เขตเศรษฐกิจพิเศษติดหล่ม 'มท.-อุตฯ'งัดข้อค้านยกที่รัฐให้เอกชน |
ประชาชาติธุรกิจ Iฉบับวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๙ |
เขต
เศรษฐกิจพิเศษสะดุด กระทรวงอุตฯดันร่างกฎหมายให้อำนาจผู้ว่าการเขต
ศก.ครอบจักรวาล มหาดไทยหวั่นซ้ำซ้อนผู้ว่าฯ จี้ทบทวนปมออกใบอนุญาต
อนุมัติผังเมือง-ควบคุมอาคารได้เอง ค้านลดค่าโอนอสังหา-ภาษีเงินได้ ด้าน
"อรรชกา" สั่ง กนอ.แก้ปมร้อน แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เฟสแรก 6 พื้นที่ 5 จังหวัด คือ จ.ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด และสงขลา นโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการผลักดัน ให้เกิดผลในทางปฏิบัติเป็นรูปธรรมภายในปีนี้ แม้จะมีความคืบหน้าในการจัดหาที่ดินรองรับ การประกาศเขตพื้นที่ การให้ สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน (BOI) การจัดหาพื้นที่ของรัฐที่ให้เช่า รวมทั้งเตรียมลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ และก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปลดล็อกกฎหมายผังเมือง แต่ความพยายามผลักดันประกาศบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. .... ให้มีกฎหมายรองรับเป็นทางการยังมีปัญหา เนื่องจากกระทรวงมหาดไทย ไม่เห็นด้วยในสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวหลายข้อ อำนาจซ้ำซ้อนผู้ว่าฯ ประเด็น หลักที่มหาดไทยยังมีข้อขัดข้องหรือข้อสงสัย ประกอบด้วย 1.ปัญหาความซ้ำซ้อนเกี่ยวกับพื้นที่ และการบริหารจัดการของผู้ว่าราชการจังหวัด กับผู้ว่าการเขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ กำหนดขนาดพื้นที่ไว้กว้างมาก จนอาจตีความได้ว่าครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด 2.ไม่ได้กำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนก่อนจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3.ให้อำนาจคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษอนุญาตให้ผู้ประกอบการ นำคนต่างด้าวเข้าอยู่อาศัยในราชอาณาจักร เกินจำนวนหรือระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง อาจกระทบด้านความมั่นคง ยกที่รัฐให้ต้องโอน-ถอนสภาพ 4.การ กำหนดเงื่อนไขให้ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินตกเป็นของเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยไม่ต้องถอนสภาพหรือโอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน จะเกิดปัญหาตามมาว่าใช้หลักเกณฑ์วิธีการใดถอนสภาพที่ดิน และหากพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายองค์กร มีทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยจะดำเนินการอย่างไร ฯลฯ 5.หากที่ดินได้มาโดยการถมทะเลการเวนคืน การถอนสภาพที่ดินจากสาธารณสมบัติของ แผ่นดิน ป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดินในเขตปฏิรูป ที่ดิน ให้เขตเศรษฐกิจพิเศษสามารถนำที่ดิน ไปให้เช่าได้เท่านั้นโดยไม่ให้ขายขาด ลดภาษี-ค่าโอนกระทบรายได้ 6.การ ยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ จะกระทบต่อรายได้ท้องถิ่น 7.การให้สิทธิ ผู้ประกอบการ และผู้อยู่อาศัยในเขตเศรษฐกิจพิเศษได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้ ทำให้ท้องถิ่นขาดรายได้ 8.ให้ผังเมืองที่มีอยู่ก่อนประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษมีผล ใช้บังคับ ในระหว่างก่อนประกาศบังคับใช้ผังเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดช่วง สุญญากาศ 9.การให้อำนาจผู้ว่าการเขตเศรษฐกิจพิเศษอนุญาต อนุมัติ ตามกฎหมายว่าด้วยอาคาร ไม่ได้กำหนดชัดเจนว่ากรณีมีปัญหาก่อสร้างผิดแบบ การติดตามหลังการอนุญาตเป็นหน้าที่ของผู้ว่าการ หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น 10.เสนอให้นายอำเภอ และผู้บริหารท้องถิ่นเป็นผู้แทนในคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย ชง คนพ.ชี้ขาดร่าง พ.ร.บ. แหล่ง ข่าวกล่าวว่า ก่อนหน้าได้มีการหารือร่วมกันระหว่างตัวแทนกระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เกี่ยวกับประเด็นบทบัญญัติในร่างกฎหมายที่ยังมีความเห็นแตกต่างกันทั้งเป็น ทางการและไม่เป็นทางการหลายครั้ง แต่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงต้องนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการ นโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (คนพ.) เพื่อให้ คนพ.พิจารณาชี้ขาด ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ "อรรชกา" สั่งชี้แจงข้อกังขา นาง อรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คาดว่าจะสามารถเสนอร่าง พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้ คนพ.พิจารณา ได้ภายในสัปดาห์หน้า และจะเสนอต่อ ครม. ภายใน 1-2 เดือนนี้ ก่อนไปสู่ขั้นตอน ของกฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติ แห่งชาติ เพราะต้องเร่งให้ พ.ร.บ.ประกาศบังคับใช้โดยเร็วที่สุด รวมถึงร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (3 จังหวัด ระยอง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี) ที่ต้องเสร็จพร้อมกัน "นายกฯต้องการให้ทั้ง 2 พ.