คอลัมน์ เดินหน้าชน: เลือกตั้งท้องถิ่น |
มติชน ฉบับวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐ |
เสกสรรค์ กิตติทวีสิน เพียงไม่กี่ประโยคที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ถึงการให้มีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศอีกครั้งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงปีหน้า นายกฯบอกว่า จะเลือกตั้งกันอย่างไรให้ถึงเวลาค่อยมาคุยกัน ขอให้เตรียมการกันเอาไว้ ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป พูดเท่านี้เสียงปี่เสียงกลองก็ดังขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งนักมวยก็คือนักการเมืองท้องถิ่น ส่วนกองเชียร์ก็เป็นชาวบ้านพร้อมจะส่งเสียงเพื่อให้บ้านเมืองมีการพัฒนามากขึ้นกว่าที่ต้องอยู่กันอย่างนี้ นับตั้งแต่การเกิด คสช.ขึ้นมาเมื่อ 22 พ.ค.2557 หรือ 3 ปีกว่าไปแล้ว ที่การเลือกตั้งท้องถิ่นต้องหยุดชะงักไป ปัจจุบันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่หมดวาระ ทั้ง ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นรวมหลายพันแห่ง และการปกครองรูปแบบพิเศษอย่างกรุงเทพมหานครด้วย โดยยังคงมีต่อเรื่อยๆ ในปี 2560 และเลยไปถึงปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ยังไม่นับกลุ่มที่ถูกมาตรา 44 สะกิดขาดทั้งตำแหน่งและเงินเดือน หลังจากมือปราบทุจริตทั้งหลายตรวจสอบว่าพัวพันเอี่ยวกับทุจริต ส่วนจะมากขึ้นแค่ไหน ก็มีตัวเลขคร่าวๆ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พอจะเป็นหลักให้ดูกัน จาก กกต.สรุปรายละเอียดการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นออกมาว่า ณ เวลานั้น มีพื้นที่ที่จะต้องเลือกตั้งรวมทั้งสิ้น 3,564 แห่ง แบ่งเป็น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 7 แห่ง เทศบาล 595 แห่ง ประกอบด้วย เทศบาลนคร 5 เทศบาลเมือง 27 เทศบาลตำบล 563 และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 2,961 แห่ง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร 1 แห่ง ตอนนั้นเป็นตัวเลขหลังมีข่าวออกมาว่า พีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 เล่าให้นักข่าวฟังว่า ได้พูดคุยกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่บอกว่า อยากให้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน จะทำให้นักการเมืองไม่สามารถไปครอบงำการเลือกตั้งท้องถิ่นได้อีก แต่ไม่รู้ระยะเวลาว่าจะเริ่มเมื่อใดอาจเปลี่ยนแปลงได้ สื่อเอาไปพาดหัวใหญ่กัน ก่อนอีกวันนักข่าวไปปะหน้าถาม "บิ๊กป้อม" ที่ตอบว่า "การเลือกตั้งท้องถิ่นขณะนี้ยังเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะกฎหมายลูกยังไม่ออกและต้องรอรัฐธรรมนูญ หากรัฐธรรมนูญออกก็ต้องว่าไปตามนั้น" ทำให้ควันของการเมืองท้องถิ่นที่ถูกจุดขึ้นอย่างรวดเร็วหายวับไปทันที ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น มาวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ พูดเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นออกมาตามท่วงทำนองของเส้นทางการทำงานของแม่น้ำ 5 สาย คืบหน้าไปมากแล้ว ถือว่าผ่านโค้งกลางๆ รวมทั้งเหตุการณ์ลอบวางบอมบ์หลายจุดในกรุงเทพฯและรอบปริมณฑลก็คลี่คลายไป จากที่ก่อนหน้านี้สร้างความกังวลต่อแผนโรดแมปพอสมควร นับว่าพอจะมองเห็นเค้ารางๆ หน้าตาของการเลือกตั้งท้องถิ่นน่าจะมีขึ้น ส่วนจะมีก่อนหรือหลังเลือกตั้งนั้น ต้องเฝ้ารอและดูกัน ถ้าสมมุติยึดตามที่พีระศักดิ์คุยกับ พล.อ.ประวิตร หากมีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน เมื่อดูคาบเกี่ยวของเวลาก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน เนื่องจาก พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งสมาชิกสภาและผู้บริหารท้องถิ่น ยังอยู่ดีครบถ้วนทุกประการ เพียงแต่ กกต.และ กรธ.อาจจะต้องปรับหรือเพิ่มบางมาตราให้เข้ากับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ขณะที่การเลือกตั้งระดับใหญ่เกิดขึ้นได้จะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีการจัดทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวเนื่องให้เสร็จสิ้นอย่างน้อย 4 ฉบับ ทั้งฉบับพรรคการเมือง การเลือกตั้ง ส.ส. การได้มาซึ่ง ส.ว. และ กกต. มีความยุ่งยากกว่า และยังเกิดขั้นตอนระบบไพรมารีหรือรอบคัดตัวผู้สมัครทั่วประเทศของแต่ละพรรคอีกจะวุ่นวายแค่ไหน หากทายความรู้สึกในตัวนักการเมืองท้องถิ่นแล้ว อยากจะเลือกตั้งกันเร็วๆ ทั้งสิ้น เพราะยิ่งให้พวกรักษาการนั่งยาวๆ ในแต้มคูทางการเมืองถือว่าเสียเปรียบ กว่าจะเลือกตั้งก็ตกปี 2561 ถึงตรงนั้นเท่ากับไม่มีการเลือกตั้งเบ็ดเสร็จ 4 ปี ยากที่จะประเมินได้ว่า กลุ่มฐานเสียงยังเหลือเท่าไร กลับมาลงสนามอีกครั้งลูกบ้านอาจจะหลงลืมหรือเปลี่ยนใจไปแล้ว ต้องเช็กเรตติ้งกันเต็มที่ อย่าลืมมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่ที่เข้าเกณฑ์เพิ่มขึ้นมาอีก กลุ่มนี้จะมีสักกี่คนที่จะรู้จักตัวผู้สมัคร หากเสียงปี่กลองดังขึ้น น่าจะใส่กันเต็มที่ตั้งแต่ยกแรก อาจจะมีลูกตุกติกแถมกันประปราย ยิ่งไปรอเบียดขยันออกอาวุธยก 4-5 คงไม่ไหวแน่ |
เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ฅนเทศบาล
เมนูหลัก
ข่าวท้องถิ่น
ระเบียบบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานการบริหารงานบุคคลพนักงานส่วนท้องถิ่น
วันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
คอลัมน์ เดินหน้าชน: เลือกตั้งท้องถิ่น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น