วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555

ท้องถิ่นจัดการตนเอง

 คอลัมน์ ไทยมองไทย: ท้องถิ่นจัดการตนเอง (1) (ท้องถิ่นจัดการตนเอง) -
มติชนสุดสัปดาห์  Issued date 7 September 2012
          สมหมาย ปาริจฉัตต์
      
          เวทีเสวนา ปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 7 ยังมาไม่ถึง สัปดาห์นี้เลยขอคั่นรายการ ว่าด้วยเรื่อง จังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งเป็นกระแสที่น่าติดตามไม่น้อยเช่นกัน
          หลังจากล่าสุด ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผมพูดถึงการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาล และราชการส่วนกลาง รับฟังความเห็นของภาคประชาสังคมจังหวัดต่างๆ ที่ขอให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ในรูปของจังหวัดจัดการตนเองหลายต่อหลายแห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น สงขลา ปัตตานี อำนาจเจริญ ยังคึกคักอยู่นะครับ
          โดยชี้ว่า ไม่น่าจะเกิดขึ้นง่ายนัก เพราะเป็นเรื่องใหญ่ในความคิดของนักปกครองฝ่ายความมั่นคงทั้งหลาย ไม่อยากให้เกิดขึ้นง่ายๆ เกรงจะเป็นไฟลามทุ่งออกไปทั่วประเทศ
          แต่การที่จะต้านทานกระแสที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นเรื่องยากเช่นเดียวกัน
          วันนี้เลยขอลำดับความเป็นมา เป็นไปกันอีกครั้ง หลังจากเมื่อกรรมการปฏิรูปประเทศไทย โดย นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอให้ยุบการปกครองส่วนภูมิภาค ในสมัยรัฐบาลที่แล้ว กระแสดังกล่าวหาได้ลดลง หรือ หายเข้ากลีบเมฆไปไม่
          การผลักดันหรือเสนออย่างเป็นทางการเกิดขึ้นอีกครั้งใหญ่ สภาพัฒนาการเมือง ซึ่งมี ศ.สุดจิต บุญบงการ เป็นประธาน ได้จัดประชุมสมัชชาประชาธิปไตยชุมชนสู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ได้ส่งมอบข้อเสนอเชิงนโยบายจากเวทีระดับภาค 5 ภาคต่อรัฐบาล โดย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับมอบ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2555 ที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ
          หลังรับข้อเสนอแล้ว นายยงยุทธ กล่าวให้ข้อสังเกตว่า "ข้อเสนออยู่ในหัวใจของรัฐบาลอยู่แล้ว เป็นความเข้าใจที่แจ่มแจ้งชัดเจน และอย่าได้เคลือบแคลงว่ารัฐบาลจะไม่เข้าใจเจตนาของท่าน เพียงแต่ว่าบางเรื่องต้องใช้เวลา"
          "ผมพยายามที่จะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ ที่ว่า การปกครองที่ดีที่สุดคือการปกครองตนเองของพี่น้องประชาชน ไม่มีใครทราบปัญหาท้องถิ่นได้ดีกว่าคนในท้องถิ่นเอง ไม่มีใครสามารถแก้ไขปัญหาท้องถิ่นได้ดีกว่าคนในท้องถิ่นเอง"
          หลังจากรองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล รับข้อเสนอแล้ว ต่อมาเกิดความเคลื่อนไหวอย่างน้อยสองปรากฏการณ์
          ผมจะลำดับทีละเหตุการณ์ ที่น่าจะสะท้อนถึงความพยายามปรับตัวของบุคคลที่มีอำนาจและส่วนราชการที่มีบทบาทสำคัญ ในความเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ในเรื่องนี้ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย
