วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

วิพากษ์เลือกตั้งท้องถิ่น ปลดล็อก-ยุทธศาสตร์การเมือง?

วิพากษ์เลือกตั้งท้องถิ่น ปลดล็อก-ยุทธศาสตร์การเมือง?
มติชน  ฉบับวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๐

          หมายเหตุ - ความเห็นจากนักวิชาการและนักการเมืองท้องถิ่น ต่อกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุช่วงเวลาเบื้องต้น การจัดให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น รวมถึงการเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในปี 2561 นั้น
          อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
          อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
          นายกฯคงปรึกษาทีมงานเรียบร้อยแล้วว่า การ กระทำเรื่องนี้ ถ้าดำเนินการเร็ว ประเทศไทยอาจได้อานิสงส์จากต่างประเทศ เรื่องการผ่อนคลายประชาธิปไตย การเลือกตั้งท้องถิ่นมันหมดยุคแล้ว หมายถึงทุกคนหมดวาระแล้วทั้ง 7,853 ตำแหน่ง ต้องเลือกใหม่หมด เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลจะได้รับจากการเลือกตั้งท้องถิ่น คือความเป็นประชาธิปไตยที่แสดงให้คนทั่วโลกเห็นว่าเราเริ่มเปิดออกแล้ว ประเด็นที่ 2 เกี่ยวกับตัวเอง นั่นคือเขาจะได้รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองพูดว่านักการเมืองเลวทั้งหมดนั้นจริงหรือไม่ ซื้อเสียงจริงไหม นี่เป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะได้ดูแลชาวรากหญ้าอย่างใกล้ชิดว่าจริงๆ แล้วระบบการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นอย่างไร เพราะทหารอยู่เต็มพื้นที่ไปหมด นี่คือประโยชน์ในการเตรียม การเลือกตั้งสำหรับตัวเองในคราวต่อไป อีกประเด็นคือ ได้ใจประชาชนระดับล่าง อย่างน้อยยังคำนึงถึงการเลือกตั้งท้องถิ่น เปิดโอกาสให้ประชาธิปไตยเริ่มเบ่งบาน ในส่วนนี้นายกฯจะได้เครดิต ถ้าดำเนินการอย่างรวดเร็ว
          การจัดการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนั้นมีแต่ได้ ไม่มีเสีย ที่สำคัญคือในช่วงเลือกตั้งจะเปิดโอกาสให้วิธีการหาเสียงเป็นไปแบบไหนอย่างไร จะเป็นประชาธิปไตยครบถ้วนหรือไม่ เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นมีขึ้นทั่วประเทศ และถ้ามีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้นแบบเดิมจะกลายเป็นว่านายกฯได้เปรียบ มีพรรคพวกเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง มันดูเหมือนจะบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่กลับไม่ยุติธรรม จุดนี้น่าจะแก้ไขเป็นว่า ถ้ามีการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งทีน่าจะแก้ให้เป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ ถามว่า กกต.มีความสามารถจัดการเลือกตั้งหรือเปล่า เข้าใจการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่ หรือจะให้ใครจัด เพราะตามกฎหมายเดิมคือให้ท้องถิ่นจัด กกต.เพียงเข้าไปดูเฉยๆ ครั้งนี้เขาจะได้รู้ว่าจริงๆ ว่ามีการซื้อเสียงหรือไม่ จริงอยู่ว่าต้องมีอยู่บ้าง เพียงแต่ไม่เปิดเผยกัน แต่ถ้าทหารอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว พวก กอ.รมน.หรือศูนย์ดำรงธรรมลงไปลุยเต็มพื้นที่ น่าจะรู้ข้อมูลชัดเจนว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นมันบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ จะได้เกิดการแก้ไขช่วงการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นมันมีแต่ผลดี มีได้แต่ประโยชน์ ไม่มีเสียประโยชน์เลย
          การเลือกตั้งท้องถิ่นเหมือนเป็นเครื่องหมาย หรือสัญญาณอย่างหนึ่งที่ว่า รัฐบาลมองภาพออกว่าตัวเองได้ประโยชน์หลายด้าน จึงประกาศออกมาเพื่อมองว่าท้องถิ่นจะมีปฏิกิริยาอย่างไร นับเป็นสัญญาณที่ดีในการปลดล็อกแช่แข็งการเลือกตั้งได้ระดับหนึ่ง เพราะเขาทำงานนี้ขึ้นมา มีแต่ได้ทั้งหมด เสียงสนับสนุนท่วมท้นไปหมด สามารถดรอปเรื่องการบริหารที่ผิดพลาดของเขาลงไปได้ ส่วนตัวโรดแมปที่พูดถึงน่าจะหมายถึงการเลือกตั้งใหญ่ ไม่ใช่การเลือกตั้งเล็กหรอก แต่ ณ เวลานี้ ตำแหน่งทั้ง 7,853 ตำแหน่ง ล้วนหมดวาระหมดแล้วเลยต้องทำ
