วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2559

นายกฯจี้สรุปผลสอบ'ขรก.'จัดซื้อของเกินจริงร้อยล้าน

นายกฯจี้สรุปผลสอบ'ขรก.'จัดซื้อของเกินจริงร้อยล้าน 
กรุงเทพธุรกิจ  ฉบับวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๙

          "วิษณุ"เผย นายกฯสั่งเร่งสอบขรก.เอี่ยวทุจริต 3 ล็อต ระบุใครผิดเจอลงโทษ ใครไม่ผิดได้คืนตำแหน่ง พบการทุจริตแบบ"พิลึกพิลั่น" จัดซื้อ ของมากเกินจริง ถลุงงบนับร้อยล้าน ขณะสปท.เล็งถกรื้อก.ม.2 ฉบับ เปิดทางประชาชนร่วมตรวจสอบ-ถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น- เสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นได้
          นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับเรื่องการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ว่า เรื่องนี้มีปัญหาค้างเก่าอยู่จำนวนมาก โดยที่ผ่านมานายกฯ ก็ได้ใช้มาตรา 44 สั่งลงโทษพักงานไปแล้วหลายกรณีและให้ดำเนินการสอบสวนไปพร้อมกันด้วย เพื่อรีบจัดการปัญหาให้กับบุคลเหล่านั้น เพื่อให้เขาได้กลับไปทำงาน ไม่ให้เสียประโยชน์ เพราะบางคนก็ใกล้จะเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ถ้าผิดก็ต้องถูกลงโทษทางวินัย "มีหลายส่วนราชการที่อยู่ในข่ายพักราชการแล้วสอบสวนนั้น ได้พบว่ามีอะไรที่พิลึกพิลั่น เกินกว่าที่เรารู้มากมายนัก เช่น มีบางส่วนราชการรายงานมาว่ามีการซื้อสิ่งของตามอำนาจจัดซื้อจัดจ้างโดยปกติ แต่แทนที่จะซื้อในจำนวนที่ใช้ประโยชน์ในราชการแต่ก็ซื้อเกินจำนวน และ จนขณะนี้ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าซื้อเกินไปทำไม ทำให้สูญเสียงบประมาณไปหลายสิบ หลายร้อยล้าน อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ตรวจสอบพบ กำลังคิดว่าจะนำสิ่งของเหล่านั้นเอาออกมาเลหลัง ซึ่งในไม่ช้านี้ ก็คงจะมีการออกข่าว โดยรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงจะให้ข่าวในเร็วๆ นี้ โดยหน่วยงานที่ถูกตรวจสอบ พบนั้นอยู่ในส่วนกลาง ซึ่งผมรู้สึกตกใจมากเมื่อได้ทราบเรื่องดังกล่าว"
          รองนายก รัฐมนตรี กล่าวต่อว่า จากการ ตรวจสอบข้อเท็จจริงของรายชื่อข้าราชการ 3 ล็อตแรก ก็พบว่ามีความผิดบ้างหรือบางรายก็พ้นผิด ซึ่งในรายที่ผิดก็ให้ดำเนินการลงโทษ เพราะการพักงานเขาอยู่อย่างนี้ก็เป็นบาปกรรม นายกฯสั่งว่าให้เคลียร์ แล้วถ้าไม่ผิดก็ให้บอกมาจะได้ให้เขาคืนกลับไปให้หมด แต่ถ้าผิดก็ขอให้เดินหน้าตรวจสอบให้เต็มที่ เช่น กรณีตัวอย่างสั่งซื้อเกินความจำเป็นหลายแสน หลายล้านชิ้น เป็นเสื้อผ้า โกงกันแปลกๆ โกงสอบก็มีเป็นการทุจริตในการสอบ  "บางคนที่ถูกพักงานจนกระทั่งครบวาระ แล้วนั้น อย่างนี้นายกฯรู้สึกเห็นใจ ซึ่งก็มีส่วนใหญ่ เป็นพวกท้องถิ่น แต่คงจะไม่มีการเยียวยาใดๆ  ถือเป็นเวรเป็นกรรม ขอให้รีบรายงานมา เพื่อที่จะได้ให้คืนกลับมาโดยเร็ว หน่วยงาน ที่กล่าวหาตอนแรกจะต้องเป็นคนเคลียร์ให้เขา เมื่อสอบแล้วพบว่าไม่ผิด"
          นาย วิษณุ กล่าวว่า เมื่อไม่กี่วันก่อนมีคนหอบหลักฐานมาพบตนเพื่อชี้แจงว่าตัวเองไม่ผิด ตนจึงโทรศัพท์ไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ(ปปท.) ก็บอกว่าข้อหานั้นไม่ผิด แต่ข้อหาอื่นยังอยู่ มีแบบนี้ เพราะฉะนั้นคนหนึ่งโดนหลายเรื่อง จึงเป็นอย่างนี้ หรือถ้ามองอีกแง่หนึ่งก็คือต้นสังกัดสอบสวนช่วยเขา ดังนั้น ต้องยึดองค์กรตรวจสอบเป็นหลัก
          นายวิษณุ กล่าวอีกว่า สำหรับการปลดล็อกนั้น จะเป็นการปลดล็อกให้ทีละคน แต่ขอให้รวบรวมจำนวนให้ได้จำนวนหนึ่งเสียก่อน เพื่อที่จะประกาศในมาตรา 44 เพราะในเมื่อประกาศลงโทษโดยมาตรา 44 ก็ต้องปลดล็อกโดยมาตรา 44 ด้วยเช่นกัน
          นายกฯ ได้สั่งการมาที่ตนเมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมาแล้ว ตนจึงประสานงานไปยังปลัดกระทรวงต่างๆ เพื่อสอบถามว่ายังดำเนินการสอบสวนรายชื่อนั้นๆหรือไม่ และถ้าสอบสวนเสร็จแล้วให้รายงานกลับมาด้วยว่า เขาไม่ผิด ไม่ใช่แค่แจ้งไปที่เจ้าตัว แต่ต้องแจ้งมาที่ส่วนกลางด้วย เพื่อได้รวบรวมแล้วออกมาตรา 44 ให้ปลดล็อค เพราะหายเงียบกันไปนานแล้วจะได้รู้ว่าต้นสังกัดยังสอบสวนอยู่หรือไม่ หรือถ้าสอบสวนเสร็จแล้ว เคลียร์แล้ว เขาไม่ผิดก็จะได้คืนความเป็นธรรมให้ หรือถ้าสอบสวนแล้วเขาผิด ก็จะได้ลงโทษ
