วันพฤหัสบดีที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2560

บทความพิเศษ: การจัดการศึกษาท้องถิ่น ตอนที่ 9: ปฏิวัติการศึกษา

บทความพิเศษ: การจัดการศึกษาท้องถิ่น ตอนที่ 9: ปฏิวัติการศึกษา 
สยามรัฐ  ฉบับวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๐

          ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย
          การปฏิรูปการศึกษาไทยแม้จะเกิดมาเป็นสองระลอกใหญ่ครั้งนี้เป็นระลอกที่สามที่สำคัญมากเพราะมีการลงทุนด้วยต้นทุนที่สูงทั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)และ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก็ร่วมสามปีเศษมาแล้ว ในมุมมืดของการปฏิรูปผู้เกี่ยวข้องต้องหันมาจริงจังให้มากโดยเฉพาะในครั้งที่สามนี้ กำลังจะพาดพิงถึงต้นต้นสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิด "ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา" คือ "การทุจริตคอร์รัปชัน" หรือ "ความมิชอบมาพากลไม่ถูกต้องด้วยธรรมาภิบาลทั้งปวง" หรือจะเรียกว่าความด่างพร้อยจุดด้อยของระบบก็แล้วแต่
          เอาละ คราวนี้ระลอกที่สามนี้ ผู้เขียนเห็นว่า สมควรที่จะใช้คำว่า "ปฏิวัติการศึกษา" กันได้แล้ว เพราะทำมาสองครั้งแล้วยังเดิมๆ ลองมาทำใหม่แบบ "ปฏิวัติ" ที่ถอนรากถอนโคนชนิดที่พลิกฝ่ามือกันได้แล้ว ให้สมกับที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 261 ได้บัญญัติไว้เป็นหัวใจของ "การปฏิรูปด้านการศึกษาที่สำคัญมาก" ลองมาสำรวจกระแสข้อเขียนเก่าที่ผ่านมา ว่าพอจะมีประเด็นใดที่จะปฏิวัติบ้าง
          สภาพปัจจุบัน และปัญหาของครูปัจจุบัน
          รัชนี อมาตยกุล รร.อมาตยกุล รร.เอกชน กรุงเทพมหานคร(2556)กล่าวจากประสบการณ์การศึกษา สรุปว่า 3 ประการ
(1)เรื่องคุณภาพของบัณฑิตที่จบปริญญาตรี จากประสบการณ์ตรงในการคัดเลือกผู้สมัครเข้ามาเป็นครูพบข้อมูลน่าตกใจและน่าสงสัยมาก เมื่อพบว่ามีเพียงประมาณ 3%ของผู้ที่มาสัมภาษณ์งาน 3 จาก 100 คน เท่านั้น ที่สามารถทำเลขระดับ ม.1 ได้ถูกต้อง และสามารถเขียนประโยคภาษาอังกฤษง่ายๆ ระดับ ม. 1 ได้ถูกไวยากรณ์
(2)เรื่องวิธีสอนของครู คือครูเลข ครูภาษาอังกฤษ และ ครูสังคม พบว่าครูสอนดีก็มีมาก ครูสอนให้ยากก็มีไม่น้อย การสอนยาก สับสน ขาดเทคนิคที่ชัดเจนทำให้เด็กๆ ไม่อยากเรียน ไม่เก่ง สมองไม่เปิด ดูจากคะแนนสอบของเด็กแล้ว ครูส่วนใหญ่ต้องมีปัญหาเรื่องการสอนแน่นอน โดยเฉพาะในระดับชั้นมัธยม
(3)เรื่องภาระงานของครูในโรงเรียน มากมายเหลือเกิน มากจนไม่มีเวลาพัฒนาตนเองด้านการสอน ทั้งๆ ที่เป็นหัวใจของการทำอาชีพครู ทำให้ครูมีแต่ความทุกข์ ครูต้องก้มหน้าก้มตาทำงานทุกอย่าง ไม่มีสิทธิปฏิเสธ แม้จะรู้ว่าหลายภาระงานไม่เกิดประโยชน์ ออกจะไร้สาระเสียด้วยซ้ำ ครูที่มีความทุกข์ เหนื่อยยากกับอาชีพจะเอาพลังที่ไหนมาสอนหนังสือให้สนุก มาจุดประกายเด็กให้มีชีวิตชีวาและมีความภูมิใจในตนเองเช่น
