วันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ปปช.เพิ่มมาตรการเอาผิด'อปท.'

ปปช.เพิ่มมาตรการเอาผิด'อปท.'
ข่าวสด (กรอบบ่าย)  ฉบับวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๐

          เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงว่า จากสถิติตั้งแต่ปี 2542-ก.ย.2558 พบว่านักการเมืองท้องถิ่นที่ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดทางอาญา หรือมีมูลความผิดตามกฎหมายที่ใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำนวน 409 ราย แบ่งเป็น อบต. 262 ราย เทศบาล 114 ราย อบจ. 27 ราย และกรุงเทพมหานคร 6 ราย แต่ในจำนวนดังกล่าว ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนไม่สามารถสั่งให้พ้นจากตำแหน่งได้ เนื่องจากผู้นั้นพ้นตำแหน่งไปแล้วหรือลาออกไปก่อนถึง 171 ราย ส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ
          เลขาธิการป.ป.ช. กล่าวว่า ป.ป.ช.จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 (11) แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เห็นชอบให้เสนอมาตรการบังคับใช้กฎหมาย กรณีป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งใหม่อีกครั้งหนึ่ง ให้สำนักไต่สวนการทุจริต รายงานผลการสอบสวนและคำสั่งลงโทษให้สำนักงานป.ป.ช.ทราบ และให้รวบรวมข้อมูลรายงาน เอกสาร พร้อมทั้งความเห็นของ ป.ป.ช. ที่มีมติชี้มูลความผิด ส่งกระทรวงมหาดไทย และเสนอให้ครม. และให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาข้อมูลรายงาน ของป.ป.ช. โดยมอบหมายนายอำเภอหรือผู้ว่าฯ สอบสวนและวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งหรือสิ้นสุดสมาชิกภาพ และนำผลการสอบสวนไปดำเนินคดีอาญาหรือทางแพ่งต่อไป รวมทั้งเสนอให้กกต.พิจารณาข้อมูลของ ป.ป.ช.ในเรื่องดังกล่าว ประกอบการพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
          นายสรรเสริญกล่าวว่า ป.ป.ช.จะปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการป.ป.ช. ให้มีบทบัญญัติดำเนินการทางวินัยหรืออยู่ในบังคับมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 234 (1) และมาตรา 235 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 และมีผลทำให้บุคคลดังกล่าวไม่สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อีก และยังเสนอให้ครม.พิจารณาแก้ไขพ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 พ.ร.บ.อบจ. พ.ศ. 2540 พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 โดยเพิ่มบทบัญญัติ "การไม่เป็นผู้มีพฤติกรรมในทางทุจริต" กำหนดเป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในทุกตำแหน่งเช่นเดียวกับการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามใน พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น