วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

อบต.ชายขอบรายได้วูบหมื่นล้านเก็บภาษีที่ดินไร้บ้านหรูให้รีด

อบต.ชายขอบรายได้วูบหมื่นล้านเก็บภาษีที่ดินไร้บ้านหรูให้รีด  

ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๙

          อบ ต.ชายขอบโอดภาษีที่ดินใหม่ทำรายได้หด เหตุไร้แปลงที่ดิน-บ้านมูลค่าเกิน 50 ล้าน ขณะชาวบ้านอาศัยทำกินเขตป่า เดิมเคยเสียภาษีโรงเรือน-บำรุงท้องที่ต่อไปหมดสิทธิเรียกเก็บ สมาคมอบต.ประเมินรายได้วูบเกินหมื่นล้านบาท ร้องรัฐบาลจัดงบอุดหนุนชดเชย เพื่อไม่ให้กระทบแผนงานพัฒนา
          นายนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศ ไทย เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงผลกระทบกรณีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2560 แทนภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 นั้น ยืนยันว่าอบต.เล็กๆ จังหวัดห่างไกลความเจริญได้รับผลกระทบแน่นอนเกือบ 100 % เพราะที่ผ่านมาสามารถจัดเก็บรายได้เล็กๆ น้อยๆ จากที่ดินเกษตรและบ้านเรือนราษฎรเท่านั้น ส่วนประเภทพาณิชยกรรมมีน้อยหรือแทบไม่มีเลย และตามกฎหมายใหม่ที่ดินเกษตร ที่อยู่อาศัยมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งในชุมชนมีไม่ถึงอยู่แล้วนั้น ได้รับการยกเว้นหมด
          โดยเวลานี้ได้รับเสียงโอดครวญจากผู้บริหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ไกลปืนเที่ยง เป็นพื้นที่อบต.เล็กๆ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวน ป่าต้นน้ำ เขตอุทยาน หรือในที่ดินรัฐ เสี่ยงรายได้จะลดลง มีอาทิ จังหวัดกาญจนบุรีเกือบทั้งหมด ยกเว้นเขตตัวเมือง พื้นที่ตำบลเขาค้อ อำเภอเขาค้อ และตำบลดงมูลเหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวน ส่วนที่จังหวัดน่าน เช่น อำเภอขุนน่าน พื้นที่ดอยภูพยัคฆ์ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งอยู่สุดชายแดนน่านเหนือ จังหวัดน่าน อยู่ทั้งในเขตป่าสงวนและอุทยาน ฯลฯ
          หรือ พื้นที่ตลอดแนวชายทะเลทั้งหมด ไล่ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ -นราธิวาส เพราะเป็นที่รัฐอยู่ในความดูแลของ กรมชลประทาน หรือกรมเจ้าท่า เป็นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ รวมถึงที่ดินจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบ จากความไม่สงบ เป็นต้น คาดว่ารายได้จากภาษีใหม่จะหายไปเกินกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากปกติ กฎหมายเก่า ทั้งโรงเรือนและบำรุงท้องที่ทั่วประเทศ เมื่อรวมกทม. เฉลี่ยทุกปีมียอดจัดเก็บได้ 5 หมื่นล้านบาท จากเป้าที่ตั้ง 7 หมื่นล้านบาทต่อปี ขณะที่ภาษีใหม่ รวมกทม.ด้วยมีเป้า 1.1 แสนล้านบาทนั้น ส่วนใหญ่จะยิ่งไปตกกับเขตกทม.และหัวเมืองใหญ่มากยิ่งขึ้น ส่วนอปท.เล็กๆ ยิ่งช่วยตัวเองไม่ได้ และต้องตัดลดงบพัฒนาลง
          นายกสมาคมอบ ต.กล่าวว่า ทางออกรัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาด้วยการตัดงบประมาณที่ซ้ำซ้อนออกไป ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีการตั้งงบให้ส่วนภูมิภาคแต่ละหน่วยงาน กับท้องถิ่น อาทิ อบต.และเทศบาลที่เหมือนกัน หากนำงบก้อนดังกล่าวมารวมกันและช่วยกันพัฒนา ก็จะลดปัญหาการจัดเก็บรายได้ที่พลาดเป้าจากภาษีใหม่ของอปท.ได้
          เช่น เดียวกับนายประสาน สงวนพันธุ์ นายกอบต.บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า อบต.ทั้ง 75 แห่งในจังหวัดมีความเสี่ยงต่อรายได้ลดลง เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่จะไม่มีเชิงพาณิชย์ เช่นโรงแรม อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ และส่วนใหญ่เป็นที่ป่าสงวนที่ทหารใช้ประโยชน์ อาทิ อำเภอทองผาภูมิ สังขละ ไทรโยค ที่มีทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าสงวน อุทยาน แต่ที่ส.ป.ก. 4-01 สามารถจัดเก็บภาษีได้ เพราะออกหลักฐานการครอบครองโดยชอบ สำหรับอบต.บ้านเก่าที่ผ่านมา สามารถหารายได้จากที่ดินภาคเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งภาษีบำรุงท้องที่ เฉลี่ยเก็บได้ 8 แสนบาทต่อปี และภาษีโรงเรือนที่ได้จากบ้านเรือนประชาชน ที่ส่วนใหญ่บุกรุกที่ดินรัฐ รวมทั้งรีสอร์ตในพื้นที่ป่าสงวน เฉลี่ยจัดเก็บได้ปีละ 4 แสนบาท
