ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ ๗ กรกฏาคม ๒๕๕๙ |
ท้อง
ถิ่น 76 จังหวัดเด้งรับนโยบายงัดเงินสะสมปลุกเศรษฐกิจฐานราก
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเผยใช้งบประมาณไปแล้ว 9,000 ล้าน
โฟกัสโครงการพัฒนาแหล่งน้ำรับมือภัยแล้ง ซ่อมถนน แหล่งท่องเที่ยว สร้างงาน
สร้างอาชีพ หัวเมืองใหญ่ "เชียงใหม่-โคราช" อัดสารพัดโปรเจ็กต์ ด้าน
"สกลนคร" บูมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ชูไก่ดำ หมูดำ วัวดำ สัตว์เศรษฐกิจใหม่
"เทศบาลนครยะลา" ใช้แล้ว 30 ล้าน เน้นด้านความปลอดภัย รับมือน้ำท่วม นับ ตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นต้นมา รัฐบาลได้อัดมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยเน้นให้ชุมชน/ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ผลักดันให้เกิดการจ้างงาน มีเม็ดเงินหมุนเวียนลงสู่ท้องถิ่นหลายโครงการ เช่น โครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท ล่าสุดมีการปลดล็อกให้ท้องถิ่น ทั่วประเทศ (อบจ.-เทศบาล-อบต.-เมืองพัทยา-กรุงเทพมหานคร) จำนวน 7,853 แห่ง สามารถนำงบประมาณสะสมของท้องถิ่น ที่มีอยู่ราว 6 หมื่นล้านบาทมาใช้ได้ นอกเหนือจากการสำรองไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย. 2559 นี้ ท้องถิ่นใช้เงินไปแล้ว 9 พันล้าน นาย จรินทร์ จักกะพาก อธิบดีกรม ส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้ทยอยนำเงินสะสมมาใช้มากขึ้น ตามนโยบายเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล ซึ่งในภาพรวมมีการนำเงินมาใช้แล้วกว่า 9,000 ล้านบาท จากการรายงานของท้องถิ่นส่วนใหญ่นำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำอุปโภค-บริโภค รับมือภัยแล้ง ซึ่งในหลายพื้นที่ทั่วประเทศกำลังเผชิญปัญหาภัยแล้ง นอกจากนี้ยังนำมาใช้ในการฝึกอาชีพ ช่วยเหลือเกษตรกรลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้ และส่งเสริมการท่องเที่ยว แนวโน้มจะมีการนำเงินสะสมออกมาใช้มากขึ้น ด้าน นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา เปิดเผยว่า ขณะนี้ ใช้งบประมาณสะสมไปแล้ว 30 ล้านบาท จากวงเงินสะสมทั้งหมด 170 ล้านบาท โดยนำงบฯมาใช้ในหลายด้าน เช่น ด้านความปลอดภัย ติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่ม การเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัย และส่งเสริมคุณภาพชีวิตด้านการศึกษา ส่วนแผนงานระยะยาวจะทุ่มงบประมาณกว่า 200 ล้านบาท ในการจัดเก็บสายไฟ ทั่วเมืองยะลาลงใต้ดินเพื่อความปลอดภัย และทำให้ภูมิทัศน์รอบเมืองมีความสวยงามและน่าอยู่ โดยจะเริ่มแผนงานได้ในปลายปี 2559 แล้วเสร็จภายใน 2-3 ปี เชียงใหม่ขุดสระ-สร้างถนน นาย บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลที่ให้ อปท.สามารถนำเงินสะสมออกมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก อบจ.เชียงใหม่เห็นว่าเป็นนโยบายที่มีความสำคัญ และได้นำเงินสะสมออกมาใช้จ่ายแล้ว 20 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาแหล่งน้ำ เป็นต้น ด้าน นายธัญศักดิ์ แสงศรีจันทร์ นายกเทศมนตรีตำบลสุเทพ ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก กล่าวว่า ได้นำเงินสะสมจำนวน 19 ล้านบาท มาพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานชุมชน เช่น ขุดสระน้ำ แก้ปัญหาภัยแล้ง สร้างและปรับปรุงถนนเส้นทางท่องเที่ยวดอยปุย และโครงการสร้างรางระบายน้ำ นางอัจฉรา ประจงกิจ ผู้อำนวยการ กองคลัง เทศบาลตำบลสุเทพ กล่าวว่า สภาเทศบาลตำบลสุเทพมีมติอนุมัติให้ใช้เงินสะสมจำนวน 19 ล้านบาท จากเงินสะสมทั้งหมด 100 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ อปท.