วันอังคารที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เติมเงินบัตรคนรายได้น้อย ดันเศรษฐกิจฐานรากเพิ่ม

เติมเงินบัตรคนรายได้น้อย ดันเศรษฐกิจฐานรากเพิ่ม
โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2560

          เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง
          เติมเงินบัตรคนรายได้น้อยดันเศรษฐกิจฐานรากเพิ่ม
         
          แม้ว่าโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ หรือการแจกสวัสดิการให้ผู้มีรายได้น้อยรอบล่าสุดมีผู้ได้สิทธิกว่า 11 ล้านคน เริ่มได้รับสวัสดิการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2560 ที่ผ่านมา จะมีปัญหาการดำเนินการล่าช้าเนื่องจากการแจกบัตรแมงมุมของผู้มีสิทธิใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ นครปฐม และสมุทรสาคร ประมาณ 1.3 ล้านคน จะเริ่มแจกบัตรในวันที่ 17 ต.ค. 2560 โดยกรมบัญชีกลางจะยกยอดวงเงินแต่ละประเภทสวัสดิการที่คงเหลือจากการใช้จ่ายในเดือน ต.ค. 2560 ให้ไปใช้ต่อได้ในเดือน พ.ย. 2560
          ขณะที่การแจกบัตรสวัสดิการ 70 จังหวัด อีก 10 ล้านคนถึงตอนนี้ก็ยังมารับบัตรไม่หมด ทางกรมบัญชีกลางจึงต้องยกยอดการใช้บัตรของเดือน ต.ค. 2560 ที่เหลืออยู่ไปใช้ได้ในเดือน พ.ย. 2560 เช่นกัน
          นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่อง การติดตั้งเครื่องชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีดีซี ให้กับร้าน ธงฟ้าที่ติดตั้งได้ 4,000 เครื่อง หรือ 1 ใน 3 ของเป้าหมายที่จะติดตั้งให้ได้เท่านั้น ทำให้ผู้มีสิทธิใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการได้ไม่ทั่วถึง
          อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการ ใช้บัตรสวัสดิการกลับได้รับการตอบรับที่ดี โดยเฉพาะสิทธิในส่วนของวงเงิน ที่ใช้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในร้าน ธงฟ้า ปรากฏว่า ผู้ได้บัตรส่วนใหญ่ นำไปใช้ซื้อสินค้าทันทีส่งผลให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วตามที่ รัฐบาลต้องการ
          หากประเมินจากตัวเลขผู้มีสิทธิสวัสดิการรายได้น้อย จะมีวงเงินใช้ซื้อของร้านธงฟ้า 200-300 บาท/เดือน เมื่อคิดว่ามีผู้ได้สิทธิกว่า 11 ล้านคน จะทำให้มีเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ ในส่วนนี้ถึงเดือนละ 2,000-3,000  ล้านบาท/เดือน แม้เป็นเงินไม่มากแต่การที่เงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วก็กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้น้อย
          ทั้งนี้ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์  รองนายกรัฐมนตรี เห็นช่องในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากเพิ่มมากขึ้นจากมาตรการนี้ จึงได้สั่งการให้กระทรวงการคลังศึกษาเพิ่มวงเงินซื้อของร้านธงฟ้าทันที เพราะได้รับเสียงเรียกร้องจากผู้มีสิทธิว่า วงเงินซื้อร้านธงฟ้าโดนใจตรงตามความต้องการ  แต่วงเงินยังน้อยเกินไป
          ขณะที่กระทรวงการคลังก็รับลูกรัฐบาลทันที สมชัย สัจจพงษ์  ปลัดกระทรวงการคลัง ออกมาระบุว่า คลังได้ศึกษาเพิ่มวงเงินซื้อของร้านธงฟ้าจากเดิม 200-300 บาท เพิ่มมากขึ้น เบื้องต้นพบว่า ประชาชนในต่างจังหวัดส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้สิทธิวงเงินค่าบริการรถไฟเดือนละ 500 บาท และสิทธิการขึ้นรถ บขส. เดือนละ 500 บาท  ก็จะศึกษาโยกเงินส่วนนี้มาเป็นวงเงินซื้อของร้านธงฟ้า เช่น โยกสิทธิ ในส่วนนี้ 500 บาท มาซื้อของ ร้านธงฟ้าได้ก็จะทำให้วงเงินซื้อ ของร้านธงฟ้าเพิ่ม เป็นเดือน 700-800 บาท
          แนวคิดของกระทรวงการคลัง ถือว่าเป็นแนวคิด ที่ดีมาถูกทาง เพราะเป็นการแก้ปัญหาวงเงินการใช้บัตรที่ไม่โดนใจผู้ใช้สิทธิกลายเป็นตรงใจที่ผู้ใช้สิทธิต้องการ มากขึ้น ที่สำคัญการใช้วิธีการนี้ ไม่ทำให้ภาระงบประมาณใช้ในโครงการนี้มากขึ้น แต่สามารถ เพิ่มเงินกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากจากเดือนละ 2,000-3,000 ล้านบาท  เป็นเดือนละ 7,000-8,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ได้เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อย
          ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า  เม็ดเงินจากโครงการแจกสวัสดิการ ผู้มีรายได้น้อย น่าจะช่วยทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เพิ่มขึ้นไม่ถึง 0.1% การปรับจูนวงเงินการใช้บัตรทำให้เม็ดเงินกระตุ้นการบริโภคและ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้รวดเร็วและจำนวนมากขึ้น น่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากกว่าที่ ธปท.ประเมินไว้
