ขับรถยนต์เกิดอุบัติเหตุ (ไม่) “เบี่ยงเบน”
จากมาตรฐาน
(วารสารกรมประชาสัมพันธ์ คอลัมน์กฎหมายใกล้ตัว ฉบับเดือนพฤษภาคม
๒๕๕๕)
นางสาวจารุณี กิจตระกูล พนักงานคดีปกครองชำนาญการ
กลุ่มเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการและวารสาร
สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง
ย่างเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ชาวไร่ชาวนาหรือผู้ที่ประกอบอาชีพกสิกรรมอาจรู้สึกดีใจที่จะได้เริ่มเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรกันอย่างจริงจังเสียที
แต่สำหรับผู้ที่ต้องใช้รถใช้ถนนในการสัญจรไปมาอาจจะต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการขับขี่ยวดยานพาหนะ
เพื่อมิให้เกิดอุบัติเหตุในระหว่างการเดินทางอันจะนามาซึ่งความสูญเสียทั้งแก่ชีวิต
ร่างกาย และทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่นก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะของทางราชการหรือผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงในการใช้รถยนต์ของทางราชการแล้ว
ยิ่งจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นกว่าในกรณีปกติหลายเท่า เพราะการเกิดอุบัติเหตุหรือความเสียหายจากการใช้รถยนต์ของทางราชการอาจต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง
ทางอาญา และอาจพ่วงความผิดทางวินัยเข้าไปด้วยก็ได้
ดังเช่นคดีตัวอย่างที่จะนำมาเป็นอุทาหรณ์ฉบับนี้
เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ (ผู้ฟ้องคดี)
ได้รับมอบหมายให้ขับรถยนต์ของทางราชการไปราชการที่ต่างจังหวัด และเกิดอุบัติเหตุขึ้นในระหว่างการเดินทางที่มีฝนตก
ถนนเปียกตลอดทาง และผลของการเกิดอุบัติเหตุทำให้ข้าราชการที่นั่งในรถยนต์ได้รับบาดเจ็บหลายคน
ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้รับโทษ ทางอาญาข้อหาขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้รถของผู้อื่นได้รับความเสียหายและมีผู้ได้รับอันตรายแก่กายและได้รับอันตรายสาหัส
โดยหน่วยงานของรัฐได้มีคำสั่งให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ทางราชการ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่ง
ข้อเท็จจริงในคดีรับฟังได้ว่า
ผู้ฟ้องคดีซึ่งรับราชการทหาร ตำแหน่งพลขับรถ
สังกัดหมวดรถยนต์บรรทุก กองทัพเรือ ได้รับคำสั่งให้ขับรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่เพื่อรับส่งเจ้าหน้าที่สรรพาวุธไปซ่อมยุทโธปกรณ์จาก
ฐานทัพเรือสัตหีบไปปฏิบัติราชการที่ฐานทัพเรือสงขลา โดยมีพันจ่าเอก ท. เป็นพลขับ ส่วนผู้ฟ้องคดีทำหน้าที่ผู้ช่วยพลขับ
และในเวลากลางคืนของวันเกิดเหตุซึ่งผู้ฟ้องคดีทาหน้าที่พลขับ มีฝนตกพรำๆ
ตลอดทาง ถนนเปียก บริเวณที่เกิดเหตุไม่มีแสงสว่าง ผู้ฟ้องคดีขับรถอยู่ในช่องทางเดินรถด้านซ้าย
มีรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่จอดอยู่ไหล่ทางด้านซ้ายและ มีรถจักรยานยนต์วิ่งสวนมาบนไหล่ทางในช่องทางเดินรถทางด้านซ้าย
และขับตัดหน้ารถยนต์ที่ผู้ฟ้องคดีขับมา ในช่องทางเดินรถด้านขวาอย่างกระชั้นชิด
ผู้ฟ้องคดีจึงเหยียบห้ามล้อและหักหลบรถจักรยานยนต์ไปทางซ้าย ทำให้รถยนต์ที่ผู้ฟ้องคดีขับมาไถลลื่นไปเฉี่ยวชนท้ายรถยนต์บรรทุกที่จอดอยู่และเสียการทรงตัวพลิกคว่ำตกลงไปข้างทาง
ทำให้ผู้ที่โดยสารมากับรถยนต์คันดังกล่าวบาดเจ็บและรถยนต์ของทางราชการได้รับความเสียหาย
กองทัพเรือได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดแล้วมีความเห็นว่า
ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ทางราชการ
แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (กระทรวงการคลัง)
โดยคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งมีความเห็นว่า พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
จึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ทางราชการร้อยละ ๗๕ ของค่าเสียหายทั้งหมด พร้อมค่าเสียหายอื่น
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ (ผู้บัญชาการทหารเรือ) จึงมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ตามความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่
๑ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่ง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และปลัดกระทรวงกลาโหมไม่เห็นด้วย
ผู้ฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ทางราชการหรือไม่ ? พระราชบัญญัติความรับผิด
ทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง
วางหลักการสำคัญไว้ว่า หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่หน่วยงานของรัฐได้ในกรณีที่เจ้าหน้าที่
ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และการเรียกค่าสินไหมทดแทนจะต้องคำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในแต่ละกรณี
และความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐหรือระบบการดำเนินงานส่วนรวมประกอบด้วยดังนั้น พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีถือเป็นการกระทาโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า
จากบทบัญญัติมาตรา
๑๐ วรรคหนึ่งและมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
พ.ศ.
