนี้ไม่ได้มอบอำนาจให้ใครเลย อย่างไร กกต.ก็ต้องตอบโจทก์อยู่ดี
          ถามอีกว่า หากมีการร่างกฎหมายเสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร รองนายกฯ ตอบว่า เป็นเรื่องของ คสช.ปลดล็อก เพราะเขาเป็นผู้ล็อก
          นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ คสช.จะมีการปลดล็อกจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งระดับชาติว่า ผู้สมัครองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แม้ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง แต่กฎหมายก็ไม่ได้ห้าม และผู้สมัครจำนวนไม่น้อยที่มักจะแสดงตนสังกัดพรรคการเมือง และพรรคการเมืองบางพรรคยินดีที่จะประกาศสนับสนุนผู้สมัคร เพราะฉะนั้นจะเกิดความลักลั่นที่ผู้สมัครที่จะลงสมัคร กทม. เป็นต้น แต่พรรคการเมืองไม่สามารถช่วยหาเสียงได้
          แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ยังมีปัญหาใหญ่กว่าคือ การจะให้มีการ เลือกตั้งท้องถิ่นก่อนเลือกตั้งทั่วไป เพราะความจริงแล้วควรให้มีการเลือกตั้งองค์ กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งแต่ 2 ปีก่อนแล้ว แต่ก็ดึงเกมมาเรื่อย มาถึงตอนนี้บอกว่าจะเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน จะทำให้มีปัญหาเกิดการใช้อำนาจเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งที่เกิดจากอำนาจในคำสั่งหัวหน้า คสช.และประกาศ คสช.ตามมาตรา 44 และอำนาจของกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะเกิดการเลือกปฏิบัติ เลือกช่วยผู้สมัครท้องถิ่น และอาจเกิดการต่อรองเพื่อผลประโยชน์ในอนาคต คืออาจจะมีการหวังที่จะใช้ผู้บริหารท้องถิ่นเป็นเครื่องมือไปสนับสนุนพรรคการเมืองบางพรรคได้
          "เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว ถ้าจะหลีกเลี่ยงการแทรกแซงของ คสช.และอำนาจจากกระทรวงต่างๆ ควรจะเลือกตั้งท้องถิ่นหลังการเลือกตั้งทั่วไป และหลังจากมีรัฐบาลใหม่แล้ว พอถึงเวลานั้น คสช.จะพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไป ไม่มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้ และ กกต.และหน่วยงานต่างๆ ไม่ต้องอยู่ใต้อำนาจของ คสช.จะทำให้การเลือกตั้งมีแนวโน้มบริสุทธิ์ ยุติธรรมมากกว่า"
          นายจาตุรนต์กล่าวอีกว่า ถ้าหากว่า คสช.และรัฐบาลนี้มีความตั้งใจใช้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจริงๆ หลังจากการเลือกตั้งท้องถิ่นมาเป็นฐานทางการเมือง อาจจะสมประโยชน์ได้เพียงบางส่วน เพราะประชาชนในหลายพื้นที่ของประเทศก็มีวัฒนธรรมในการแยกแยะระหว่างผู้บริหารท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับการเมืองระดับประเทศ ที่ไม่เอามาปะปนกัน เพราะฉะนั้นถ้าจะมีแผนใช้องค์กรท้องถิ่นเป็นเครื่องมือ จะไม่ประสบความสำเร็จเท่ามากที่ตั้งใจ แต่ปัญหาก็คือเราอาจได้ผู้นำผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่ได้มาจากเสียงประชาชนจริงๆ แต่มาจากการแทรกแซง การเลือกปฏิบัติจากผู้มีอำนาจ
          เมื่อถามว่า การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับ กกต.ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง แตกต่างกันหรือไม่ นายจาตุรนต์กล่าวว่า มีความแตกต่างกันแน่นอน เพราะเดิมทีเข้าใจว่าการเลือกตั้งต่างๆ กกต.ต้องเป็นผู้ดำเนินการ แต่ก็เป็นห่วงคือ กกต.จะไปใช้กลไกเจ้าหน้าที่ของรัฐ แบบไม่เอาประชาชน หรือองค์กรภาคประชาสังคมเข้าไปถ่วงดุล แต่ถ้ากระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้ง จะยิ่งเป็นการถอยหลังชัดเจนมากขึ้น เพราะถ้าให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลย เท่ากับว่ามีระบบก่อน กกต. ซึ่งเท่ากับถอยหลังไปมาก การแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองจากผู้มีอำนาจจะมีสูงขึ้น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น