นำเงินสะสมมาพัฒนาโครงการต่าง ๆ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เกิดการจ้างงานในชุมชน เช่น การพัฒนาโครงการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โครงการปรับปรุงหรือจัดให้มีแหล่งน้ำด้านการเกษตรและแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค รวมถึงการพัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น การก่อสร้าง/ปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว และโครงการ ส่งเสริมการใช้ยางพารา ทั้ง นี้มุ่งเน้นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก อาทิ โครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำบ้านสันลมจอย หมู่ 13 โครงการจัดซื้อถังไฟเบอร์กลาส 40 ถัง เพื่อเก็บน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค โครงการปรับปรุงซ่อมแซมผิวจราจรแอสฟัลติกส์คอนกรีต หมู่ 12 บ้านภูพิงค์ โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ "จุดชมวิวผาดำ" บ้านภูพิงค์ หมู่ 12 เป็นต้น โดยจะต้องเบิกจ่ายงบประมาณให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 กันยายน 2559 โคราชเร่งมือพัฒนา 6 ด้าน นาย เมธา รุ่งฤทัยวัฒน์ ท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า อปท.ในจังหวัดนครราชสีมามีเงินสะสมท้องถิ่นประมาณ 700 ล้านบาท ในแต่ละปีจะนำเงินสะสมมาใช้ประโยชน์หลายโครงการ เช่น 1.สนับสนุนการดำเนินงานตามปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียง 2.โครงการปรับปรุงแหล่งน้ำด้านการเกษตร 3.ปรับปรุงและจัดหาแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 4.โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว 5.โครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ และ 6.โครงการที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ของประชาชน อย่างไรก็ตาม การใช้เงินสะสมแต่ละโครงการเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของกระทรวง ซึ่งมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับรายรับ-รายจ่ายของแต่ละปี นอกจากนี้ ที่ผ่านมาได้ทำตามนโยบายรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เช่น โครงการกองทุนหมู่บ้านไม่เกิน 1 ล้านบาท โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 2 แสนบาท สกลนครทุ่ม 20 ล้านรับมือแล้ง ด้าน นายชัยมงคล ไชยรบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ขณะนี้ ดึงเงินสะสมมาใช้แล้ว 20 ล้านบาท จากเงินสะสมที่มีอยู่ทั้งหมด 70 ล้านบาท หรือคิดเป็น 30% โดยแผนการดำเนินงานเน้น 2 เรื่องหลัก คือ ภัยแล้ง 4-5 โครงการ โดยการขุดหลุมขนมครก ขุดลอกห้วยในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ สว่างแดนดิน ส่องดาว บ้านม่วง คำตากล้า และโครงการพระราชดำริ ซึ่งได้ทำเรื่องเกษตรอาหารกลางวัน 6 โครงการ โดยได้ทำ MOU ระหว่างปศุสัตว์ ประมง ตำรวจตระเวนชายแดน ให้นักเรียนเรียนรู้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่น เลี้ยงไก่ดำ หมูดำ วัวดำ ปลาหมอยักษ์ โครงการเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในท้องถิ่น นาย ชัยมงคล กล่าวอีกว่า โครงการนี้เริ่มต้นใช้งบของอบจ. โดยแต่ละโรงเรียน จะได้งบไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับโครงการที่นำเสนอเข้ามา ยืนพื้นที่โรงเรียนละ 1.5 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้จะไม่ใช่การบริหารจัดการแบบท็อปดาวน์ แต่เป็นการเสนอโครงการเข้ามา แล้วเราจะจ่ายผ่านเงินสะสม ขณะที่อนาคตผู้ปกครองนักเรียนอาจต้องเข้ามาต่อยอด มีการบริหารจัดการมีเงินปันผลทำให้เกิดความยั่งยืน เนื่องจากเงินสะสมส่วนที่เหลือเราต้องกันไว้สำหรับเหตุภัยพิบัติ และ เงินเดือนประจำ เป็นระเบียบการคลังที่ต้องยึดถือ |
เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ฅนเทศบาล
เมนูหลัก
ข่าวท้องถิ่น
ระเบียบบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานการบริหารงานบุคคลพนักงานส่วนท้องถิ่น
วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559
ท้องถิ่นใช้เงินสะสมแล้ว9,000ล้านปลุกศก.ลุยโปรเจ็กต์ซ่อมสร้างถนน-แหล่งน้ำ-บูมท่องเที่ยว-สร้างอาชีพ
ท้องถิ่นใช้เงินสะสมแล้ว9,000ล้านปลุกศก.ลุยโปรเจ็กต์ซ่อมสร้างถนน-แหล่งน้ำ-บูมท่องเที่ยว-สร้างอาชีพ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น