รัฐเดินหน้าอัดงบ1.5หมื่นล. ผ่านกองทุนหมู่บ้านสู่ชุมชน |
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๖๐ |
กทบ.ขีดเส้นเบิกจ่ายเงินเสริมความเข้มแข็ง
เศรษฐกิจชุมชน ตามแนวทางประชารัฐ วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ลงชุมชนก้อนแรก
ก.ค.นี้ คาดเดือน ก.ย. สามารถอนุมัติได้ทั้งหมด ตั้งอนุกรรมการ 2 ชุด
ขับเคลื่อน สทบ.เตรียมจับมือกระทรวงการคลัง
ทำโมเดลแก้หนี้นอกระบบเสนอรัฐบาล เล็งใช้แนวทางซื้อหนี้มาบริหาร "สุวิทย์"
มอบนโยบาย 9 ข้อให้กองทุนหมู่บ้านเร่งดำเนินงาน
สั่งวางยุทธศาสตร์ระยะยาวหลังกองทุนดำเนินการมาแล้ว 16 ปี นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ที่มีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วานนี้ (5 ก.ค.)ว่า คณะกรรมการฯ เห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองแห่งชาติว่าด้วย การบริหารโครงการเพิ่มศักยภาพหมู่บ้านและชุมชน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ 2560 วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท โดยจะจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ละ 2 แสนบาท ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มอนุมัติและเบิกจ่ายเงินให้กับชุมชนต่างๆ ได้ภายในวันที่ 25 ก.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันครบรอบ 16 ปีของการดำเนินงานของสำนักงานกองทุนหมู่บ้าน (สทบ.) และคาดว่าจะสามารถอนุมัติโครงการและเบิกจ่ายเงินได้ไม่น้อยกว่า 90% หรือประมาณ 6.4 หมื่นกองทุนได้ในเดือน ส.ค. ส่วนอีก 10% จะอนุมัติได้ภายในเดือน ก.ย. โดยขณะนี้ มีกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศที่เสนอโครงการเข้ามาสู่การพิจารณาของโครงการแล้วกว่า 90% ของจำนวนกองทุนหมู่บ้านทั้งหมด 79,593 กองทุนและจะปิดรับการเสนอโครงการในวันที่ 31 ก.ค.นี้ กทบ.ยังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 2 ชุด เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินโครงการดังกล่าว ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการบริหาร กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง แห่งชาติโดยมีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และ 2.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมาตรการฟื้นฟูและพัฒนาเพื่อสนับสนุนการเพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยมีนายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นประธาน โดยจะทำหน้าที่ช่วยฟื้นฟูและพัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่มีปัญหาให้สามารถยกระดับศักยภาพเพื่อให้ได้รับการเพิ่มทุนได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว รวมทั้งได้รับทราบข้อเสนอของสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ตรวจราชการกระทรวง และจเรตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเสนอให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพกองทุนหมู่บ้านฯ ตามแนวทางประชารัฐ เช่น ให้ดำเนินการสอบทานดำเนินการทุกขั้นตอนเพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานโครงการต่างๆ และส่งข้อมูลให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอทุกอำเภอ เพื่อเป็นการประสานงานและเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจรากฐานของจังหวัด สำหรับโครงการพัฒนาเมืองที่ยังคงมีวงเงินที่ยังไม่ได้มีการอนุมัติค้างอยู่ 1,026 โครงการ วงเงินงบประมาณรวม 1,560.88 ล้านบาท ที่ประชุมฯมีมติให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามมติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสอดคล้องกับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่สั่งการให้ดูแลผู้มีรายได้น้อย และอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชน การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเมือง เพื่อเพิ่มศักยภาพของประชาชนมากขึ้น ทั้งนี้ ที่ประชุม กทบ.