          ในโอกาสครบรอบ สถาปนากระทรวงมหาดไทย ครบ 120 ปี ในปี 2555 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดสัมมนาวิชาการ เปิดบ้าน-เปิดใจ
          (Open-House Seminar) "ถอดรหัสมหาดไทย : ทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง" วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน 2555 ณ โรงแรมรามาการ์เดนส์ กรุงเทพฯ
          ต่อมาได้สรุปผลสัมมนาโดยละเอียดแจ้งต่อที่ประชุมกระทรวงมหาดไทย ซึ่งประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดทุกกรม ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา และถ่ายทอดไปยังนายอำเภอ ปลัดอำเภอทุกคนทั่วประเทศ
          ทั้งความเคลื่อนไหวและเนื้อหาสาระการพูดคุย น่าสนใจ ผมจึงเอามาบอกต่อ เพื่อร่วมกันติดตามว่า สุดท้ายแล้วรัฐบาลและมหาดไทยปรับตัวกับข้อเสนอ ท้องถิ่นหรือจังหวัดจัดการตนเองอย่างไร หรือไม่
          เวทีเสวนาดังกล่าว ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นายสมพร ใช้บางยาง อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ นักวิชาการ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย มี นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการอภิปราย ผู้ฟังหลายร้อยคน
          แต่เนื่องจากพื้นที่จำกัด ต้องขอเสนอทีละท่านตามลำดับ แต่ละคนมีมุมมองเรื่องนี้และข้อเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยอย่างไร
          นายสมพร ใช้บางยาง เมื่อกล่าวถึงการ กระจายอำนาจหรือการปฏิรูป ในมุมมองของกระทรวงมหาดไทย อาจคิดว่าจะทำให้อำนาจลดลง แต่อยากจะแลกเปลี่ยนจากประสบการณ์ที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยได้พัฒนามาร้อยกว่าปีโดยใช้การรวมศูนย์ซึ่งช่วยให้บ้านเมืองอยู่รอดมาได้ เนื่องจากความซับซ้อนของสังคมยังน้อย
          ขณะที่ผู้ปกครองสมัยก่อนยังมีคุณธรรมจริยธรรมต่อประชาชนและจิตสำนึกต่อสังคมมาก
          "แต่ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา โลกาภิวัตน์และทุนได้ทำลายฐานทางสังคม โดยเฉพาะสังคมฐานล่างที่กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบอย่างมาก ขณะที่ผู้บริหารประเทศหรือมีอำนาจปกครองก็เปลี่ยนไป การรวมศูนย์จึงมีลักษณะที่เป็นไปเพื่อส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม การรวมศูนย์จึงตอบโจทย์ (ปัญหา ความต้องการของชุมชนฐานราก) ของประชาชนไม่ได้ เราจึงควรสร้างฐานประเทศ คือ ชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง โดยชุมชน ก็คือ ประชาชน ส่วนท้องถิ่น คือ
          องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นองค์กรรองรับที่ใกล้ตัวประชาชนมากที่สุดและมาจากประชาชนเอง ถ้าฐานเข้มแข็ง ยอดก็จะเข้มแข็ง ดังนั้น จึงนำมาสู่แนวคิดข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) ในการปรับโครงสร้างอำนาจที่ผ่านมา"