       (3.1)ครูต้องทำเอกสารเพื่อรอรับการประเมินจาก สมศ. ซึ่งมีเกณฑ์การพิจารณา และตัวบ่งชี้นับร้อย ที่ต้องทำเอกสาร
       (3.2)ครูต้องทำเอกสาร ปรับการสอน เพื่อรับกับหลักสูตรใหม่อยู่เสมอเปลี่ยนหลักสูตรหมายถึงเปลี่ยนหนังสือเรียน
       (3.3)ครูต้องเอาเวลาไปทำงานวิจัยในชั้นเรียน เพราะสมศ. มาตรวจ
       (3.4)ครูต้องเอาเวลาไปเรียนเพิ่มเติม หรือไปอบรมเพื่อให้ได้ประกาศนียบัตร เอาไว้เพื่อยื่นต่อใบประกอบวิชาชีพ
       (3.5)ครูต้องเอาเวลาไปทำงานอื่นๆ นอกจากงานสอน เช่น แจกเงินและตามทวงใบเสร็จจากนักเรียนในโครงการเรียนฟรี ฯลฯ
       (3.6) งานประจำวันของครู ได้แก่ การสอนประมาณ 15-20 คาบต่อสัปดาห์ การคัดกรองนักเรียนป่วย ระวังโรคไข้หวัด 2009 มือเท้าปากไข้เลือดออก แล้วแต่ฤดูกาล การเก็บโทรศัพท์มือถือเข้าตู้เซฟตอนเช้า คืนตอนเย็น การดูแลให้นักเรียนปลอดภัย การรับฟังและแก้ปัญหาของนักเรียน ฯลฯ
          ข้อเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่ง่ายสั้นไม่เปลืองงบ
          รัชนี อมาตยกุล ได้ข้อเสนอแนะ แนวทางแก้ปัญหาที่สามารถทำได้โดยง่าย ใช้เวลาสั้น ใช้งบประมาณไม่มาก อยากเห็นเด็กไทยเรียนได้ดี มีความสุข อยากเห็นครูไทยมีชีวิตการทำงานที่สมดุลและมีคุณภาพในเร็ววัน เสนอแนวทาง 10 ข้อ
  • (1) ควรเริ่มที่ห้องเรียน เริ่มจากทำครูและนักเรียนให้มีคุณภาพ ต้องรีบสร้าง Thailand model ให้กับทุกวิชา ทุกบท ทุกระดับชั้น ทำให้เป็นวาระแห่งชาติ ทำวิธีสอนให้ง่าย สั้น ประสิทธิภาพสูง ใช้ภาษาวิชาการให้น้อย เน้นให้ไปรวบรวมวิธีสอนแต่ละบทแต่ละเรื่องแต่ละระดับชั้นมาจากครูที่สอนดีทั่วประเทศที่ใช้วิธีการเหล่านั้นสอนและได้ผลมาแล้ว เลือกมาหลายๆ วิธีก็ได้ แล้วจึงมาสังเคราะห์อีกทีอย่าสร้างกรอบหรือเกณฑ์ในการคัดเลือกให้ยุ่งยาก เช่นที่ Singapore มี Singapore Math Model ที่โด่งดังไปทั่วโลก ควรใช้ระบบ 70 : 30 คือสอนพื้นฐานเหมือนๆ กัน 70 เปอร์เซ็นต์ ครูคิดเพิ่มเติม30 เปอร์เซ็นต์ ทำแบบนี้ ครูที่เป็นต้นแบบก็ภาคภูมิใจ เทคนิคดีๆ ก็จะกระจาย เด็กๆ ก็จะเรียนรู้ได้
  • (2) ต่อจากข้อ (1) ให้จัดอบรมวิธีสอนแต่ละบทให้กับครูทั่วประเทศ ว่ากันเป็นบทๆ โดยอบรมกันแบบหวังผล
  • (3) ต่อจากข้อ (1) และข้อ (2) ให้รัฐจัดหาสถานที่ทำศูนย์สำหรับครู (teacher center)มี 1 จังหวัด 1 ศูนย์ เพื่อการพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้กัน แลกเปลี่ยนวิธีการสอน แลกเปลี่ยนความคิดกันได้ เป็นแหล่งรวมของ Best practice และเทคนิคการสอนดีๆ รัฐสนับสนุนเพียงสถานที่และหนังสือ สื่อต่างๆ มีกฎกติกาน้อยเปิดวันเสาร์ - อาทิตย์ด้วย
  • (4) จัดให้มีระบบ call center แบบ 1133 สายตรงการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อช่วยครูในเรื่องต่างๆ นักวิชาการและศึกษานิเทศก์ในกระทรวงได้ใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์เป็นผู้เชี่ยวชาญ
