วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ฟ้องถอนกฎกระทรวงเบี้ยชราภาพไม่เป็นธรรม


ฟ้องถอนกฎกระทรวงเบี้ยชราภาพไม่เป็นธรรม
คม ชัด ลึก  ฉบับวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๐

          เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 19 ตุลาคม ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย กับพวกรวม 51 คน เป็นผู้รับเบี้ยชราภาพประกันสังคม 6 คน และผู้ประกันตนสูงวัย ร่วมกันยื่นฟ้อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กรณีออกกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับเรื่องบำนาญชราภาพไม่ชอบธรรม คำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2556 ผู้ถูกฟ้องคดีออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556 ให้รัฐบาลจ่าย 2% และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 รัฐบาลจ่ายเงินสมทบ 1% ในขณะที่ฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างต้องจ่ายในอัตราที่สูงกว่ารัฐบาล 2 เท่าคือ 3% จึงขัดต่อหลักการการร่วมจ่ายที่ควรจะมีอัตราเท่ากัน เพื่อได้สิทธิประโยชน์ประกันสังคมเพียงพอ และเป็นธรรม นอกจากนี้การกำหนดเป็นเงินบำนาญเป็นแบบอัตราตายตัวไม่อิงดัชนีค่าครองชีพไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของคนทำงานที่เกษียณอายุทั้งที่สภาพเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยนไปมาก
          ผู้ฟ้องจึงขอให้เพิกถอนกฎกระทรวง 3 ฉบับ คือ 1.กฎกระทรวงฉบับที่ 7 (2538) ออกตามความ พ.ร.บ.ประกันสังคม 2533 เรื่องการกำหนดจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตน มาตรา 33 ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 15,000 บาท 2.กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ พ.ศ.2550 ออกตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม 2533 มาตรา 77 และ 3.กฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบประกันสังคม พ.ศ.2556 ออกตามความใน พ.ร.บ.ประกันสังคม 2533 มาตรา 46 วรรคหนึ่งและวรรคสอง โดยให้ออก กฎกระทรวงใหม่ และให้รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงแรงงานสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับประกันตนผู้สูงอายุในด้านสถิติและความจำเป็นความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีพ ซึ่งการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพควรคำนึงอัตราเงินเฟ้อ ดัชนีค่าครองชีพ และออกกฎกระทรวงให้แล้วเสร็จ 1 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
          น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแต่การตระหนักถึงผลกระทบทางสังคมยังมีไม่มากนัก ปี 2561 จะมีผู้สูงอายุเพิ่มปีละ 1 ล้านคน แต่ครึ่งหนึ่ง ของผู้สูงอายุไม่มีเงินออมเลย ซึ่งการออกกฎกระทรวงดังกล่าวไม่ได้ตอบสนองรองรับ ปัญหาและสอดรับกับแผนผู้สูงอายุทั้งที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้นำเงินใน ส่วนชราภาพไปลงทุนจำนวนมากและได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนมากมาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น