ทุ่ม238ล.ปั้นเมืองสปา-ออนเซ็นวิลเลจ5อุทยานฯสร้างห้องอาบน้ำแร่บูมท่องเที่ยวสุขภาพ |
ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๐ |
รัฐบาลทุ่มงบฯ
238 ล้าน ปลุกท่องเที่ยวสุขภาพภาคเหนือตอนบน 1 เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง
แม่ฮ่องสอน ชูจุดขาย "เมืองสปา-Onsen Village"
ลุยพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อนในเขตอุทยานแห่งชาติ 5 แห่ง
พร้อมบูมออนเซ็นบ้านโป่งสามัคคีดอยสะเก็ด นักท่องเที่ยวทะลักปีละ 3
หมื่นคน ใช้โมเดลชาวบ้านบริหารจัดการเอง หวังรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
สร้างงาน เสริมแกร่งเศรษฐกิจชุมชน ดึง
ม.เชียงใหม่ช่วยต่อยอดผลิตภัณฑ์น้ำแร่/สปา หลังจากรัฐบาลได้เร่งรัดแผนปฏิบัติราชการกลุ่มจังหวัด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 (เพิ่มเติม) สำหรับ 18 กลุ่มจังหวัดทั่วประเทศ ภายใต้แนวทางการสร้างความเข้มแข็งยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ ในส่วนของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน) ได้รับงบประมาณในหมวดการสร้างศักยภาพภาคการท่องเที่ยวและบริการราว 238 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนโครงการเมืองสปาและหมู่บ้านน้ำพุร้อนเพื่อการท่องเที่ยว (Spa City and Onsen Village) โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กระทรวงคมนาคม กรมทางหลวงชนบท สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 5 อุทยานฯสร้างห้องอาบน้ำแร่ สำหรับโครงการเมืองสปาและหมู่บ้านน้ำพุร้อนเพื่อการท่องเที่ยว มีทั้งหมด 11 กิจกรรม รวมงบประมาณทั้งสิ้น 238,521,661 บาท ซึ่งส่วนใหญ่ได้เข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว ได้แก่ 1.การพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อนในเขตอุทยานแห่งชาติ 5 แห่ง (อุทยานแห่งชาติออบหลวง ดอยผ้าห่มปก ผาแดง ห้วยน้ำดัง แจ้ซ้อน) และบ้านโป่งสามัคคี อำเภอดอยสะเก็ด โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เทศบาลตำบลป่าเมี่ยง สำนักงานท่องเที่ยวฯ และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 รวมงบประมาณ 53,765,590 บาท นายสมหวัง เรืองนิวัติศัย ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ได้รับงบประมาณกว่า 20 ล้านบาท สำหรับพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อนในเขตอุทยานแห่งชาติ 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติออบหลวง ดอยผ้าห่มปก ผาแดง และห้วยน้ำดัง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง โดยจะทำการสร้างห้องแช่-อาบน้ำแร่เพิ่มเติม และจัดซื้อเครื่องกรองน้ำใหม่ พร้อมปรับปรุงให้มีความทันสมัย และมีมาตรฐาน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่มีแนวโน้มใช้บริการเพิ่มขึ้น ในส่วนของการบริหารจัดการอุทยานฯ แต่ละแห่งจะดำเนินการบริหารเองทั้งหมด ซึ่งภายในเดือนกรกฎาคม 2560 นี้ จะทำการลงนามสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง และการก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายใน 4-5 เดือน คาดว่าการพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานการให้บริการน้ำพุร้อน-น้ำแร่ในครั้งนี้จะส่งผลให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นราว 10-20% ซึ่งที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการทั้ง 5 อุทยานฯ ประมาณ 4-5 แสนคนต่อปี บ้านโป่งสามัคคี Onsen Village นายนันท์ เครือนพรัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ได้รับงบประมาณสนับสนุนกว่า 20 ล้านบาท ในการพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อนดอยสะเก็ด ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านโป่งสามัคคี หมู่ 6 ตำบลป่าเมี่ยง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำพุร้อนธรรมชาติในพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้าน โดยจังหวัดเชียงใหม่ต้องการให้เกิดการพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อนดอยสะเก็ด ให้เป็นหมู่บ้านออนเซ็น และเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยระยะทางเพียง 27 กิโลเมตร จากสี่แยกศาลเด็ก เส้นทางสายเชียงใหม่-เชียงราย ซึ่งถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยังมีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์บนพื้นที่ราว 6-7 ไร่ ทั้งนี้ ในส่วนของงบประมาณกว่า 20 ล้านบาทนั้น ได้แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ส่วนคือ งบปรับปรุงภูมิทัศน์ 19.5 ล้านบาท โดยจะสร้างสระว่ายน้ำร้อน-เย็น สร้างห้องอาบน้ำแยกระหว่างชาย-หญิง สร้างห้องนวด-สปา ลานจอดรถ และงบฯอีกราว 1.5 ล้านบาท จะซื้อเครื่องกรองน้ำที่ได้มาตรฐาน ขณะนี้ผ่านขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างเรียบร้อยแล้ว และได้ผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 มีกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จภายใน 1 ปี หรือราวเดือนพฤษภาคม 2561 สำหรับพื้นที่น้ำพุร้อนดอยสะเก็ดยังมีความอุดมสมบูรณ์มาก มีระดับความร้อนอยู่ที่ราว 87 องศาเซลเซียส ซึ่งคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะเข้ามาดำเนินการพัฒนาคุณภาพน้ำพุร้อนและผลิตภัณฑ์น้ำแร่ เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาให้เป็นธาราบำบัดในอนาคต นักท่องเที่ยวทะลัก 3 หมื่นคน/ปี นายกเทศมนตรีตำบลป่าเมี่ยงกล่าวต่อว่า ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำพุร้อนดอยสะเก็ดที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่เป็นผู้บริหารจัดการเองทั้งหมด และก่อให้เกิดการจ้างงาน การกระจายรายได้ในชุมชน มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวและใช้บริการน้ำพุร้อนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคนต่อปี ซึ่งการบริหารจัดการภายหลังโครงการก่อสร้างและพัฒนาแล้วเสร็จก็ต้องการให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมบริหารจัดการกันต่อไป โดยอาจให้มีการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเข้ามาดำเนินการบริหาร และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 100% ร้อยตรีประภาส บาลชมพู ผู้ใหญ่บ้านบ้านโป่งสามัคคี หมู่ 6 ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด กล่าวว่า การพัฒนาน้ำพุร้อนดอยสะเก็ดตามงบประมาณของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 จะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของน้ำพุร้อนดอยสะเก็ดให้มีมาตรฐานที่ดียิ่งขึ้น ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงไฮซีซั่น ซึ่งการบริหารจัดการน้ำพุร้อนที่ผ่านมาจะดำเนินการโดยคณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่จะหวงแหนแหล่งทรัพยากรธรรมชาติแห่งนี้มาก จึงช่วยกันดูแลและบริหารจัดการกันเอง และก่อให้เกิดงาน เกิดรายได้ในชุมชน เป็นการสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมพัฒนาบุคลากรในพื้นที่เพื่อรองรับการให้บริการนักท่องเที่ยว ล่าสุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดคอร์สอบรมเรื่องการนวดให้กับชาวบ้าน เพื่อต่อยอดศาสตร์การนวดและการบริการให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น คาดว่าจะมีบุคลากรด้านการนวดเพิ่มขึ้น 30-40 คน ซึ่งก็จะทำให้การบริการน้ำพุร้อน-ออนเซ็นของน้ำพุร้อนดอยสะเก็ดมีความครบวงจรและมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้นในอนาคต ดึง มช.ช่วยต่อยอดน้ำแร่-สปา ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในส่วนของกิจกรรมที่ 2 คือ โครงการปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกแจ้ซ้อน อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน โดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 งบประมาณ 4,710,000 บาท 3.พัฒนาศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวกแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อน อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน โดยสำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 งบประมาณ 5,000,118 บาท 4.หน่วยทดสอบและพัฒนาคุณภาพน้ำพุร้อนและผลิตภัณฑ์น้ำแร่และสปา โดยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ งบประมาณ 18,691,414 บาท 5.การพัฒนาศักยภาพแหล่งน้ำพุร้อนไปสู่มาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อนธรรมชาติ 6 แห่ง โดยสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ งบประมาณ 4,500,000 บาท 6.โครงการปรับปรุงโครงสร้างระบายน้ำและติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยบริเวณแยกทางหลวงหมายเลข 1252-บ้านโป่งกุ่ม น้ำตกตาดหมอก อำเภอดอยสะเก็ด 7 กิโลเมตร โดยแขวงทางหลวงชนบทเชียงใหม่ งบประมาณ 42,000,000 บาท 7.ยกระดับมาตรฐานและเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง ในทางหลวง 107 CS0204 ตอนล้องอ้อ-เมืองงาม ระหว่าง กม.145+810-กม.147+470 โดยแขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ 3 งบประมาณ 49,954,000 บาท 8.โครงการปรับปรุงทาง โครงสร้างระบายน้ำและติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยบริเวณแยกทางหลวงหมายเลข 1095-น้ำพุร้อนโป่งเดือด อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง อำเภอแม่แตง 7 กิโลเมตร โดยแขวงทางหลวงชนบทเชียงใหม่ งบประมาณ 45,500,000 บาท 9.การพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำแร่และสปา โดยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ งบประมาณ 6,696,499 บาท 10.การประชาสัมพันธ์และแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวสปาและน้ำพุร้อน โดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ งบประมาณ 4 ล้านบาท 11.การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการบริการสปาและน้ำพุเพื่อสุขภาพ โดยคณะพยาบาลศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ งบประมาณ 3,704,040 บาท |
เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ฅนเทศบาล
เมนูหลัก
ข่าวท้องถิ่น
ระเบียบบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานการบริหารงานบุคคลพนักงานส่วนท้องถิ่น
วันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2560
ทุ่ม238ล.ปั้นเมืองสปา-ออนเซ็นวิลเลจ5อุทยานฯสร้างห้องอาบน้ำแร่บูมท่องเที่ยวสุขภาพ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น