          "หลังจากการกระจายอำนาจในปี พ.ศ.2540 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่ดูแลพื้นที่ทุกตารางนิ้ว ดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย ดังนั้น การสร้างชุมชนเข้มแข็งจึงไม่ได้เกินเลยจากอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย และเมื่อมองภาพรวมของประเทศก็จะเห็นว่ามีความจำเป็นในการปรับโครงสร้างอำนาจ ดังนั้น การปฏิรูป อาทิ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดอาจจะยังไม่ได้เกิดในตอนนี้ หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ แต่ทำอย่างไรให้ชุมชนฐานรากเข้มแข็งซึ่ง
          สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกระทรวงมหาดไทยอยู่แล้ว สาระสำคัญคือ ยึดเป้าหมายที่ประโยชน์ของประชาชนร่วมกันจะเป็นการเสริมความเข้มแข็งของประเทศและกระทรวงมหาดไทยต่อไป" มนุชญ์ "มหาดไทย/ราชการส่วนภูมิภาคต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรให้ประชาชน/ท้องถิ่นเข้มแข็ง" สมพร "ขอให้ยึดแผนยุทธศาสตร์กระทรวงมหาดไทย และกรมในสังกัดซึ่งเป็นแนวทางที่กำหนดไว้แล้ว และทำงานโดยยึดประชาชนเป็นตัวตั้ง ตลอดจนเปลี่ยนแปลงทัศนคติ รับฟังความเห็นที่เปิดกว้าง และเน้นให้เกิดการปฏิบัติจริงโดยหาความสมดุลระหว่างการบริหารงานและการตอบสนองทางการเมือง" มนุชญ์ "ภายใต้ความต้องการของท้องถิ่นที่จะต้องตอบสนอง บทบาทของภูมิภาคควรเป็นอย่างไร บทบาทของมหาดไทยในการส่งเสริมภูมิภาคควรเป็นอย่างไร"
          สมพร "โดยส่วนตัวไม่ได้ติดใจว่าจะมีหรือไม่มีภูมิภาค ตราบใดที่ชุมชนมีความเข้มแข็งก็อาจไม่ต้องปรับเปลี่ยนมาก แต่ปัจจุบันการปรับโครงสร้างเป็นสิ่งจำเป็น โดยในระยะสั้น ภูมิภาคยังคงมีความจำเป็น แต่ต้องมีการปรับบทบาทซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้บริหารจัดการทรัพยากรในจังหวัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นพี่เลี้ยงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วลดบทบาทในการเป็นผู้ปฏิบัติลง อีกด้านหนึ่งที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยค่อนข้างละเลยวิชาการ/ข้อมูลช่วงสิบปีข้างหน้า มหาดไทยจึงควรให้ความสำคัญด้านนี้อย่างจริงจังโดยสร้างให้เป็นวัฒนธรรมองค์กรเพื่อทำให้การทำงานระดับภูมิภาคมีความเข้มแข็ง"
          "ที่ผ่านมา จากการทำงานร่วมกับท้องถิ่น การสร้างชุมชน/ท้องถิ่นเข้มแข็งต้องอาศัยท้องที่ท้องถิ่น และชุมชน ซึ่งหากกระทรวงมหาดไทยสามารถทำให้ทั้งสามส่วนนี้พัฒนาไปพร้อมกัน ก็จะทำให้สังคมโดยรวมเข้มแข็งได้ โดยมองเป้าหมายระยะยาว คือ การให้ท้องถิ่นเป็นโรงเรียนประชาธิปไตยและพัฒนาประชาชนให้เป็นพลเมือง"
          คนต่อไปเห็นอย่างไร ขอไว้ต่อสัปดาห์หน้า ละครับ

 ท้องถิ่นจัดการตนเอง (2) (ท้องถิ่นจัดการตนเอง) -
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555
          สมหมาย ปาริจฉัตต์

          สัปดาห์ที่แล้ว ผมเล่าถึงความเคลื่อนไหวของกระทรวงมหาดไทย ที่มีต่อข้อเสนอของสมัชชาประชาธิปไตยชุมชน สู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ซึ่งสภาพัฒนาการเมืองเป็นแกนหลักให้ชุมชนท้องถิ่นมาพูดคุยกันและทำเป็นข้อเสนออย่างทางการ
          โดยกระทรวงมหาดไทยใช้โอกาสครบรอบ 120 ปี สถาปนากระทรวง จัดสัมมนาวิชาการรับฟังความคิดเห็น หัวข้อ "เปิดบ้าน เปิดใจ ถอดรหัสมหาดไทย ทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง" เมื่อวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน 2555 ณ โรงแรมรามาการ์เดนส์ กรุงเทพฯ
