ภาษีที่ดินวุ่นไม่เลิก เหตุเหลื่อมล้ำสูง-กรมที่ดินจอถก อปท. |
ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๐ |
สนช.ตั้งคณะทำงาน4ฝ่ายรับมือ ภาษีที่ดินส่อบานปลาย สนช.มอบคณะทำงาน 4 ฝ่ายหาทางป้องกันไม่ให้ระบบรวน เตรียมออกก.ม.ลูกบรรเทา ชี้เกษตร-SMEsจัดสรรเหลื่อมล้ำ กรมที่ดินนัดถก อปท.ทั่วประเทศ ประเด็นต้องส่งข้อมูลภายใน 60 วัน หลังการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เสียงส่วนใหญ่เห็นควรยกเว้นภาษีที่ดินเพื่ออยู่อาศัยให้ไม่เกิน 20 ล้านบาท จากที่รัฐบาลได้เสนอให้เว้นไม่เกิน 50 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การพิจารณาของ สนช. วาระ 2 จะมีการขยายเวลา การพิจารณากฎหมายภาษีที่ดินออกไปอีก 60 วัน เป็นครั้งที่ 2 ล่าสุดพล.ท. ชาญชัย ภู่ทองคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การพิจารณาใน กมธ. ยังมี 7-8 ประเด็นที่ความเห็นไม่ตรงกันทั้งในคณะ กมธ.เองและเสียงของแต่ละภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบเกณฑ์ในการจัดเก็บและประเภทกิจการ "กมธ.วาระ 1 พิจารณาปรับลดภาษีที่ดินกรณีบ้านหลังแรก 20 ล้านบาทขึ้นไป จากเดิมที่รัฐบาลเสนอ 50 ล้านบาทขึ้นไปแทนเพื่อความเหมาะสม นอกจากนี้ กมธ.วาระ 2 ที่พิจารณายกเว้นให้ คือ บ้านหลังที่ 2, เถียงนา กระต๊อบสำหรับเกษตรกร หากตั้งอยู่ในตำบลเดียวกันกับบ้านหลังแรกมูลค่าต่ำกว่า 10 ล้านบาทให้อยู่ในข่ายยกเว้น หากอยู่ต่างตำบลให้เก็บตั้งแต่บาทแรก จากการสำรวจพบว่า บ้านหลังที่ 2 ที่เป็นพื้นที่เกษตร ส่วนใหญ่กว่า 50% เป็นของนายทุนต่างถิ่น ขณะที่ชาวบ้านที่เป็นเกษตรกร จริงๆ มี ไม่เกิน 5-10 ไร่" ยังพิจารณาผ่อนผันให้ธุรกิจเอสเอ็มอี หรืออุตสาหกรรมขนาดเล็กที่จดทะเบียนตั้งบริษัท แต่เพิ่งก่อร่างสร้างตัว จะได้รับยกเว้นจัดเก็บภาษี 3 ปี หลังจากนั้นหากธุรกิจมีรายได้เข้ามาให้เริ่มเสียภาษี ทั้งนี้สมาร์ทเอสเอ็มอีเสนอให้ผ่อนผัน กลุ่มของโรงเรียน โรงพยาบาล สนามกีฬา สนามกอล์ฟเอกชน สนับสนุนนักกีฬาทีมชาติ หากจัดเก็บภาษีประเภทพาณิชยกรรมจะกระทบการผลิตนักกีฬาทีมชาติแต่มีบรรเทาการจัดเก็บภาษีสูงสุด 90% แต่ กมธ.บางราย เห็นว่าตัวเลขควรอยู่ที่ 95% ของมูลค่าที่ดินนอกจากนี้ยังผ่อนผันที่ดินในโครงการบ้านจัดสรร หากยังไม่พัฒนาจะพิจารณาผ่อนผัน โดยเหตุผลที่จัดเก็บเป็นขั้นบันได้เนื่องจากต้องใช้ฐานราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ใหม่ปี 2562 ซึ่งหลายพื้นที่ราคาประเมินปรับขึ้นถึง 1,000% จากฐานราคาประเมินที่เคยใช้ 30 ปีก่อน หากจัดเก็บทันทีจะกระทบต่อประชาชนและเอกชน หรือการแบ่งฐานภาษีที่ดินเป็นขั้นบันได ตามมูลค่าราคา ประเมินตอนนี้ตัวเลขยังไม่เคาะออกมา อาทิ จะพิจารณาจากมูลค่า 50-100 ล้านบาท หรือ มูลค่า 50-75 ล้านบาท มูลค่า 100-150 ล้านบาท มูลค่า 150-200 ล้านบาท และ ตั้งแต่ 200 ล้านบาทขึ้นไป เป็นต้น เช่น มูลค่า 50-75 ล้านบาท จัดเก็บ 0.03% มูลค่า 75-100 ล้านบาท เก็บ 0.035% หรือ 0.04% เป็นต้น "บางทำเลราคาประเมินขึ้น 1,000% และหากกรมธนารักษ์ ปรับราคาประเมินจัดเก็บปี 2562 ราคาก็จะสูงขึ้นไปอีก ตัวอย่างปทุมธานี กับที่ดินชายขอบกทม.ติดกัน ท้องถิ่นเรียกเก็บภาษีโรงเรือนกับบำรุงท้องที่ จะใช้ดุลพินิจที่ ปทุมธานีท้องถิ่นอ้างทำเลติดศูนย์ราชการเก็บ 20,000 บาท ที่ดินเขต กทม.กับติดกันเก็บเพียง 8,000 บาท เป็นต้น ซึ่งมองว่าเหลื่อมล้ำ" ขณะนี้ สนช.