  •  (5) ปฏิรูปสถาบันที่สอนครูเป็นการด่วนนำ Thailand Model ในข้อ (1) เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการฝึกหัดครู เรียกว่าครูที่จบออกมาเรียนให้ตรงเป้าจบมาทำงานได้จริง
  • (6) เปิดช่องทางอนุญาตให้ผู้ที่จบสาขาอื่น เช่น วิศวกร แพทย์ นักหนังสือพิมพ์ที่ทำงานมาจนอิ่มตัวแล้ว รอบรู้มาก มาเป็นครูได้ง่ายกว่าปัจจุบัน เช่น จัดอบรมวิธีสอนตามข้อ (1) ตาม Thailand model ได้ ก็ได้ใบประกอบวิชาชีพดีกว่าจัดให้สอบแบบเช่นปัจจุบัน
  • (7) เมื่อวิธีการสอนได้รับการปรับปรุงแล้ว วิธีการประเมินก็ต้องเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เปลี่ยนข้อสอบให้เหมาะสมอย่าออกข้อสอบกำกวม มีหลายคำตอบ แล้วแต่จะคิดหรือข้อสอบที่ตอบแล้ว ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น
  • (8) ให้ลดตัวชี้วัดลง สมศ. ควรมาประเมิน รร.ตามสภาพจริงที่ ร.ร.เป็น ควรมีตัวชี้วัดง่ายๆ 4 ตัว ได้แก่
                (8.1) ครูตั้งใจและสอนดี
                (8.2) เด็กดี
                (8.3) อาคารสถานที่ดี
                (8.4) การบริหารงานดี ไม่ต้องให้โรงเรียนเก็บตัวเลขอะไรมากมายเช่นปัจจุบัน นอกจากนี้ ควรเปลี่ยนการประกันคุณภาพแบบ ผ่าน หรือตกเป็น การช่วยเหลือและพัฒนา
  • (9) รัฐสามารถช่วยลดภาระงานของครูลงได้โดยจ่ายเงินในโครงการต่างๆ ให้กับผู้ปกครองโดยตรง ทั้งเงินเรียนฟรีในโครงการ เงินอุดหนุนรายหัว ขอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเป็นคนทำหน้าที่นี้แทนครู จะใช้ระบบภาษี เป็นค่าลดหย่อน หรือแบบคูปองการศึกษาก็ได้ ไม่ต้องผ่านโรงเรียน ครูจะได้เอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่มีคุณค่ากว่า
  • (10) การปฏิรูปการศึกษาครั้งต่อไป ควรให้ครูที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนจริงเป็นแกนนำ ไม่ควรให้ครูเป็นผู้ปฏิบัติตามเท่านั้น เพราะผู้นำในการปฏิรูปควรสัมผัสปัญหาทั้งหมด เพื่อที่จะรู้ว่าควรจะปฏิรูปอะไรการปฏิรูปจะได้ตรงเป้าสำเร็จไม่ให้เหมือนกับครั้งที่ผ่านๆ มา
          อาชีพครูกำลังถูกท้าทาย
          ท่ามกลางกระแสการปฏิรูปจากนโยบายรัฐบาล คสช. อาชีพได้ถูกท้าทายด้วย "มาตรฐานวิชาชีพ" อาทิ การให้คนอาชีพอื่นที่ไม่มีวุฒิครูหรือจบการศึกษาครู มาเป็นครูได้ เรื่องนี้ มีนักการศึกษาให้ข้อสังเกตว่า
          (1) เนื่องจากครูที่ดีที่เก่งมีความรู้ความสามารถไม่เพียงพอและปัจจุบันครูที่สอนอยู่ไม่เก่งไม่สามารถยกฐานะระดับการศึกษาให้สูงขึ้นได้
          (2) เนื่องจากเกิดจากครูทำงานอย่างอื่นมากกว่างานการสอนหรือมีความรู้ไม่เพียงพอต่อองค์ความรู้ที่จะถ่ายทอดแก่ผู้เรียน เด็กคิดไม่เป็น ทำไม่เป็นแก้ปัญหาไม่เป็น (เอาเด็กไม่อยู่เสียแล้ว) แม้ว่าเด็กจะก้าวหน้ากว่าครูที่จบไปแล้ว การศึกษาไทยไม่ก้าวหน้าย่ำอยู่ที่เดิม
          (3) เนื่องจากการเป็นครูสอนหนังสืออย่างเดียว งานอื่นที่นอกเหนือพัฒนาการเรียนการสอนอื่น เช่น คุณธรรม จริยธรรม ไม่ได้สอน ควรให้ผู้ที่จบการศึกษาพุทธศาสตรบัณฑิตสอน