          เจ้าภาพบอกว่าเป็นการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การปรับบทบาทของกระทรวงมหาดไทย
          ผมนำมารายงาน ยังไม่จบ ต้องต่ออาทิตย์นี้
          คุณมนุชญ์ วัฒนโกเมร อดีตรองปลัดกระทรวง ผู้ว่าราชการจังหวัด ดำเนินรายการ ตั้งประเด็นว่า การเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อกระทรวงมหาดไทยที่สำคัญมีอะไรบ้าง และกระทรวงมหาดไทย/การบริหารราชการส่วนภูมิภาคควรต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร
          ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รอง ผอ.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สะท้อนมุมมองว่า ประเทศไทยมีความท้าทายที่ต้องเผชิญ 3 เรื่องซึ่งเป็นโจทย์ใหม่สำหรับการพัฒนาพื้นที่ คือการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ การเปลี่ยนโครงสร้างประชากรสู่สังคมผู้สูงอายุ และการเป็นประชาคมอาเซียน
          กล่าวคือ 1. การเปลี่ยนแปลงด้านสภาวะภูมิอากาศ ส่งผลต่อวัฏจักรของน้ำ ทำให้โอกาสเกิดน้ำท่วมสูงขึ้น โดยประเทศไทยอยู่ในโซนที่จะมีฝนตกมากขึ้นประมาณ 10% และจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องบริหารจัดการ
          2. การเปลี่ยนโครงสร้างประชากรสู่สังคมผู้สูงอายุ สังคมผู้สูงอายุทำให้ภาครัฐมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลผู้สูงอายุมากขึ้น
          3. การเป็นประชาคมอาเซียน โดยผลกระทบที่จะเกิดตามมา อาทิ การเคลื่อนย้ายของคน แรงงานต่างชาติ ในกรณีประเทศจีนจะเห็นได้ว่ามณฑลมีบทบาทในการเจรจาต่อรองทางการค้ากับประเทศไทยซึ่งสามารถกำหนดมาตรการทางการค้าที่อาจกระทบต่อเกษตรกรในพื้นที่ได้ อาทิ การตีกลับสินค้า ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องเข้ามาดูแลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้น พรมแดนที่หายไปจึงส่งผลกระทบต่อการจัดการพื้นที่
          ดังนั้น ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงต่างๆ จึงท้าทายต่อภารกิจการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชนของกระทรวงมหาดไทย ขณะที่โจทย์เก่าที่มีอยู่หลายสิบปี คือ การขาดระบบประสานงานในพื้นที่ ต่างคนต่างทำส่งผลให้แก้ปัญหาชาวบ้านได้ไม่ครบถ้วน
          ขณะที่ปัจจุบันสถานการณ์แย่กว่าที่ผ่านมา คือในระยะไม่ถึง 10 ปีมานี้กระทรวงต่างทำงานแย่งประชาชน อาทิ มีอาสาสมัครของตนเอง ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงของกระทรวงมหาดไทยที่หากกุมพื้นที่ไม่ได้ก็จะเกิดปัญหาในการทำงาน
          ทางออกที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยได้ทำนำร่อง คือ การสร้างระบบบูรณาการความร่วมมือโครงการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบ ABC (Area-Based CollaborativeResearch) ขึ้น โดยหน่วยงานสังกัดกระทรวงมหาดไทย คือ กรมการปกครอง กรมการพัฒนาชุมชน สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยซึ่งสนับสนุนแนวคิดและเครื่องมือโครงการนี้
