วันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2560

EDUCA 2017 พัฒนาครูตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0

EDUCA 2017 พัฒนาครูตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0
ประชาชาติธุรกิจ  ฉบับวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๐

          การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งถือเป็นปัจจัยอันดับต้น ๆ ที่ทำให้นโยบายการศึกษาของไทยขาดความต่อเนื่อง เห็นได้ชัดจากการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแต่ละครั้ง จะมาพร้อมกับนโยบายใหม่ ๆ ซึ่งมีทั้งที่สานต่อนโยบายเดิม กับปรับรื้อใหญ่ประกาศใช้นโยบายใหม่ล้วน ๆ
          ไม่เพียงเท่านั้น บางนโยบายเมื่อประกาศออกมาแล้วให้มีผลบังคับใช้ทันที ส่งผลให้บุคลากรทางการศึกษา เหล่าคณาจารย์ไม่ทันได้ตั้งตัว หรือแม้แต่ปรับตัวจัดทำแผนการเรียนการสอน จึงมักมีเสียงสะท้อนตามมาว่า แต่ละนโยบายสามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้มากน้อยแค่ไหน ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยดีขึ้นได้หรือไม่
          เกี่ยวกับเรื่องนี้ "ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล" อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ประเทศไทยมีนโยบายการศึกษาเกิดใหม่เยอะมาก แต่ไม่สามารถไปถึงห้องเรียนได้อย่างเป็นรูปธรรม หรือไปถึงแค่บางโรงเรียนที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว สาเหตุหลักที่โรงเรียนไม่สามารถนำนโยบายมาแปรผลสู่การปฏิบัติได้ เป็นเพราะไม่เห็นภาพว่าต้องทำอย่างไร
          "หลายประเทศเลี่ยงการใช้นโยบายแบบ Big Bang หรือนโยบายที่ประกาศแล้วใช้เลย เพราะมีผลข้างเคียงเยอะมาก ที่สำคัญอาจทำให้นโยบายหลงทาง จะใช้วิธีการ Transforming ค่อย ๆ เปลี่ยน รูปโฉมห้องเรียนให้มีความพร้อม เพราะเมื่อประกาศนโยบายแล้ว ครูจะรู้เลยว่าเขาสามารถเข้าไปหาตัวอย่าง และคลิปการสอนได้จากที่ไหน หรือไปขอคำแนะนำจากโรงเรียนนำร่อง หรือนักวิจัยคนไหนได้บ้าง เหมือนมีกลไกสำหรับเตรียมขับเคลื่อนนโยบายรองรับไว้ก่อน"
          ยกตัวอย่าง นโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ที่ประเทศไทยนำนโยบาย Teach Less, Learn More ของประเทศสิงคโปร์มาปรับใช้ จริง ๆ แล้วก่อนที่รัฐบาลสิงคโปร์จะประกาศนโยบายนี้ ได้นำร่องกับโรงเรียนกลุ่มหนึ่ง โดยทำการทดลองว่าเมื่อลดจำนวนชั่วโมงเรียน หันมาเน้นการปฏิบัติและทำกิจกรรมมากขึ้น จะเกิดผลอย่างไร
          เมื่อดำเนินการได้ระยะหนึ่งก็จะถอดบทเรียน เพื่อเป็นตัวอย่างวิธีการสอน และให้รายละเอียดของแหล่งการเรียนรู้ ที่สามารถค้นคว้าได้ เมื่อทุกอย่างมีความพร้อมจึงประกาศนโยบาย ทำให้ครูมีเครื่องไม้เครื่องมือในการเข้าถึง และดำเนินการได้ทันที นอกจากนั้นในระหว่างการนำร่องก็จะมีการสื่อสารกับสังคมตลอดว่า รัฐกำลังเตรียมความพร้อมสำหรับนโยบายใด
          "ในประเทศไทยแม้จะมีการทำโรงเรียนนำร่อง แต่ส่วนใหญ่ดำเนินการ กับโรงเรียนที่มีศักยภาพ ทำให้นโยบายเกิดผลสัมฤทธิ์จริงกับโรงเรียนบางแห่งเท่านั้น ซึ่งรัฐย่อมหวังผลเมื่อนโยบายได้ถูกบังคับใช้ แต่เมื่อไม่มีการปฏิบัติให้เห็นก่อน ทำให้นโยบายใหม่ ๆ ที่ออกมากลายเป็นนโยบายระยะสั้น"
          "ผศ.อรรถพล" เสนอแนะว่า การทำให้นโยบายไปสู่การปฏิบัติได้นั้น ควรมาจาก 4 ประเด็นหลัก คือ การมีส่วนร่วม, ฐานวิชาการ, การวิจัย และ ความต้องการของห้องเรียน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ทาง Policy Maker ของไทย ไม่ค่อยคำนึงถึง แต่หากมองไปยัง ประเทศอื่น ๆ ที่โดดเด่นด้านการศึกษา จะพบว่าไม่มีประเทศไหนที่กำหนดนโยบายการศึกษา โดยไม่ใช้ 4 เรื่องนี้ เป็นตัวตั้ง