          (4) จริงหรือที่ผู้จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิตอยากมาเป็นครูมากกว่าเป็นทนาย นิติกร หรือเป็น อัยการ ผู้พิพากษา ตามสายงาน จึงขาดความมั่นใจในการดำรงอาชีพว่า เขาเหล่านี้มาทำงานเพื่อรอจะไป แม้จะมีข้อโต้แย้งว่าบุคคลประเภทนี้อาจแก้ปัญหาต่างๆได้ดีกว่าที่จบครู และ เช่นกันจริงหรือที่ผู้จบการศึกษารัฐศาสตร์อยากเป็นครูมากกว่าเป็น นักปกครอง ปลัดอำเภอ นายอำเภอ ผู้ว่าฯ หรือว่าจะมารองานเพื่อจะไปเป็นนักปกครอง นอกจากนี้ เนื่องจากผู้ที่จบการศึกษาสายอื่นๆ มีทักษะการตัดสินใจ การปกครอง การบริหารจัดการ การวางแผน การเงิน การบัญชี การคลัง จะได้มาทำหน้าที่ครูได้ แต่ก็พึงระวังการมารองาน เพื่อจากไปในสาขาวิชาชีพที่ตนได้ร่ำเรียนมา
          (5) เนื่องจากครูไม่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา อักษรศาสตร์(วิชาภาษาไทยอ่านคิดวิเคราะห์ไม่เป็น) สถาปัตยกรรมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ (วิชาคณิตเด็กตกมาก)
          (6) เนื่องจากผู้จบสาขาเหล่านี้ที่ความเฉลียวฉลาดรอบรู้ลึกซึ้งกว่าผู้ที่จบการศึกษาสาขา ครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ การศึกษาบัณฑิต
           (7) เนื่องจากการมาเป็นอาชีพครูทำให้รายได้ฐานะดี ได้รับการยกย่องเชิดชู มีเกียรติและศักดิ์ศรีดีกว่าอาชีพอื่นๆ จึงสมควรเชิญผู้จบสาขาวิชาอื่นๆ มาเป็นครู(8) หรือว่ารัฐบาลกำลังมาถูกทางหรือหลงทางกันแน่ หรือว่ากำลังสร้างความแตกแยกทำลายโครงสร้างแบบเดิมๆ ที่คิดว่ามีปัญหา ที่อาจเป็นการผิด ทาง หรือสร้างสรรค์ต่อระบบการศึกษาของชาติก็ได้
          เด็กปฐมวัยคือรากแก้วแห่งชีวิต เป็นยุคทองของพัฒนาการเรียนรู้เป็นการลงทุนอย่างคุ้มค่าจากข้อมูลการศึกษาเมื่อปี 2551 พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) การจัดการศึกษาในระบบ มีโรงเรียนในสังกัด อปท.จำนวนรวมทั้งสิ้น 1,481 โรง มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 1,585,172 คน คิดเป็นร้อยละ 12.35 ของนักเรียนทั้งประเทศ โดยนักเรียนระดับก่อนประถมศึกษามีจำนวนเพิ่มมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีจากปี 2548 ที่มีสถานศึกษาเพียง 955 แห่ง โดยสถานศึกษาส่วนใหญ่เปิดสอนในระดับก่อนประถมศึกษาและประถมศึกษามากที่สุด รวมทั้งได้ขยายการสอนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายตามความพร้อมของแต่ละท้องถิ่น สำหรับการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อปท. ได้จัดในรูปศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) มีจำนวนทั้งสิ้น 18,780 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2548 คิดเป็นร้อยละ 16.56