          หลายๆ อย่างเป็นสัญญาณว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทำตามสัญญาแล้ว ตัวนี้เป็นตัวบ่งชี้ตัวหนึ่ง แต่การเลือกตั้งใหญ่คงต้องรอไปอีก น่าจะอีก 2 ปีต่อจากนี้ ซึ่งถ้าตามโรดแมปจริงๆ สิ้นปี 2561 คงเลือกได้ แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะมีเหตุการณ์อะไรที่จะทำให้ ครม.ชุดนี้เปลี่ยนใจหรือไม่ เขาจะเปลี่ยนใจให้เร็วขึ้นหรือเปลี่ยนใจให้ช้าลง มันเป็นไปได้ทั้งหมด เราอย่าไปคิดอะไรมาก เพราะ คสช.สามารถประเมินพลังของพรรคการเมืองต่างๆ ได้ค่อนข้างละเอียด เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นฐานสำคัญของพรรค เขาจึงประเมินพรรคต่างๆ ที่จะเข้ามาร่วมมือด้วย หรือพรรคที่เป็นฝ่ายตรงข้ามอย่างพรรคเพื่อไทยก็ตาม
          โอฬาร ถิ่นบางเตียว
          รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา
          การที่นายกฯเกริ่นเรื่องเลือกตั้งท้องถิ่นปีหน้า คิดว่าน่าจะมีความเป็นไปได้ เนื่องจากทำเพื่อเป็นการเปิดช่องระบายอากาศทางการเมืองที่ทำให้เห็นบรรยากาศการเริ่มต้นของประชาธิปไตย แม้จะไม่ใช่ระดับชาติ การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นมีนัยยะ 2 ประการ 1.ประมาณ 3 ปีที่ผ่านมามีการประกาศมาตรา 44 ซึ่งเป็นการแช่แข็งท้องถิ่น บางอย่างท้องถิ่นเกิดปัญหาพอสมควรในบรรยากาศการแช่แข็ง ทำให้ปัญหาการเมืองท้องถิ่นเริ่มก่อตัว
          มีความขัดแย้งกันมากขึ้น ตั้งแต่ปี 2557 จำเป็นต้องผ่อนคลาย ให้มีการเลือกตั้ง 2.มีความพยายามประสานกับกลุ่มชนชั้นนำท้องถิ่น ก่อนที่จะไปสู่การเลือกตั้งระดับชาติ ต้องเปิดให้เลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อให้บางกลุ่มที่ได้ประสานเบื้องต้นกับ คสช.เข้าไปทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในท้องถิ่น จุดประสงค์คือการเป็นฐานเลือกตั้งระดับชาติ ส่วนตัวมองว่าเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองของ คสช. ซึ่งหลายคนวิเคราะห์ว่ามีความเป็นไปได้ว่า คสช.จะสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง โดยจำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายพันธมิตรของกลุ่มชนชั้นนำท้องถิ่น ที่ยังมีอิทธิพลในการเมืองระดับจังหวัด ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง ท้องถิ่นคนเหล่านี้จะไม่มีพื้นที่ อำนาจ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงจำเป็นต้องให้มีการเลือกตั้งให้คนเหล่านี้เข้าไปมีบทบาทเต็ม แล้วจะนำไปสู่การเลือกตั้งที่ คสช.จะได้เปรียบ
          นอกจากนี้ คือเป็นการที่ยังไม่ให้คำตอบชัดเจนเรื่องการปฏิรูป แม้ก่อนหน้านี้มีการปฏิรูปว่า จะมีการยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ยุบรวม อบต.ให้มีขนาดเหมาะสมในเรื่องรายได้ กำลังคน ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นการทำให้มันถูกคลี่คลายลง คือทำให้นักการเมืองท้องถิ่นรู้สึกว่าตัวเองยังอยู่ได้โดยไม่ถูกยุบรวม ไม่ถูกแปรรูป ลดขนาด เป็นการลดปัญหาความขัดแย้งจากกระแสการปฏิรูปด้วย
          ส่วนประเด็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.นั้น ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการปลดล็อกทางการเมือง เป็นการปูทางไปสู่การเลือกตั้งระดับชาติเพื่อทำให้ คสช.มีความได้เปรียบ
          ถวิล ไพรสณฑ์
          อดีตคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น สภาผู้แทนราษฎร
          การเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศจะส่งผลดีกับประชาชน อย่างแน่นอนในหลายด้าน เป็นการผ่อนคลายบรรยากาศ
          ทางการเมือง หลังการยึดอำนาจมานานกว่า 3 ปี แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจนว่าท้องถิ่นจะเลือกตั้งได้เมื่อใด เพราะกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. นอกจากนั้นท้องถิ่นต้องดำเนินการตามแนวทางการปฏิรูปหลังกฎหมายประกาศบังคับใช้ทั้งการควบหรือ ยุบรวม กฎหมายด้านการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น การจัดเก็บรายได้ รวมทั้งโครงสร้างในการกระจายอำนาจต้องถ่ายโอนภารกิจตามที่กฎหมายกำหนด และ การกำกับ ดูแลของราชการส่วนกลาง รวมทั้งราชการส่วนภูมิภาคต้องมีความชัดเจน
          ขณะที่ในอนาคตท้องถิ่นควรมีความเป็นอิสระพอสมควรตามแนวทางการหารายได้เพื่อพึ่งพาตนเอง ที่สำคัญการ เลือกตั้งท้องถิ่นต้องเว้นระยะห่างจากช่วงการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.ให้มีความเหมาะสม
          เสรี สุวรรณภานนท์
          ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
          ด้านการเมือง สปท.