๒๕๓๙ การกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หมายถึง การกระทำโดยมิได้เจตนา
แต่เป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้อง มีตามวิสัยและพฤติการณ์
และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่ไม่ได้ใช้อย่างเพียงพอ โดยมีลักษณะ
ไปในทางที่บุคคลนั้นได้กระทำไปโดยขาดความระมัดระวังที่เบี่ยงเบนไปจากมาตรฐานอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับ
การกระทำโดยประมาทเลินเล่อ เมื่อพิจารณาจากสภาพแวดล้อมในช่วงเวลาการเกิดอุบัติเหตุอันเป็นเวลากลางคืน
มีฝนตก ถนนเปียกและไม่มีแสงสว่าง ประกอบกับมีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์วิ่งสวนทางบนไหล่ทางแล้วขับตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด
การที่ผู้ฟ้องคดีเหยียบห้ามล้อและหักหลบรถจักรยานยนต์ เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์บรรทุกคันที่จอดอยู่
จึงเป็น การกระทำโดยประมาทเลินเล่อที่ปราศจากความระมัดระวังที่บุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์
แต่การที่มีรถจักรยานยนต์วิ่งสวนมาบนไหล่ทางและขับตัดหน้ารถยนต์ที่ผู้ฟ้องคดีขับสวนมา
ในระยะกระชั้นชิด ย่อมอยู่ในวิสัยและพฤติการณ์ที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องใช้ความระมัดระวังเฉกเช่นคนขับรถที่ดีในการ
แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยการห้ามล้อให้รถหยุดหรือช้าลงเพื่อลดความรุนแรงลงหรือให้พ้นจากอุบัติเหตุ
การที่ผู้ฟ้องคดี ห้ามล้อและหักหลบรถจักรยานยนต์ที่มีบุคคลภายนอกขับขี่ผิดช่องทางเดินรถและตัดหน้ารถยนต์คันที่ผู้ฟ้องคดีขับ
อย่างกะทันหัน เป็นเหตุการณ์ตามปกติที่ผู้ขับขี่รถยนต์ที่ดีพึงต้องกระทำ
ฉะนั้น
จึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อที่เบี่ยงเบนไปจากมาตรฐาน
ที่บุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ อันจะถือเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ทางราชการ
พิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่ให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายแก่ทางราชการ
(คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
ที่ อ. ๗๑๖/๒๕๕๔) คดีนี้นอกจากจะเป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดีสาหรับหน่วยงานของรัฐทั่วไปในการออกคำสั่ง ให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องจากการกระทำละเมิดว่า จะต้องเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรงเท่านั้น ส่วนอย่างไรเรียกว่าร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรงให้พิจารณาโดยเปรียบเทียบภาวะวิสัยและพฤติการณ์ ของผู้กระทำละเมิดกับบุคคลอื่นในภาวะวิสัยและพฤติการณ์เช่นเดียวกันนั้นว่าเบี่ยงเบนไปจากมาตรฐานที่บุคคล ในภาวะเช่นเดียวกันนั้นต้องปฏิบัติหรือไม่ และถือเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งได้รับมอบหมายให้ ครอบครองหรือขับขี่ยานพาหนะของทางราชการหรือใช้รถยนต์ของทางราชการว่า แม้ในทางกฎหมายจะต้องใช้ ความระมัดระวังในระดับเดียวกับวิญญูชนพึงปฏิบัติก็ตาม แต่ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ความระมัดระวังมากกว่าปกติ ธรรมดา เนื่องจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งไม่ว่าจะเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือ ไม่ร้ายแรง ย่อมนำมาซึ่งความสูญเสียหรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการไม่มากก็น้อย และผู้กระทำละเมิดอาจต้องรับผิดในทางอาญาหากการเกิดอุบัติเหตุนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่นด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น