วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

บทความพิเศษ: บริบทท้องถิ่นไทยที่ยากลำบาก

บทความพิเศษ: บริบทท้องถิ่นไทยที่ยากลำบาก

สยามรัฐ  ฉบับวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๙

          ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย
          ว่า จะเขียนเรื่องท้องถิ่นนึกไม่ออกว่าจะเขียนไปทางไหน เอาเป็นว่า ท้องถิ่นมีความนุ่มลึก (ซึ้ง) ขอเขียนแบบรวมๆ จับฉ่าย "เหมาโหลยกเข่งท้องถิ่น" หรือเรียกเต็มยศว่า "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" (อปท.)
          หลายสิ่งหลากหลายมากมายในท้องถิ่นรวมเข้าด้วยกัน มันออกมาเป็น "บริบทของท้องถิ่น"ในกระแสปัจจุบันมี อาทิ เรื่องที่ไม่ควรข้ามในงานท้องถิ่น, การใช้บทบาทและหน้าที่ของคนท้องถิ่น, รอยต่อของกระบวนงานบริหารท้องถิ่น, บทบาทในงานฝากและงานตรงของท้องถิ่น, ท้องถิ่นควรจะบริหารงานในระบบราชการหรือระบบเฉพาะ, กฎระเบียบท้องถิ่นควรจะให้หน่วยราชการแก้ไปแก้มาเช่นนี้หรือ, ท้องถิ่นควรจะพัฒนาบ้านเมืองหรือพัฒนาการเมือง, ความหมายท้องถิ่น,เป้าหมายท้องถิ่น, ความไม่เท่าเทียมฯ, สังคมบ้านนอกท้องถิ่นจะไปทางไหน เป็นต้น
          นอกจากนี้ ในระยะเปลี่ยนผ่านเอาแค่ 10 ปีเศษ ประมาณปี 2547 ที่ผ่านมา นับเริ่มจากปีที่ท้องถิ่นมี "นายก อปท." ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงเป็นต้นมา ท้องถิ่นเริ่มมีวัฒนธรรมที่แปลกแตกต่าง ในหลายประการเป็นสิ่งที่ "ไม่พึงปรารถนา" โดยเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชัน ผลประโยชน์ทับซ้อน การเมืองระบบอุปถัมภ์ ที่วงการอื่นเขาอาจไม่มีกันหรือ มีแต่ก็ไม่เหมือนกันอันถือเป็น "นวัตกรรมใหม่" ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ที่ใครก็เลียนลอกไม่ได้ ซึ่งนวัตกรรมใหม่นี้ได้แผ่กระจายไปทั่วทุกท้องถิ่นได้อย่างรวดเร็ว จนเรียกได้ว่า ทุกวันนี้ท้องถิ่นส่วนใหญ่จะเป็น "พิมพ์เดียวกันหมด" ไม่ว่าท้องถิ่นขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ว่าได้
          ในบริบทเหล่านี้ ว่ากันว่า ทั้งชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ และรวมไปถึงรัฐบาล หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ นักวิชาการก็สับสนอลหม่าน ที่เปลือกนอกอาจดูดี ไม่มีความขัดแย้ง แต่มีเรื่องที่หาข้อยุติกันได้ยากพอสมควร ที่ยังไม่มีผลงานที่เป็นข้อสรุปตายตัว ในเรื่องการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะในเรื่องการบริการสาธารณะ ซึ่งในรายละเอียดหลายเรื่อง เป็นปัญหาที่ถกเกียงกันยาวนานที่สำคัญ คือ เรื่องการบริหารงานบุคคลข้าราชการส่วนท้องถิ่น และเรื่องรูปแบบการปกครองท้องถิ่น
          นักวิชาการนักวิจัยศึกษา ท้องถิ่นยากในความยุ่งยากอย่างหนึ่งของนักวิชาการ นักวิจัย ก็คือ "ข้อมูลสถิติเชิงวิจัยที่อ้างอิงได้"มีข้อมูลเฉพาะหลายอย่างที่แม้แต่หน่วย งานที่รับผิดชอบท้องถิ่นโดยตรงได้แก่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ก็ยังไม่มีข้อมูล "เชิงวิเคราะห์" ไว้ตรวจสอบอ้างอิง ข้อมูลหลายอย่างต้องมีการสำรวจเก็บข้อมูลกันหน้างานเป็นการเฉพาะครั้ง เมื่อมีประเด็นปัญหาเกิดขึ้นเช่น ข้อมูลจำนวน อปท. ที่มีจำนวนงบประมาณน้อย ประชากรน้อย มีเขตพื้นที่ทับซ้อนฯข้อมูลจำนวนพนักงานจ้างทั่วไป พนักงานจ้างตามภารกิจ ข้อมูลสถิติการทุจริตคอร์รัปชัน ข้อมูลการปรับระดับข้าราชการท้องถิ่นฯ ข้อมูลการปรับชั้นเทศบาลจากขนาดเล็กเป็นขนาดกลาง ฯลฯหรือ แม้แต่ข้อมูลที่บอกว่ามีข้าราชการส่วนท้องถิ่นตามระบบเดิม (ระบบซี) ได้รับผลกระทบจากการปรับเป็นระบบแท่ง ก็ยังไม่สามารถแยกแยะจำนวนออกมาได้ เป็นต้น