ได้มอบให้คณะทำงานทั้ง 4 ฝ่าย ประกอบด้วย กรมธนารักษ์ สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสำนักงานกฤษฎีกาหาทางบรรเทา และออกกฎหมายลูก 23 ฉบับ รองรับ และให้เสนอกลับภายในเดือนตุลาคม ที่ดินถกท้องถิ่น นายประทีป กีรติเรขา อธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงการเตรียมการของกรมที่ดินจากผลของร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า ทันทีที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้กรมที่ดินต้องจัดส่งข้อมูลเอกสารรูปแปลงที่ดิน อาคารสิ่งปลูกสร้างให้กับหน่วยงานท้องถิ่น (กทม., อปท.) ในพื้นที่นั้นๆ ภายใน 60 วัน เพื่อที่ท้องถิ่นจะได้เตรียมการจัดเก็บภาษี "ทันทีที่กฎหมายที่ดินมีผลบังคับก็บวกไปอีก 60 วัน เป็นหน้าที่เราที่จะต้องส่งไฟล์ข้อมูลให้หน่วยงานท้องถิ่น ส่วนท้องถิ่นได้รับข้อมูลแล้วจะเตรียมการทันหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับกฎหมายฉบับนี้ว่าจะจัดเก็บจริงเมื่อไร เป็นเรื่องที่กรรมาธิการอาจต้องไปปรับแก้ไขเพิ่มเติม" อย่างไรก็ดี กรมที่ดิน ยังต้องทำข้อตกลงกับ อปท.เรื่องการใช้ข้อมูลต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดคือใช้เพื่อเก็บภาษีเท่านั้น อปท.ต้องกำกับดูแลให้ดี ห้ามนำข้อมูลไปใช้เพื่อประโยชน์อื่น เพราะอาจส่งผลต่อการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งเราต้องรักษาสิทธิ์ตรงนี้ให้ชาวบ้านด้วย โดยกรมที่ดินจะนัดหารืออปท.ทั่วประเทศเพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ กรมที่ดินมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ อปท.ทราบ เช่นหากมีการแบ่งแยกโฉนด การรวมโฉนด หรือออกโฉนดใหม่ เพื่อที่อปท.จะได้ทราบว่าต้องไปเก็บภาษีกับใคร เช่นเดียวกันกรณีมีการค้างจ่ายภาษี อปท.ก็ต้องแจ้งให้กรมที่ดินทราบ เพื่อที่กรมที่ดินจะสั่งระงับธุรกรรมจนกว่าจะมีการจ่ายภาษีค้างอย่างถูกต้อง "ร่างกฎหมายระบุว่าจะทำธุรกรรมไม่ได้ เมื่อปรากฏจากอปท.ว่ามีการค้างชำระ เว้นแต่กรณีมีการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล คือต้องจ่ายชำระกันเสียก่อน และภายในเดือนมิถุนายนของทุกปี อปท.มีหน้าที่ต้องแจ้งรายการภาษีค้างชำระให้กับกรมที่ดินเพื่อใช้เป็นข้อมูลจดทะเบียน" ต่อคำถามที่ว่าในช่วงที่กฎหมายยังไม่ประกาศใช้ เห็นสัญญาณการโอนเปลี่ยนที่ดินหรือไม่เพื่อประโยชน์ทางภาษีหรือไม่ อธิบดี กล่าวว่า ที่ดินทั่วประเทศมีประมาณ 36.8 ล้านแปลง การทำธุรกรรมรังวัด (การแบ่งแยกโฉนด,รวมโฉนด, สอบเขต และการขอออกโฉนดใหม่) แต่ละเดือนจะอยู่ในเกณฑ์ 3 หมื่นเรื่อง และธุรกรรมเฉพาะการแบ่งแยกโฉนดจะเพิ่มปีละ 3-4% ยังไม่พบเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ นายกฤษฎา ศิริพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักการคลัง หวังว่ากฎหมายฯจะประกาศใช้ในปี 2561 เพื่อที่จะให้หน่วยงานท้องถิ่นมีเวลาเตรียมการ 1 ปี ในการสำรวจตรวจสอบ กรณีขอข้อมูลที่ดินรายแปลงสิ่งปลูกสร้างจากกรมที่ดินในช่วงที่กฏหมายยังไม่บังคับใช้ กทม.จะต้องเสียค่าธรรมเนียมอากรไม่ต่างกับประชาชนทั่วไป ที่ไปขอใช้บริการรังวัด ซึ่งเป็นวงเงินจำนวนหลายล้านบาท (ค่าธรรมเนียมยื่นคำขอฉบับละ 100 บาท) แต่หากกฎหมายบังคับแล้วก็เป็นหน้าที่ที่กรมที่ดินต้องส่งมอบให้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แหล่งข่าวจาก อปท.มองว่า เป็นไปได้ที่รัฐบาลจะประกาศใช้กฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2561 แต่การจัดเก็บจริงอาจเลื่อนไปจากปี 2562 เนื่องจากหากกฎหมายประกาศปีหน้า และให้เวลากรมที่ดิน จัดส่งข้อมูลถัดจากนั้นภายใน 60 วัน ในขณะที่รัฐบาลจะให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นเวลา 1 ปี ก่อนที่จะมีผลจัดเก็บภาษีจริง การเตรียมการของท้องถิ่นอาจไม่ทัน |
เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ฅนเทศบาล
เมนูหลัก
ข่าวท้องถิ่น
ระเบียบบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานการบริหารงานบุคคลพนักงานส่วนท้องถิ่น
วันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ภาษีที่ดินวุ่นไม่เลิก เหตุเหลื่อมล้ำสูง-กรมที่ดินจอถก อปท.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น