          ยืนยันว่า ควรจำกัดการทำหน้าที่เพียง 2 วาระ เนื่องจากปัจจุบันยังมีคนดี มีความสามารถจำนวนมากในท้องถิ่นที่เป็นตัวเลือกให้ประชาชน ขณะที่คนทำงานนานบางส่วนมีปัญหาการทุจริต
          คอร์รัปชั่น สร้างอิทธิพล สำหรับนักการเมืองท้องถิ่นที่ไม่สามารถลงรับสมัครเลือกตั้งในครั้งต่อไป หากต้องการทำงานรับใช้ประชาชนก็ควรพิสูจน์ตัวเองโดยลงสมัครทำงานการเมืองในสนามอื่นได้อีก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะความชัดเจนเรื่องการให้เลือกตั้งท้องถิ่นในเร็วๆ นี้ เพราะรัฐบาลคงไม่ให้ผู้บริหารท้องถิ่นรักษาการมีอำนาจเต็มนานเกินไป ที่ผ่านมาคณะทำงานสรุปรายงานเสนอแนวทางให้รัฐบาลรับทราบนานแล้ว หลังมีคำสั่ง ม 44 ให้รักษาการได้ไม่นาน ก็ขอให้นำร่องเลือกตั้ง อปท.ในจังหวัดรอบปริมณฑล เพื่อศึกษาแนวทางให้คุมเข้มเรื่องการทุจริตการซื้อเสียง สร้างกระแสความสนใจให้ประชาชนตื่นตัวเพื่อเลือกคนดี มีความสามารถ แต่อาจติดขัดและเป็นปัญหาทางการเมือง
          เพราะการหาเสียงอาจจะทำให้มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ที่ผ่านมายอมรับว่า กมธ.ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนหลายพื้นที่ว่านายกท้องถิ่นที่รักษาการมีปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่พอสมควร
          ศุภสัณห์ หนูสวัสดิ์
          อุปนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.)
          คาดว่าจะดำเนินการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นได้ช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 หากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น 7 ฉบับ โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ
          เลือกตั้งท้องถิ่นเสร็จสิ้นทั้งหมด จึงเป็นเงื่อนไขและโอกาสที่ดี ที่จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งระดับชาติ หลังจากช่วงดังกล่าวองค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศหมดวาระพร้อมกันทั้งหมด และ อปท.ส่วนใหญ่มีโอกาสได้รักษาการหลังหมดวาระตั้งแต่ต้นปี 2558 สำหรับข้อกังวลของผู้บริหารท้องถิ่นตามที่บัญญัติในร่างประมวลกฎหมาย อปท. ที่ผ่านความเห็นชอบของ สปท. ในมาตรา 60 วรรคสอง ที่กำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระนั้น
          ล่าสุด ผลการประชุมอนุกรรมาธิการ สปท.ได้ปรับแก้ให้เริ่มนับวาระตั้งแต่กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ และ อยู่ระหว่างนำเสนอไปยังกระทรวงมหาดไทย ส่วนการยุบและควบรวมตามแนวทางปฏิรูปของ สปท.ยืนยันว่าต้องยุบหรือควบรวมแน่นอน ตามแนวทางที่กำหนดไว้ทั้งลักษณะบังคับหรือค่อยเป็นค่อยไป ยกเว้นข้อเสนอดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยกระทรวงมหาดไทย หรือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
          อำพล ยุติโกมินทร์
          อุปนายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย
          เชื่อว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศจะไม่เกิดขึ้นในระยะสั้นหลังเสร็จงานพระราชพิธีสำคัญ ตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอแนวทาง
          สำหรับการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันของนักการเมืองที่จะเสนอตัวลงเลือกตั้ง และไม่ให้นายกที่รักษาการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ทางการเมือง กระทรวงมหาดไทยควรต้องสั่งให้ผู้บริหาร ท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง ภายใน 60 หรือ 90 วัน จากนั้นให้อำนาจปลัดท้องถิ่น ทำหน้าที่รักษาราชการแทนชั่วคราว แต่ไม่ควรสั่งปลดนายกท้องถิ่นโดยไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้ง
          เนื่องจากต้องยอมรับว่าขณะนี้มีผู้บริหารท้องถิ่นที่ถูกสั่ง ปลดจากมาตรา 44 ยังมีอำนาจแฝงในการชี้นำสมาชิกสภา ท้องถิ่น และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อกดดันการทำงานของข้าราชการประจำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น