          ฉะนั้น ในการศึกษาวิจัย ด้านท้องถิ่น รวมทั้งการวิพากษ์สังคม จึงขาดข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เป็นข้อสรุปที่เป็นตัวเลข สถิติ หรือผลการศึกษาวิจัยอ้างอิงที่ถูกต้องชัดเจน ในหลายๆ กรณีที่เป็นภารกิจมืด ดำ ที่ตรวจสอบไม่ได้ เช่น ยอดการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ หรือข้อมูลจำนวนครั้ง จำนวนเงินงบประมาณที่บกพร่อง ทุจริตฯ เพราะขาดระบบควบคุมตรวจสอบการประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการ เพราะข้อมูลที่มีก็คือ การจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจไม่มีหลักเกณฑ์ใดๆ ลักษณะจัดสรรตามสะดวก ความใกล้ชิด ความง่ายในการบริหาร การจัดสรร ฯลฯจึงเป็นการจัดสรรเงินเชิง "อุปถัมภ์ต่างตอบแทน" เพื่อให้ครบจำนวนตามเป้าหมายและวงเงินเท่านั้น จึงไม่เป็นที่แปลกใจเลยว่า อปท.เดิมซ้ำๆ กัน ที่มักจะได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจอยู่เสมอๆ เป็นต้น
          นักวิชาการ หรืองค์กรการศึกษา หรือสถาบันฯ มักได้รับการจ้างให้ศึกษาวิจัยด้วยวงเงินมหาศาล แต่ผลการศึกษาอาจไม่เป็นไปตามที่คาด กลับกลายเป็นการรับรองความถูกต้องในประเด็นที่กำลังศึกษาก็ได้ โดยมิใช่การศึกษาในผลกระทบรอบด้าน ไม่มีข้อมูลวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบเพราะ "ไม่มีข้อมูล" หรือ "ศึกษาให้ข้อมูลแบบหลอกตนเอง" ด้วยข้อมูลจัดฉาก เสนอหน้า นอกจากนี้ผลการศึกษาก็มิได้นำมาใช้อย่างจริงจัง เช่น ปี 2553 ได้ว่าจ้าง สถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.) ดำเนินการศึกษาวิจัย เรื่อง การปรับปรุงระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทนของข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ระยะที่ 2) หรือที่เรียกกว่า "การศึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนข้าราชการท้องถิ่นเป็นระบบแท่ง" ที่ศึกษากันมากว่า 6 ปี แต่ความชัดเจนเข้าใจของข้าราชการส่วนท้องถิ่นยังไม่เข้าใจ เป็นต้น
          งาน โครงการหลายโครงการเพื่อนำร่องแนวคิด แม้เป็นแนวทางที่ดี แต่หากขาดการท้วงติง การยอมรับในผลสะท้อนมุมกลับ การโปรโมตเชียร์เกิน โดยไม่คิดมุมย้อนกลับ มีลักษณะเป็น"มือปืนรับจ้าง" แม้เป็นจรรยาบรรณวิชาชีพ แต่หากขาดการกำกับควบคุมตรวจสอบ ตรรกะความเป็น "อู่ข้าวอู่น้ำ" เป็นประโยชน์ได้เสียรับเงินใครก็รับใช้คนนั้น จึงอาจมีอยู่ได้