          หากกระทรวงมหาดไทยไม่ทำก็จะไม่สามารถยึดกุมการทำงานในพื้นที่ได้ ในขณะที่จากมุมมองของชุมชน ยังให้ความเคารพต่อนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านอยู่มาก
          แต่การทำงานแบบบูรณาการไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยชุมชนหรือท้องถิ่นเท่านั้น หากแต่ต้องเชื่อมทุกจุดเข้าหากันซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีศักยภาพสามารถบูรณาการได้ในระดับพื้นที่
          ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ผิดที่จะเลือกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งแต่ควรเป็นการที่ชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาคและส่วนกลางทำงานเสริมซึ่งกันและกัน
          "กระแสชุมชนปกครองตนเองที่ผ่านมาเป็นอย่างไร มีความคล้ายคลึงกับการจัดตั้งมณฑลของจีนในลักษณะใด" คุณมนุชญ์ ตั้งประเด็นต่อ
          ดร.สีลาภรณ์ "การจัดการตนเองมีการตีความไว้ค่อนข้างมาก แต่ควรมองในเชิงปฏิบัติโดยดูบริบทที่เป็นอยู่ อาทิ การรวมศูนย์อำนาจในอดีตของไทยเพื่อป้องกันการล่าอาณานิคม แต่ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน การจัดการปกครองแบบมณฑลให้แข็งแรงแบบจีนจึงจำเป็นมาก"
          "ดังนั้น ภูมิภาคจึงยังคงมีความจำเป็น เนื่องจาก 1.การซื้อเสียงระดับท้องถิ่นที่ยังคงมีอยู่ 2.ระบบคัดกรองคนของกระทรวงมหาดไทยยังดีค่อนข้างมาก 3.ภาคประชาชนแม้จะเริ่มเติบโตแต่ยังมีลักษณะต่างคนต่างอยู่"
          "อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กระทรวงมหาดไทยต้องทำให้สำเร็จภายใต้วิกฤตและความท้าทาย คือ การสร้างระบบการปกครองในพื้นที่ที่เข้มแข็งต้องมีอิสระคล้ายกับมณฑลของจีนแต่ก็ต้องสร้างดุลอำนาจ ซึ่งที่สำคัญ คือ ดุลประชาชน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น  conductor ในระยะเวลา 5 ปีหลังจากนั้น ระบบผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นระบบหลักประกัน และท้องถิ่นจะเป็นระบบบริการ (service)
          "นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยจะต้องให้ความสำคัญกับฐานข้อมูลพื้นที่เพื่อกุมการบริหาร การบริหารโดยใช้ความรู้เพื่อจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นและสร้างความร่วมมือเพื่อให้การทำงานบรรลุเป้าหมาย"
          ครับ ความเห็นของวิทยากรอีกสองท่าน คิดอย่างไรคงขอไว้ว่าต่อสัปดาห์หน้า ทั้งหลายทั้งปวงนี้ การขยับตัวของกระทรวงมหาดไทย สะท้อนถึงความพยายามหาทางออกท่ามกลางแรงกดดัน อย่างน้อยให้ฝ่ายข้าราชการประจำ ได้ฟังแนวคิดของผู้ทรงคุณวุฒิ ไปประกอบการปรับวิธีคิด และการปฏิบัติของตัวเอง ลดอำนาจนิยม บริหารในแนวดิ่ง เป็นแนวราบให้มากขึ้น
          ขณะเดียวกัน ฝ่ายการเมืองผู้กำหนดนโยบาย ได้ฟังด้วยว่า คนอื่นๆ เขาคิด และช่วยชี้แนะทางออกอย่างไร ในเรื่อง "ท้องถิ่นจัดการตนเอง"
          ส่วนข้อเสนอทั้งหมดของสมัชชาท้องถิ่นมีอย่างไร หลังฟังความเห็นของวิทยากรที่เหลืออีก 2 ท่านแล้ว ผมจะนำมาเล่าให้ฟัง
          รวมทั้งความเคลื่อนไหวในระดับรัฐบาลกลางอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งจะเป็นจริงหรือไม่ มีความหวัง หรือไร้ความหวัง เชื่อได้หรือไม่ แค่ไหน ต้องตัดสินใจกันเองล่ะครับ