          ส่วนการพิจารณารายชื่อ ข้าราชการล็อต 4 นั้น  ทางศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ยังไม่ส่งรายชื่อมาให้พิจารณาแต่อย่างใดสปท.เล็งรื้อก.ม.ท้องถิ่น2ฉบับ
          ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีคำสั่งนัดประชุมในวันที่ 18 เม.ย.นี้ เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ 1.การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองท้องถิ่นและร่าง พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือ ผู้บริหารท้องถิ่น(ฉบับที่....) พ.ศ....
          ทั้งนี้เพื่อแก้ไข ปัญหาเกี่ยวกับการมีส่วนร่วม ของประชาชนในท้องถิ่นต่อการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่มีหลายขั้นตอนและเข้าใจยาก รวมถึงการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนฯ ยังให้ถือเกณฑ์จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งขององค์กรปกครองแต่ละแห่ง ซึ่งมีความแตกต่างกัน ส่วนคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ถอดถอนฯ ต้องถึงเกณฑ์ 75% ของผู้ที่มาลงคะแนนจึงจะสามารถถอดถอนได้ และต้องปรับปรุงเนื้อหาให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีบทบัญญัติให้สิทธิประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้อง ถิ่นมีสิทธิเข้าชื่อกัน เพื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือเพื่อถอดถอนสมาชิกท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติ
          จึง เสนอให้ปรับปรุงพ.ร.บ.ว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกท้องถิ่นหรือ ผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2542 ดังนี้ 1.ปรับปรุงสัดส่วนจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อเพื่อให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอน โดยจากเดิมที่ให้ใช้เกณฑ์ 4 ระดับ คือ ระดับไม่เกิน 1 แสนคน, ไม่เกิน 5 แสนคน, เกิน 5 แสนคนแต่ไม่ถึง 1 ล้านคน และเกิน 1 ล้านคน ปรับให้ใช้เพียง 2 ระดับ คือ ระดับไม่เกิน 1 แสนคน และเกิน 1 แสนคน  และกำหนดสัดส่วนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อถอดถอน ได้แก่ องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 1 แสนคนต้องมี ผู้เข้าชื่อฯ ไม่น้อยกว่า 5,000 คน, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิน 1 แสน ต้องมีผู้เข้าชื่อฯ ไม่น้อยกว่า 20,000 คน ขณะที่เสียงถอดถอน แก้ไขให้ใช้เป็น จำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่มาลงคะแนนเสียง จากเดิมให้ใช้เสียงจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของผู้มาลงคะแนน เพื่อให้สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นมีความระมัดระวังในการ ปฏิบัติหน้าที่มากยิ่งขึ้น      และ 2.การมีส่วนร่วมของประชาชนในการเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นและร่างพ.ร.บ.ว่าด้วย การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ.....ได้นำร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ.2542 มาปรับปรุงเพื่อให้การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นมี ความง่ายและบังคับใช้ได้จริง รวมถึงเพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ
          โดย มีเนื้อหาสำคัญคือปรับลดจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น จากเดิมกำหนดให้เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น จำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 คน และในวันที่ 1 ม.ค.ของปีที่มีการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น ส่วนการเสนอข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกทม. รวมกันไม่น้อยกว่า 10,000 คน ซึ่งปรับลดจากเดิมที่ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น