          แผน ยุทธศาสตร์ชาติในระยะยาวในเรื่องการเมืองท้องถิ่นที่หลายฝ่ายสรุปว่า ต้องพัฒนาจิตสำนึกรับผิดชอบ "คุณธรรมจริยธรรม" ปลูกฝังกันใหม่ คงพอมองเห็นแววในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่12 (ปี 2560-2564) ซึ่งแผนนี้จะเกาะเกี่ยวอยู่กับ "แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี" ตามโรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใน 6 ด้าน คือ (1) การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ (2) ความมั่นคง (3) การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (4) การสร้างความสามารถในการแข่งขัน (5) การสร้างโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียม และ (6) การพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพของคน
          ในโรดแมปแผนยุทธศาสตร์ชาติคง มิใช่เฉพาะท้องถิ่น แต่รวมในบริบทของการปฏิรูปประเทศทั้งหมดแน่นอนว่าอานิสงส์นี้ท้องถิ่นคงได้ รับประโยชน์เต็มๆ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมแก่ท้องถิ่นเพื่อการจัดการ บริการสาธารณะที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ
          ห่วงสังคม AEC ไทยไม่ทันเขาการก้าวเข้าสู่สังคม AEC ของไทย ก้าวมาพร้อมกับ การก้าวเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุ" (Ageing Society) หรือสังคมคนชราที่กำลังคืบคลานมาในอีกไม่ถึงสิบปีนี้ ที่มิใช่กระทบแต่สังคมอุตสาหกรรมแต่สังคมชนบทท้องถิ่นบ้านนอกก็กระทบเช่นกัน เพราะสังคมไทยต้องมีภาระในการดูแลคนแก่ที่มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นด้วย
          ประเทศ เพื่อนบ้าน อย่างเช่นสหภาพเมียนมา หรือพม่าที่คนไทยเรียกกัน โดยผู้นำตัวจริงนางอองซานได้เดินทางมาเยือนไทย ข้อเรียกร้องที่เสนอ รัฐบาลไทยก็คงต้องยอมโอนอ่อนผ่อนตาม จะว่าไปเพราะไทยง้อ แรงงานเขา หากไทยเรายังไม่ใช้เทคโนโลยีปรับโครงการผลิต สินค้าและบริการ ปัญหาการผลิตต่างๆ ก็คงจะเพิ่มมากขึ้นทุกวัน เพราะตามประสาวิสัยไทยเราที่เป็นเพียงผู้บริโภค มิใช่นักคิดนักลงทุน
          ปัญหา วิสัยทัศน์อย่างหนึ่งของคนไทยก็คือ "คิดได้แต่ก็ไม่ทำ" แม้จะมีความพยายามคิดพัฒนาเครื่องทุ่นแรง ก็เฉพาะภาคเกษตร และเครื่องใช้เครื่องครัว มันเป็นมรดกความคิดที่สืบทอดต่อเนื่องมานาน ฉะนั้น ปัจจัยการผลิต หรือสินค้าใหญ่ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม
          เครื่องมือเครื่องใช้นำเข้าจากต่างประเทศ ฝรั่ง ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี จีน หรือซื้อเขาทั้งนั้น
          เปิด AEC เต็มรูปแบบเมื่อใด ไทยเราคงแย่ ปัญหาแรงงานต่างด้าว ปัญหาประชากรแฝงที่มากขึ้น อปท.ต้องดูแล รับผิดชอบมากขึ้น โดยเฉพาะชายแดน และเมืองใหญ่ เช่นจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ ปทุมธานี (ไม่รวม กทม.) ภาษาอังกฤษคนไทยก็ไม่ดี สู้ ฟิลิปปินส์มาเลย์ พม่าไม่ได้ แถมคนไทยยังสื่อสารได้แต่ภาษาไทยภาษาเดียว ในขณะนี้แรงงานเมียนมาที่จะได้เปรียบในภาษาแม่เมื่อกลับประเทศแล้ว ยังได้เปรียบภาษาไทยด้วย นอกจากนี้กระแสเวียดนามกำลังมาแรง ในการแย่งตลาดนักลงทุนต่างชาติจากไทยไป แถมมีแรงงานถูกกว่าด้วย
          มี ข้อสังเกตว่าประเทศเพื่อนบ้าน เวียดนาม ลาว พม่า เขมร เขาหมดศรัทธาภาคราชการเขาแล้ว ชีวิตในสังคมของประเทศเพื่อนบ้านเขาได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการช่วยเหลือ เกื้อกูลกันเองในงานบริการสาธารณะจนชินแล้ว แต่ในขณะที่สังคมไทยตรงกันข้าม จึงเป็นจุดแข่งขันอย่างหนึ่งใน AEC ที่น่าเป็นห่วงนัก