คอลัมน์ ไทยมองไทย: ท้องถิ่นจัดการตนเอง (3) (ท้องถิ่นจัดการตนเอง) -
มติชนสุดสัปดาห์  Issued date 21 September 2012
          สมหมาย ปาริจฉัตต์
          ครับ มาว่ากันต่อถึงทัศนะของผู้ทรงคุณวุฒิ ต่อข้อเสนอ ท้องถิ่นจัดการตนเอง ซึ่งสืบเนื่องมาจากการเรียกร้องให้ยุบราชการส่วนภูมิภาค ลนายมนุชญ์ วัฒนโกเมร ผู้ดำเนินรายการ ตั้งประเด็น "ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีรูปแบบการปกครองเหมือนประเทศไทย มีการจัดการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเปลี่ยนแปลงไป หรือมีปัญหาอย่างไร"
          ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ผู้อภิปรายคนต่อมา
          "ความเปลี่ยนแปลงของกระทรวงมหาดไทยที่ผ่านมา คือ มีขนาดกะทัดรัดลง แต่กระทรวงมหาดไทยก็มีความสำคัญและจำเป็นอยู่ เพราะการบริหารราชการแผ่นดินมีทั้งส่วนกลางส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นที่ยังต้องเชื่อมกันอยู่ แต่ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการบริหารส่วนภูมิภาคก็มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงในปัจจุบัน หากพิจารณาประเทศฝรั่งเศส จะพบว่ามีความคล้ายคลึงกับประเทศไทยหลายประการ อาทิ ความเป็นรัฐเดี่ยว ขนาดพื้นที่ กำเนิดของกฎหมายเทศบาลฉบับแรก หรือการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีทางอ้อม"
          ในอดีตประเทศฝรั่งเศสแบ่งการปกครองออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น การแบ่งอำนาจให้ภูมิภาคในฝรั่งเศสเกิดขึ้นอย่างจริงจังในปี ค.ศ.1852 โดยระบุเหตุผลไว้ในพระราชกฤษฎีกาว่า "แม้จะสามารถปกครองในระยะไกลได้ แต่ก็เป็นการดีกว่าถ้าสามารถบริหารได้ในระยะใกล้" จึงเกิดการแบ่งอำนาจให้ภูมิภาคขึ้น ทำให้ปัจจุบันมีการแบ่งการปกครองเป็น 27 ภาค 101 จังหวัด 342 อำเภอ และ 4,055 ตำบล
          สำหรับภาคนั้น เป็นความพยายามรวมกลุ่มจังหวัดตั้งแต่สมัยนายพลเดอโกล แต่เกิดขึ้นอย่างเป็นจังหวัดเป็นเขตการปกครองส่วนภูมิภาคที่หน่วยงานส่วนกลางส่งตัวแทนมาประจำ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีอำนาจหน้าที่ อาทิ ดูแลประโยชน์ของชาติ ดูแลให้มีการเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย กำกับดูแลฝ่ายปกครอง การปฏิบัติตามกฎหมายของประชาชน ผู้ว่าราชการจังหวัด จึงเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการพลเรือนทั้งหมด ยกเว้นทหาร บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมและการศึกษา
          อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้อง กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ การให้สัตยาบันการลงนามของท้องถิ่น เรียกว่า การควบคุมก่อน แต่หลังปี ค.ศ.1982 ได้เปลี่ยนเป็นการควบคุมภายหลัง คือ ข้อตกลง/สัญญาที่ท้องถิ่นลงนามจะมีผลทันที แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถพิจารณาและฟ้องศาลปกครองได้ หากพบความผิดปกติภายหลัง หรือหากเป็นกรณีการเงินก็จะฟ้องไปยังศาลตรวจเงินแผ่นดิน
          ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงเป็นตัวแทนในการรักษาประโยชน์ของรัฐอย่างแท้จริง โดยสำนักงานผู้ว่าราชการจังหวัดแบ่งเป็น 3 แผนก คือ กฎระเบียบส่วนกลาง กิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภารกิจรัฐ
          ส่วนเขต/อำเภอ มีผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดดูแลประโยชน์ของรัฐในนามของผู้ว่าราชการจังหวัด ขณะที่ตำบลเป็นเพียงการแบ่งพื้นที่เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่มีฐานะเป็นหน่วยงานภูมิภาค
          ที่น่าสังเกต คือ นายกเทศมนตรีของฝรั่งเศสจะมี 2 สถานะ คือ เป็นตัวแทนของรัฐ ทำหน้าที่ อาทิ งานทะเบียน และเป็นตัวแทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งในเวลาเดียวกัน เพราะฉะนั้น เทศบาลจึงทำหน้าที่ในลักษณะภูมิภาคด้วย
          มนุชญ์ "การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในฝรั่งเศสเป็นอย่างไร" ศ.ดร.นันทวัฒน์ ในฝรั่งเศส การปรับระบบการกำกับดูแลท้องถิ่น แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ โดยกฎหมาย และโดยองค์กรที่มีอำนาจสั่งพักงานหรือเสนอปลดผู้บริหารท้องถิ่นโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี แต่ในทางปฏิบัติการควบคุมทั้งสองประเภททำได้ยาก ดังนั้น ภูมิภาคจึงสำคัญเพราะช่วยแบ่งเบาภาระของส่วนกลาง ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดี และไม่เป็นอันตรายต่อเอกภาพของรัฐ ในมุมมองของประชาชน ภูมิภาคทำให้คนใกล้ชิดกับรัฐมากขึ้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีภูมิภาคเพื่อเชื่อมโยงกับส่วนกลาง
          ศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ "เมื่อ 120 ปีที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยมีบทบาทในการสร้างชาติ การรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลางหรือการสามารถใช้อำนาจรัฐได้ทุกพื้นที่ เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากต่างประเทศ เมื่อมองถึงในปัจจุบัน มีข้อสังเกตว่า กระทรวงมหาดไทยมีการปรับตัวค่อนข้างช้า เนื่องจากการต่อสู้ช่วงชิงทางการเมือง ขาดการสร้างระบบราชการให้สามารถปรับตัวได้ ซึ่งแม้แต่การปฏิรูประบบราชการในปี พ.ศ.2542 กระทรวงมหาดไทยก็ถูกแรงกดดันทางการเมืองให้ปรับเปลี่ยนซึ่งก็เป็นการปฏิรูปที่ยังไม่ตกผลึกทางความคิดนัก ขณะที่การเรียกร้องให้ยุบเลิกภูมิภาคก็เป็นอีกความท้าทายหนึ่ง
          "บริบทสำคัญที่แวดล้อมกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ ภาคประชาชนที่มีความคิดเป็นของตัวเองและแตกต่างกันมากขึ้น ไม่สยบยอมต่อความไม่เป็นธรรม/เหลื่อมล้ำ ขณะที่ระดับโลกก็มีความท้าทายทางทรัพยากร ความมั่นคงทางอาหาร เชื้อโรค และวิกฤตเศรษฐกิจในบริบทโลก ภารกิจหลักของกระทรวงมหาดไทยในแต่ละประเทศก็มีความคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงภายใน ภัยพิบัติ การเคลื่อนย้ายคน การตั้งถิ่นฐาน แต่ในแต่ละประเทศก็มีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย อาทิ ในสหรัฐอเมริกา กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบเรื่องที่ดินของรัฐบาลมลรัฐ ชนเผ่า ป่าไม้ ในญี่ปุ่น ดูแลระบบราชการ การส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการศึกษา ในฮ่องกง ดูแลการกีฬาวัฒนธรรม ชุมชน เป็นต้น
