วันอังคารที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น: ปฏิรูปประเทศจากล่างขึ้นบน

คอลัมน์ สายตรงท้องถิ่น: ปฏิรูปประเทศจากล่างขึ้นบน
สยามรัฐ  ฉบับวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๐

          ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
          "การปฏิรูปประเทศจากล่างขึ้นบน" หมายถึง การใช้ฐานของการพัฒนาศักยภาพของคน โดยพัฒนาจากฐานของชุมชนท้องถิ่นซึ่งเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการมีส่วนร่วมปฏิบัติการปฏิรูปประเทศ และการปฏิบัติการปฏิรูปประเทศจึงมีนัยว่า เป็นการปรับเปลี่ยนความคิดปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม และเป็นแบบอย่าง
          ทั้งนี้ เพราะว่าการปฏิรูปประเทศที่ผ่านมาในหลายยุคหลายสมัยมักจะปฏิรูปประเทศจากบนลงล่าง แปลความว่า การปฏิรูปส่วนใหญ่วนเวียนอยู่กับการใช้สภาปฏิรูปในรูปแบบต่างๆ ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลและใช้อำนาจรัฐในการปฏิรูป ที่มักไม่ค่อยคำนึงถึง "คนข้างล่าง" ที่สุดเป็นประชาชนส่วนใหญ่ รวมทั้งไม่คำนึงถึงชุมชน ท้องถิ่น และสังคมโดยรวม แต่มักจะเริ่มต้นด้วยการตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ การตั้งสภาปฏิรูปชุดต่างๆ ซึ่งจบลงด้วยการทำรายงานการศึกษาที่ขาดการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม จนในที่สุดการปฏิรูปประเทศยังคงเป็นปัญหาให้กับประเทศต่อไป
          สิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือ ศักยภาพของคนและการพัฒนาคน รวมทั้งการพัฒนาที่มาจากฐานชุมชนท้องถิ่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลับอ่อนแอ ในขณะที่องค์กรภาครัฐกลับเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
          คำว่า "ศักยภาพของคนและการพัฒนาคนอ่อนแอ" หมายถึงการที่ประชาชนในชาติยังมีความไม่เป็นพลเมือง นั่นก็คือ ประชาชนไม่ค่อยเรียนรู้และเคารพกฎหมาย สิ่งที่ตามมาคือ การขาดวินัยและการไม่เคารพกฎเกณฑ์ ไม่เคารพสิทธิ หน้าที่ของตนเองรวมทั้งของผู้อื่น ที่สำคัญศักยภาพในการจัดการตนเองและการพึ่งตนเองกลับอยู่ในภาวะที่ตกต่ำมาก เราจึงเห็นผลพวงของการไม่ได้มีการพยายามสร้างคนให้เป็นพลเมือง จึงเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาในลักษณะของมุ่งทำร้ายคนด้วยกันโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ซึ่งก็มีให้เห็นอยู่มากมายหลายคดี และมีให้เห็นไม่เว้นแต่ละวัน
          กรณีของการออก พ.ร.บ. แรงงานต่างด้าว ที่ออกมาบังคับทั้งนายจ้างและแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาโดยผิดกฎหมายที่ชัดๆ ก็คือ ผู้ประกอบ
          การทั้งรายเล็กรายใหญ่ที่มีการใช้แรงงานต่างด้าว ต่างก็ดิ้นเพราะใช้แรงงานต่างด้าวโดยไม่ถูกกฎหมาย และนี่เป็นส่วนหนึ่งของการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของคนในชาติ ซึ่งมีอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความไม่เป็นพลเมือง ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงภาษี การรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ การตัดไม้ทำลายป่า การค้ามนุษย์ และการฉ้อโกงในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฆราวาส และวัดวาอาราม กรณีเงินทอนวัด เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด
          จึงกล่าวได้ว่า การเสนอให้ปฏิรูปศักยภาพของคนและการพัฒนาคน รวมทั้งการพัฒนาฐานชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาของรัฐ และแบ่งเบาภารกิจของรัฐ ถือเป็นการพัฒนาจากล่างขึ้นบน ที่จะทำให้โครงสร้างสังคมส่วนล่างมีรากฐานที่เข้มแข็งมั่นคง และนี่คือการปฏิรูปประเทศจากล่างขึ้นบน
          ดังนั้นการปฏิรูปประเทศจากล่างขึ้นบน จึงมีความหมายและความสำคัญที่รัฐบาลและคณะผู้ดำเนินการปฏิรูปจะต้องไม่ละเลยในการสร้าง
          รูปธรรมในการประพฤติปฏิบัติให้เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมแบบอย่างการเป็นพลเมืองดี แบบอย่างการเคารพกฎหมาย แบบอย่างการมีระเบียบวินัย แบบอย่างการเห็นประโยชน์ส่วนรวม และที่สำคัญก็คือแบบอย่างของการจัดการตนเองและพึ่งตนเองได้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
          ผมเฝ้าดูการปฏิรูปประเทศในลักษณะของการมีคณะกรรมการและสภาปฏิรูป ซึ่งได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ส่วนใหญ่จบลงด้วยการรายงานผลการศึกษา หรืออาจเรียกว่า Paper Work ที่ขาดการปฏิบัติการโดยสิ้นเชิง หรืออาจจะมีอยู่บ้างก็จัดทำเป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้กับประชาชนและชุมชนท้องถิ่น ซึ่งกฎหมายนี้เองในหลายฉบับก็นำมาสู่ปัญหาที่ตามมามากมายเช่นกัน เพราะประชาชน ชุมชนท้องถิ่นขาดความรู้ ความเข้าใจในกฎหมายนั่น อันจะนำไปสู้การมีปัญหาในทางปฏิบัติตาม มาเช่นกัน
          ข้อเสนอการปฏิรูปประเทศ นั่นก็คือ "การปฏิรูปประเทศต้องเน้นการปฏิรูปจากล่างขึ้นบน" เป็นกระบวนการที่ขับเคลื่อนประชาชนให้เป็นพลเมือง โดยเฉพาะการศึกษาเรื่องความเป็นพลเมืองที่นำไปสู่การปฏิบัติที่จะเป็นแบบอย่างต่อไป ส่วนชุมชนท้องถิ่น รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญและกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ส่งเสริมชุมชนท้องถิ่นให้มีศักยภาพ ขีดความสามารถ และให้มีความเข้มแข็ง ทั้งนี้การปฏิรูปชุมชนท้องถิ่นก็คือ การทำให้เกิดแบบอย่างที่เป็นรูปธรรมเพื่อเป็นต้นแบบให้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยรัฐบาลต้องมีกระบวนการส่งเสริมชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ ตลอดจนเชิดชูและให้รางวัลชุมชนท้องถิ่นที่เป็นแบบอย่างที่ดี เป็นต้นว่าเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่อง ชุมชนแบบอย่างการจัดการตนเอง ชุมชนแบบอย่างเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนแบบอย่างรักษาดินน้ำป่าและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น
          แม้การปฏิรูปประเทศที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันจะดำเนินการไปแล้วส่วนหนึ่ง และเห็นว่าบางส่วนก็เป็นไปได้ด้วยความสำเร็จจากการใช้อำนาจของรัฐบาลเป็นหลัก
          ส่วนการเสนอให้ความสำคัญกับการปฏิรูปประเทศจากล่างขึ้นบนก็เพื่อจะทำให้การปฏิรูปประเทศส่วนหนึ่งจะก่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะพัฒนาส่งเสริมศักยภาพให้เป็นพลเมือง กับการที่จะต้องส่งเสริมชุมชนท้องถิ่นให้เป็นแบบอย่างดังที่กล่าวไปข้างต้น ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการการช่วยรัฐบาลให้ไปสู่การปฏิรูปประเทศที่จะทำให้ประเทศมีความเข้มแข็ง มั่นคง ยั่งยืนได้ในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น