วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

สัมภาษณ์: 'จรินทร์ จักกะพาก'อธิบดี สถ.เร่งแผนพัฒนาท้องถิ่น-ปลุก ศก.ฐานราก

สัมภาษณ์: 'จรินทร์ จักกะพาก'อธิบดี สถ.เร่งแผนพัฒนาท้องถิ่น-ปลุก ศก.ฐานราก
ประชาชาติธุรกิจ  ฉบับวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙

          ชั่วโมง นี้ท้องถิ่นไทยกำลังเผชิญกับปัญหารอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาวะภัยแล้งที่กำลังลุกลามอย่างหนัก หลายแห่งประสบปัญหาขยะล้นเมืองจากการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว แต่ปัญหาใหญ่ในตอนนี้ก็คือ เศรษฐกิจฐานรากชะลอตัว เนื่องจากราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ ภัยแล้ง และอากาศร้อนซ้ำเติมทำให้ชาวบ้านไม่มีรายได้ กำลังซื้อหดหายไม่มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจชุมชน
          กรมส่ง เสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เป็นตัวกลางในการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้อง ถิ่น (อปท.) ทั้งในด้านการกระจายอำนาจและงบประมาณลงสู่ท้องถิ่น เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ
          "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ "จรินทร์ จักกะพาก" อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เกี่ยวกับแผนงานเร่งด่วนที่จะเร่งดำเนินการในช่วง 6 เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2559 ความคืบหน้าโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท รวมถึงแผนงานอื่น ๆ ที่จะเดินหน้าต่อไปในอนาคต
          แผนงานเร่งด่วนในช่วงครึ่งหลังปีงบประมาณ 2559 มีอะไรบ้าง
          แผน งานเร่งด่วนและภารกิจหลักจะเน้นลงพื้นที่ทำประชาคมกับท้องถิ่น ทั่วประเทศ สำรวจปัญหา ความเดือดร้อน ความต้องการของประชาชน เพื่อที่จะนำข้อมูลพื้นฐานมาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหา ความต้องการได้อย่างตรงจุด เพราะที่ผ่านมา บางพื้นที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหา ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ 100%
          นอก จากนี้ จะเร่งทำแผนพัฒนาท้องถิ่นปี 2561 ให้แล้วเสร็จ ซึ่งจะต้องรู้ปัญหาความต้องการของชาวบ้านที่แท้จริง เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างถูกจุด อีกทั้งยังให้เห็นความสำคัญของการใช้งบประมาณท้องถิ่น อย่างโปร่งใส ต้องมีการชี้แจงที่มาที่ไปแต่ละโครงการ ติดประกาศให้ประชาชนรับทราบ เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ และพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก
          ทั้ง นี้ ยังจะเดินหน้าทำระบบฐานข้อมูลท้องถิ่นใหม่ทั้ง 7,800 แห่ง เพราะที่ผ่านมาฐานข้อมูลท้องถิ่นยังอยู่กระจัดกระจาย มีปัญหาเวลาจะนำมาใช้งาน ทำให้กรมแก้ไขปัญหาและสนองความต้องการของท้องถิ่นได้ไม่ตรงจุด ลดการทำงานที่ซับซ้อน สิ้นเปลืองงบประมาณ หากมีฐานข้อมูลที่ดีเป็นระบบก็จะช่วยให้การดึงข้อมูลมาใช้ได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว การพัฒนาท้องถิ่น เป็นไป อย่างรวดเร็ว โดยจะเพิ่มข้อมูลสถานที่ ท่องเที่ยวเข้าไปด้วย
          ทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นยุคใหม่เป็นอย่างไร
          นอก จากแผนเร่งด่วนที่จะดำเนินการแล้ว ในอนาคตจะจัดทำแผนท้องถิ่นระดับจังหวัด เพื่อให้แต่ละจังหวัดไปทำแผนระดับอำเภอ จะทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกนำมาแก้ไขปัญหา โดยจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำแผนดังกล่าวให้สะท้อนถึงปัญหาที่แท้จริง ก่อให้เกิดความโปร่งใส
          ขณะเดียวกัน ปัญหาเรื่องขยะก็เป็นปัญหาใหญ่สำหรับท้องถิ่นในขณะนี้ โดยเฉพาะท้องถิ่นที่เป็นสังคมเมือง การค้า การลงทุน เข้าไปจำนวนมาก ปัญหาขยะล้นเมืองจะตามมา กรมมีหน้าที่ดูแลเฉพาะขยะมูลฝอยในส่วนของครัวเรือนเท่านั้น ส่วนขยะมีพิษหรือขยะที่มาจากโรงงานหรือเชิงพาณิชย์ ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดูแล
          ล่า สุดร่างพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้าน เมือง (ฉบับ...) พ.ศ. ...คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้รอนำเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่าภายใน 3-4 เดือนจะเห็นเป็นรูปเป็นร่าง สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ดังกล่าวคือ กำหนดให้มีการเก็บ ขน ขนกำจัด สิ่งปฏิกูลและมูลฝอยในท้องถิ่นให้เป็นอำนาจส่วนราชการของท้องถิ่น และให้มีอำนาจหน้าที่ออกข้อกำหนดของท้องถิ่น จัดทำแผนงานโครงการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยเสนอต่อจังหวัด และให้จังหวัด จัดส่งแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัดให้คณะ กรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
          โครงการตำบลละ 5 ล้านมีความคืบหน้า อย่างไร
          ปัจจุบัน มีความคืบหน้าไปมาก เบิกจ่าย ไปแล้วกว่า 80-90% กระจายสู่ท้องถิ่นกว่า 800 แห่ง มีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการกว่า 100,000 ราย ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวรัฐบาลตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ขณะนี้ก็สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง เพราะส่วนใหญ่ท้องถิ่นได้นำงบประมาณไปใช้ในงานก่อสร้าง ทำให้เม็ดเงินสะพัดอยู่ในธุรกิจก่อสร้างมากที่สุด
          นอกจากนั้น ท้องถิ่นเองก็สามารถนำงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรร และงบฯอุดหนุนประจำปีที่มีมูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท และรายได้ที่ท้องถิ่นมีอำนาจจัดเก็บเอง เช่น ภาษีโรงเรือน ภาษีป้าย ภาษีหัวจ่ายน้ำมัน และอากรรังนกอีแอ่น ที่สามารถนำไปพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนได้
          ท้องถิ่นทั่วประเทศได้เริ่มนำงบฯสะสมมาใช้ในด้านใดบ้าง
          นโยบาย ดังกล่าวนี้ กรมได้กำหนดแนวทางปฏิบัติการใช้เงินสะสมของ อปท. ซึ่งท้องถิ่นสามารถนำงบประมาณสะสมที่แต่ละท้องถิ่นมีอยู่นำมาใช้ในการบริหาร งาน เพื่อตอบสนองความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วนในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การรับมือภัยแล้ง บริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภค และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น การจัดซื้อภาชนะรองน้ำ ถังน้ำขนาดใหญ่ ขุดบ่อขนาดใหญ่ ทำแก้มลิงขนาดเล็ก ทำประปาหมู่บ้าน ฝายเก็บกักน้ำ และอีกโครงการคือ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เช่น การสร้างที่จอดรถ ห้องน้ำ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น