          สำหรับประเทศไทย ภารกิจสำคัญที่กระทรวงมหาดไทยควรทำ คือ การบูรณะปฏิสังขรณ์ทางความคิดของคนในสังคม โดยสิ่งที่ควรทำในปัจจุบัน ได้แก่
          1. คุ้มครองสิทธิและสร้างความปลอดภัยทางร่างกาย อาหาร ภูมิปัญญา
          2. เปิดพื้นที่ทางความคิดของประชาชนให้เรียนรู้ชีวิตด้วยตนเองและพอเพียงให้มากขึ้น
          3. สนับสนุนการสื่อสารให้เกิดประสบการณ์ร่วมเพื่อสร้างสำนึกความเป็นปวงชน
          4. ทำงานในลักษณะคิด/ทำอย่างจริงจังให้เกิดมรรคผลอย่างจริงจัง
          ในปัจจุบันจะพบว่า ประเทศที่ประสบปัญหาในโลกปัจจุบัน คือ รัฐเดี่ยวที่มีการกระจายอำนาจ เพราะมักเกิดข้อขัดแย้งทางความคิดและทางปฏิบัติอยู่เสมอ ดังนั้น ประเทศไทยและฝรั่งเศส จึงประสบปัญหาเดียวกันโดยในทางวิชาการ การกระจายหรือการมอบอำนาจมากน้อยเพียงใดอยู่บนหลักการ 2 ด้าน คือ วิธีการจัดสรรทรัพยากร และวิธีการใช้งบประมาณเพื่อจัดทำบริการของรัฐ
          ดังนั้น คำตอบในเวลานี้ อาจพิจารณาได้ 2 มุมมอง คือ ทางการเมือง ฝ่ายการเมืองต้องการการรวมศูนย์อำนาจ เพื่อสามารถทำนโยบายที่หาเสียงไว้ได้ ขณะที่ชุมชนต้องการการกระจายอำนาจเพื่อให้มีโอกาสในชีวิต ส่วนในทางบริหาร ภูมิภาคถูกมองว่ามีความล่าช้าจึงต้องการให้ยุบเลิก ขณะที่ฝ่ายที่ยังต้องการให้คงภูมิภาคไว้ก็เนื่องจากเพื่อให้เป็นตัวแทนในการรักษาผลประโยชน์ของรัฐ ซึ่งก็ยังเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอยู่
          สำหรับประเทศไทย ในระยะสั้น ด้วยเหตุผลภัยคุกคามระดับโลก ความแตกแยกและความหลากหลายทางความคิด แรงกดดันทางทหาร และกลุ่มทุน ภูมิภาคจึงยังควรคงไว้ แต่ต้องปรับบทบาทให้เหมาะสม ในขณะเดียวกันก็จะต้องเร่งกระจายภารกิจที่ถ่ายโอนไปแล้วให้สำเร็จด้วย
          บทบาทของกระทรวงมหาดไทยในอนาคตควรเป็นอย่างไร" นายมนุชญ์ ศ.ดร.ชาติชาย "ในประเทศญี่ปุ่น จังหวัดมีสถานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเดิมเป็นหน่วยงานภูมิภาค มีการทำงานในลักษณะเครือข่าย (network) ประเทศไทยก็มีความพยายามในลักษณะเดียวกัน อาทิ การร่วมมือกันในการจัดการมลภาวะ การค้าขาย แต่ยังขาดศักยภาพทางการเงินการคลังที่จะทำร่วมกัน โดยหากจะจัดกลุ่มแล้ว จังหวัดจะมี 2 ลักษณะ คือ 1. แบบแข็งตัว คือ เน้นการนำนโยบายไปปฏิบัติเชิงสั่งการ ควบคุม อาทิ ประเทศฝรั่งเศสและไทย 2. แบบหารือ (network) คือ ให้ท้องถิ่นมีตัวแทนปรึกษาหารือร่วมกันในการทำงาน อาทิ ประเทศญี่ปุ่น และสวีเดน
          "ขณะนี้ กระทรวงมหาดไทยจะต้องนำคนก้าวพ้นมายาทางการเมือง กำจัดคอร์รัปชั่นและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตลอดจนจัดการทุนและทรัพยากร ดังนั้น จึงมีหน้าที่สำคัญในการฟื้นฟูทุนชุมชน การเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร และการสร้างความเป็นมนุษย์ การเคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรี"
          การอภิปรายจบลงเท่านี้ ที่ประชุมกระทรวงมหาดไทย รับทราบ ผลในทางปฏิบัติต่อไปจะเป็นอย่างไร ต้องติดตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น