วันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

คลังแก้ภาษีลาภลอย5ปม ค้างจ่ายเจอโทษ'ยึด-อายัดทรัพย์'


คลังแก้ภาษีลาภลอย5ปม ค้างจ่ายเจอโทษ'ยึด-อายัดทรัพย์' 
ประชาชาติธุรกิจ  ฉบับวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐

          คลังยืดฟังความเห็น พ.ร.บ.ภาษีลาภลอย ถึงวันที่ 21 ก.ค. ปรับไส้ใน 5 ประเด็น ยกเลิกตั้งกองทุน ดึงภาษีไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มโครงการลงทุนที่ทำมาก่อนมี พ.ร.บ. ชี้ผู้ครอบครองที่ดินรัฐต้องจ่ายภาษี โยกอำนาจให้สรรพากรรับผิดชอบจัดเก็บภาษี เพิ่มอำนาจอธิบดีสรรพากรยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สิน ผู้ไม่ชำระภาษีค้าง-เบี้ยปรับ-เงินเพิ่ม
          แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ขยายเวลาเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. ...(ภาษีลาภลอย) ไปถึงวันที่ 21 ก.ค.นี้ จากเดิมขยายเวลาเปิดรับฟังความคิดเห็นรอบหนึ่งแล้วเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา
          "เนื่องจากขณะนี้ได้มีการปรับปรุงหลักการของกฎหมาย รวม 5 ประเด็น จึงต้องเปิดฟังความคิดเห็นใหม่อีกครั้ง"
          แหล่งข่าวกล่าวว่า ประเด็นที่มีการปรับปรุงในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว  ประกอบด้วย 1) การนำส่งเงินภาษี จากเดิมที่กำหนดให้กรมที่ดินและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำส่งเงินภาษีเข้ากองทุนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ ได้มีการแก้ไขใหม่ คือให้กรมที่ดินและ อปท.นำส่งเงินภาษีเข้าคลังเป็นรายได้แผ่นดินแทน
          "เดิมที่จะตั้งกองทุน โดยจะเป็น Earmarked Tax แต่ตามรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดให้มีกฎหมายวินัยการเงินการคลังขึ้นมา ซึ่งจะเข้มงวดเรื่องการ Earmarked Tax ดังนั้นให้เก็บภาษีแล้วนำส่งเข้าคลังเลย แต่หลักการที่จะนำไปใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศก็ยังเหมือนเดิม เพียงแต่ผ่านระบบงบประมาณปกติเท่านั้น" แหล่งข่าวกล่าว
          2) กำหนดโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ที่จะต้องจัดเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินและห้องชุดที่อยู่รอบโครงการให้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งให้รวมถึงโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคฯ ที่ทำสัญญาก่อนและยังพัฒนาโครงการไม่แล้วเสร็จในวันที่ร่าง พ.ร.บ.ภาษีลาภลอยมีผลบังคับใช้ด้วย 3) กำหนดผู้ครอบครองที่ดินที่เป็นทรัพย์สินของรัฐต้องเสียภาษีด้วย 4) กำหนดให้กรมสรรพากรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบจัดเก็บภาษี โดยมอบอำนาจให้กรมที่ดินและ อปท.จัดเก็บแทน
          และ 5) เพิ่มบทลงโทษ ในกรณีผู้เสียภาษีไม่ได้ชำระภาษีค้าง เบี้ยปรับและเงินเพิ่มภายในเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือแจ้งเตือน ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเตือน อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้เสียภาษีเพื่อนำเงินมาชำระภาษีค้าง เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้นได้
          "ตอนนี้อาจจะต้องเสนอร่าง พ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิเข้า ครม.ก่อน ล่าสุด คลังส่งเรื่องไปให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้ว ส่วนร่าง พ.ร.บ.ภาษีลาภลอยยังต้องใช้เวลาปรับปรุงในรายละเอียดอีกพอสมควร หลักการยังเหมือนเดิม และอัตราที่จะจัดเก็บก็ยังคงไว้ที่ 5% เหมือนเดิม" แหล่งข่าวกล่าว
          ล่าสุด นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า สศค.กำลังปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ภาษีลาภลอย ซึ่งคาดจะเสนอ ครม.ภายใน 3 เดือน โดยประเด็นที่ปรับปรุง อาทิ ยกเลิกการตั้งกองทุน แล้วนำส่งเข้าคลังโดยตรง เป็นต้น
          ด้านนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง น่าจะสรุปในขั้นกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายได้ภายใน 45 วัน และกฎหมายน่าจะผ่านภายในสิ้นปีนี้ แต่การบังคับใช้ในการจัดเก็บภาษีจริง ๆ จะเริ่มในปี 2562 ซึ่งทางกรมธนารักษ์ได้เตรียมการประเมินที่ดินรายแปลง 32 ล้านแปลงให้แล้วเสร็จภายในปีนี้
          ทั้งนี้ รมช.คลังยอมรับว่าขณะนี้ เสียงส่วนใหญ่ในกรรมาธิการ เห็นควรให้ปรับลดมูลค่าที่อยู่อาศัยที่ได้รับการยกเว้นภาษีจากเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป ให้ต่ำลงเพื่อให้ได้ฐานภาษีที่กว้างขึ้น ขณะเดียวกันก็ให้มีการลดอัตราจัดเก็บภาษีในกรณีที่อยู่อาศัยนี้ลงด้วย เพื่อให้คนเต็มใจเสียภาษี
          "ฐานภาษีจะกว้างขึ้น แต่อัตราก็จะปรับให้บางลงด้วย คือเราไม่ได้มุ่งเน้นรายได้ในระยะแรก แต่อยากให้อยู่ในฐานภาษีก่อน" นายวิสุทธิ์กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น