          สำหรับสิทธิของบัตรผู้มีรายได้น้อยมี 2 ส่วนคือ ซื้อของจากร้าน
          ธงฟ้าได้คนละ 200-300 บาท  ส่วนวงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม  45 บาท/คน/3 เดือน ส่วนที่ 2 จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เป็นวงเงินค่าโดยสารรถเมล์และรถไฟฟ้า จำนวน 500 บาท/คน/เดือน วงเงินค่าโดยสารรถ บขส. 500 บาท/คน/เดือน วงเงินค่าโดยสารรถไฟ 500 บาท/คน/เดือน วงเงินที่ใช้ต่อปีกว่า 4 หมื่นล้านบาท ที่ผ่านมาการใช้บัตร มีปัญหาทำให้คิดว่าเม็ดเงินจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่ แต่เมื่อมีการปรับการใช้บัตรดังกล่าวจะทำให้เม็ดเงิน 4 หมื่นล้านบาท เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
          การเติมวงเงินซื้อของร้านธงฟ้า นอกจากช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้แล้ว ยังซื้อใจผู้มีรายได้น้อยได้อีกจำนวนมาก อย่างน้อยก็เห็นว่ารัฐบาลตั้งใจช่วยผู้มีรายได้น้อยให้มากที่สุด และพร้อมจะปรับเปลี่ยนมาตรการให้ ผู้มีรายได้น้อยได้ประโยชน์มากที่สุด
          สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ระบุว่า รัฐบาลมีความตั้งใจจริงที่จะให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างถูกกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับความต้องการผ่านบัตรผู้มีรายได้น้อย ทั้งนี้ จะมีการประเมินโครงการในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง และพร้อมจะปรับปรุงพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนต่อไป
          การปรับเปลี่ยนการใช้บัตรสวัสดิการของรัฐบาลครั้งนี้ จึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากเพิ่มขึ้น และจะส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมไปด้วย ยิ่งรัฐบาลต้องการให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวได้ 4% ที่เป็นเรื่องยากมีทางเป็นไปได้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมารัฐบาลตั้งเป้าโครงการแจกสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย เป็นโครงการสำคัญอันหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้ขยายตัวได้ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่กระจุกอยู่แต่บนส่วนยอดเท่านั้น
          สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ออกมาระบุว่า เดือนนี้กระทรวงการคลังจะปรับประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้จากเดิม 3.6% เพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ใกล้เคียง 4% ซึ่งกระทรวงการคลังยังตั้งเป้าให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 4% ขึ้นอยู่กับการลงทุนเอกชนหากขยายตัวได้ดีก็จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 4% ได้ง่ายขึ้น
          สำหรับการลงทุนของภาครัฐ รัฐบาลก็เร่งการใช้จ่ายและการลงทุนต่อเนื่อง นอกจากนี้รัฐบาลยังได้เร่งประสานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีเงินลงทุนไม่ได้ใช้อีกกว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อทำให้เศรษฐกิจภูมิภาคขยายตัว กระจายความเจริญและรายได้ให้กับเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มมากขึ้น
          สำหรับข้อเสนอของภาคเอกชนให้รัฐบาลออกมาตรการช็อปช่วยชาติ กระทรวงการคลังยังแบ่งรับแบ่งสู้โยนให้ฝ่ายนโยบายเป็นผู้ตัดสิน ขณะที่มาตรการภาษีท่องเที่ยวที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เสนอมาให้กระทรวงการคลังพิจารณาตอนนี้ ไม่มีความคืบหน้า เพราะกระทรวงการคลังมองว่า ไม่มีความจำเป็นเพราะเศรษฐกิจขยายตัวได้ดีแล้วไม่จำเป็นต้องเสียเงินภาษีให้กระทบการเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2561 ซึ่งไปปรับการใช้บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย เพิ่มวงเงินซื้อของร้านธงฟ้ากระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากโดยที่ไม่ต้องมีภาระงบประมาณเพิ่มมากขึ้นจะดีกว่า

          การเติมวงเงินซื้อ ของร้านธงฟ้า นอกจากช่วยกระตุ้น เศรษฐกิจฐานราก ได้แล้ว ยังซื้อใจ ผู้มีรายได้น้อยได้ อีกจำนวนมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น