          "หากรัฐไม่ให้ความสำคัญกับ 4 ประเด็น ข้างต้น นโยบายที่ออกมาก็ไม่สามารถตอบโจทย์ห้องเรียนได้ นอกจากนี้กระบวนการนำนโยบายไปสู่ห้องเรียน ต้องมีการเตรียมความพร้อม ตั้งแต่ประกาศให้สังคมรับทราบก่อนจะบังคับใช้นโยบาย เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม ขณะเดียวกันต้องเตรียมเครื่องมือและทรัพยากรบุคคลในการช่วยเหลืออย่างเทรนเนอร์ ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานมีทิศทางชัดเจนมากขึ้น"
          สอดคล้องกับมุมมองของ "ศีลชัย เกียรติภาพันธ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ที่เห็นว่า การผลักดันนโยบายการศึกษาเข้าสู่ห้องเรียนเป็นกระบวนการที่ยากลำบาก และเป็นปัญหาของเกือบทุกนานาประเทศ แต่มีหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการ
          ปิโกจึงนำแนวทางของประเทศชั้นนำ ด้านการศึกษามาเป็นตัวอย่างในการ จัดประชุมนานาชาติ เพื่อให้เกิดการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการนำนโยบายไปสู่ห้องเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านงานมหกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ครั้งที่ 10 หรือ EDUCA 2017
          ธีมงานดังกล่าวในปีนี้จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติในห้องเรียน ซึ่งถือว่าเป็นอีกช่องว่างที่ใหญ่ที่สุดของระบบการศึกษา กับแนวคิดของงาน คือ "Education 1.0, 2.0, 3.0, 4.0 : From Policy to Classroom"
          งานมหกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ครั้งที่ 10 หรือ EDUCA 2017 จะจัดขึ้นวันที่ 16-18 ต.ค.นี้ ณ อิมแพ็ค ฟอรั่ม (ฮอล 9) เมืองทองธานี โดยมีหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาชั้นนำร่วมเป็นเจ้าภาพ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.)
          รวมถึงคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะศึกษาศาสตร์ ม.ขอนแก่น, คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย (สวทศ.)
          "เรายังได้รับความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ และสถานเอกอัครราชทูตของประเทศชั้นนำด้านการศึกษา เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟินแลนด์ สิงคโปร์ ร่วมส่งวิทยากรจัดหัวข้ออบรมที่ สอดคล้องกับสถานการณ์การศึกษาในศตวรรษที่ 21 โดยเป็นหัวข้อที่เป็นรากฐานการพัฒนาครูและพัฒนาการศึกษาในแต่ละประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเป็นแนวทางที่ดีในการยกระดับการศึกษาไทย"
          กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การประชุมนานาชาติ, การเสวนาพิเศษ "ทิศบ้านทางเมืองครุศึกษา" (Teacher Education Symposium), การสัมมนาพิเศษ, ฟอรั่มครูใหญ่ และการประชุมเชิงปฏิบัติการอีกกว่า 150 หัวข้อ ซึ่งหลักสูตรของงาน EDUCA ปีนี้ได้ผ่านเกณฑ์การรับรองหลักสูตรการพัฒนาข้าราชการครูของ สพฐ. จากสถาบันคุรุพัฒนาด้วย
          ไฮไลต์สำคัญอีกอย่างคือ การให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยี และสตาร์ตอัพ เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากในการเรียนรู้ของผู้เรียนทุกมิติ จึงได้เปิดพื้นที่ให้ EdWINGS ซึ่งเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ด้านการศึกษา เข้ามาดูแลบริหารพื้นที่กว่า 400 ตร.ม. โดยจะมีการจัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่น่าสนใจจากสตาร์ตอัพในพื้นที่ดังกล่าว
          "เพราะในยุค Global Disruptive Technology ได้มีเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา หรือ EdTech เกิดขึ้นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญกับเรื่อง Education 4.0 ปิโกจึงมีพื้นที่นี้ เพื่อช่วยเปิดวิสัยทัศน์และโอกาสให้คุณครูสามารถเข้าถึงแนวคิดใหม่ ๆ ที่น่าสนใจด้านการศึกษาได้มากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการยกระดับการศึกษาของประเทศ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น