ยังได้อนุมัติให้ตั้งกองทุนฯ ใหม่อีก2กองทุนได้แก่ กองทุนชุมชนตลาดหนองหญ้าไซ และกองทุนชุมชนหนองหลวง ทำให้หลังจากนี้จะมีกองทุนหมู่บ้านฯ มีทั้งหมด79,593กองทุนฯ นายนทีกล่าวว่าในการประชุมในครั้งนี้นายสุวิทย์ได้ให้นโยบายให้กองทุนหมู่บ้านไปดำเนินการ ใน 9 เรื่อง โดยมี 4 เรื่องที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนซึ่งจะประกาศเป็นยุทธศาสตร์ในโอกาสการดำเนินงาน 16 ปีของกองทุนหมู่บ้านและก้าวเข้าสู่ปีที่ 17 ได้แก่ 1.การเพิ่มจำนวนผู้สอบบัญชีกองทุนหมู่บ้านจากที่ปัจจุบันมีอยู่เพียง 300 คน ไม่เพียงพอ กับจำนวนกองทุนหมู่บ้านที่มีอยู่กว่า 8 หมื่นกองทุน 2.ประสานงาน กับกระทรวงการคลัง ในการทำโมเดล แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โดยใช้แนวทางที่กองทุนหมู่บ้านเข้าไปช่วยซื้อหนี้นอกระบบของสมาชิกกองทุน โดยใช้วงเงินที่ได้รับอนุมัติจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐบาลวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ในการดำเนินการคิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกิน 5% โดยใช้เงินไปแล้วประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท และในปีนี้มีผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว 6.4 หมื่นราย มาเป็นโมเดลเบื้องต้นในการดำเนินการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ 3.การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆเพื่อพัฒนาการทำงานของกองทุนหมู่บ้าน โดยเน้นใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านกฎหมาย โดยร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงยุติธรรม และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยจะมีการทำบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ในการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านกฎหมายให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน และเพิ่มช่องทางไกล่เกลี่ยการประนอมหนี้ในระดับพื้นที่เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถแก้ปัญหาและระงับ ข้อพิพาทภายในชุมชนได้มากขึ้น รวมทั้งประสานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการให้ความรู้เรื่องดิจิทัลแก่สมาชิกกองทุนและประสานงานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในการสนับสนุนความรู้เรื่องการเงิน และ 4.การเสริมสร้างความรู้เรื่องธุรกิจและการดำเนินธุรกิจให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนต่างๆมากขึ้น โดยจะมีการทำเอ็มโอยูร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ขอให้กองทุนหมู่บ้านซึ่งมีสมาชิกอยู่กว่า 13 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมในการสำรวจอุปทานของตลาดสินค้าเกษตรโดยเฉพาะในส่วนของสินค้าเกษตรที่มีการผลิตกันในแต่ละพื้นที่ว่ามีปริมาณออกมามากน้อยเพียงใด เพื่อที่กระทรวงพาณิชย์จะสามารถวางแผนในการจัดการด้านการตลาดได้อย่างเหมาะสม ส่วนการดำเนินการในด้านอื่นๆที่ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายได้แก่ การปรับการดำเนินงานกองทุนจาก 4 ภาค เป็น 6 ภาคเพื่อให้สอดคล้องแนวทางการพัฒนาประเทศ การเข้ามามีส่วนร่วมของสทบ.ในการจัดงานตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ในช่วงเดือน ต.ค.นี้ โดยคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นเข้ามาจัดแสดงในงาน การจัดงานมหกรรมกองทุนหมู่บ้าน เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการที่มีความโดดเด่นของกองทุนหมู่บ้าน รวมทั้งการจัดงานครบรอบ 16 ปี กองทุนหมู่บ้าน และการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาวางยุทธศาสตร์ของกองทุนหมู่บ้านในระยะยาวเพื่อให้มีทิศทางการดำเนินงานในอนาคตที่มีทิศทางชัดเจนมากขึ้น บรรยายใต้ภาพ |
เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ฅนเทศบาล
เมนูหลัก
ข่าวท้องถิ่น
ระเบียบบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานการบริหารงานบุคคลพนักงานส่วนท้องถิ่น
วันพฤหัสบดีที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
รัฐเดินหน้าอัดงบ1.5หมื่นล. ผ่านกองทุนหมู่บ้านสู่ชุมชน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น