          แต่ หากใช้ภาษีที่ดินใหม่ อบต.จะไม่มีรายได้เลย เพราะอยู่บนที่ดินรัฐไม่มีเอกสารสิทธิ จะเรียกเก็บภาษีไม่ได้แล้ว ที่ดินเกษตรของชาวบ้านมูลค่าที่ดินต่ำ และบ้านราคาเกิน 50 ล้านบาท ไม่มีแน่นอน ดังนั้นจึงเรียกร้องให้รัฐบาลอุดหนุนงบประมาณเพิ่ม ไม่เช่นนั้นจะไม่มีงบพัฒนา สาธารณูปโภค ในมุมกลับหากท้องถิ่นไม่เรียกเก็บภาษีจากชาวบ้านที่อยู่บนที่ดินบุกรุก โดยออกหลักฐานใบภ.บ.ท.5 หรือหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ก็อาจเกิดปัญหา เพราะจะไม่มีเอกสารมาแสดงหากต้องการซื้อขายเปลี่ยนมือกัน ทำให้ไม่สามารถขายได้ ดังนั้นชาวบ้านอาจเรียกร้องขอเสียภาษีแบบเดิม แต่ภาครัฐต้องการจะแก้ปัญหาบุกรุกที่ป่า จึงกันชาวบ้านและนายทุนออกจากพื้นที่ เพื่อยุติการซื้อขายที่ดินรัฐ
          ด้าน จ.ส.อ.ฉลอง ภูวิลัย นายก อบต.โนนสูง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ในฐานะอุปนายกสมาคม อบต.แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในพื้นที่ไม่น่ามีบ้านหรือสิ่งปลูกสร้าง มูลค่าเกินกว่า 50 ล้านบาท อย่างแน่นอน ซึ่งจะตรวจสอบว่ากฎหมายตัวนี้กระทบหรือไม่ โดยเฉพาะประชาชน ขณะที่นายอนนท์ ศรีพรหม นายก อบต.นิคมสงเคราะห์ อำเภอเมืองอุดรธานี กล่าวว่าได้ประสานงานกับสำนักงานที่ดินจังหวัด เพื่อขอสำเนาหลักฐานที่ดินรายแปลง เพื่อเตรียมในการทำแผนที่ภาษีที่ดินใหม่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง
          นาย วัชรพล จอนเกาะ นายกอบต.บ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ที่อยู่อาศัยราคาเกินกว่า 50 ล้านบาท จากการสำรวจเบื้องต้น ราคาบ้านที่สูงขนาดนั้นหรือเรียกว่าคฤหาสน์ ในพื้นที่ยังไม่มี แต่ทั้งนี้ต้องไปดูรายละเอียดว่า บ้านรวมราคาที่ดินหรือไม่ ซึ่งถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องศึกษาดูอีกครั้ง
          อย่างไรก็ ตามปัญหาที่พบในการจัดเก็บภาษีที่ดินของท้องถิ่นที่ผ่านมาคือ ขาดแผนที่ภาษี ที่ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน จึงทำให้ยากต่อการจัดเก็บภาษีให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย หากมีการแก้ไขส่วนนี้ก็จะทำให้รายได้ท้องถิ่นดีขึ้นแน่นอน
          สำหรับ อบต.บ้านเกาะมีพื้นที่รับผิดชอบประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล และเงินรายได้ที่จัดเก็บเองปีละประมาณกว่า 40 - 50 ล้านบาท ปัจจุบันมีเงินสำรองอยู่ประมาณ 100 ล้านบาท
          มุม กลับ นายสุทิน  บางประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองน้ำแดง  อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า เป็นเรื่องใหม่มากและยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจนของกฎหมายดังกล่าว แต่เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อการเพิ่มรายได้ให้กับท้องถิ่น เพราะมีการจัดเก็บภาษีอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้นด้วยจากเดิมไม่ได้เก็บ โดยพื้นที่ของ อบต.หนองน้ำแดง ส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม ส่วนรีสอร์ต บ้านพักมีไม่มากนัก โดยเฉพาะบ้านพักที่ราคาเกินกว่า 50 ล้านบาทนั้นจากการสำรวจเบื้องต้น ยังไม่มี
          แหล่ง ข่าวจากกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า แต่ละท้องถิ่นจะต้องทำข้อมูลที่ดินลงในระบบสารสนเทศเชื่อมกับสำนักงานที่ดิน ทั่วประเทศ 32 ล้านแปลง คาดว่า ไม่น่าเสร็จทันปี 2560

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น