          จากข้อมูลจึงเห็นว่า อปท. เป็นหน่วยงานหลักหน่วยงานหนึ่งที่ได้จัดการศึกษา "เด็กปฐมวัย"(อายุ 0 - 5 ปี) ที่มีคำกล่าวที่ให้ความสำคัญในการศึกษานี้ว่า "สังคมใดทอดทิ้งเด็กปฐมวัย สังคมนั้นปราชัยตั้งแต่ต้นมือ" ซึ่งการลงทุนในเด็กปฐมวัย เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด ที่จะได้ผลตอบแทนกลับคืนในอนาคตถึง 7 เท่า เพราะเป็นทั้งการเพิ่มคุณภาพทรัพยากรบุคคลของประเทศ และลดอัตราการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เด็กปฐมวัยที่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย จะมีทักษะทางกายภาพ ความฉลาดทางสติปัญญา และความฉลาดทางอารมณ์สูง จึงนำไปสู่การมีโอกาสในการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น เป็นแรงงานคุณภาพที่มีรายได้สูง ดังนั้น อัตราการก่อคดีหรือสร้างปัญหาสังคมจึงน้อยลงด้วย
          แต่ในท่ามกลางความสำคัญ พบว่า ประเทศไทยขาดการลงทุนทางด้านปฐมวัย และการศึกษาไทยจะต้องพยายามลดความเหลื่อมล้ำลงระหว่าง "โรงเรียนชนบทและเมือง" ส่วนเด็กไทยต้อง "สอนให้รู้จักคิด วิเคราะห์ เลิกได้แล้วกับการสอนให้ท่องจำ" ถึงขนาดว่าครูชาวต่างประเทศที่เคยมาเป็นครูในประเทศไทยกล้าเขียนบทความ (ปี 2551) ว่า ระบบการศึกษาไทย คือหนึ่งในระบบการศึกษาที่ล้มเหลวที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตกต่ำลงทุกปี เพราะว่า (1) เงินงบประมาณที่ถมลงไปไม่เคยพอ (2) ห้องเรียนขนาดใหญ่มีนักเรียนมากกว่า 50 คนต่อห้อง (3) การผลิตและพัฒนาครูย่ำแย่ (4) นักเรียนขาดแรงผลักดัน และ (5) ระบบที่บังคับให้นักเรียนผ่านชั้นได้แม้ว่าพวกเขาจะสอบตก
          ด้านงบประมาณข้อมูลปี 2547 พบว่า สัดส่วนรายจ่ายขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)แยกตามกิจกรรม ใช้เพื่อการศึกษา เพียงร้อยละ 5.6 ซึ่งร้อยละ 47.6 ใช้เพื่อซื้ออาหารเสริมหรือนมร้อยละ 31.4 อาหารกลางวัน ร้อยละ 15.7 ตอบแทนเจ้าหน้าที่ ร้อยละ 4.0 ค่าวัสดุการศึกษา เข้าใจว่าทั้งหมดใช้สำหรับศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนที่ อบต.ต้องดูแล แล้วงบประมาณเพื่อ "พัฒนาคน" ไปอยู่ที่ไหน
          นับแต่ปี 2551 ที่ได้ทำร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการจัดการศึกษาของ อปท. 10 ปีแล้วเสร็จซึ่งกำหนดเป้าหมายให้ อปท.มีส่วนร่วมจัดการศึกษาในระบบในสัดส่วนที่สูงขึ้นร้อยละ 20 และสถานศึกษาสังกัด อปท.มีมาตรฐานระดับดีตามเกณฑ์การประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 มาถึงปัจจุบัน ยุทธศาสตร์นี้ยังใช้ได้ และต้องมีการพัฒนานายุทธศาสตร์ให้ต่อเนื่อง ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในระยะ 20 ปี ด้วย ในท่ามกลางกระแสการพัฒนาในหลายประการ ที่กำลังเดินหน้าอย่างแข็งขัน ที่ทั้งในมุมมืด ข้อด้อย อุปสรรค จุดอ่อน) และมุมสว่าง (จุดแข็ง ความได้เปรียบ จุดเด่น)ต่างก็ต้องพิจารณาเพื่อการแก้ไขปรับปรุงกันอย่างเท่าเทียมกัน อย่าปิดบัง ซ่อนเร้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนควรหันหน้ามาร่วมผนึกกำลังกัน "ปฏิวัติการศึกษา" ได้แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น