          หลาก หลายปัญหาที่รุมเร้าเกษตรกรท้องถิ่นเมื่อพูดถึงท้องถิ่น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องพูดถึงเกษตรกร ด้วยจำนวนที่มากถึงสี่ล้านครัวเรือน คิดเป็นจำนวนประชากรได้มากกว่าสิบล้านคน ซึ่งคนเหล่านี้จะปักหลักอยู่ในชนบทท้อง
          ถิ่นนั่นเอง
          ปัญหา การขาดปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดิน ปัญหาเรื่องดินฟ้าอากาศที่ไม่เป็นใจ ความแห้งแล้งน้ำ ที่ขาดแคลน ฝนที่ไม่ปกติ เพราะเราทำลาย ลืมธรรมชาติ ไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ปัญหาหนี้สินชาวนา หมกมุ่นหวย โชคลาภ ทั้งหวยบนดิน ใต้ดิน หวยหุ้นที่เล่นกันทุกวัน
          โอทอปหรือสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่ง ผลิตภัณฑ์ก็หดหายลดลงไปตามกระแส ด้วยอาจมีอคติที่คนเก่าเขาทำดีไว้มากเกิน หรืออย่างไร โครงการภาคราชการไทยหลายๆ โครงการไม่ต่อเนื่องยั่งยืน จึงเป็นโครงการ "ไฟไหม้ฟางสร้างภาพ" สังคมเราโกหกกันเสียจนเคยตัว
          การ เกษตรอินทรีย์ ข้าวกล้อง ข้าวดำ ข้าวอินทรีย์ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าววิตามิน ขายไม่ออกต้นทุนสูง มีปัญหาด้านคุณภาพมาตรฐาน ไม่มีตลาด ไม่มีคนซื้อ หรือ ไม่สามารถขยายกิจการตลาดได้ตามกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้น
          การ เกษตรสมัยใหม่และ "การเกษตรทางเลือก" (Alternative Agriculture or Sustainable Agriculture) จึงเป็นแนวทางใหม่ที่ต้องพัฒนานำมาให้แก่เกษตรกรไทย อาทิ เกษตรกรไทยต้องฉลาดคิด ฉลาดทำ "สมาร์ทฟาร์มเมอร์" (Smart Farmer) ก็ต้องมาตั้งหลักกันก่อน แถมต้องจัดการบริษัทนายทุนใหญ่ที่มีลักษณะ "เกษตรพันธสัญญา" (Contract Farming) อาทิ บริษัทเจียไต๋ ซีพี ที่กำลังเติบใหญ่ ขยายขอบเขตกิจการโดยอาศัยความได้เปรียบเรื่องเงินทุนและเทคโนโลยีไปยังตัว แทนชาวบ้านเกษตรกรทั้งหลาย ที่อาจต้องไปบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่มีมากมายและราคาถูก ไม่ว่าพม่า ลาว เขมร แม้แต่แรงงานเวียดนามก็ตาม เพราะ บริษัทนายทุนเกษตรพันธสัญญาจะไปใช้บริการของแรงงานต่างด้าวได้
          ขอ ฝากแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริการรณรงค์ร่วมกิจกรรมการ เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่(Sufficiency Economy) ให้การเรียนรู้แบบธรรมชาติ ให้การปลูกฝังและให้สัมผัสการใช้ชีวิตแบบธรรมชาติกันจริงๆ ตั้งแต่เด็กๆ และเยาวชน โดยการจัดตั้ง "ศูนย์การการเรียนรู้" ขึ้นในชุมชน ในท้องถิ่นชนบท เพื่อเป็นการทำอะไรที่ดีๆ ให้กับชุมชนซึ่งเป็นถิ่นฐานบ้านเกิด และเพื่อสืบสานหลักคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ เหนืออื่นใด เพื่อหวังกระชับวิถีชีวิตของท้องถิ่นให้หวนคืนความเป็นตัวตนของตนเอง และสิ่งที่ดีงาม เฉกเช่นสังคมไทยเมื่อสี่สิบห้าสิบปีก่อนเอาไว้เหมือนเดิม
          เหล่า นี้ คือบริบทรวม ๆ ของท้องถิ่นไทยที่น่าสนใจ ในการก้าวย่างเข้าสู่สังคม AEC และสังคมสูงวัยในอนาคตอันใกล้นี้ ท้องถิ่นมาวางแผนกันหรือยัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น