ร.บ.นี้เสร็จพร้อมกัน เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนให้เป็นรูปธรรมชัดเจน เราก็หวังว่าหากภายใน 2 เดือนนี้ พื้นที่ กนอ.ที่ลงทุนไป 5,000 ล้านบาท สร้างนิคมอุตสาหกรรม 660 ไร่ ขายได้หมด ก็คงทำให้นายกฯเห็นว่าทั้งรัฐและเอกชนลงทุนจริง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมเกษตร ฯลฯ" สำหรับการคัดค้านจากมหาดไทย กระทรวงอุตฯมอบหมายให้ กนอ.กลับไป แก้ไขบางเรื่องที่ยังเห็นไม่ตรงกันแล้ว ปี'60 บูมลงทุนภาคตะวันออก นาย วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ.เปิดเผยว่า จะพยายามปรับแก้ร่างกฎหมาย ส่วนที่กระทรวงมหาดไทยมีความกังวล ให้สอดรับกันได้โดยเร็ว เนื่องจากในส่วนของภาครัฐเอง ขณะนี้หลายหน่วยงานต่างเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รองรับโรงงานจำนวนมากที่จะลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาค ตะวันออก หลังร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ตามนโยบายนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ มีผลบังคับใช้ ดังนั้นโครงการขยายท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิ เฟส 2 ขยายท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 โครงการสร้างมอเตอร์เวย์ และรถไฟรางคู่ จะต้องเกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่คาดจะมีมูลค่าถึง 2 แสนล้านบาท ตามด้วยอุตฯยานยนต์ และอุตฯอิเล็กทรอนิกส์อีกกว่า 3 แสนล้านบาท รวมทั้งสิ้นจะเห็นเม็ดเงินลงทุนถึง 5 แสนล้านบาทภายในปี 2560 ลุยลงทุนอินฟราสตรักเจอร์ ด้าน ความคืบหน้าในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษเฟสแรกทั้ง 5 จังหวัด ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลจัดสรรงบฯดำเนินการรวม 6,959 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ได้รับ จัดสรรงบฯ 2,165 ล้านบาท แบ่งเป็นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง 3,960 ล้านบาท ด่านศุลกากร 1,205 ล้านบาท แหล่งน้ำ 842 ล้านบาท สาธารณสุข 310 ล้านบาท การลงทุนด้านระบบบริหารจัดการแรงงาน กำจัดขยะ วางผังเมือง การจัดทำนิคมอุตฯ 642 ล้านบาท เอกชนเริ่มลงทุนเขต ศก.แม่สอด ด้าน ความเคลื่อนไหวในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนหลายจังหวัดต่างเตรียมความ พร้อมรองรับ นายสุทธา สายวาณิชย์ รองผู้ว่าราชการ จ.ตาก เปิดเผยว่า ความคืบหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ขณะนี้ กนอ. และกรมที่ดินกำลังเข้าไปจัดเขตที่ดิน ที่จะให้ กนอ.เข้ามา บริหารงาน 2,100 ไร่ ซึ่งกำลังเร่งสำรวจชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบและให้ความช่วยเหลือ จะแล้วเสร็จสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ จากนั้นจะปรับหน้าดินเริ่มงานก่อสร้าง ขณะ ที่ความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ขณะนี้ก่อสร้างไปแล้ว 60% เป็นไปตามเป้าคาดว่าจะแล้วเสร็จต้นปี 2561 นอกจากนี้จะสร้างถนนฝั่งเมียนมา 4 กม. เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบริเวณหน้าด่านศุลกากร ส่วนการสร้างถนนเส้นทาง อ.เมือง ถึง อ.แม่สอด จะแล้วเสร็จต้นปี 2560 ขณะนี้ มีภาคเอกชนเข้าไปลงทุนใหม่ 4-5 ราย ทั้งไทยและต่างชาติ และมีอีก 30 รายแสดงความสนใจจะลงทุน "สระแก้ว-ตราด" ดูดนักลงทุน นาย ภัคธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการ จ.สระแก้ว เปิดเผยว่า ในส่วนของเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว 207,500 ไร่ ครอบคลุม 2 อำเภอ 4 ตำบล อยู่ระหว่างปรับพื้นที่ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามผังเมือง ที่วางไว้แล้ว อยากเชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุน ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการสนใจหลายราย สำหรับโรงงานน้ำตาล บริษัทน้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี ได้เสนอโครงการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมสีเขียวครบวงจร และ Halal Park ที่ ต.ผักขะ อ.วัฒนานคร วงเงินลงทุน 1.5-3 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของ กระทรวงอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับ เขตเศรษฐกิจตราด ที่ก่อนหน้านี้ได้ ร่วมกับกรมธนารักษ์ จัดประชุมชี้แจง รายละเอียดการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าไปลงทุน พัฒนาที่ดินราชพัสดุที่ทางการจัดไว้ให้ |
เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวงงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ฅนเทศบาล
เมนูหลัก
ข่าวท้องถิ่น
ระเบียบบริหารงานบุคคลของพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่น
มาตรฐานการบริหารงานบุคคลพนักงานส่วนท้องถิ่น
วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2559
เขตเศรษฐกิจพิเศษติดหล่ม 'มท.-อุตฯ'งัดข้อค้านยกที่รัฐให้เอกชน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น